20 พ.ย. 2020 เวลา 11:38
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #7
Some things are better left unknown
โจรกรรมซ่อนเงื่อน...พินัยกรรมซ่อนปม
เสาร์นี้ผมเดินทางมาบอสตันเพื่อพบกับเพื่อนสมัยเรียนที่เรานัดเจอกันทุกปี ครั้งนี้เรานัดกันที่ร้านเบอร์เกอร์และคราฟเบียร์ร้านประจำของเราเพื่อย้อนความรู้สึกเก่าๆ ของเรา
ผมถึงบอสตันตั้งแต่ 10โมงเช้า มีเวลาพักใหญ่กว่าจะถึงเวลานัด ผมตัดสินใจแวะไปที่จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช (King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square) เพื่อชมจตุรัสฯ ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงและมีพิธีเปิดไปเมื่อไม่นาน ร้านเทสตี้เบอร์เกอร์ที่เรานัดกันก็อยู่ไม่ห่างจากจตุรัสฯ ใช้เวลาเดินเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
Credit : Yangkee Magazine
...We'll build a world of our own
That no one else can share
All our sorrows we'll leave far behind us there...
(เราจะสร้างโลกของเราขึ้นมา
ที่ไม่มีใครอื่นเข้ามาได้
ความเศร้าทั้งหลายเราจะทิ้งมันไว้ข้างหลัง)
ระหว่างที่ผมกำลังเดินไปที่จตุรัสฯ เสียงเพลง A world of Our Own ของ The Seekers ในยุค 70 ที่เป็นริงโทนมือถือของผมก็ดังขึ้น หน้าจอแสดงชื่อโรเบอร์โต้ เพื่อนร่วมงานของผมเป็นคนโทรมา
"พีร์ ผมกำลังจะไปสนามบิน นายสนใจไปบอสตันด้วยกันหรือเปล่า งานนี้นายต้องสนใจแน่ๆ" เสียงจากปลายสายถามทันทีที่ผมรับสาย
"ตอนนี้ผมอยู่ที่บอสตัน เพิ่งมาถึงเมื่อครึ่งชั่วโมง อะไรจะบังเอิญขนาดนี้" ผมตอบปลายสาย
"อ้าว ดีเลย 555 ผมน่าจะถึงบอสตันประมาณบ่ายสองครึ่ง คิดว่านายต้องสนใจงานนี้แน่ๆ เลยโทรมาหานาย"
"นายจำแดนที่ทำงานเป็นผู้แนะนำงานศิลปะได้นะ เขาขอให้ผมช่วยเกี่ยวกับคดีขโมยภาพศิลปะของเดอะการ์ดเนอร์ นายจะไปด้วยหรือเปล่า" โรเบอร์โต้ให้รายละเอียดและถามกลับมาทันที
"เดอะการ์ดเนอร์? อยู่ห่างจากจุดนัดของผมกับเพื่อนไปแค่ 10 นาทีเอง แต่ผมไม่เห็นได้ข่าวว่ามีการโจรกรรมที่นี่เลยนะ... นายคงไม่ได้หมายถึงคดีโจรกรรมเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนะ?" ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าโรเบอร์โต้หมายถึงคดีอะไร
"มีคดีเดียวนั่นแหละ แดนได้ข้อมูลบางอย่างโดยบังเอิญ เขาเอาให้ผมและ FBI ดู ทาง FBI สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้ แดนเลยชวนผมมาด้วย ว่าไงนายอยากไปด้วยหรือเปล่า" โรเบอร์โต้ถามขอคำตอบ
เดอะการ์ดเนอร์ หรือ พิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ (Isabella Stewart Gardner Museum) พิพิธภัณฑ์ตามพินัยกรรมของมิสซิส อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ ที่สะสมงานศิลปะมูลค่าแพงไว้มากมาย ผมเคยมาที่นี่ และได้เห็นการจัดแสดงของกรอบภาพเปล่าที่ปราศจากงานศิลปะที่ถูกโจรกรรมไป
"ไปสิเพื่อน" ผมรีบรับปาก
Credit : www.gardnermuseum.org
ก่อนบ่ายสามโมงเล็กน้อย ผมแยกกันเพื่อนและรีบเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ ที่อยู่อีกฟากของแม่น้ำชาร์ล (Charles River) เพื่อพบกับโรเบอร์โต้
