28 พ.ย. 2020 เวลา 11:28
เตรียมพร้อม สำหรับภาษีเงินได้ปี 2563
#4 การวางแผนภาษี
2
ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมทุกปี เป็นช่วงที่เราต้องดำเนินการยื่นแบบและเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลของปีที่ผ่านมา และหลายคนพยายามคิดหาวิธีการที่จะคำนวณได้ยอดภาษีที่ต่ำที่สุด
ในความเป็นจริงเวลานั้นไม่ใช่เวลาในการวางแผนภาษี แต่เป็นเวลาในการกรอกฟอร์มและคำนวณภาษีให้ถูกต้องตาม "รายได้" "ค่าใช้จ่าย" และ "ค่าลดหย่อน" ทีเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพื่อไม่ต้องถูกเรียกย้อนหลังในอนาคต
แล้วการวางแผนภาษีเกิดขึ้นตอนไหนล่ะ?
คำตอบคือ การวางแผนภาษีต้องทำก่อนสิ้นปี เพราะ รายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนที่ใช้คำนวณ คือรายการที่เกิดขึ้นในปีภาษีนั้น
สามบทความก่อนหน้า คือ การทำความเข้าใจเรื่อง รายได้ ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน เพื่อให้เรากรอกแบบและคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้อง สำหรับบทความนี้เป็นการทำความเข้าใจกระบวนการในการวางแผนภาษีเพื่อให้เราสามารถลดภาระภาษีที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้เราเสียภาษีอย่างถูกต้องไม่ขาดและไม่เกิน(จำเป็น) ขออิงกับวิธีการวางแผนภาษีที่เขียนตามหลักวิชาการนะครับ เพราะลองดูแล้วน่าจะเป็นวิธีที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้วครับ
Credit : Unsplash.com
ในทางบัญชี รายได้ - รายจ่าย = กำไร(ก่อนเสียภาษี)
ในการวางแผนภาษี ก็ไม่ต่างกัน เพราะ รายได้ - รายจ่าย = เงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษี
การวางแผนภาษี จึงเกี่ยวพันกับ เรื่องของ รายได้ และ เรื่องของรายจ่าย หากเราอ่านหนังสือที่ว่าด้วยการวางแผนภาษี อาจได้ทราบว่าแนวทางในการวางแผนภาษี ประกอบด้วย
วิธีที่ 1 การกระจายหน่วยภาษี และการกระจายรายได้
วิธีที่ 2 การลดเงินได้สุทธิ
วิธีที่ 3 การแปลงประเภทเงินได้ เพื่อประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่าย
วิธีที่ 4 การบริหารเงินได้จากแหล่งนอกประเทศ
วิธีที่ 5 การกำหนดเวลาการรับเงินได้
วิธีที่ 6 การเลือกรวม หรือไม่รวมภาษีปลายปี
ทั้ง 6 วิธีเป็นเรื่องของรายได้ และ รายจ่าย (ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) ที่เกิดขึ้นในปีภาษีนั้นก่อนที่จะอ่านต่อไป ขอย้ำก่อนว่า ทั้ง 6 วิธีนี้ เป็นวิธีการลดภาระทางภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ และสามารถนำหลายๆ วิธีมาใช้ร่วมกันได้
วิธีที่ 1 การกระจายหน่วยภาษี และ การกระจายรายได้
วิธีที่ใช้กัน คือ การเลือก ยื่นแยก หรือ ยื่นรวม ภาษี และการกระจายรายได้ให้บุคคลอื่นๆ มีผลต่อจำนวนเงินภาษี(รวม) ที่ต้องเสียภาษี
การเลือกแยกยื่น รวมยื่น หรือแยกเฉพาะ 40(1) มีผลต่ออัตราภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ และมีผลให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ให้เห็นจำนวนเงินภาษีที่คู่สมรสต้องเสียจากการเลือกแยกยื่น และ รวมยื่น
ตัวอย่างคู่สมรส มีเงินได้ เดือนละ 50,000 บาท เท่ากัน มีบุตร 1 คน ไม่มีค่าลดหย่อนใดๆ กรณีแยกยื่น ต่างฝ่ายจะมีภาษีที่ต้องชำระ คนละ 18,500 บาท รวมทั้งคู่เสียภาษี 37,000 บาท แต่ถ้านำเงินได้มารวมยื่น ภาษีที่ต้องชำระจะเท่ากับ 79,000 บาท หรือ เสียภาษีสูงกว่าเป็นเงิน 42,000 บาท
การรวมยื่นแบบฯ จะเป็นประโยชน์เมื่อฝ่ายหนึ่ง มีรายได้ต่างกับอีกฝ่ายหนึ่งมาก และฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มสิทธิ แต่หากการยื่นรวมทำให้รายได้ส่วนเพิ่มขึ้นไปอยู่ในฐานภาษีที่สูงขึ้นก็อาจไม่ได้ประโยชน์จากวิธีการนี้
