20 ต.ค. 2020 เวลา 13:47 • การเมือง
คนเลือกปธด.สหรัฐไม่ใช่ประชาชน (3)
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ผู้อ่านท่านหนึ่งส่งไลน์ให้ความเห็นว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ที่ผู้สมัครประธานาธิบดีที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนน้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นจะได้เป็นประธานาธิบดี
ขอเรียนว่าเป็นไปหลายครั้งแล้วครับ เมื่อวันก่อนผมยกตัวอย่างของ 2 กรณีไปแล้วครับ คือกรณีของจอร์จ วอล์กเกอร์ บุช กับอัล กอร์ และกรณีของโดนัลด์ ทรัมป์กับฮิลลารี คลินตัน
เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปีที่มีการฉลองการก่อตั้งประเทศครบ 100 ปี คือ ค.ศ.1876 มีการเลือกตั้งที่แข่งขันกันระหว่างรัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (รีพับลิกัน) และแซมมวล เจ. ทิลเดน (เด็มโมแครต) เฮส์ได้โหวตจากประชาชน 4,036,572 คะแนน ส่วนทิลเดนได้ 4,284,020 คะแนน นี่ถ้าเป็นการเลือกตั้งของประเทศอื่น ทิลเดนก็ต้องได้เป็นประธานาธิบดี
แต่ก็อย่างที่ผมเรียนรับใช้ไปแล้ว 2 วันว่าคนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของแท้ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็น ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ หรือ electoral collage คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ.1876 คือเฮส์ครับ เพราะเฮส์ได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 185 คะแนน ทิลเดนได้ 184 คะแนน
การเลือกตั้งใน ค.ศ.1888 ก็เช่นกันครับ ประชาชนลงเสียงให้เบนจามิน แฮริสัน (รีพับลิกัน) 5,443,892 คะแนน และลงเสียงให้โกรเวอร์ คลิฟแลนด์ (เด็มโมแครต)  5,534,488 คะแนน ถ้าเป็นการเลือกตั้งของประเทศอื่น คลิฟแลนด์ก็ต้องได้เป็นประธานาธิบดี แต่ปรากฏว่าแฮริสันกลับได้เป็นเพราะได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 233 คะแนน ส่วนคลิฟแลนด์ได้เพียง 168 คะแนน
การเลือกตั้ง ค.ศ.2020 ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับโจ ไบเดนนี่ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเดาทำนายกัน ดูจากข่าวจะเห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่โจมตีทรัมป์อย่างใหญ่โตมโหฬาร และชมไบเดน อ่านในโซเชียลมีเดีย มีแต่คนจะไปลงคะแนนให้ไบเดน
https://www.aarp.org/politics-society/government-elections/info-2020/trump-biden-interviews.html
ก็อย่างที่ผมยกตัวอย่างมาหลายครั้งว่า คนที่ได้คะแนนจากประชาชนมากอาจจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีก็ได้ จึงมีโอกาสที่ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีอีก 1 สมัย ถ้าทรัมป์ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐขนาดใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย (55 คะแนน) รัฐเท็กซัส (38) รัฐฟลอริดา (29) รัฐนิวยอร์ค (29) ฯลฯ ซึ่งรวมแล้ว ทรัมป์ต้องได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า 270 คะแนน ซึ่งมีการกำหนดจำนวนคณะผู้เลือกเอาตั้งไว้ตายตัวที่ 538 คน โดยถือเอาฐานของจำนวนประชากรของแต่ละรัฐเป็นเกณฑ์
https://www.britannica.com/story/how-does-the-electoral-college-work
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีในวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 หลังจากคนทั้งสหรัฐไปหย่อนบัตรในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ถึงแม้จะนับคะแนนเสร็จแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีนะครับ ต้องรอถึงวันจันทร์ต่อจากวันพุธสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม ซึ่งจะเป็นวันที่คณะผู้เลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อจะไปลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีและรองฯ ที่เมืองหลวงของรัฐของแต่ละคน
ถึงแม้คณะผู้เลือกตั้งหย่อนบัตรเสร็จแล้ว เราก็ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เพราะผลของการเลือกตั้งจะต้องถูกส่งไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อเปิดและนับคะแนนในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันที่ 6 มกราคมในปีต่อมา การเปิดและนับคะแนนของการเลือกตั้งครั้งนี้จะตรงกับวันที่ 6 มกราคม 2021 จากนั้น จึงจะมีประกาศอย่างเป็นทางการว่าผู้สมัครคนใดได้เป็นประธานาธิบดีและรองฯ
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐไม่ไว้ใจประชาชน จึงไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งโดยตรง อันนี้จริงครับ เพราะมีการบันทึกไว้ในเจตนารมย์ ว่าคนร่างรัฐธรรมนูญเกรงว่าประชาชนจะไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง คณะผู้ร่างฯ จึงบรรจุระบบคณะผู้เลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ข้อ 1
การร่างรัฐธรรมนูญด้วยความเชื่อว่าประชาชนยังไม่พร้อมทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศตามมา ประชาชนคนรุ่นหลังต้องมาคอยแก้ไข ซึ่งมีรัฐธรรมนูญสหรัฐมีการแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง
แต่ก็ยังดีกว่าบางประเทศตรงที่ ‘ไม่มี’ การฉีกรัฐธรรมนูญ.
โฆษณา