เบื้องหน้าของผมเป็นอาคารขนาดใหญ่อายุเกิน 100 ปี ดูภายนอกไม่ต่างจากอาคารอื่นๆ ในเมืองแห่งนี้ แต่เมื่อเดินข้ามประตูเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ผมรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าไปในเมืองๆ หนึ่งของประเทศอิตาลีเลย
สถานที่แห่งนี้ดูแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมเคยมาครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อนเลย ผมยังจำภาพในพิพิธภัณฑ์ได้ดี ด้านในของอาคารถูกตกแต่งด้วยศิลปะอิตาลี แต่บอกตามตรง...บรรยากาศในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำให้ผมรู้สึกอึดอัด ผมเลยไม่ค่อยมาเดินที่นี่เท่าไหร่
Isabella Stewart Gardner Museum - Credit : www.britannica.com
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์นำผมขึ้นไปที่ห้องประชุมบนสำนักงานที่ชั้น 4 ของอาคารพิพิธภัณฑ์ นอกจากโรเบอร์โต้กับแดน ในห้องยังมีอีกคนสองคนที่นั่งอยู่ โรเบอร์โต้แนะนำผมให้รู้จักกับ มิสเตอร์ คริส บราวน์ เจ้าหน้าที่จาก FBI และ มิส แอนน์ เฮนรี่ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แอนน์ น่าจะมีอายุในวัยห้าสิบปีเศษแต่เธอยังดูดีในชุดแต่งกายที่มีรสนิยมและทันสมัย เธอมีผมสีน้ำตาลและหน้าตาที่ยิ้มแย้ม
"การโจรกรรมงานศิลปะทั้ง 13 ชิ้นเกิดขึ้นในคืนวันเซนต์ แพตทริคส์ ( St. Patrick's Day) ตอนนั้นฉันเพิ่งมาทำงานเป็นผู้อำนวยการที่นี่แค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง"
แอนน์ย้อนเวลากลับไปถึงวันเกิดเหตุ
"ช่วงนั้นมีการโจรกรรมพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งทั่วประเทศ ทำให้เราต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งในการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยและจ้างเจ้าหน้าที่มารักษาความปลอดภัย เราจ้างได้ไม่กี่อัตรา เพราะเวลานั้นเรากำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างมากทีเดียว"
แอนน์เล่าถึงปัญหาต่างๆ ในเวลานั้น "บนชั้นสี่นี้ เคยเป็นที่พักของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ที่อิซาเบลลาเสียชีวิต แต่ฉันก็ต้องตัดสินใจย้ายออกไป และใช้พื้นที่นี้เป็นสำนักงานพิพิธภัณฑ์เพื่อลดค่าใช้จ่าย"
แอนน์พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ คงเพราะเหตุการณ์ผ่านมานานจนความรู้สึกสูญเสียจางหายไปแล้ว
"โจรได้ขโมยผลงานของ แรมบรันต์ (Rembrandt) และลูกศิษย์ของเขาไปหลายภาพ รวมทั้งภาพของเวอร์เมียร์ (Vermeer) สองศิลปินคนสำคัญแห่งยุคทองของดัตช์ และยังขโมยผลงานของ แอดการ์ เดอกา (Edgar Degas) อีกหลายภาพด้วย"
The Storm on The Sea of Galilee by Rambrandt Credit : www.bostonglobe.com
"พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีผลงานศิลปะ 2,500 ชิ้น ที่มิสซิสการ์ดเนอร์ และสามีเก็บสะสมไว้ ลูกและลูกเลี้ยงของเขาเสียชีวิตไปก่อน ทำให้ไม่มีทายาทรับช่วง มิสซิสการ์ดเนอร์ จึงทำพินัยกรรมยกบ้านของเธอรวมทั้งผลงานสะสมทั้งหมดให้เป็นพิพิธภัณฑ์
