19 ธ.ค. 2020 เวลา 17:17 • ไลฟ์สไตล์
เพิ่มความเร็วในการอ่าน ด้วยเคล็ดลับของ Tim Ferriss
ก่อนอื่นเรามารู้จักคำว่า words per minute rate (wpm) หรือความเร็วในการอ่านคำต่อนาที ลองดูด้วยการจับเวลา 1 นาที ดูว่าเริ่มตรงไหน จบตรงไหน แล้วนับจำนวนคำที่อ่านได้ดู นั่นจะกลายเป็น wpm ของเรา
ซึ่งเทคนิคต่างๆที่ Tim แนะนำให้(ลอง)ทำ จะช่วยเพิ่ม wpm ขึ้นได้
cr youtube How to Speed Read | Tim Ferriss
เทคนิคแรก คือ การเพิ่มการรับรู้ของสายตา
สายตาของเราแม้ว่าจะมีจุดโฟกัส แต่มันยังมีความสามารถที่ทำให้เราเห็นรอบๆจุดนั้นอยู่ด้วย ตัวอย่างง่ายๆ คือให้เราลองมองตรงไปยังด้านหน้า แม้ว่าโฟกัสของตาเราจะอยู่ด้านหน้า แต่เราจะยังคงมองเห็นบริเวณรอบข้างอยู่ด้วย (สำหรับบางคนอาจเห็นได้เกือบ 180 องศาเลยถ้าตั้งใจทำ)
เทคนิคนี้คือการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการเห็นของดวงตา โดยปกติเวลาอ่านหนังสือเรามักจะโฟกัสตั้งแต่คำแรก ไล่อ่านไปจนจบคำสุดท้ายในแต่ละบรรทัด ซึ่งสำหรับ Tim นั่นเป็นการใช้ประโยชน์ของดวงตาได้อย่างไม่คุ้มค่า
ลองลากเส้นแนวตั้งหลังคำแรกของประโยค และก่อนคำสุดท้ายของบรรทัดนั้นดู
ทีนี้เวลาอ่านลองเปลี่ยนไปเริ่มโฟกัสของแต่ละบรรทัดจากจุดนั้น ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการมองเห็นบริเวณรอบข้างของดวงตาเรา
ถ้าทำจนคล่อง เราจะไม่ต้องพึ่งการลากเส้นบนหนังสือ แต่มันจะไปอยู่ในจินตนาการและความเคยชินของเราแทน
ด้วยเทคนิคนี้ จะทำให้ระยะกวาดสายตาของเราลดลง (ซึ่งพอรวมเข้าหลายๆหน้ามันก็เยอะอยู่)
cr youtube How to Speed Read | Tim Ferriss
เทคนิคที่สอง คือ การใช้ตัวนำสายตา
ธรรมชาติการเคลื่อนที่ของดวงตามนุษย์เราไม่ได้เลื่อนต่อเนื่อง แต่เป็นแบบจุดต่อจุด
ถ้าเราลองปิดตาข้างนึง ยกนิ้วชี้ขึ้นมาขยับมันจากซ้ายไปขวา แล้วใช้ตาข้างที่เปิดอยู่มองตามนิ้วนั้นไป เพื่อนที่มองเราทำสิ่งนี้จะเห็นได้ว่าดวงตาเราไปได้เคลื่อนตามนิ้วแบบเป๊ะๆ แต่เป็นการขยับจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง(สำหรับบางคนอาจเร็วจนสังเกตได้ยาก)
การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของดวงตาข้อนี้ คือ การใช้ตัวนำสายตา เพื่อไม่ให้สายตากระโดดไปโฟกัสจุดอื่นโดยไม่จำเป็น
ถ้าลองสังเกตดีๆ บางครั้งเวลาเราอ่านหนังสือ อยู่ดีๆสายตาเราอาจเผลอย้อนกลับไปมองบรรทัดก่อนๆ หรือเลื่อนลงไปด้านล่างเพื่อมองว่าหน้านี้จะจบอย่างไร
ตอนง่วงๆหรือเบื่อๆ เราอาจเคยอ่านประโยคเดิมซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบโดยที่จำอะไรแทบไม่ได้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตาของเราล้า และไม่รู้ต้องโฟกัสที่ไหน ทำให้มันกระโดดกลับไปกลับมาที่ส่วนต่างๆในหน้านั้น
เมื่อเรามีตัวนำสายตา ไม่ว่าจะเป็นนิ้วหรือปากกา จะทำให้ดวงตารู้ว่าต้องโฟกัสตรงไหน และเรายังสามารถกำหนดความเร็วในการเคลื่อนผ่านแต่ละคำได้อีกด้วย
เทคนิคที่สาม คือ การลองเพิ่มความเร็วให้มากกว่าปกติ
ลองจับเวลาดูก็ได้ครับ ลองอ่านด้วยความเร็วปกติซัก 10 นาที และเปลี่ยนมาพยายามอ่านให้เร็วขึ้น จับเวลาซัก 5 นาที
สิ่งนี้คือการพยายามรีเซ็ตความเร็วปกติที่เราใช้ เหมือนเวลาเราขับรถ ถ้าเราเคยขับปกติที่ความเร็ว 60 km/hr แล้วลองเหยียบขึ้นไปที่ 80 km/hr เราจะรู้สึกว่ามันเร็วขึ้นมาก แต่พอเราลดลงไปขับที่ 70 km/hr มันอาจจะดูไม่ต่างจาก 60 km/hr ทั้งๆที่จริงมันเร็วกว่าเดิมไปเรียบร้อย (อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเฉยๆนะครับ ยังไงขับรถเร็วเกินก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้)
ถ้าเราอ่านในระดับความเร็วเท่าเดิม สมองเราจะไม่รู้ว่าการอ่านให้เร็วกว่านี้เป็นอย่างไร
ถึงแม้ตอนทดลองทำแรกๆ อาจจะตกหล่นไปบ้าง แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับความเคยชินเดิม
หนึ่งในสิ่งสำคัญคือการรู้เฉยๆไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป
เราต้องเอาไปทดลองทำกัน
ลองเอาทั้ง 3 เทคนิคไปทดลองใช้
ช่วงแรกอาจจะทำโดยจับเวลาสั้นๆดูก่อนก็ได้
ลากเส้นแล้วอ่านโดยโฟกัสสายตาเริ่มและจบแต่ละบรรทัดตามเส้น ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการมองเห็น ,ใช้ตัวนำสายตา(นิ้วมือ/ปากกา/ฯลฯ)เข้าช่วย ให้โฟกัสไม่กระจายและคุมความเร็วการกวาดตาได้ และ เพิ่มความเร็วการอ่านให้มากขึ้นกว่าเดิม
ทีนี้ลองเอา wpm ที่ได้กลับไปเทียบกับของเดิมดูนะครับ
แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะ แต่เราเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้มันเมื่อไร ถ้าบางครั้งอยากดื่มดำกับนิยาย การอ่านช้าลงก็ไม่ได้แย่ แต่ถ้าต้องอ่าน non-fiction เพื่อเอาความรู้ไปใช้ต่อ เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก
อย่างไรเราก็เป็นผู้เลือกเอง เราเลือกได้ว่าวันไหนอยากขับ super car หรือวันไหนอยากขับ mini van
แต่ก่อนจะเลือกได้ เราต้องฝึกจนมันกลายเป็นทักษะในตัวเลือกของเราก่อนนะครับ
โฆษณา