13 ธ.ค. 2020 เวลา 15:15 • การตลาด
ความสำเร็จ หรือศักยภาพ ?
(Achievement vs Potential ?)
ถ้าคุณสวมบทบาทเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่จำเป็นจะต้องเลือกผู้สมัครเข้าทำงานระหว่างเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานจริงแต่มีศักยภาพในการเติบโต กับคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาหลายปี มีผลงานความสำเร็จในอดีตให้เห็น
คุณอยากจะเลือกใครครับ?
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง Stanford University และ Harvard Business School ที่มีชื่อว่า "The Preference for Potential" ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อหาว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะประเมินผู่อื่นโดยให้ความสำคัญกับศักยภาพมากกว่าปัจจัยอื่นๆหรือไม่ ?
งานวิจัยชิ้นนี้ประกอบไปด้วย 8 การทดลอง
และหนึ่งในนั้นคือการให้ผู้เข้าร่วม สมมติว่าตัวเองต้องเป็นผู้จัดการทีมบาสเกตบอลใน NBA และกำลังพิจารณาข้อเสนอการทำสัญญากับผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ระหว่างผู้เล่นอาชีพที่มีประสบการณ์ 5 ปี กับ rookie ผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีแววดี
โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับข้อมูลทางสถิติของผู้เล่นทั้ง 2
ความน่าสนใจคือตัวเลขของผู้เล่นทั้งคู่นั้นเหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือ ตัวเลขชุดหนึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบความสำเร็จในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนอีกชุดถูกนำเสนอในรูปแบบของการคาดการณ์ในอนาคต เป็นศักยภาพในการเติบโตแทน
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญคือผู้เข้าร่วมในฐานะผู้จัดการทีมจะยอมจ่ายค่าตัวของผู้เล่นทั้ง2คน ในปีที่ 6 เท่าไร?
ถึงแม้ตัวเลขของการคาดการณ์ในปีที่ 6 สำหรับนักบาสทั้งคู่จะเป็นตัวเลขเดียวกัน
แต่เชื่อไหมครับว่าผู้เข้าร่วมการทดลองกลับยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวผู้เล่นหน้าใหม่ ที่เป็นตัวแทนของศักยภาพมากกว่า (ยอมจ่ายให้นักบาสที่ดูมีศักยภาพ 5.25 ล้านดอลลาร์ แต่ยอมจ่ายให้นักบาสที่มีประสบการณ์ความสำเร็จในอดีต 4.26 ล้านดอลลาร์)
ไม่น่าแปลกใจที่ผลการทดลองจะเป็นตัวยืนยันว่าคนเรามีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญ(ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)กับศักยภาพหรือ potential มากกว่าความสำเร็จจริงที่เคยเกิดขึ้น หรือ achievement
นั่นอาจเป็นเพราะ "ศักยภาพ" แสดงถึงความไม่แน่นอน และการคาดเดา ซึ่งในหลายครั้งเรามักจะมองเห็นแต่ผลลัพธ์ที่อยากเห็น ผลลัพธ์ในทางบวก และลืมคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ความไม่แน่นอนนั้นน่าตื่นเต้น มากกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงเสียอีกครับ
เรา(อาจจะ)ให้ความสำคัญกับศักยภาพมากเกินไป
ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นคนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งานอยู่ละก็
การพูดถึงสิ่งที่เคยทำสำเร็จในอดีตก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ทว่าจงอย่าลืมพูดถึงศักยภาพในการเติบโตด้วย
นั่นก็เพราะ "ศักยภาพ" นั้นน่าดึงดูดมากกว่าประสบการณ์จริงที่ผ่านๆมาเสียอีก
ถ้าคุณอยากเลื่อนตำแหน่งเพื่อไปทำอย่างอื่น
อย่าเอาแต่บอกหัวหน้าถึงความสำเร็จที่เคยทำมา
เพราะนั่นอาจทำให้เขาคิดว่าคุณช่างเหมาะสำหรับตำแหน่งที่ทำอยู่เสียนี่กระไร
แต่ลองหยิบยกเอาศักยภาพของตัวคุณออกมาเล่า พูดถึงความเป็นไปได้
ปล่อยให้มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น และให้หัวหน้าของคุณเป็นคนเติมเต็มสิ่งนั้นด้วยผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เขาจินตนาการได้แทน ...
โฆษณา