ในช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่ เธอเป็นผู้จัดตำแหน่งงานศิลปะในบ้านหลังนี้และอยากให้คงความเป็นตัวเธอเอาไว้ตลอดไป เธอเลยระบุเงื่อนไขสำคัญในพินัยกรรมไว้ว่าผลงานที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดต้องจัดแสดงในตำแหน่งเดิมไปตลอด หากผิดเงื่อนไขนี้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะตกเป็นสมบัติของ MFA (Museum of Fine Arts, Boston)" แอนน์เล่าต่อ
"มิสซิส การ์ดเนอร์ ทิ้งทรัพย์สินส่วนหนึ่งของเธอไว้เพื่อใช้เป็นกองทุนในการดูแลพิพิธภัณฑ์ แต่ระยะเวลาเกือบ 100 ปีหลังจากเธอเสียชีวิต เรามีรายได้และผลตอบแทนของเงินกองทุนน้อยกว่าค่าใช้จ่าย บางครั้งก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลรักษา ทำให้เราต้องใช้เงินกองทุนที่เธอทิ้งไว้มาเป็นเงินค่าใช้จ่ายจนเหลือไม่มากแล้ว"
แอนน์เล่าให้เราฟังถึงสภาพของพิพิธภัณฑ์ในวันที่เธอเข้ามารับงานที่นี่
"ตอนที่ฉันเริ่มทำงานที่นี่ ฉันต้องพยายามประคับประคองให้พิพิธภัณฑ์สามารถเปิดบริการให้ได้นานที่สุด คุณคิดดูว่ากว่าที่ฉันจะแก้ไขปัญหาและนำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลับมาได้อย่างทุกวันนี้ ยากลำบากแค่ไหน" แอนน์พูดแล้วรำพึงว่า "แต่พอเราเริ่มจะพอตั้งหลักได้ ก็เกิดการโจรกรรมใหญ่ขึ้นมาคะ"
Credit : The Boston Globe
"ข้อมูลจากแฟ้มคดีที่ผมอ่านพบว่ามีแนวทางการสืบสวนที่เกี่ยวพันกับแกงค์มาเฟียและพ่อค้ายาเสพติด ที่ในเวลานั้นมีการนำงานศิลปะมาจ่ายเป็นค่ายาแทนเงินสด เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดสังเกตของบัญชีธนาคาร"
หลังแอนน์พูดเสร็จ คริสจาก FBI ก็พูดถึงข้อมูลการสอบสวน
"เราจับตาอดีตนักโทษ 2 คนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันภาพสเก็ตคนร้าย แต่ทั้งสองคนเสียชีวิตในอีก 1 ปีหลังเหตุโจรกรรม เหมือนมีคนรู้ความคืบหน้าของการสืบสวนและพยายามตัดตอนไม่ให้เราสืบสวนต่อไป"
แดนเริ่มพูดขึ้นบ้างว่า "เมื่อหลายปีก่อน มีข่าวว่า FBI จะนำตัวอย่างหลักฐานที่เก็บจากที่เกิดเหตุไปทำการทดสอบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อหาตัวคนร้ายนะ?"
"แดน นั่นไม่ได้เป็นข่าวทางการจาก FBI นะ ที่จริง...ในแฟ้มไม่มีหลักฐานที่ข่าวพูดถึงหรือถ้าเคยมีก็หายไปแล้ว ผมถึงบอกว่าเหมือนมีคนรู้ข้อมูลของการสืบสวน" คริสตอบด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นจริงจัง
"ที่สำคัญ...คดีนี้หมดอายุความไปนานหลายปีแล้วครับ !"
The Concert by Johan Vermeer (1653-1675) Credit : Isabella Stewart Gardner Museum
"ทางพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนะค่ะ เมื่อเราไม่ได้รับความคืบหน้าจากการทำงานของ FBI เราตัดสินใจประกาศให้รางวัลกับผู้ที่สามารถช่วยให้เรานำงานศิลปะทั้งหมดกลับคืนมา เงินรางวัลตอนนี้คือ 10 ล้านเหรียญฯ เลยนะ แต่เราก็ไม่ได้รับการติดต่อมาแต่อย่างใด" แอนน์รีบพูดขึ้น
จู่ๆ โรเบอร์โต้ที่นั่งฟังมาตลอดก็พูดขึ้นว่า
"แต่เงื่อนไขรางวัลที่ทางพิพิธภัณฑ์กำหนดไว้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ!"
