8 ธ.ค. 2020 เวลา 22:00 • การศึกษา
ผู้ไม่เกียจคร้าน...
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องอาศัยกำลังบุญบารมีที่ได้สั่งสมมาอย่างดี และนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ได้เกิดมาในบวรพุทธศาสนา ถือเป็นบุญลาภอันประเสริฐ เพราะชีวิตของความเป็นมนุษย์นั้นต่างจากสัตวโลกทั้งหลาย ที่มีร่างกายและสติปัญญา รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว และยังสามารถสร้างบุญบารมีได้อย่างเต็มที่ ร่างกายของมนุษย์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่สร้างความดีได้อย่างเต็มที่ และเป็นฐานสำหรับรองรับคุณธรรมความดีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นที่ฝึกฝนอบรมจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ จนสามารถเข้าถึงพระธรรมกาย และกำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายที่หมักดองอยู่ในจิตใจให้หมดสิ้นไปได้
1
การที่จะเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ คือ พระธรรมกายที่มีอยู่ภายในตัวของเราได้นั้น ต้องปล่อยวางภารกิจ เครื่องกังวลใจออกไปให้หมด โดยการหยุดใจไว้ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของใจอย่างถูกต้องถาวร ให้หมั่นประกอบความเพียรไม่เกียจคร้าน และประพฤติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ไม่นานความสุขอันเกิดจากการทำใจหยุดนิ่งจะพรั่งพรูออกมาอย่างจะนับจะประมาณมิได้
ในสังคมของชาวโลกนั้น ความสำเร็จของงานเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต่างปรารถนา งานทุกอย่างจะสำเร็จได้เป็นอย่างดี จะต้องอาศัยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ซึ่งธรรมบทนั้นได้แก่ อิทธิบาท ๔ คือ มีความรักในงานที่จะทำ เห็นความสำคัญของงานนั้น และใช้ความเพียรพยายาม มุมานะ อีกทั้งมีความเอาใจใส่ พิจารณาตรวจตรางานอยู่เสมอและหมั่นปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้แล้ว ย่อมบรรลุผลที่ตั้งใจอย่างแน่นอน งานสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความรักความเอาใจใส่ในการทำความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติธรรมที่จะให้มีประสบการณ์ภายในที่ดี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายในได้นั้น จะต้องรักการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หมั่นสังเกตผลและอาศัยความเพียรพยายาม ไม่ท้อแท้ท้อถอย หรือเลิกความเพียรกลางคัน
ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถี มีกุลบุตรคนหนึ่งได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ เกิดจิตเลื่อมใส เห็นโทษในกาม และเห็นอานิสงส์ของการออกจากกาม จึงสละเพศฆราวาสออกบวช เมื่ออุปสมบทได้ ๕ พรรษา เรียนมาติกาได้ ๒ บท และเรียนกัมมัฏฐานตามที่จิตของตนชอบในสำนักของพระบรมศาสดา ต่อมาได้เข้าไปจำพรรษาบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าแห่งหนึ่งจนตลอดพรรษา ก็ยังไม่บรรลุธรรมใดๆ เมื่อไม่เห็นแม้นิมิต หรือแสงสว่าง ท่านจึงคิดว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคล ๔ จำพวก ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น สงสัยเราจะเป็นพวกปทปรมะ คือ บัวใต้น้ำเป็นแน่ เห็นทีเราจะบรรลุมรรคผลไม่ได้ในปัจจุบันชาตินี้ อย่ากระนั้นเลย จะมีประโยชน์อะไรกับการอยู่ในป่า เราจะไปสำนักของพระบรมศาสดา แลดูพระวรกายอันงดงามยิ่งของพระองค์ และ ฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะจะดีกว่า" เมื่อคิดดังนี้แล้ว ท่านตัดสินใจกลับวัดพระเชตวันมหาวิหาร
ภิกษุผู้เป็นสหธรรมิก เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เห็นท่านกลับมา พากันถามท่านว่า "อาวุโส ท่านเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเข้าไปป่า ด้วยความหวังว่าจะทำสมณธรรมมิใช่หรือ แต่บัดนี้กลับมาเที่ยวรื่นรมย์กับการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ กิจแห่งบรรพชิตของท่านถึงที่สุดแล้วหรือ ท่านจะเป็นผู้ไม่มีการเกิดอีกแล้วหรือ"
ภิกษุนั้นตอบว่า "ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใดเลย ตัวเรานั้นน่าจะเป็นอภัพบุคคล จึงได้ละความเพียรแล้วมายังสถานที่แห่งนี้"
1
ภิกษุทั้งหลายจึงพูดขึ้นว่า "อาวุโส ท่านบวชเรียนในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรมั่นคง แล้วกลับมาละความเพียรเสีย ท่านกระทำสิ่งอันไม่ใช่เหตุแล้ว มาเถิดท่าน พวกเราจะไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดากัน"
 
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนา รูปนี้ มาทำไม"
ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุรูปนี้บวชในบวรพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เมื่อไม่สามารถกระทำสมณธรรมให้เกิดขึ้น ก็ละความเพียรเสียแล้ว"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุนั้นว่า "ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอละความเพียรจริงหรือ"
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ เธอบวชเรียนในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์อย่างนี้ ทำไมจึงไม่ให้เขารู้จักเธออย่างนี้ว่า เป็นผู้มีความมักน้อย หรือว่าเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้สงัด เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยหมู่ หรือว่าเป็นผู้หมั่นปรารภความเพียรอยู่เสมอ แต่เธอกลับให้เขารู้จักว่า เป็นผู้ละความเพียร เมื่อก่อนเธอเป็นผู้มีความเพียรพยายามอยู่ไม่ใช่หรือ เมื่อเกวียน ๕๐๐ เล่ม แล่นไปในเส้นทางทุรกันดาร พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้ดื่มน้ำอย่างมีความสุข ก็เพราะอาศัยความเพียรซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว แต่เพราะเหตุไรในบัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสียเล่า"
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสเช่นนั้น จึงอ้อนวอนพระพุทธองค์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเพียรที่ภิกษุรูปนี้ละแล้ว ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในบัดนี้ แต่ในกาลก่อน การที่โคและมนุษย์ทั้งหลายได้ดื่มน้ำอย่างมีความสุขในทางกันดารในทะเลทราย เพราะอาศัยความเพียรของภิกษุรูปนี้ พวกข้าพระองค์ยังไม่รู้ ขอพระองค์ตรัสเหตุของเรื่องนี้แก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า....
