30 ธ.ค. 2020 เวลา 11:13 • ไลฟ์สไตล์
คุณจะทำอย่างไร? หากมีคนมาบอกว่า...
ไอเดียของคุณ ไม่มีวันสำเร็จ
มาร์ค แรนดอล์ฟ (Marc Randolph) เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง โดยมีคุณพ่อเป็นวิศวกรนิวเคลียร์ ที่หันไปเอาดีด้านธุรกิจการเงิน เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์และอาวุธสงคราม
ต้องถือว่าครอบครัวมาร์ค มีฐานะดีเลยที่เดียว อาศัยอยู่ในเขตนครนิวยอร์ค
หลังเลิกงาน คุณพ่อของมาร์ค มักจะสวมวิญญาณวิศวกร กลับบ้านมาก็ถอดเนคไท สวมชุดช่าง แล้วก็ลงไปใต้ดินเพื่อประกอบ รถไฟพลังงานไอน้ำขนาดย่อส่วน
มาร์คเฝ้ามองพ่อของเขา ทำงานประกอบชิ้นส่วนรถไฟอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พอเวลาผ่านไป เขาพบว่าความสุขของพ่อ ไม่ได้อยู่ที่การประกอบรถไฟให้เสร็จตามที่ตั้งใจเอาไว้ แต่คือ แรงกาย และแรงใจ ที่ทุ่มเทลงไป หลายพันชั่วโมง กับกิจกรรมที่เขาชอบ
คุณพ่อของมาร์คเคยบอกมาร์คว่า “ถ้าลูกต้องการสร้าง ทรัพย์สิน (Estate) จริงๆ ลูกต้องสร้างธุรกิจของตัวเอง ต้องลิขิตชีวิตตัวเอง”
ตอนนั้นมาร์คยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม วันๆ วุ่นอยู่กับการจีบสาว ปีนเขา แล้วก็ไปโน้มน้าวคนขายเบียร์ ให้ขายให้เขาหน่อย ตัวเขาเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ทรัพย์สิน (Estate) ที่พ่อของเขาบอกมันคืออะไร แต่เขาคิดว่ามันก็น่าลองทำอยู่เหมือนกันนะ!
20 ปี ให้หลัง มาร์ค ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระดับหนึ่ง เขาแต่งงานแล้ว และมีลูก 3 คน โดยลูกคนที่ 3 เพิ่งคลอด
มาร์ค ถือว่าเป็นเซียนด้าน Direct Marketing หรือการขายตรง โดยเขาผ่านประสบการณ์ทำงานทั้งกับองค์กรใหญ่ และบริษัทสตาร์ทอัพ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เขาพบว่าที่ผ่านมา เขาทำงานเพื่อคนอื่นมาโดยตลอด...เขารู้เป็นอย่างดีว่าเขาต้องการอะไร หรือถ้าไม่รู้ เขาก็มีวิธีที่จะหาคำตอบมาได้
เขาสนุกกับงานที่ทำก็จริง แต่คำพูดของพ่อก็ยังก้องอยู่ในหัวของมาร์ค เขาคิดที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง ด้วยวัยเกือบ 40 ปี
แล้วโชคชะตา ก็พา มาร์ค แรนดอล์ฟ ให้มาพบกับ รีด แฮสติ้งส์ (Reed Hastings)
โดยในช่วงปี ค.ศ. 1997 บริษัทที่ รีด เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-founder) และ CEO ได้ไป Takeover หรือซื้อกิจการ บริษัทที่มาร์ค ทำงานอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีอีกบริษัทหนึ่ง มา Take over บริษัทของรีด และผลจากการควบรวม ทำให้ทั้งมาร์ค และรีด อยู่ในสถานะคน (เกือบ) ว่างงาน
พวกเขากลายเป็นส่วนเกินของบริษัท หลังจากการควบรวมกิจการ
และด้วยความที่ในตอนนั้นบ้านของทั้งสองคน อยู่ใกล้กันในแถบ Santa Cruz รัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกของสหรัฐฯ ก็ทำให้ช่วงนั้นทั้งสองคน ผลัดกันขับรถไปทำงาน
หัวข้อสนทนาในรถ ระหว่างที่พวกเขาเดินทาง ก็คือ มาร์ค จะนำไอเดียธุรกิจ มาเสนอ รีด โดยที่มาร์คเองมีสมุดบันทึกไอเดียอยู่เล่มหนึ่ง แล้วพอคิดไอเดียธุรกิจออก มาร์คก็จะบันทึกลงไป จากนั้นก็ทำการบ้าน เพื่อหาข้อมูลความเป็นไปได้ทางธุรกิจของไอเดียนั้นๆ