ทุกคนหันไปมองโรเบอร์โต้ด้วยสีหน้าที่ไม่เข้าใจว่าเขาจะสื่ออะไร
"เพราะเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแบบ 'all or nothing' ในทำนองถ้าจะคืนต้องคืนให้ครบเท่านั้น"
"ประกาศบนหน้าเว็บเขียนไว้ว่า 'the recovery of all 13 works in good condition' การนำงานศิลปะทั้ง 13 ชิ้นมาคืนพร้อมกันในสภาพดีน่าจะมีโอกาสเกิดน้อยมากครับ ถ้าคนร้ายทำเพื่อความสนุกก็อาจตัดสินใจเอามาคืนซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งอย่างที่เราเคยอ่านเจอว่าพบภาพที่ถูกขโมยซุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่กรณีนี้คนร้ายน่าจะต้องการนำภาพไปด้วยจุดประสงค์อื่นมากกว่าความสนุกนะครับ"
"แต่ในเวลาเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็ประกาศอีกข้อความที่บอกว่า 'A separate reward of $100,000 is being offered for the return of the Napoleonic eagle finial' ซึ่งเป็นการเน้นให้นำงานศิลปะชิ้นนี้มาคืนแบบเฉพาะเจาะจงด้วย "
สมกับเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนชาวอิตาลีจริงๆ ผมคิด
Credit : Isabella Stewart Gardner Museum
"จำนวนเงินรางวัลที่ตั้งไว้คือ 10 ล้านเหรียญเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าของงานศิลปะทั้งหมดที่ถูกขโมยไป ราคาประเมินที่ผมอ่านพบในปัจจุบันไม่ใช่ 200-300 ล้านเหรียญแบบเดิม แต่มีราคาไม่ต่ำกว่า 600 ล้านเหรียญ เงินรางวัลคิดเป็น 1.7% ของมูลค่าเท่านั้น"
"เงื่อนไขที่เป็นไปได้ยากแถมเงินรางวัลที่ต่ำ เหมือนพิพิธภัณฑ์คงไม่มีโอกาสได้งานศิลปะเหล่านี้คืนมาหรอกครับ ถ้าเอาไปขายในตลาดมืด น่าจะได้ราคาอย่างน้อย 30% หรือ 180ล้านเหรียญ ผมว่าตอนนี้ภาพอาจกระจัดกระจายไปอยู่ในมือของหลายคนแล้วล่ะครับ" โรเบอร์โต้ให้ความเห็นเพิ่มเติมตามทัศนะของเขา
"ผมเห็นด้วยกับโรเบอร์โต้ครับ" แดนพูดขึ้น "เพียงแต่ราคาคงขายไม่ได้ที่ 30% ครับ น่าจะได้เพียงประมาณ 10% เท่านั้น เพราะคนร้ายที่เข้าไปโจรกรรมดูจะไม่มีความรู้ด้านศิลปะเลย คนร้ายใช้วิธีเอาของมีคมกรีดภาพบนกรอบ การทำแบบนี้เป็นการทำลายชิ้นงานอย่างรุนแรง มูลค่าของภาพหายไปทันทีครับ"
1
"ถึงอย่างนั้น หากเอาไปปล่อยที่ 10% ก็ยังได้เงินถึง 60ล้านเหรียญ ซึ่งห่างไกลกว่า 10ล้านเหรียญของมูลค่ารางวัล คนร้ายไม่ต้องเสี่ยงเปิดเผยตัวตนให้ FBI สืบต่ออีกด้วยครับ" แดนชี้ประเด็นในฐานะที่ทำงานด้านนี้โดยตรง
"อย่าลืมว่า...ในเวลานั้นเราไม่ได้มีงบประมาณมากขนาดนั้นนะคะ" แอนน์โต้แย้งด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างแข็ง
"ผมกลับคิดว่าคุณมีงบนะครับ เพราะคุณสามารถสร้างอาคารใหม่ด้วยงบร้อยกว่าล้านเหรียญได้" คริสแย้งขึ้นโดยทันที