วิธีที่ 2 การลดเงินได้สุทธิ
เชื่อว่าทุกคนคุ้นเคยกับวิธีนี้ดี การลดเงินได้สุทธิโดยการเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ประกันชีวิต RMF SSF ฯลฯ เป็นวิธีที่เราใช้เพื่อลดเงินได้สุทธิ การลดเงินได้สุทธิยังมีอีกแนวทางคือการแปลงเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งนายจ้างส่วนมากเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านนี้
ตัวอย่างคู่สมรสคู่เดิม หากแต่ละฝ่ายแยกยื่น และต่างคนต่างมีประกันชีวิตที่ชำระเบี้ยปีละ 100,000 บาท และซื้อ RMF 100,000 บาท เมื่อนำเงินได้มาคำนวณภาษี ต่างฝ่ายจะมีภาษีที่ต้องชำระ 3,000 บาท รวมทั้งคู่เสียภาษีรวมกัน 6,000 บาท ภาษีที่ชำระลดลง 31,000 บาท
วิธีที่ 3 การแปลงประเภทเงินได้ เพื่อประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่าย
รายได้ 8 ประเภทที่กรมสรรพากรกำหนด จะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน
ถ้าสามารถหักค่าใช้จ่ายได้มาก ก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง เงินได้ประเภท 40(1)(2) เช่น เงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในขณะที่เงินได้ประเภท 40(6) เช่นแพทย์ ทนาย สถาปนิก บัญชี ฯลฯ หากเปลี่ยนจากเงินเดือน ที่เป็น 40(1) เป็น 40(6) เช่น ทนายเปลี่ยนจากเงินเดือนเป็นค่าวิชาชีพทนายในการรับคดีแทน จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 30% แต่ไม่มีเพดาน(ลดได้ทั้งจำนวน) ก็อาจจะสามารถใช้ประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ตัวอย่างคู่สมรสคู่เดิมจากวิธีที่ 1 หากทั้งคู่มีอาชีพที่สามารถแปลงเงินได้เป็น 40(6) แทนที่จะหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท จะหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็น 180,000 บาท จะทำให้มีเงินภาษีที่ต้องชำระ 10,500 บาทต่อฝ่าย รวมทั้งคู่เสียภาษีรวมเท่ากับ 21,000 บาท ภาษีที่ชำระลดลง 16,000 บาท
การเลือกใช้วิธีนี้ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การเพิ่มขึ้นของรายได้ในระยะยาว สวัสดิการที่อาจหายไปจากการไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เช่น การไม่มีส่วนสมทบของนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคมที่แตกต่าง และที่สำคัญคือ เงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามกฎหมายที่จะหายไปจากการไม่ได้เป็นพนักงานประจำ รวมถึงความไม่แน่นอนของรายได้
วิธีที่ 4 : การบริหารเงินได้จากแหล่งนอกประเทศ
กรมสรรพากรได้ระบุว่าเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
* เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย
ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย (รายละเอียดอ่านได้จาก https://www.rd.go.th/publish/552.0.html)
วิธีการบริหารเงินได้จากแหล่งนอกประเทศก็เป็นไปตามข้อความของกรมสรรพากร คือ หากอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน และนำเงินได้ที่ได้รับในปีภาษีนั้นเข้ามาในประเทศ ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่หากไม่ได้นำเงินได้เข้ามาในปีภาษีนั้น หรืออยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ก็ไม่เป็นตามเงื่อนไขการเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น
