12 ธ.ค. 2020 เวลา 05:51 • ข่าว
รู้ไว้ก่อนได้ใช้ “รถไฟฟ้าสายสีทอง”
สร้างเพื่อเอื้อนายทุนกลุ่ม “ไอคอนสยาม-ซีพี” จริงหรือ?
ใกล้เข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วสำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่จะเปิดให้บริการกันอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 16 ธันวาคมนี้
รถไฟฟ้าโครงการนี้จัดว่าเป็นรถไฟฟ้าเล็กสุด สั้นสุด เสร็จเร็วสุด เพราะตัวขบวนรถไฟ เล็กสุดก็มาจากตัวขบวนรถที่เป็นรูปแบบรถล้อยางแบบไร้คนขับ APM (Automatic People Mover) เลือกใช้ตัวรถ Bombardier รุ่น Innovia APM 300 หนึ่งตู้โดยสารสามารถบรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 103 คน รองรับผู้โดยสารได้ราว 4,000 – 12,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ความถี่ประมาณ 3 - 5 นาที
โดยมีระยะทางตลอดสายเพียง 2.72 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ที่สร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้ในเฟส 1 คือ 1.77 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีกรุงธนบุรี พาดผ่านไอคอนสยาม แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีคลองสาน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มในอนาคต และการก่อสร้างก็เสร็จเร็วที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่เคยมีมา ได้รับการอนุมัติการดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2561 และมาเสร็จสิ้นเปิดใช้ได้ทันทีในปี 2563
2
แท้จริงแล้วโครงการนี้ไม่ใช่แค่มาคิดจะทำกันเพราะห้างดัง “ไอคอนสยาม” แต่เส้นทางนี้ไม่ได้กำหนดหรือมาเขียนแผนเส้นทางกันใหม่เลย ในปี 2552 กรุงเทพมหานครฯ ได้ศึกษาเส้นทางมาก่อนแล้วในชื่อโครงการ “โครงการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ของสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552” แนวเส้นทางถนนกรุงธนบุรี - ถนนสมเด็จพระยา สุดท้ายเงียบหายไปกับกลีบเมฆ
จนถูกหยิบกลับมาปัดฝุ่นใหม่เมื่อตอนเกิดไอคอนสยาม CEO ของสยามพิวรรธน์ ชฎาทิพ จูตระกูล ที่เป็น 1 ใน 3 นักลงทุนของห้างดังนี้ร่วมกับเครือซีพี และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น ต้องการให้ห้างดังของเขาเป็ดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ริมแม่น้ำ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ทั้งระบบ รถ ราง และเรือ จึงคุยกับ CEO บีทีเอส กรุ๊ป นายคีรี กาญจนพาสน์ จนกลายเป็นโมเดลการเชื่อมต่อระหว่างบีทีเอสกับไอคอนสยาม จึงเกิดดีลกับ กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม
สำหรับดีลรถไฟฟ้าสายสีทองที่เกิดขึ้นนี้ คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า.. เกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีไอคอนสยาม เนื่องจากงบประมาณการลงทุนกว่า 2,000 ล้านที่ใช้ก่อสร้าง ไอคอนสยาม ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่เมื่อเป็นธุรกิจก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า “ไม่มีอะไรฟรี” เพราะต้องให้สิทธิสัมปทานการจัดการพื้นที่ รวมถึงพื้นที่โฆษณาภายในโครงการตลอดระยะเวลา 30 ปี
1
จนมีพักหนึ่งเราจะได้ยินข่าวคราวว่า “เอื้อนายทุนอีกแล้ว”
แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชนด้วยเช่นกัน เพราะโมเดลนี้ก็เหมือนกับสวนสนุกยักษ์ใหญ่ หรือสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก ที่ใช้การสร้างรถไฟเข้าสู่โครงการ ผลดีอย่างแรกคือความสะดวก ความเจริญเกิดขึ้นได้เร็วจนราคาที่ดินพุ่งทะยาน สร้างจุดหมายการท่องเที่ยว และยังลดผลกระทบรถติดอีกด้วย ซึ่งฝั่งกรุงธนก็ขึ้นชื่อลือชาปัญหารถติดอยู่แล้ว ผสมเข้าไปกับการจัดอีเวนท์ของห้างดังละก็… ติดชาตินี้ยันชาติหน้า
4
หลายคนก็ยังอาจจะติดใจอีกประเด็น คือ อ้าว! ทำไมอยู่ใจกลางเมือง สถานที่สำคัญเยอะขนาดนี้กลับนำขึ้นมาสร้างบนดินได้ นี่ผิดกฎหมายเอื้อนายทุนแน่ๆ ข้อนี้… ในปี 2537 มีการกำหนดไว้จริงว่าพื้นที่ใจกลางกรุงเทพต้องเป็นระบบใต้ดิน
5
แต่เมื่อศึกษาแล้วหากสร้างใต้ดินจะไปชนกับสายสีแดงเข้ม หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ สายเล็กอย่างสีทองย่อมต้องเลี่ยงไป จะสร้างให้ลึกลงไปอีก ฉะนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นให้รถไฟฟ้าสายสีทองสามารถสร้างแบบยกระดับได้ในปี 2560 เพื่อเลี่ยงการก่อสร้างที่ทับซ้อนกัน
เมื่อรู้ที่มาที่ไปของโครงการไปแล้ว ทีนี้วันที่ 16 ธันวาคม เราจะได้ใช้กันก่อนจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร เชื่อมเข้าห้างไอคอนสยาม และสถานีคลองสาน โดยค่าตั๋วของรถไฟฟ้าสายนี้จะอยู่ที่ 15 บาทตลอดสาย และสามารถใช้บัตรแรบบิทเดินทางได้เลย เพราะบีทีเอสเป็นผู้ให้บริการเดินรถเหมือนกัน
2
ส่วนในอนาคต ประชาชนจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีทองไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้อีก 3 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อมต่อจาก BTS กรุงธนบุรี รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เชื่อมกับสถานีประชาธิปก และรถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมสถานีคลองสาน ก็ยังต้องรอลุ้นกันอีกทีว่าสายไหนจะโดนโรคเลื่อนอีกหรือไม่ หรือจะดราม่าอะไรกันอีกหรือเปล่า
1
โฆษณา