ตัวอย่างไอเดีย ที่มาร์ค เสนอให้ รีด ฟัง ตัวอย่างเช่น
ไอเดียที่ #114 ขายกระดานโต้คลื่น ที่ออกแบบเฉพาะบุคคล ทั้งขนาด น้ำหนัก ความแข็งแรง และสไตล์การโต้คลื่น
อีกไอเดีย ก็คือ ไอเดีย #95 อาหารสัตว์เลี้ยง ที่ปรับสูตรมาเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยงของแต่ละคน
หรือไอเดียที่ มาร์ค ชอบมากที่สุด และตอบ pain หรือปัญหาของตัวเขาเอง ก็คือ การขายแชมพูที่ปรับสูตรเฉพาะบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์
ซึ่ง รีด แฮสติ้งส์ เอง ที่เคยเป็นวิศวกร และสั่งสมประสบการณ์ธุรกิจมาอย่างโชคโชน...ด้วยสมอง อันปราดเปรื่อง พอได้ฟังไอเดียของ มาร์ค แล้วก็จะนิ่งคิดไป 30 วิ ถึง 1 นาที จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะตอบกลับมาว่า
“ไอเดียนั่นน่ะ มันไม่มีทางสำเร็จหรอก!” (That will never work)
ปัญหาส่วนใหญ่ของไอเดียของมาร์คก็คือ มันมีความเฉพาะเจาะสำหรับลูกค้าแต่ละรายมากเกินไป หากมีลูกค้า 12 คน ก็ต้องทำสินค้า 12 แบบให้ ซึ่งมันยุ่งยากเกินไป สิ่งที่ควรทำก็คือ หาสิ่งที่มีสเกล (Scale) คือจะขายหนึ่งคน หรือขาย 12 คน ก็ใช้ความพยายามเท่ากัน
1
นอกจากนี้ บางไอเดีย คนเราก็นานๆ ซื้อทีหนึ่ง ไม่ได้ซื้อบ่อย และถึงแม้จะเป็นอาหารสุนัข ก็ยังหลายเดือนซื้อทีอยู่ดี และยังมีความเสี่ยงหากสุนัขทานเข้าไปแล้วน็อคไป จะทำยังไง?
จริงๆ แล้วช่วงนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์เนตกำลังบูมในสหรัฐฯ ทางมาร์คและรีดเอง เห็นพ้องต้องกันว่า ไอเดียสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ ก็คือ การขายของทางอินเตอร์เนต นี่หล่ะ แต่จะขายอะไรดี?
แล้ววันหนึ่ง ก็มีไอเดียผุดขึ้นมา โดยคืนก่อนหน้าลูกอายุสามขวบของมาร์คฝันร้าย ตื่นกลางดึก แล้วมาร์คก็ไม่รู้จะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ยังไงดี ก็เลยเปิดวิดิโอเทป เรื่อง Aladdin ให้ลูกดู ดูไปดูมาลูกหลับไปแล้ว แต่เขากลับหลับไม่ลงดูต่อไปจนจบ
พอเช้าวันรุ่งขึ้น เจอรีด ก็เลยเสนอไอเดียว่า ขายวีดิโอเทป (ออนไลน์) กันไหม?
cr.pantip
พอได้ยินแบบนั้น รีด ก็หันมามอง แล้วตอบว่า “นั่นทำให้ฉันนึกถึงค่าปรับที่โดน Blockbuster ปรับเพราะเอาวิดิโอเทป ไปคืนเกินกำหนดเลยนะเนี่ย...”
และครั้งนี้ รีด ให้ความเห็นที่เปลี่ยนไป จาก “ไม่มีวันสำเร็จ” กลายเป็น “ก็ไม่แน่”
ไอเดียก็เป็นแค่ไอเดีย พอมาร์ค รีด และเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน มาลองวิเคราะห์วางแผนกัน เขาก็พบว่า ไอเดียการขายวิดิโอเทป ออนไลน์ มันไม่เวิร์ค ด้วย สาม สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน คือ
หนึ่ง สมัยนั้นวิดิโอเทป มีราคาแพงมาก (ราคา 2-3 พันบาท ที่สหรัฐฯ ต่อตลับ...อย่าไปนับเทปผีในบ้านเรานะ) ซึ่งกระทบต่อเงินทุนที่ต้องใช้ซื้อเทปมาทำสต็อก ไหนยังจะต้องปล่อยเช่าให้ได้เป็นร้อยรอบต่อปี ถึงจะคุ้ม
สอง ต้นทุนขนส่งแพงมาก เพราะวีดิโอเทป ตลับหนึ่งค่อนข้างใหญ่ ต้องมาเสียเวลาใส่กล่อง และค่าขนส่งก็แพง แถมยังต้องจ่ายค่าขนส่งทั้งไปและกลับ
สาม คู่แข่งสมัยนั้นก็คือ Blockbuster มีสาขาเกือบหมื่นแห่ง และมีวีดิโอเทปในสต็อกมหาศาล
ด้วยเหตุผลทั้ง สามข้อ ทำให้ไอเดียปล่อยเช่าวีดิโอเทปออนไลน์ เป็นอันต้องพับเก็บไป...