ตัวอย่างเช่น แตงโม เป็นนักกีฬาอาชีพ นำรายได้จากการแข่งขันในต่างประเทศตลอดปี 2563 โดยในปี 2563 แตงโมพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย รวม 200 วัน แตงโมจะต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินรายได้ในปี 2563 ที่นำเข้ามาตามอัตราที่กำหนด แต่หากแตงโมอยู่ในประเทศไทยในปี 2563 เพียง 179 วัน เงินได้จากแหล่งนอกประเทศไทยก็ไม่อยู่หลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2563
Credit : Unsplash.com
(หมายเหตุ : รายละเอียดและการพิจารณว่าเป็นเงินได้จากแหล่งนอกประเทศ และกระบวนการด้านต่างๆ สำหรับกรณีนี้อาจต้องปรึกษาผู้ชำนาญการด้านภาษีเพิ่มเติม)
วิธีที่ 5 การกำหนดเวลาการรับเงินได้
วิธีนี้คือการกระจายเงินได้ออกไปมากกว่า 1 ปี เพื่อใช้ประโยชน์จากปีที่มีรายได้ต่ำ รายละเอียดของการกำหนดเวลาการรับเงินค่อนข้างมากและขึ้นกับเงื่อนไขประกอบ รวมถึงกฎหมายด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ทดลองคำนวณเปรียบเทียบดูในแต่ละวิธีที่เราคิดว่าจะเป็นไปได้ครับ
Credit : Unsplash.com
วิธีที่ 6 การเลือกรวม หรือไม่รวมภาษีปลายปี
เงินได้บางประเภทจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ผู้เสียภาษีสามารถเลือกที่จะนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมหรือไม่รวม คำนวณเสียภาษีปลายปีก็ได้ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เป็นต้น ลองเปรียบเทียบภาษีที่เกิดขึ้นในการเลือกรวมหรือไม่รวม เพื่อเลือกวิธีที่มีภาษีต่ำกว่า แต่หากมีรายได้จากเงินปันผลที่สูงและสามารถใช้ประโยชน์จากเครดิตภาษี ก็ต้องนำมาร่วมคำนวณเพื่อเปรียบเทียบแนวทางที่จะมีภาษีต่ำที่สุด
Credit : ภาพจาก Internet
จะเห็นได้ว่า แนวทางการวางแผนภาษี ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นการลดเงินได้สุทธิด้วยการเพิ่มค่าลดหย่อน แต่มีวิธีหลากหลายที่จะต้องนำมาวางแผนก่อนการเพิ่มค่าลดหย่อน และบางวิธีจะช่วยให้เราได้รับเงินภาษีที่ถูกจ่ายซ้ำซ้อนกลับมาจากการเครดิตภาษี ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการวางแผนภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้เราเสียภาษีอย่างเหมาะสมครับ
จริงๆ ยังมีประเด็นปลีกย่อยต่างๆ โดยบางประเด็นมีประโยชน์กับบางคนเป็นพิเศษ เช่นการทำเครดิตภาษี ซึ่งเชื่อว่าหลายคนเลือกไม่รวมเงินปันผลเพื่อคำนวณภาษี เพราะเข้าใจว่าจะทำให้มีฐานภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ถูกหักไว้ โดยไม่ได้ลองทำเครดิตภาษีว่าจริงๆ แล้วเราจะได้เงินภาษีคืนมามากขึ้นหรือไม่ อีกประเด็นที่อาจมีประโยชน์สำหรับบางคนในปี 2563 ที่ได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวจากการออกจากงานว่ามีวิธีการคำนวณอย่างไร หากมีเวลาจะเขียนบทความในเรื่องเหล่านี้ แต่หากผมไม่ได้เขียน ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เองจาก website ต่างๆ หรือเข้าไปดูใน website ของกรมสรรพากรได้ครับ
คำเตือนสำหรับผู้ที่หารายละเอียดเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบนอินเตอร์เน็ต ขอให้ดูระยะเวลาที่บทความถูกเขียนขึ้นด้วยนะครับ เพราะกฎหมายด้านนี้มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา หากไปอ่านบทความย้อนหลังไปหลายปี อาจไม่ใช่คำตอบและวิธีที่เหมาะสมหรือถูกต้องกับปัจจุบันครับ
สามารถอ่านบทความในซีรีย์นี้ ที่ https://www.blockdit.com/series/5fba2fa29115840cad27932
#1 เงินได้ประเภทต่างๆ
#2 เกณฑ์ยื่นแบบและเกณฑ์ภาษี
#3 ค่าลดหย่อนประจำปี 2563
#4 การวางแผนภาษี
#5 การเครดิตภาษี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา