25 ธ.ค. 2020 เวลา 11:37 • หุ้น & เศรษฐกิจ
< เมื่อ ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน ปล่อยไม่ออก
"กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด อย่าคิดเย็บชายเสื้อ" >
ชัชวนันท์ สันธิเดช
ที่ปรึกษา กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ, สภาผู้แทนราษฎร
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผมได้เข้าประชุม กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ฯ โดยในครั้งนี้ วาระหลักเป็นเรื่องของหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ หลังวิกฤตโคโรน่าไวรัส ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี
ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว เนื้อหาของการประชุมกลับมุ่งไปที่เรื่องของ Soft Loan หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเองเตรียมตัวศึกษาข้อมูลและเตรียมคำถามไปเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหัวข้อที่มีความสงสัยและข้อคำถามในใจโดยส่วนตัวมานานแล้ว
ข้อสงสัยหลักในใจผมก็คือ การปล่อยกู้ให้ SMEs ได้เพียงแสนกว่าล้านบาทจากวงเงิน 5 แสนล้านตามที่กำหนดไว้ใน พรก.ซอฟท์โลน หรือชื่อเต็มคือ “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓” นั้น มีปัญหาอะไร เหตุใดจึงปล่อยกู้ออกไปได้น้อยมาก มีการติดขัดที่ตรงไหนอย่างไร และจะแก้ไขได้อย่างไร
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้ไขข้อข้องใจดังกล่าว เพราะมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน สมาคมธนาคารไทย อันประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์หลายธนาคาร SMEs Bank บสย. เครดิตบูโร สมาคมธุรกิจเช่าซื้อ สำนักเศรษฐกิจการคลัง และอื่นๆ ได้รับเชิญมาให้ข้อมูล
ทั้งนี้ระหว่างการประชุม ผมได้ยกมือถามคำถามอยู่หลายครั้ง และได้รับคำตอบที่ทำให้ทราบถึงสาเหตุแห่งความยุ่งยากที่ทำให้เงินกู้ถูกอนุมัติออกไปได้เป็นจำนวนน้อย จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อๆ ให้กระชับและเข้าใจได้ง่ายที่สุด ดังนี้
1
ประเด็นแรก ผมได้ยิงคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าเพราะเหตุใด Soft Loan จึงปล่อยออกไปได้น้อยมาก ทั้งที่มีวงเงินอยู่ถึง 5 แสนล้านบาท แต่กลับปล่อยกู้ได้จริงเพียงแสนกว่าล้าน เป็นเพราะแบงก์พาณิชย์เข้มงวดเกินไปหรือไม่ และได้มีการขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้ผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อบ้างหรือไม่
1
ประเด็นที่สอง ผมสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ แทนที่จะให้ออมสินปล่อยกู้โดยตรงแก่ผู้ประกอบการ
คำตอบที่ผมได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้ทราบถึงปมปัญหาหลายจุด หลักใหญ่ใจความสรุปได้ว่า พรก.ฉบับนี้ ออกมาโดยมุ่งให้ความช่วยเหลืออย่าง “เร่งด่วน” แก่ SMEs โดยคาดว่าเป็น “ปัญหาระยะสั้น” แต่ไม่ได้คาดว่าโรคระบาดครั้งนี้จะลากยาวมานานขนาดนี้
2
ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขต่างๆ จึงเน้น “ความเร็ว" ลดขั้นตอนในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ไม่เน้น “ความครอบคลุม" ซึ่งเมื่อวิกฤตเกิดยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อ SMEs และผู้ประกอบการจำนวนมากและหลายภาคส่วน จึงทำให้เงินกู้นี้ “ส่งไปไม่ถึง” ธุรกิจที่เดือดร้อน
ยกตัวอย่างเช่น การที่มาตรการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แก่ลูกหนี้เดิม ซึ่งธนาคารมีข้อมูลอยู่แล้ว ก็เพื่อให้สามารถตัดสินใจและอนุมัติสินเชื่อได้ทันที (อันที่จริง ธนาคารออมสินซึ่งเป็นเจ้าภาพ ได้ปล่อยกู้มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นหลักแสนล้านบาท แต่ที่ต้องให้ออมสินปล่อยต่อให้แบงก์พาณิชย์เพื่อเอาไปปล่อยกู้ให้ประชาชน ก็เพื่อจะ “เอาเร็ว” เนื่องจากแบงก์เหล่านั้นมีข้อมูลลูกหนี้เดิมอยู่แล้ว) แต่ปรากฏว่าพอวิกฤตลากยาวและกระทบเป็นวงกว้าง SMEs หลายรายซึ่งไม่เคยกู้เงินเพราะไม่มีความจำเป็น แต่เพิ่งมาได้รับผลกระทบจากโควิดในครั้งนี้ จึงไม่สามารถกู้ได้
2
นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์กำหนดให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งทำให้แม้ผู้ที่เคยกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แต่มียอดหนี้คงค้างค่อนข้างน้อยเนื่องจากความจำเป็นในการกู้เงินต่ำ ทว่าเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นและได้รับความเสียหายอย่างหนักมาครึ่งค่อนปี สินเชื่อที่ได้รับ แม้จะกู้ได้ ก็ไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
เช่น ยอดหนี้เดิม 100 บาท มาตรการให้กู้ได้ไม่เกิน 20 บาท (20% ของ 100) แต่ที่ผ่านมาขาดทุนมาทุกเดือน ความเสียหายปาเข้าไป 150 บาท แล้วได้สินเชื่อมาแค่ 20 บาท มันจะไปพอได้อย่างไร
นี่ยังไม่นับการที่สินเชื่อดังกล่าวถูกกำหนดไว้ให้มีอายุไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมากและไม่ทันต่อการฟื้นตัวของธุรกิจน้อยใหญ่ต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายหนัก จนเหลือวิสัยที่จะชำระหนี้ได้ทัน
เพียงแค่ 2-3 ประเด็นข้างต้นนี้ก็เห็นแล้วว่า นี่คือ “จุดบอด” ใหญ่ของกฏหมาย ที่ทำให้เงินกู้ไปไม่ถึง SMEs ซึ่งได้รับความเดือดร้อน
ผมชอบคำพูดของผู้เข้าให้ข้อมูลท่านหนึ่งที่เปรียบเปรยในทำนองว่า “เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ไม่ต้องไปคิดที่จะเย็บชายเสื้อ" หรือพูดอีกอย่างก็คือ เมื่อ “เกาไม่ถูกที่คัน” มันก็แก้ปัญหาไม่ได้นั่นเอง
สุดท้าย ประธานและรองประธาน กมธ. ได้พยายามขอความคิดเห็นจากผู้เข้าให้ข้อมูล ว่าสำหรับมาตรการในระยะถัดไป จะมีข้อเสนออย่างไรบ้าง เห็นด้วยหรือไม่กับทางเลือกต่างๆ เช่น การทำ equity financing หรือการที่รัฐเข้าไปร่วมทุน แทนที่จะให้สินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่เป็นประโยชน์อย่างมาก แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็พร้อมนำไปปรึกษาหารือกันต่อเนื่องไป
และนี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของการประชุม กมธ.ครั้งนี้ โอกาสหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าได้ทำอะไรไปบ้างในฐานะที่ปรึกษา กมธ. ตลอดจนความคืบหน้าในการทำงานของ กมธ.ชุดนี้
ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ
เพื่อราษฎร
โฆษณา