26 พ.ย. 2020 เวลา 22:00 • การศึกษา
น้ำใสใจจริง จากมารดา...
ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และในที่สุดก็เสื่อมสลายไป สิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นบุตรธิดา ญาติพี่น้อง ทรัพย์สินเงินทอง ล้วนไม่อาจติดตามเราไปสู่ปรโลกได้ มีแต่กุศลผลบุญที่เราสั่งสมไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นดังเงาติดตามตัวเราไป ดังนั้นเราทั้งหลายต้องตระหนักและแสวงหาหลักของชีวิต ด้วยการสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธ-ศาสนา ได้รู้จักอริยมรรค ซึ่งเป็นหนทางสายกลาง นำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เพื่อมุ่งตรงสู่พระนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มาตุโปสกสูตร ว่า.....
"บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั้น บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์"
ผู้รู้ท่านกล่าวอุปมาไว้ว่า .... หากเราเอาภูเขามาแทนปากกา และเอานภามาแทนกระดาษ น้ำในมหาสมุทรแทนน้ำหมึก เขียนพรรณนาคุณมารดาบิดา จนกระทั่งภูเขาเตียนราบเป็นหน้ากลอง ท้องฟ้าเต็มไปด้วยตัวหนังสือ น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้งไป ยังไม่อาจพรรณนาพระคุณของท่านได้หมดสิ้น การพรรณนาหรือรู้จักสำนึกถึงบุญคุณของท่านทั้งสอง เราเรียกว่า กตัญญู ถึงแม้ว่าเราจะพรรณนาคุณได้ไม่หมด แต่การตอบแทนพระคุณของท่านให้หมดสิ้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า หากทำได้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นอภิชาตบุตร ที่ช่วยปิดประตูนรก ยกใจบิดามารดาให้ขึ้นสู่สวรรค์ ผลแห่งบุญย่อมส่งถึงลูกให้มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป
1
การตอบแทนพระคุณของพ่อแม่นั้น มีหลายวิธี เช่น ในสิงคาลกสูตรได้กล่าวถึงวิธีการตอบแทนคุณพ่อแม่ ผู้เป็นทิศเบื้องหน้าไว้ว่า "ท่านเลี้ยงเรามา ...เราจักเลี้ยงท่านตอบ... จักรับทำกิจของท่าน... ดำรงวงศ์ตระกูล ...จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก ...เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว จักทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน"
ดังเรื่องราวของสานุสามเณรดังนี้ ....มีอุบาสิกาท่านหนึ่ง เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นางมีลูกชายสุดที่รักคนเดียวชื่อ สานุ เมื่อลูกชายอายุ ๗ ขวบ ก็ให้ลูกบวช สานุสามเณรตั้งใจรักษาศีล เป็นสามเณรที่ฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ ตั้งใจเล่าเรียนพุทธวจนะ ขยันขันแข็ง ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่เพื่อจัดเตรียมน้ำฉัน น้ำใช้ ปัดกวาดศาลาธรรม เป็นต้น
เหล่าภิกษุต่างรู้กันว่า สานุสามเณรเป็นผู้มีเสียงไพเราะ มีแววของความเป็นสามเณรธรรมกถึก สามารถแสดงธรรมเป็นทำนองสรภัญญะได้ จึงเชื้อเชิญให้สวดบทสรภัญญะ สามเณรเดินขึ้นธรรมาสน์ด้วยความองอาจ กล่าวบทสรภัญญะด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเสนาะโสต ยังใจผู้ฟังให้ปีติเบิกบานในธรรม ก่อนลงจากธรรมาสน์ สามเณรไม่ลืมที่จะอุทิศส่วนกุศลให้หมู่ญาติ บรรพบุรุษ บุพการีชนในอดีตชาติ
ในขณะที่สามเณรกำลังแสดงธรรม มีเหล่าเทวดา ยักษ์และอมนุษย์ มาฟังธรรมกันมากมาย ครั้งนั้น นางยักษิณีซึ่งเคยเป็นโยมแม่ของสามเณรในภพก่อน ได้มาฟังธรรมด้วย จึงอนุโมทนาในส่วนบุญที่สามเณรได้อุทิศให้ เหล่าเทวดาซึ่งมีความเคารพในสามเณร จึงนับถือนางยักษิณีผู้เป็นมารดาของสามเณร ฉะนั้นทุกครั้งที่นางมาฟังธรรม จะได้รับความเกรงใจจากเทวดาและยักษ์ทั้งหลาย
ต่อมา สามเณรเจริญเติบโตแตกเนื้อหนุ่ม ถูกความกำหนัดยินดีบีบคั้น เมื่อไม่อาจบรรเทาความกำหนัดยินดีได้ ก็คิดจะลาสิกขา แต่ไม่กล้าบอกใคร รุ่งเช้า สามเณรตัดสินใจถือบาตร ออกเดินทางไปบ้านของโยมแม่ตามลำพัง พลางเปิดเผยความในใจทุกอย่างและขออนุญาตลาสิกขา แต่เนื่องจากโยมแม่ อยากให้สามเณรเป็นอายุของพระศาสนา จึงแสดงโทษมากมายในเพศฆราวาสให้ฟัง สามเณรก็ยังยืนยันจะลาสิกขา
1
โยมแม่จึงขอขยายเวลาออกไปว่า "ถ้าเช่นนั้น ขอให้ ลูกเณรเป็นเนื้อนาบุญให้กับโยมแม่ในเช้าวันนี้ก่อน แล้วค่อยลาสิกขา"