"นั่นเป็นผลงานของฉันในการระดมทุนจากผู้สนับสนุนต่างหาก ตอนที่ฉันมาครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อน ค่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังแทบไม่มีเงินสดจะจ่ายเลย" แอนน์โต้แย้งทันควัน
"แล้วทำไมคุณไม่ระดมทุนเพื่อเป็นเงินรางวัลบ้างล่ะ?" แดนถามกลับ ไม่มีคำตอบจากปากแอนน์ จนแดนต้องพูดต่อไปว่า
Credit : prezi.com
"ในช่วงเวลานั้นมูลค่าของงานศิลปะทั้งหมดคงไม่เกิน 200 ล้าน ผลงานที่ถูกโจรกรรม ทั้งของแรมบรันต์ และ เวอเมียร์ ปล่อยในตลาดมืดไม่ง่ายหรอก เพราะเป็นผลงานที่ใครก็รู้จัก ถ้าพิพิธภัณฑ์ตั้งเงินรางวัล 10ล้านตั้งแต่ตอนนั้น มีโอกาสได้คืนค่อนข้างสูง แต่ต้องไม่ใช่แบบเหมารวมแบบนี้นะ"
แดนพูดต่อ "แต่ตอนนี้ราคาประเมินไปถึง 600 ล้าน คงไม่แปลกถ้ามีงบประมาณไม่พอ"
"พวกคุณไม่รู้หรอกค่ะ ว่าตอนนั้นฉันต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เงินหลักล้านในเวลานั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเลยนะ" แอนน์พูดด้วยน้ำเสียงที่รู้สึกได้ว่าไม่ค่อยพอใจนักกับการสนทนาประเด็นนี้
"ความจริงการโจรกรรมที่เกิดขึ้นก็ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นที่รู้จัก และทำให้คุณได้ผู้สนับสนุนและผู้เข้าชมมากขึ้นจนไม่มีปัญหาการเงินอีกต่อไปนะครับ" คริสพูดขึ้นพร้อมมองไปที่แอนน์
ผมรู้สึกว่าแอนน์ปรับสีหน้าเป็นนิ่งไปในทันที จากนั้นคริสก็หันไปที่แดนแล้วพูดว่า
"แดน คุณบอกว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ คืออะไรครับ"
แดนขยับตัวนั่งอย่างตั้งใจแล้วพูดว่า "กลางเดือนที่แล้วผมไปที่ Freeport (คล้ายคลังสินค้าทัณฑ์บน) แห่งหนึ่งในสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อดูภาพที่ลูกค้าต้องการให้ช่วยขาย บังเอิญผมเห็นบางอย่างที่น่าสนใจถูกเก็บอยู่ใน Freeport เท่าที่ทราบถูกเก็บมานานสิบกว่าปีแล้ว ผมทราบแค่ว่าผู้เช่าพื้นที่เป็นนักธุรกิจที่อยู่ในบอสตัน"
"แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเจ้าของ และไม่ยอมเปิดภาพให้ผมดู เท่าที่ผมเห็นแวบสั้นๆ เป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาดไม่ใหญ่ประมาณ 1 ฟุต ของชายในชุดสูทสีดำ"
"ไม่กี่วันก่อน ผมพอมีเวลาเลยลองเปิดหาดูภาพที่คล้ายๆ กันบนเน็ต ผมไปเจอภาพหนึ่งที่ดูคล้ายๆ ภาพนั้น ภาพที่ผมเห็นบนเน็ตก็คือภาพ Chez Tortoni ที่วาดโดยเอดัวร์ มาแน (Édouard Manet) หนึ่งในสิบสามภาพที่ถูกโจรกรรมจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้" แดนให้รายละเอียดที่น่าสนใจมาก
Chez Tortoni by Édouard Manet (1875) Credit : www.wikipedia.com
"คุณเห็นภาพนี้ที่ไหนนะ!" เสียงแอนน์ถามขึ้น
"Freeport ในเจนีวาครับ" แดนตอบ
ผมรู้สึกว่าคำตอบที่ได้ทำให้แอนน์ ที่นั่งนิ่งไปชั่วขณะ...
