22 ต.ค. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
เรื่องน่ารู้ของการให้บริการทางวิสัญญี
Cr. Sriphat Medical Center
“วิสัญญี” อาจเป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นหู หรือฟังดูแปลกๆ และไม่เข้าใจ
แต่หากบอกว่าเป็น “หมอดมยา” หลายคนคงร้อง อ๋อ! ขึ้นมาทันที
โดยเฉพาะในห้องผ่าตัดนั้น ถือว่าการบริการทางวิสัญญีมีความสำคัญมากในด้านการให้ยาระงับความรู้สึกแก่ผู้ป่วย
เรียกได้ว่า ผู้ป่วยจะตื่นเวลาไหน หรือเจ็บปวดระหว่างผ่าตัดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิสัญญีนี่เอง
ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัญญีที่ให้แก่ผู้ป่วยก่อนให้ยาระงับความรู้สึก ตามแนวทางราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2554)
กล่าวถึงการให้บริการทางวิสัญญีว่ามีหลายวิธี ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด
รวมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วยและความประสงค์ของผู้ป่วย
โดยมีเทคนิคทางวิสัญญี ได้แก่ การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว
การให้ยาระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วน และการดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท หรือการใช้วิธีที่ 1 และ 2 ร่วมกัน
การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว
วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่เห็น หรือไม่ได้ยินระหว่างการผ่าตัด
หรือการทำหัตถการ ผู้ป่วยจะได้รับยาทางสายน้ำเกลือหรือยาระงับความรู้สึกทางหน้ากากหรือท่อหายใจ
** ข้อดี ข้อจำกัด และข้อควรระวัง **
- ข้อดี คือ ใช้ได้กับการผ่าตัดที่นาน
และสามารถควบคุมการระงับความรู้สึกได้ดี ควบคุมความดันเลือดไม่ให้ต่ำได้ดีกว่า
รวมทั้งผู้ป่วยไม่ต้องกังวลในระหว่างการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ
- ข้อจำกัด คือ เนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาหลายชนิด จึงอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาหลายตัว และมีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้มากกว่า
โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของสมอง ตับ ไต อาจฟื้นจากการสลบช้า รวมทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ใส่ท่อหายใจยาก ใส่ท่อหายใจผิดช่อง ฟันหัก ทางเดินหายใจอุดกั้น
- ในส่วนของข้อควรระวัง คือ การระงับความรู้สึกทั้งตัวหรือได้รับยากล่อมประสาท
จะมีผลต่อการตัดสินใจในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ควรขับรถ
ทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ตัดสินใจเกี่ยวกับเอกสารทางกฏหมาย ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่
การให้ยาระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วน
วิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยชาเฉพาะส่วนที่จะทำผ่าตัดหรือทำหัตถการ
โดยแพทย์อาจฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาทที่เกี่ยว ข้อง
หรือฉีดเข้าไขสันหลังหรือช่องนอกไขสันหลัง
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัดในบางกรณีที่เหมาะสม
เช่น กรณีที่ไม่ฉุกเฉิน มีการงดน้ำงดอาหาร
อาจทำให้หลับโดยการฉีดยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท
นอกจากนี้วิธีนี้อาจใช้ร่วมกับการให้ยาระงับความรู้สึกทั้งตัว
** ข้อดี ข้อจำกัด และข้อควรระวัง **
- ข้อดี คือ ควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัดได้ดีกว่าการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว และสามารถประเมินความรู้สึกตัวของผู้ป่วยได้ รวมทั้งรบกวนระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดน้อย
- ข้อจำกัด คือ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง อาจทำให้เกิดความดันเลือดต่ำ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดยาชาเฉพาะส่วน เช่น การติดเชื้อ เลือดคั่ง ปวดศีรษะ ทั้งนี้ ยาชาแต่ละชนิดมีระยะเวลาออกฤทธิ์นานไม่เท่ากัน บางครั้งหากการผ่าตัดไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา อาจเกิดปัญหายาชาหมดฤทธิ์ได้ รวมทั้งยาแก้ปวดที่ผสมในยาชาอาจทำให้เกิดอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียนหรือกดการหายใจ
- ในส่วนของข้อควรระวัง การระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน ระหว่างที่ยังรู้สึกชาอยู่ ผู้ป่วยควรป้องกันมิให้ส่วนของร่างกายถูกกดหรือถูกของร้อนจัด/เย็นจัด กรณีที่ได้รับยาชาทางไขสันหลังหรือช่องนอกไขสันหลัง ไม่ควรลุกยืนจนกว่าอาการชาจะหายไป โดยทั่วไปประมาณ 6-8 ชั่วโมง
สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา