18 ธ.ค. 2020 เวลา 15:06 • ท่องเที่ยว
แฉกลโกง “เราเที่ยวด้วยกัน” พบโรงแรม - ร้านค้าส่อทุจริตอื้อ
คนใช้สิทธิจริงถูกเอาเปรียบ ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?
คราวที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงกลโกงของผู้ประกอบการและผู้สมรู้ร่วมคิด ในการที่จะโกงเอาผลประโยชน์จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เป็นเครื่องมือในการผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ กระตุ้นการออกมาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงไฮซีซั่นที่ตอนนี้ต้องเป็นการเที่ยวเมืองไทย โดยคนไทย เพื่อธุรกิจไทย แต่กลับเจอผู้ที่ต้องการจะทุบหม้อข้าวตัวเองอีกแล้ว
2
เรื่องนี้คงไม่เกริ่นกันยืดยาว เพราะอย่างที่หลายคนรู้กัน…มีการโกงกันเป็นล่ำเป็นสัน!
เรียกว่าเละเทะและฉาวโฉ่ หนักข้อขึ้นไม่เกรงกลัวอะไร จนถึงขันที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันการท่องเที่ยว เพื่อหวังให้การท่องเที่ยวไทยมาเป็นแรงขับเคลื่อนทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป จากปีละ 40 ล้านคน ปีนี้เหลือ 6.5 ล้านคนเท่านั้น ทนไม่ไหวต้องดำเนินการเพื่อเอาผิดกับพวกเหลือบไรเหล่านี้
2
ล่าสุดได้มีการเข้าไปยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้กับ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีตรวจพบความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1
รายละเอียดการตรวจสอบคือ พบธุรกรรมที่ต้องสงสัย มีแนวโน้มไปทางฉ้อโกงในหลายรูปแบบ ทั้ง โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร รวม 514 แห่ง โดยแบ่งพฤติกรรมการโกงเหล่านี้ได้ออกเป็น 6 รูปแบบด้วยกัน
เริ่มจาก ที่พักราคาประหยัด ประเภทโฮสเทล (Hostel) ที่ทำการเปิดให้ลูกค้าเช็กอินเหมือนปกติทุกอย่าง แต่ไม่ได้เข้าพักจริง แล้วเอาผลประโยชน์จากคูปองที่รัฐบาลแจก (E-Vouchor) ซึ่งในช่วงวันธรรมดา จันทร์ - พฤหัสบดี ได้เงิน 900 บาทต่อวัน ส่วนช่วงสุดสัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ได้อีก 600 บาทต่อวัน นำไปใช้จ่ายที่ร้านค้า ร้านอาหาร ตรงนี้ก็เอาสิทธิประโยชน์มา อาจแบ่งกันตามแต่ตกลง
2
รูปแบบต่อมาคือ โรงแรมโก่งราคาค่าห้องพัก แถมท้ายไปกับอาหารที่ได้คูปอง โดยเปิดทำการซื้อ ขายสิทธิ กันโต้งๆ ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเช็คอิน แต่ใช้วิธีให้ผู้มีสิทธิส่งเลขบัตรประชาชน 4 ตัวท้าย เบอร์โทรศัพท์ และรหัสยืนยันตัวตน (OTP) มาให้กับทางโรงแรม จากนั้นโรงแรมจะโอนเงินทอนให้กับผู้ใช้สิทธิ์ โดยทางโรงแรมก็ได้ 40 % ที่รัฐบาลโอนให้
3
ถัดมาในวิธีการต่อไปจะเน้นไปที่ “โรงแรม” ที่มีการลงทะเบียนกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำการสมรู้ร่วมคิด… เพราะไม่ได้มีการเปิดบริการใดๆ หลังได้ผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดตัวไปชั่วคราว แต่พอเห็นรัฐมีโครงการนี้ ก็สบช่องกลับมาเปิดขายห้องให้ลูกค้าใช้สิทธิ เสมือนว่าได้ทำการจองมาท่องเที่ยวแบบปกติเลย แต่ไม่มีการเข้าพักจริง! เพื่อเอาเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
1
ข้ามฝั่งมาดูผู้ใช้สิทธิ์กันบ้าง ในกรณีนี้มีการใช้คูปองที่รัฐบาลแจกจริง (E-Voucher) เข้าไปในร้านค้าปกติเลย แต่การจะซื้อข้าวซื้อของใดๆ ให้ถึงยอดมันก็อาจใช้ไม่ถึง จึงสบโอกาสเจรจากับร้านค้าทำยอดเบิกเกินราคาให้เต็มลิมิตไปเลย โดยร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้าเขียนบิลเพิ่มเพื่อรับเงินเต็มเพดาน เช่น นาย A ไปทานข้าวมูลค่า 1,000 บาท แล้วก็เจรจากับทางร้านค้าให้เขียนบิลบวกราคาเพิ่มเข้าไปเป็น 1,500 บาท เพื่อเอาส่วนต่าง 40% จากรัฐบาลให้ได้ 600 บาท
4
ซึ่งวิธีการ “โกง” ของฝั่งผู้ใช้สิทธิ์ก็ไม่ได้หมดเท่านี้ เพราะมีบางกลุ่มใช้วิธีที่เหนือชั้นกว่านั้นหน่อยเพื่อความแนบเนียน บางส่วนก็ออกไปเที่ยวจริง แต่เมื่อไปเที่ยวแล้วก็หวังเอาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าเช่นกัน โดยกลุ่มจะไปเป็นกรุ๊ปทัวร์เดินทางเข้าพักในโรงแรมจริง แต่จะจองตรงกับทางโรงแรม ไม่ผ่านเว็บไซต์คนกลาง แล้วบอกโรงแรมตั้งราคาให้สูงเกินราคาจริงไปมากๆ เพื่อรับเงินทอนกลับมา
2
ส่วนวิธีการสุดท้ายที่ทาง ททท.ขุดเจอมา แล้วน่าลงโทษให้เด็ดขาด คือ โรงแรมที่พักเหล่านั้น มีการโกงอัตราการเข้าพักของผู้ใช้สิทธิ์ และไม่ใช่เกินธรรมดา แต่โกงจนเว่อร์เกินกว่าจำนวนห้องพักในโรงแรม เพื่อรีดผลประโยชน์ตรงส่วนต่าง เช่น ทั้งโรงแรมมีห้องพักทั้งหมด 200 ห้อง ในระบบดันเปิดให้เช็กอินเข้าพักพร้อมกันได้ 400 ห้องไปเลย!
เมื่อมีการโกงกันซึ่งหน้าแบบนี้ แล้วความเสียหายมันแค่ไหน... หากดูในด้านภาพลักษณ์ ถือว่ารุนแรงและเสียหายมาก แต่ในข้อเท็จจริงผู้ว่า ททท.ก็ประเมินว่า เกิดขึ้นแค่ในวงจำกัด แม้จะมีโรงแรมเข้าข่ายทุจริต 312 แห่ง แต่มีโรงแรมทั้งหมดที่เข้าร่วมกว่า 4,800 แห่ง ส่วนร้านค้าจำนวน 202 แห่งที่พบ ก็มาจากยอดทั้งหมดกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
2
โดยหลังจากนี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นเรื่องให้ทางตำรวจไปแล้ว ก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ในการตรวจสอบทุกเคสที่เกิดขึ้น พร้อมมีการยืนยันว่า หากพบทุจริตจริง จะต้องรับโทษสูงสุดทั้งทางแพ่งและทางอาญา!
1
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายแทนคนที่ใช้สิทธิ์จริง คือ อาจต้องปรับเงื่อนไขให้กลับมาบังคับใช้การเดินทางข้ามจังหวัดเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ เพราะเมื่อย้อนไปดูสถิติ ตัวเลขฟ้องขึ้นมาว่า ตอนที่รัฐบาลทำการปลดล็อคเงื่อนไขให้พักในจังหวัดตัวเองได้ ตัวเลขการใช้สิทธิ์ก็ก้าวกระโดดจากอัตราเฉลี่ย 20,000 ห้องต่อวัน กลายเป็น 54,000 ห้องต่อวัน
3
รวมถึงบางคนที่ใช้สิทธิ์ท่องเที่ยวจริง จนเต็ม 10 คืน แล้วรอให้เพิ่มเป็น 15 คืน แถมเพิ่มอีก 1,000,000 สิทธิ ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสที่ 2 ซึ่งตอนนี้ก็จำใจต้องพับไปแบบไร้กำหนด จากคนเห็นแก่ตัวบางกลุ่มบางคนเท่านั้น
1
แล้วคุณละ คิดว่าโครงการนี้ รัฐบาลควรทำอย่างไร… ลงดาบให้หนักแล้วไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?
โฆษณา