22 ม.ค. 2021 เวลา 09:17 • การศึกษา
ตั้งเป้าหมายชีวิต
นักสร้างบารมีจะต้องอดทนต่อการสร้างบารมี ส่วนความสะดวกสบายนั้น ถือเป็นผลพลอยได้ เป็นผลพลอยดีที่เราได้รับจากผลของการทำความดีเท่านั้น เราจึงควรยินดีต่อความลำบากที่เกิดจากการสร้างบารมี อุปสรรคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือดินฟ้าอากาศ จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบารมีของเรา ให้ดูอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ต้องประสบอุปสรรคมากมาย แต่ทรงอาศัยขันติธรรม และยึดมั่นในอุดมการณ์ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจบั่นทอนกำลังใจของท่านได้ ท่านมีใจจดจ่อต่อการสร้างบารมีอย่างแท้จริง อัธยาศัยนี้จึงติดตัวมาจนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย ทรงออกบำเพ็ญเพียรทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในที่สุดพระองค์ได้เข้าถึงความสุขอันไพบูลย์ ความสุขอันเป็นอมตะ พวกเราทั้งหลายต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ไม่เข้าถึงธรรมกายเป็นไม่ยอม หากทำได้เช่นนี้เราจะสมปรารถนา เข้าถึงพระธรรมกายภายในได้ทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆชาณุสูตร ว่า
“คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ร้อยถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางแห่งสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการนี้ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธองค์ตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และความสุขในอนาคต”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลวงพ่อได้นำเรื่องเป้าหมายชีวิตมาเล่าให้พวกเราได้รับฟังเป็นประจำ เพื่อเป็นการตอกย้ำซ้ำเดิมถึงความเป็นจริงของการมาเกิดเป็นมนุษย์ เราจะได้ไม่ประมาท และดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิต เหมือนเรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางมหาสมุทร จะแล่นไปถึงฝั่งได้ นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปถูกทิศทาง
เป้าหมายชีวิตมี ๓ ระดับ ได้แก่
เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือ ตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้
เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า
และเป้าหมายขั้นสูงสุด คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้เรามีเป้าหมายทั้ง ๓ ประการนี้ เพื่อชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏจะได้ไม่ผิดพลาด ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาติดตามกันต่อไป
สมัยหนึ่ง พราหมณ์ชื่อ ทีฆชาณุรู้ข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการวางแผนชีวิต ทรงรู้จักเส้นทางไปสวรรค์และนิพพาน จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบขอคำปรึกษาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดบุตรและภรรยา ยังทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทองอยู่ ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน และเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในอนาคตด้วยเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน คือ อุฏฐานสัมปทา อารักขสัมปทา กัลยาณมิตตตาและสมชีวิตา"
อุฏฐานสัมปทา หมายถึง การเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำธุรกิจการงานทุกชนิด ให้ทุ่มเทสติปัญญาและความสามารถ เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
อารักขสัมปทา หมายถึง เป็นผู้รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ เมื่อนึกย้อนหลังไปในสมัยก่อนที่ทางบ้านเมืองยังไม่มีธนาคาร ใครได้ทรัพย์มาแล้ว ต้องหาทางเก็บงำไว้ในที่ที่ปลอดภัย เช่น ขุดหลุมฝังไว้ ถ้าเป็นเศรษฐีจะมีเรือนคลังเป็นของตน เมื่อมีทรัพย์มากแล้ว จึงจำเป็นต้องรู้จักเก็บงำไว้ ไม่ให้เกิดโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย หรือภัยที่เกิดจากทายาทผู้ไม่ประสงค์ดี มาลักขโมยไปได้ แต่ถึงอย่างไร ในยุคปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดจากโจรผู้ร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ ก็ยังเกิดขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์สอนให้เรารู้จักการเก็บงำทรัพย์สมบัติไว้ให้ดี