ในอดีตกาล เมื่อคราวที่พระเจ้าพรหมทัตครองเมืองอยู่ที่เมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ได้เดินทางในทะเลทรายตลอด ๖๐ โยชน์ ในทางกันดารนั้น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจะมีแต่ความร้อนประดุจกองถ่านเพลิง ไม่อาจข้ามทะเลทรายไปได้ เพราะเหตุนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ดำเนินไปในทางกันดาร จึงเอาเกวียนบรรทุกฟืนน้ำมัน และน้ำเป็นต้น พักผ่อนเวลากลางวัน ออกเดินทางเฉพาะในยามที่พระอาทิตย์อัสดงคตด้วยสัญญาณของดวงดาว พ่อค้าเกวียนทั้งหลาย
เดินทางมาได้ ๕๙ โยชน์ จึงคิดว่าเหลืออีกคืนเดียวเท่านั้น
พวกเราก็จะออกจากทะเลทรายแล้ว จึงบริโภคอาหารเย็น ใช้ฟืนและ น้ำจนหมด จากนั้นพากันออกเดินทางต่อ
คืนนั้น คนนำทางเกิดความเหน็ดเหนื่อย จึงเผลอหลับไป โคทั้งหลายก็หวนกลับเข้ามาตามเส้นทางเดิม เดินทางไปอย่างนี้ตลอดคืนยันรุ่ง เมื่อคนนำทางตื่นขึ้นมา มองดูดาวนักษัตรก็รู้ว่า นี่เป็นที่ตั้งค่ายพักแรมของพวกเขาเมื่อวานนี้ พวกพ่อค้าต่าง ปริเวทนาคร่ำครวญ เพราะเสบียงในการเดินทางหมดแล้ว จึงพากันตั้งปะรำ นอนเศร้าโศกอยู่ใต้เกวียนของตน
ขณะนั้นเอง พระโพธิสัตว์คิดว่า "เมื่อเราละความเพียรเสียแล้ว คนทั้งหลาย จักพากันฉิบหาย" รุ่งเช้า จึงสำรวจพื้นทราย เห็นกองหญ้าแพรกกองหนึ่งจึงคิดว่า หญ้าเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความชื้นของน้ำข้างล่าง จึงสั่งให้คนขุดลึกลงไปได้ ๖๐ ศอก ทันใดนั้น จอบได้กระทบกับหินดานข้างล่าง ทันทีที่ได้ยินเสียง จอบกระทบกับหิน พวกเขาพากันถอดถอนใจละความเพียรกันทั้งหมด
พระโพธิสัตว์คิดว่า "ภายใต้หินนี้ต้องมีน้ำแน่" จึงลงไปยืนที่พื้นหิน ก้มลงเงี่ยหูฟัง ได้ยินเสียงน้ำเบื้องล่าง ท่านรีบไปบอกคนรับใช้ว่า "พวกเรายังพอมีหวัง หากเธอละความเพียร พวกเราจะฉิบหายกันหมด ขอเธออย่าละความเพียรเลย จงเอาค้อนเหล็กนี้ลงไปทุบแผ่นหินเถิด" คนรับใช้ก็รับคำของพระโพธิสัตว์ และยืนทุบแผ่นหินนั้น จนกระทั่งแผ่นหินแตกออกเป็น ๒ ซีก กระแสน้ำประมาณเท่าลำตาลก็พวยพุ่งขึ้นมา คนทั้งหลายต่างพากันดื่มน้ำอาบน้ำ ปรุงอาหาร และเมื่ออาทิตย์อัสดง พวกเขาก็พากันออกเดินทางไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ภิกษุนั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดกำลังใจ ตั้งใจประกอบความเพียรใหม่ ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลสมความปรารถนา
จะเห็นได้ว่า... บุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน แม้จะอยู่ในที่ที่ทุรกันดาร มีแต่ความลำบาก ก็สามารถ ผ่านวิกฤติจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้ เพราะอาศัยความเพียร บุคคลจึงเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ เหมือนอย่างพระบรมศาสดาของพวกเรา ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น พระองค์ทรงมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในใจว่า "แม้เลือดเนื้อของเราจะเหือดแห้งหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม หากยังไม่ได้บรรลุพระสัมมา-สัมโพธิญาณ จะไม่ยอมลุกจากที่"
พวกเราในฐานะนักสร้างบารมี ผู้เดินตามรอยบาท พระบรมศาสดา ต้องมีความเพียร ไม่เกียจคร้านในการสร้างบารมี ให้ใช้วันเวลาของชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เร่งสร้างบุญบารมี และปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เราจะได้เป็นยอด นักสร้างบารมีที่มีแต่ความสมปรารถนากันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๑๐๗ - ๑๑๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
วัณณุปถชาดก เล่ม ๕๕ หน้า ๑๗๐
โฆษณา