22 ธ.ค. 2020 เวลา 16:13 • การศึกษา
Bystander effect ... เมื่อการอยู่เป็นกลุ่มทำให้เราเพิกเฉย ...
ในวันที่ 13 มีนาคม ปีค.ศ.1964
ขณะที่ Catherine "Kitty" ​Genovese วัย 28 ปี กำลังกลับบ้านหลังจากเลิกงาน
มีชายคนหนึ่งสะกดรอยตามเธอไป
หลังจากที่ Kitty ลงจากรถ เธอถูกทำร้าย
ชายคนนั้น (ทราบชื่อภายหลังจับกุม Winston Moseley) ได้เข้าจู่โจมเธอด้วยมีดยาว
นับตั้งแต่การจู่โจมเริ่มต้นขึ้น Kitty ตะโกนเพื่อขอความช่วยเหลือ
สถานที่เกิดเหตุคือบริเวณอพาร์ตเมนต์ที่เธอพักอยู่
มีหลายห้องที่เปิดไฟขึ้นมาเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น
ประมาณการว่ามีพยานรู้เห็นเหตุการณ์นั้นราว 38 คน
ทว่า 30 นาทีผ่านไป กว่าจะมีการโทรเพื่อแจ้งเหตุกับตำรวจ
Kitty เสียชีวิตขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล พร้อมรอยแผลถูกแทง 12 ครั้ง
5 วันหลังจากนั้น คนร้ายถูกจับได้
ปิดคดี
...
แต่ยังคงมีคนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ทำไม ในเมื่อมีคนรับรู้เหตุการณ์มากมาย แต่กลับไม่มีใครลงมือทำอะไรได้ทันเวลา
กระทั่งความช่วยเหลือมาถึง มันก็สายไปเสียแล้ว
นักจิตวิทยา John M. Darley และ Bibb Latané ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษา "bystander problem" หรือปัญหาของการเพิกเฉย
พวกเขาสร้างสถานการณ์ต่างๆขึ้นมา เพื่อทดลองว่าใครจะทำการเข้าช่วยเหลือ หรือขอความช่วยเหลือในเหตุการณ์จำลองเหล่านั้นบ้าง
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ภายใต้ตัวแปรมากมาย ที่ใช้ตรวจสอบและคาดการณ์พฤติกรรมในการขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่า"จำนวน"ของคนที่เห็นเหตุการณ์นั้นๆส่งผลเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างการทดลอง เช่น
การเตรียมห้อง 2 ห้อง ติดกัน
โดยห้องหนึ่งเตรียมคนที่จะแสดงอาการโรคลมชัก
และผู้เข้าร่วมการทดลองจะอยู่อีกห้องหนึ่ง
ผลปรากฏว่าเมื่อการทดลองเริ่มต้นขึ้น คนอีกห้องหนึ่งแสดงอาการลมชักและขอความช่วยเหลือ
เมื่อมีผู้เข้าร่วมทดลองอยู่คนเดียวอีกห้อง 85% ของผู้เข้าร่วมจะเร่งรีบเข้าไปช่วยเหลือทันที
แต่ในทางกลับกัน มีการเข้าไปช่วยเหลืออีกห้องเพียงแค่ 31% เท่านั้น เมื่อมีผู้เข้าร่วมทดลอง 4 คนอยู่ในห้องเดียวกัน
หรืออีกหนึ่งการทดลองที่มีชื่อเสียง
ผู้เข้าร่วมทดลองจะถูกจัดอยู่ในห้อง เพื่อทำแบบสอบถาม โดยมี 3 กรณี
คือ อยู่คนเดียว, อยู่ 3 คน (กับผู้เข้าร่วมคนอื่น) และอยู่ 3 คนโดยที่อีก 2 คนเป็นคนที่นักวิจัยเตรียมไว้(หน้าม้า)
และในระหว่างที่ผู้เข้าร่วมทดลองกำลังกรอกแบบสอบถามอยู่นั้น
จะมีควันลอยเข้ามาผ่านช่องประตู
ผลลัพธ์คือ 75% ของผู้เข้าร่วมที่อยู่คนเดียว ออกมารายงานเกี่ยวกับควันที่เห็น
ส่วนกลุ่มที่อยู่ด้วยกัน 3 คน รายงานเพียงแค่ 38% เท่านั้น
และกลุ่มสุดท้ายที่อีก 2 คนเป็นคนที่เตรียมไว้ซึ่งมีหน้าที่แค่นั่งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอยู่เฉยๆ มีผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่รายงาน
ผลสรุปของ Bystander effect
คือการที่เราอยู่รวมกับคนอื่นเป็นหมู่มากแล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "diffusion of responsibility" หรือการกระจายความรับผิดชอบขึ้น
เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เรามักจะคิดไปเองว่าคนอื่นๆที่เห็นน่าจะทำอะไรสักอย่างกับมันเอง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร พอมีคนอื่นเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เราจะไม่ได้รู้สึกกดดันเพราะเป็นคนเดียวที่เจอกับเหตุการณ์นั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดแรงผลักดันให้ทำอะไรสักอย่าง
หรือในอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง
ในเมื่อไม่มีใครทำอะไร เราจึงเดาเอาว่า ถ้างั้นสิ่งนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราไม่ควรจะตื่นตูมไปเองคนเดียว ถ้าดันเกิดทำอะไรที่ไม่เหมาะสมไป คนอื่นจะมองเราแปลก
...
ถ้าเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมของ Kitty ​Genovese เกิดขึ้นในที่ๆมีคนพบเห็นน้อยกว่านี้ เธออาจจะรอดก็เป็นได้
บทสรุปของคำถามที่ว่า ทำไมในเมื่อมีคนรับรู้มากถึง 38 คน กลับไม่มีใครทำอะไรได้เร็วพอที่จะช่วยให้เธอรอดชีวิตได้
กลับกลายเป็นว่า ก็เพราะมีคนเห็นมากถึง 38 คน เลยไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง และถึงแม้จะมี มันก็สายเกินไปเสียแล้ว
หนทางในการตัดการกับ Bystander effect?
นั่นคือเราต้องเข้าใจ Bystander effect ก่อนเป็นอันดับแรก
ครั้งต่อไปที่เจออะไรเข้า เราจะได้รู้ว่า คนอื่นอาจจะไม่ทำอะไรเลยก็เป็นได้
ดังนั้นคนที่จะช่วยได้ ต้องเป็นเรานั่นเอง
ลืมเรื่องภาพลักษณ์ และลงมือขอความช่วยเหลือนั่นซะ ...
อ้างอิง
ผมอ่านเจอเรื่องนี้ครั้งแรกในหนังสือ The Tipping Point ของ Malcolm Gladwell คิดว่าน่าสนใจเลยลองหาข้อมูลต่อ
โฆษณา