สามเณรยอมตามใจโยมแม่ ขณะที่อุบาสิกากำลังจัดอาหารอยู่นั้น ยักษิณีนึกถึงสามเณรว่า กำลังทำอะไรอยู่ เมื่อรู้ว่าสามเณรกำลังจะลาสิกขา นางรีบเหาะมาห้าม แต่วิธีการห้ามของนางอาจจะดูน่ากลัว ให้เราดูที่เจตนาเป็นหลัก ส่วนวิธีการเป็นเรื่องรอง นางคิดว่า "ถ้าหากสามเณรลาสิกขา ต่อไปเราก็จะไม่ได้บุญ อีกทั้งจะไม่ได้รับความเคารพยำเกรงจาก พวกยักษ์และเทวดาอีกต่อไป"
เมื่อเหาะมาถึง นางจึงเข้าไปสิงร่างของสามเณรทันที สามเณรมีนัยน์ตาเหลือกค้าง น้ำลายฟูมปาก นอนดิ้นไปมาอยู่บนพื้น
อุบาสิกาเห็นอาการแปลก ๆ ของสามเณร จึงร้องตะโกน ให้ชาวบ้านมาช่วย ชาวบ้านรู้ว่าสามเณรถูกยักษ์เข้าสิง ต่างพากันทำพลีกรรมเพื่อขับไล่ยักษ์ออก แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะนางมีอานุภาพมาก อุบาสิกาสงสารสามเณรมาก ร้องไห้คร่ำครวญด้วยความสงสารลูกเณรสุดที่รัก พลางรำพึงรำพันว่า
"ฉันได้ฟังจากพระอรหันต์ว่า ชนเหล่าใดรักษาอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่รังแกชนเหล่านั้น แต่วันนี้ยักษ์กลับมารังแกสามเณรสานุ ผู้เป็นบุตรของดิฉันได้อย่างไร"
นางยักษิณีตอบว่า "การที่ท่านได้สดับจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฟังมาถูกแล้ว ท่านพึงบอกสานุสามเณรเมื่อฟื้นขึ้นมาว่า ยักษ์สั่งไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันลามก ทั้งในที่แจ้งและที่ลับและอย่าลาสิกขาไปเลย" จากนั้นนางได้ออกจากร่างสามเณร
1
สามเณรลืมตาขึ้น เห็นโยมแม่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่รู้ว่าตนเองถูกอมนุษย์เข้าสิง รู้สึกสับสนและงุนงงไปหมด รีบถามโยมแม่ว่า "ญาติและมิตรทั้งหลาย ย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว โยมแม่ยังเห็นฉันเป็นอยู่ ไฉนจึงร้องไห้เล่า"
1
โยมแม่เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น และแสดงโทษของการอยู่ครองเรือนให้ลูกฟังซํ้าว่า....
"ลูกเณร ญาติมิตรย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายหน้าไป แต่คนใดละกามแล้ว ยังจะกลับมาหากามอีก ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนนั้น เพราะเขาเป็นอยู่ต่อไปก็เหมือนตายแล้ว ท่านอุตส่าห์ขึ้นจากเปือกตมคือกิเลส แล้วท่านจะตกลงไปอีกทำไม ขอให้ ลูกเณรจงอยู่เป็นอายุพระศาสนาเถิด"
สามเณรได้ฟังความในใจและรับรู้ถึงความปรารถนาอันบริสุทธิ์ของโยมมารดา ก็เกิดความสลดสังเวชใจที่ตนต้องตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส จึงกลับได้สติมีหิริโอตตัปปะ รีบบอกโยมแม่ว่า "สามเณรไม่สึกแล้ว จะขอบวชตลอดชีวิต" โยมแม่ได้ฟังคำของสามเณร ปลื้มใจยิ่งนัก ได้ถวายอาหารอันประณีต
ตั้งแต่นั้นมาสามเณรก็มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างไม่ลดละ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี ก็บวชพระ หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้ฟังคำสอนจากพระบรมศาสดาว่า "ธรรมดาว่าจิตนี้ เที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ข่มจิต เพราะฉะนั้น ท่านจงทำความเพียรในการข่มจิตด้วยโยนิโสมนสิการ เหมือนนายหัตถาจารย์ ทำความพยายามในการข่มช้างตกมันด้วยขอเถิด"
ท่านปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านได้เป็นพระธรรมกถึกใหญ่เป็น ผู้ชำนาญในพระปริยัติธรรม เชี่ยวชาญปฏิบัติและปฏิเวธ อีกทั้งการเทศนาของท่านก็ไพเราะ ท่านอยู่เป็นอายุพระศาสนาไปถึง ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพาน
1
จะเห็นได้ว่า ที่สุดของความปรารถนาของบิดามารดาผู้เห็นภัยในวัฏสงสารอย่างแท้จริงนั้น คือการเห็นลูกชายได้ห่มผ้าเหลืองนั่นเอง พ่อแม่ได้ผ่านความทุกข์ยากในชีวิตฆราวาสมาก่อน จึงรู้ว่าชีวิตสมณะ คือชีวิตที่บริสุทธิ์สดใส จึงอยากให้ทุกคนได้เดินบนเส้นทางที่บริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม เพราะการจะทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นควบคู่กับการทำมาหากิน เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นท่านใดที่ยังไม่เคยบวช ต้องหาโอกาสตอบแทนผู้มีพระคุณด้วยการเข้ามาบวช เพื่อกลั่นกาย วาจา ใจให้ใสบริสุทธิ์ ท่านใดมีกุศลจิตศรัทธา อยากบวชเป็นอายุพระพุทธศาสนา ก็ขออนุโมทนาด้วย
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๒๙- ๓๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
สานุสามเณร เล่ม ๔๓ หน้า ๒๔๕
โฆษณา