25 ต.ค. 2020 เวลา 12:35 • ความคิดเห็น
ไม่ปรับ รอดยาก
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ศาสตราจารย์ เคลาส์ ชวอบ ผู้ก่อตั้งสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forums แบ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ยุค
ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ช่วง ค.ศ.1760-1840 คือช่วงที่โลกเปลี่ยนจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรพลังงานไอน้ำ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ช่วง ปลาย ค.ศ. 1800-ต้น ค.ศ.1900 อุตสาหกรรมโลกเริ่มรู้จักพลังงานไฟฟ้า และพัฒนาการผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากอย่างเป็นระบบ
1
ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ช่วงปลาย ค.ศ.1960-ต้น ค.ศ.2000 เป็นยุคแห่งการปฏิวัติด้านดิจิทัลและคอมพิวเตอร์ และยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ช่วงตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คือยุคอุตสาหกรรม 4.0
ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือยุคเราทุกคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ ยุคที่เริ่มจากการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือไร้สาย การใช้อุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณขนาดเล็กที่มีคุณภาพสูงรวมทั้งระบบอัลกอริทึ่ม ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ และปัญญาประดิษฐ์หรือที่เราเรียกว่าเอไอ ที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไวในแบบอัตราเร่งสูงสุด ไวจนบางครั้งเผลอแว้บแป้บเดียว เราอาจกลายเป็นมนุษย์ตกเทรนด์หรือตกงานไปโดยไม่ทันตั้งตัว
วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวแบบปัจจุบันทันด่วน และการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนได้คือเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิ่งที่เข้ามาทดแทนตอนนี้ก็เห็นจะไม่พ้นปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่ฉลาดล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีอัตโนมัติเหล่านี้มาช่วยทุ่นแรงมนุษย์ ลดความเสี่ยง ลดการสัมผัสระหว่างกัน เป็นไฟท์บังคับที่ภาคธุรกิจต้องเจอและปรับตัว
สัปดาห์ก่อน ผมไปโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังและเห็นหุ่นยนต์ส่งยาวิ่งว่อนกันในโรงพยาบาล เห็นแล้วก็พอเดาออกครับว่า แรงงานในธุรกิจภาคบริการอาจจะกระทบหนัก อีกไม่นานจะมีการใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงานมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ
ในขณะที่ธุรกิจหลายประเภทปิดตัวลง แต่เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติกลับเติบโตแบบสวนทาง
สมาคมหุ่นยนต์ญี่ปุ่นออกมาบอกว่าช่วงเมษายน-มิถุนายน 2563 ยอดส่งออกหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ก็มียอดการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14
ผลจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการบินยื่นล้มละลายมากมายหลายแห่ง ผู้คนตกงานหลายแสนคน แต่โควิด-19 กลับเป็นปัจจัยที่หนุนให้หุ่นยนต์บริการระดับมืออาชีพเพิ่มสูงขึ้น
1
นายแพทริก ชวาร์สคอฟ คณะกรรมการสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติหรือไอเอฟอาร์ คาดการณ์ว่าใน พ.ศ.2563 นี้ การใช้หุ่นยนต์บริการระดับมืออาชีพ ทั้งหุ่นยนต์ด้านโลจิสติกส์หุ่นยนต์ด้านการแพทย์ และหุ่นยนต์ทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 38 และจะยิ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก 2 ปี
1
มาตรการล็อคดาวน์ การรักษาระยะห่างทางสังคม และการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องจัดการงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานวิจัยของบลูมเบิร์ก อิโคนอมิกส์ รายงานว่า พนักงานเกือบ 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลกกำลังเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างเพราะภาคธุรกิจต่างๆ นำหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
https://www.globalbusinessoutlook.com/artificial-intelligence-and-employment/
แรงงานที่ทำงานเป็นแบบแผนตายตัวหรือแรงงานรูทีนจะหายไปจากโลก ผู้บริหารธุรกิจโลกต่างเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจเร็วขึ้นกว่าก่อนโควิด-19 ระบาดถึง 25 เท่า
1
วิสัยทัศน์ของผู้บริหารหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะลดแรงงานมนุษย์ในงานประเภทแคชเชียร์ พนักงานต้อนรับ พนักงานให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ ฯลฯ ลงเรื่อยๆ ทำให้แรงงานที่มีแบบแผนตายตัวเหล่านี้จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติหรือเทคโนโลยีอื่นที่กำลังถูกพัฒนาและนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้
3
เพื่อให้ธุรกิจท่านอยู่รอดและเติบโตได้ ท่านไม่สามารถเลี่ยงเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติได้ ส่วนท่านที่เป็นแรงงานก็ต้องปรับตัวให้เป็นแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสูงเท่านั้น ท่านถึงจะอยู่รอดและเติบโตในสายงานของท่านเช่นกัน.
โฆษณา