กัลยาณมิตตตา หมายถึง หาพรรคพวกที่เป็นคนดี มีศีลมีธรรม ที่จะมาช่วยทำให้ชีวิตของเราเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป การเลือกคบคน อย่าไปดูเพียงรูปร่างหน้าตา ฐานะความเป็นอยู่ หรือคำพูดจาดีเท่านั้น แต่ให้สังเกตเพื่อนคนนั้นว่า มีความประพฤติดี มีศรัทธา มีศีล รักในการบริจาคทาน มีปัญญาแนะนำตักเตือนเราได้ คนที่คิดดี พูดดีและทำดี แม้จะอยู่ในสถานะใด ย่อมได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรให้กับเราได้เช่นกัน
สมชีวิตา หมายถึง จะต้องรู้ทางเจริญขึ้นและทางเสื่อมของทรัพย์และเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟื่อยหรือฝืดเคืองจนเกินไป บางคนมีความขยันหมั่นเพียรหาทรัพย์มาได้มากก็จริง แต่ไม่รู้จักวิธีใช้ทรัพย์ หามาได้เท่าไรก็ไม่พอ จึงกลายเป็นบุคคลผู้ที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ในทำนองเดียวกัน แม้มีรายได้น้อย แต่รู้จักประหยัด ก็สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ เพราะความสุขอยู่ที่การรู้จักพอและสันโดษ
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงชี้ทางรั่วไหลออกของทรัพย์ว่า โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบนี้ มีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เที่ยวผู้หญิง ดื่มสุรา เล่นการพนันและคบมิตรชั่ว เหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง จึงจำเป็นต้องเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระ ด้วยการไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด
ส่วนธรรมอีก ๔ ประการที่พระองค์ตรัสไว้คือ
“กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธาสัมปทา สีลสัมปทา จาคสัมปทา ปัญญาสัมปทา ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขในอนาคตแก่กุลบุตร”
เนื่องจากชีวิตหลังความตายของเราไม่สูญ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงต้องวางแผนชีวิตในสัมปรายภพให้กับตัวเราไว้ด้วย
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า โดยเฉพาะความเชื่อในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการเบื้องต้น เป็นสิ่งที่ผู้ปรารถนาไปสู่สวรรค์หรือนิพพานจะต้องให้สัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจให้ได้ จากนั้นท่านสอนให้เราเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ให้ด่างพร้อย อย่างน้อยให้สมาทานศีล ๕ กันทุกคน
ประการต่อมา บุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้ไม่ตระหนี่ พระพุทธองค์ตรัสว่า น เว กทริยา เทวโลกํ วชนฺติ คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีศรัทธาดี มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ต้องหาโอกาสให้ทาน เพราะทานคือเสบียงในการเดินทางไกล ที่จะทำให้มีชีวิตไม่อดอยาก เป็นชีวิตที่สูงขึ้นไป ประการสุดท้าย ต้องแสวงหาปัญญาเป็นเครื่องพ้นทุกข์ให้กับตน หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะหนทางไปสู่สวรรค์และนิพพานให้กับเราได้
ทั้งหมดนี้คือการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ประโยชน์ในปัจจุบันคือการสร้างฐานะให้มั่นคง ประโยชน์ในสัมปรายภพ เริ่มต้นที่การสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นเสบียงบุญในการเดินทางในสังสารวัฏ แต่ประโยชน์ทั้งสองอย่างนี้ ยังทำให้เราติดข้องอยู่ในโลก ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้ จะหลุดพ้นได้มีหนทางเดียว คือต้องทำประโยชน์อย่างยิ่งให้เกิดขึ้น ด้วยการทำพระนิพพานให้แจ้ง โดยเริ่มต้นจากการทำใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย จนเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เมื่อเข้าถึงแล้ว ย่อมมีความสุขทั้งภพนี้ ภพหน้า เป็นทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน ในสัมปรายภพและในสังสารวัฏ ดังนั้น อย่าได้ประมาท ให้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ให้ดี และหมั่นขวนขวายในการปฏิบัติธรรม ทำใจของเราหยุดนิ่งเรื่อยไป เพื่อเราจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๗๙- ๓๘๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ทีฆชาณุสูตร เล่ม ๓๗ หน้า ๕๖๐
โฆษณา