9 ธ.ค. 2020 เวลา 15:22 • หนังสือ
[Short Review - Creative Blindness and how to cure it by Dave Trott]
"ทำให้มันดูเหมือนกับโอกาสที่ต้องรีบคว้าเอาไว้"
ในปีค.ศ. 1912 การหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ทำง่ายและรวดเร็วอย่างทุกวันนี้
ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีการสตรีมมิ่งออนไลน์ ไม่มีทวิตเตอร์และเฟสบุ๊ค
สมัยนั้น นักการเมืองจำเป็นที่จะต้องตระเวนไปทั่วประเทศด้วยรถไฟ
เพื่อที่จะปราศรัยตามสถานที่สำคัญต่างๆ
หลังจากนั้นก็โปรยใบปลิว เพื่อให้คนจำในสิ่งที่พูดได้
ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) เองก็ต้องทำสิ่งเหล่านั้น
แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นภายในขบวนรถไฟที่บรรจุใบปลิวราว 3 ล้านแผ่นที่มีทั้งรูปและสุนทรพจน์ของโรสเวลต์ถูกพิมพ์อยู่
ระหว่างที่ทีมหาเสียงกำลังตรวจสอบความเรียบร้อยของใบปลิวอยู่นั่นเอง
ก็มีคนตรวจพบตัวหนังสือเล็กๆใต้รูปภาพที่เขียนว่า "Copyright - Moffat Studios, Chicago"
ใช่แล้ว รูปภาพนั้นมีลิขสิทธิ์อยู่
หลังจากตรวจสอบรายละเอียดเรียบร้อย ทีมหาเสียงของโรสเวลต์พบว่าการใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์นั้นจำเป็นที่จะต้องจ่ายราว 1 ดอลลาร์(ในสมัยนั้น) ต่อใบปลิว 1 แผ่น
นั่นเท่ากับว่าการหาเสียงของเขาจะต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกราว 3 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งถือว่าเยอะมากในตอนนั้น และทีมของเขาก็ไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น)
ทว่าการหาเสียงนั้นคงไม่อาจจะทำให้โรสเวลต์ชนะเลือกตั้งได้ด้วยดีถ้าหากขาดใบปลิวเหล่านั้นไป
ทีมงานจึงพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับช่างภาพเจ้าของลิขสิทธิ์ว่าเขาเป็นคนอย่างไร สามารถจะเจรจาด้วยได้หรือไม่
ผลปรากฏคือช่างภาพคนนั้นมีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเท่าไรนัก (เขามีความเหี้ยมเกรียมและเห็นแก่เงิน)
เหล่าทีมงานจึงได้เข้าไปหา จอร์จ เพอร์กินส์ (George Perkins) ผู้เป็นหัวหน้าการหาเสียงของโรสเวลต์ในตอนนั้น
เพอร์กินส์เป็นพาร์ทเนอร์ของ J.P. Morgan ซึ่งเคยจัดการกับการเจรจายากๆกับลูกค้าสุดหินมาก่อน
เพอร์กินส์รู้ดีว่าการจะปิดข้อตกลงให้ได้นั้น มันขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอเป็นหลัก
และเทคนิคนึงคือต้องทำให้มันดูเหมือนเป็นโอกาสที่อยู่ๆก็โผล่มา
เพอร์กินส์ส่งโทรเลขไปหาช่างภาพคนนั้น เพื่อบอกกับเขาว่า
ณ ขณะนี้ ทีมหาเสียงของ ธีโอดอร์ โรสเวลต์ กำลังวางแผนที่จะกระจายใบปลิวหลายล้านแผ่นซึ่งมีรูปของโรสเวลต์อยู่ด้วย มันจะเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างดีสำหรับสตูดิโอและช่างภาพที่เราเลือก คำถามคือคุณจะยอมจ่ายให้กับเราเท่าไรเพื่อให้เราใช้รูปของคุณ โดยให้ตอบกลับในทันที
ช่างภาพคนนั้นตอบกลับอย่างรวดเร็วว่าเขาขอเสนอเงิน 250 ดอลลาร์
จอร์จ เพอร์กินส์ ตอบตกลงรับข้อเสนอนั้น
ช่างภาพคนนั้นแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเขาได้กระจายภาพถ่ายฝีมือตัวเอง บนใบปลิว 3 ล้านแผ่นทั่วประเทศ ในราคาแค่ 250 ดอลลาร์ เท่านั้น
เขาตื่นเต้นกับการปิดข้อตกลงสุดชาญฉลาดของตัวเอง
และในทางกลับกัน ทีมงานหาเสียงของโรสเวลต์ก็ได้ภาพถ่ายไปใช้แบบฟรีๆ
ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นได้เพราะ จอร์จ เพอร์กินส์ ไม่ได้ร้องขอความร่วมมือจากช่างภาพ
ใช่แล้ว เขาไม่ได้บอกช่างภาพด้วยซ้ำว่าใบปลิวทั้งหมดนั้นถูกพิมพ์ออกมาเรียบร้อยแล้ว และเขาคงต้องยอมจ่ายเท่าไรก็ได้ตามที่ช่างภาพต้องการ
จอร์จ เพอร์กินส์ ไม่ได้โกหกนะครับ เขาแค่พลิกสถานการณ์เป็นเท่านั้นเอง
ด้วยการมองโลกจากมุมของช่างภาพ
และสร้างโอกาสที่ไม่ได้มีให้คว้ากันบ่อยๆ...
ข้างบนคือตัวอย่างนึงจากหนังสือ Creative Blindness and how to cure it
เขียนโดย Dave Trott ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนคนโปรดของผม
ด้วยความสั้น กระชับ ได้ใจความ หนังสือของ Trott เท่าที่ผมเคยอ่าน (Predatory thinking และ 1+1=3 ซึ่งอ่านจบแล้วก็ชอบมากๆจนต้องซื้อเล่มนี้มาอ่านเพราะเห็นว่า Dave Trott เป็นคนเขียน) มักจะแบ่งเป็นบทความสั้นๆหลายๆเรื่อง ทำให้อ่านสนุก และจบเป็นเรื่องๆไป
ใน Creative Blindness จะถูกแบ่งออกเป็น 7 บทใหญ่
- creativity in unusual places
- creative communication
- creative impact
- practical creativity
- creative surprises
- creative illusions
- creativity in real life
ซึ่งก็คือการพูดถึง "ความคิดสร้างสรรค์" ในแง่มุมต่างๆ
ด้วยความหนา 217 หน้า แต่ระหว่างอ่านกลับไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ กลับกันยิ่งอ่านยิ่งสนุก ชวนให้พลิกไปหน้าต่อไป แล้วรอดูว่า Dave Trott จะเล่าอะไรให้เราฟังต่อ
สำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือที่ Dave Trott เขียน ผมคงไม่ต้องพูดอะไรเยอะ
แต่ถ้าไม่เคยอ่านและกำลังลังเลอยู่ ผมคงบอกได้แค่เพียงว่าสำหรับผมแล้ว Creative Blindness เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ทำให้ได้มุมมองการแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้รู้เคสตัวอย่างที่น่าสนใจ ส่วนตัวผมประทับใจทั้งเนื้อหาและรูปแบบการเขียนที่น่าเอามาปรับใช้
และคงทิ้งท้ายไว้ว่าบทข้างต้นที่ผมนำมาเล่าต่อ เป็นหนึ่งในบทที่ผมชอบมาก ถ้าคุณอ่านแล้วชอบ ผมก็ขอแนะนำให้ลองอ่านเต็มๆใน Creative Blindness and how to cure it ครับ
ขอให้มีความสุขกับการอ่านกันนะครับ
โฆษณา