"พื้นที่ที่ใช้เก็บภาพนี้เหมือนมีภาพอื่นๆ อีกสองสามภาพเก็บอยู่ด้วย แต่ไม่ได้มีเป็นสิบภาพ" แดนพูดต่ออย่างไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเข้าใจผิดหรือเปล่า
"คุณคิดว่าจะเห็นผลงานทั้งหมดอยู่ด้วยกันหรือครับ" คริส ถามขึ้นด้วยเสียงกลั๊วหัวเราะเบาๆ "โรเบอร์โต้เพิ่งพูดเองว่างานศิลปะเหล่านี้อาจแยกกระจัดกระจายไปแล้ว"
"ความจริง FBI ก็ไม่ได้มองว่าการโจรกรรมครั้งนั้นเป็นการโจรกรรมด้วยคนกลุ่มเดียวนะครับ" คริสพูดเสียงจริงจังขึ้น
"อะไรนะ" โรเบอร์โต้โพล่งขึ้นมาอย่างลืมตัว "มีโจรหลายกลุ่มในวันนั้นหรือครับ"
"มีความเป็นไปได้มากที่มีโจรมากกว่ากลุ่มเดียว และทั้งสองกลุ่มก็อาจไม่รู้จักกัน" คริสตอบ "หรือบางที่เหตุการณ์ก็อาจไม่ได้เกิดในเวลาเดียวกันครับ"
"หมายถึงการปล้นสวมรอยหรือครับ ผมไม่เข้าใจ" แดนถามด้วยน้ำเสียงไม่แน่ใจ
"ข้อมูลที่ FBI พบจากพฤติกรรมในการขโมยครั้งนี้ ภาพ Chez Tortoni มีรูปแบบการโจรกรรมที่ต่างจากอีก 12 ชิ้น ภาพนี้เป็นภาพเดียวที่คนร้ายไม่ได้ใช้ของมีคมกรีดภาพตามกรอบภาพ แต่เป็นการถอดจากกรอบไปทั้งภาพในสภาพที่สมบูรณ์ และข้อมูลจากระบบเซนเตอร์ในพิพิธภัณฑ์ที่ทำให้เรารู้แนวการเดินของคนร้ายที่เดินในพิพิธภัณฑ์เกือบชั่วโมงครึ่ง ก็ไม่มีข้อมูลการเดินไปที่ห้องเก็บภาพนี้ที่อยู่ชั้นล่างแยกออกไปอีกด้านของตึก เราไม่มีข้อมูลคนร้ายที่เข้าไปที่ห้องนี้เลยครับทั้งที่ระบบเซนเซอร์ในบริเวณห้องทำงานตามปกติ"
คริสอธิบายเพิ่มเติม เขามองไปที่ แดน และโรเบอร์โต้ สลับกัน
"ก่อนมาที่นี่ ผมได้อ่านแฟ้มคดีทั้งหมด และผมก็มีความคิดคล้ายคุณสองคน" คริสพูดจบ ก็หันไปทางแอนน์ แล้วพูดต่อ
"ผมแปลกใจว่าการตั้งรางวัลและเงื่อนไขรางวัลแบบนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ต้องการได้ภาพคืนจริงหรือไม่"
"ดูจากข้อมูลการสืบสวนแล้ว ผลงานทั้ง 13 ชิ้นอาจไม่ได้อยู่รวมกันตั้งแต่แรก มีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำให้ผลงานบางชิ้นถูกรวมเข้ามาอยู่ในคดีเดียวกัน โดยเฉพาะ Chez Tortoni" จากนั้นคริสก็หันมาที่แดนแล้วพูดว่า
1
"ข้อมูลที่คุณพบมาน่าสนใจมากครับ และน่าจะเป็นประโยชน์กับ FBI มากครับ...ถ้าเราได้ข้อมูลนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่ตอนนี้อายุความของคดีนี้หมดไปนับสิบปีแล้ว คงจะไม่สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่"
"บางทีนะครับ แอนน์ ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสของสภาศิลปะบอสตัน และตำแหน่งกรรมการของสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่ง คุณอาจจะพอมีวิธีเข้าถึง Freeport นะครับ" คริสมองหน้าแอนน์ระหว่างพูด จากนั้นมองกลับมาที่เราสามคน
"จริงๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา FBI ได้ข้อมูลเข้ามาพอควร ว่ากันตามประสบการณ์ของผม ลำพังเฉพาะข้อมูลที่ FBI มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าก็พอเดาตัวการเบื้องหลังการโจรกรรมและเหตุจูงใจได้บ้างล่ะครับ" คริสเว้นคำพูดไว้ชั่วขณะแล้วหันกลับไปทางแอนน์
"บางทีการที่ไม่ทำคดีต่อก็อาจมีผลดีมากกว่า โดยเฉพาะกับพิพิธภัณฑ์เอง คุณเห็นด้วยหรือเปล่าครับ แอนน์" จากนั้นคริสหันมามองเราทั้งสามคน แล้วพูดว่า
"ใกล้ 5 โมงเย็นแล้วล่ะ พิพิธภัณฑ์กำลังจะปิดในอีกไม่กี่นาที ผมว่าเราอย่ารบกวนเวลาของผู้อำนวยการพิพิธิภัณฑ์ไปมากกว่านี้เลยครับ" พวกเรากล่าวคำอำลาแอนน์
ก่อนที่เราทั้งสี่คนจะเดินออกจากห้องนั้น แอนน์พูดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า
"หากพวกคุณเคยอ่านประวัติของมิสซิสการ์ดเนอร์ คุณคงเคยได้อ่านประโยคหนึ่งที่เธอเคยพูดไว้นะคะ .... Don't spoil a good story by telling the truth สวัสดีทุกๆ คนคะ"
เมื่อพวกเราพ้นจากอาคารพิพิธภัณฑ์ คริสก็ขอตัวกลับ
"Don't spoil a good story by telling the truth. Some things are better left unknown. บางเรื่องไม่รู้จะดีกว่า" เขาย้ำคำพูดสุดท้ายกับเราสามคน ก่อนเดินจากไป
เราสามคนมองหน้ากัน แล้วโรเบอร์โต้ก็พูดขึ้นว่า
"ดูท่าเราจะเสียเวลามาโดยเปล่าประโยชน์แล้วล่ะ แดน"
"ไม่หรอกโรเบอร์โต้ ผมว่าคุณก็คงคิดแบบเดียวกับผมนะ ดูเหมือนว่าคดีนี้มีคำตอบแล้ว เสียดายเป็นคำตอบที่ไม่สามารถบอกออกไปได้ ปล่อยให้เป็นปริศนาไปแบบนี้น่ะดีแล้ว" แดนตอบยิ้มๆ โรเบอร์โต้หัวเราะชอบใจ แล้วหันมาทางผม
"เอายังไงกันดี พวกเรารีบจับเที่ยวบินกลับนิวยอร์คให้เร็วที่สุด หรือให้เจ้าถิ่นอย่างพีร์พาเราไปหาอะไรกินกันก่อน" โรเบอร์โต้ พูดต่อว่า "เห็นพีร์บอกว่ามีร้านประจำ เราไปทานเบอร์เกอร์กับคราฟท์เบียร์ก่อนกลับดีหรือเปล่า" แล้วหันมาพูดกับผมว่า "หวังว่านายจะยังไม่เบื่อก่อนนะ 555"
"กินไม่เบื่อแน่นอน ... " ผมตอบ
ผมหันกลับไปมองที่พิพิธภัณฑ์อีกครั้ง ตอนนี้ผมพอจะรู้แล้วล่ะว่า ความหวังที่ผลงานศิลปะทั้ง 13 ชิ้นจะได้กลับมาที่พิพิธภัณฑ์ คงไม่มีทางเป็นจริงแน่นอน"
พินัยกรรมมูลค่ามหาศาลแต่ถูกผูกมัดด้วยเงื่อนไขต่างๆ แทนที่จะได้ประโยชน์กลับสร้างพันธะอันหนักอึ้งให้คนรุ่นหลังๆ ผมคงต้องหาคำแนะนำเรื่องนี้ให้ลูกค้าหากวันหนึ่งลูกค้าของผมจะทำพินัยกรรมเพื่อส่งต่อทรัพย์สินตามความต้องการของตัวเอง
ตามกฎหมายเมื่อเจ้าของทรัพย์เสียชีวิต ทรัพย์มรดกทั้งหมดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามลําดับชั้นเว้นเสียแต่ว่าเจ้าของทรัพย์จะได้ทําพินยกรรมระบุว่าต้องการให้ทรัพย์สินแก่ใคร จํานวนเท่าใด ผู้มีสิทธิได้รับมรดกเป็นใครก็ได้ที่เจ้าของทรัพย์ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรม ไม่จําต้องเป็นทายาทเท่านั้น
หากไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นจะตกทอดแก่แผ่นดินแทน
In Memory of Isabella Stewart Gardner (by John Singer Sargent in 1888) - Isabella Stewart Gardner Museum Credit : www.bostonglobe.com
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ โดยนำไอเดียเรื่องสั้นแนวศิลปะของพี่บี เพจให้เพลงพาไป มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินพื้นฐาน แต่ละตอนถูกเขียนให้มีตัวละครที่เชื่อมโยงกัน แต่ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์สมมุติเพื่อความบันเทิง อาจมีบางส่วนจากเรื่องราวหรือตัวตนของบางท่านที่นำมาใช้เป็นโครงของเรื่อง แต่ตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่สมมุติขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือชี้นำใดๆ และบางส่วนอาจอิงข้อมูลที่ค้นจากแหล่งต่าง ผมขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ภาพประกอบ และผู้ที่ถูกเชื่อมโยงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
โฆษณา