พวกเขากลับไปถกกันเรื่องไอเดีย อื่นๆ ระหว่างที่ขับรถไป-กลับ ที่ทำงาน
1
แล้ววันหนึ่ง พวกเขาก็รับรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นก็คือ แผ่น “DVD” ที่มีโอกาสเข้ามาทดแทน วีดิโอเทปแบบดั้งเดิม
อย่างที่เราทราบ (เพื่อนๆน่าจะทันเห็น DVD กันเนอะ) ว่า DVD นั้นมีน้ำหนักเบา และขนาดเล็กกว่าวีดิโอเทป มากๆ อีกทั้งค่ายหนังก็วางแผนที่จะลดราคาหนังใน DVD ลง เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อแผ่นกันเยอะๆ เป็นของสะสมที่บ้าน เหมือนที่ตลาดเพลงที่เขียนลงแผ่น CD ทำสำเร็จเป็นตัวอย่างมาแล้ว
ด้วยปัจจัยทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ มาร์ค, รีด และสมาชิกในทีม ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ โดยตัวมาร์คเอง ที่เป็นตัวตั้งตัวตีมาตั้งแต่เริ่ม รับบทบาทเป็น CEO
มาร์ค แรนดอล์ฟ ด้วยความที่ไม่ได้รวยมาก และยังมีลูกคนที่สาม ก็เลย ลงแรงอย่างเดียวเป็น CEO ช่วยตั้งไข่ให้บริษัท แต่ไม่ขอลงทุน ได้หุ้นไปประมาณ 30%
รีด แฮสติ้งส์ ถือว่ารวยพอตัว เพราะเพิ่งขายกิจการได้ และจริงๆ อยากไปทำงานด้านการศึกษา ก็เลยลงทุนอย่างเดียว โดยลงไปประมาณ 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ไม่ลงแรง ปรึกษาอยู่ห่างๆ โดยได้หุ้นไป กว่า 70%
มาร์ค ได้นับหนึ่งเริ่มกิจการของตัวเอง สมใจ...
Netflix เปิดให้บริการช่วงเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ. 1997 โดยเริ่มด้วยโมเดลให้ยืมแผ่น DVD เป็นรายครั้ง โดยลูกค้าเข้ามากดเช่าบนเว็บไซต์ และส่งแผ่น DVD ทางไปรษณีย์
หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ได้ปรับโมเดลธุรกิจเป็นระบบสมาชิกรายเดือน โดยในช่วงปี ค.ศ.2000 Netflix ประสบความสำเร็จในด้านจำนวนสมาชิกกว่า 3 แสนราย แต่ด้วยโมเดลธุรกิจ ที่ยังต้องพึ่งระบบการส่ง DVD ทางไปรษณีย์ ทำให้บริษัท ขาดทุนกว่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2
เมื่อเงินทุนร่อยหรอ ทั้ง มาร์คและรีด ก็เลยต้องบากหน้า ลองไปหาคู่แข่งเจ้าตลาดอย่าง Blockbuster เพื่อให้ซื้อกิจการ Netflix
พวกเขาได้ประชุมกับ จอห์น แอนทิโอโค ซีอีโอของ Blockbuster โดยทางรีด ได้เสนอในทาง Blockbuster เข้ามาซื้อกิจการของ Netflixในราคา 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเปลี่ยนชื่อเป็น Blockbuster.com โดยทางทีมมาร์คและรีด จะช่วยบริหารงานฝั่งออนไลน์ให้
Reed Hastings cr.Netflix
แต่ทาง จอห์น เอง คิดว่าอินเตอร์เนตเป็นเพียงแค่กระแส อีกทั้งโมเดลธุรกิจแบบ Netflix ในตอนนั้นก็ไม่ยั่งยืน เป็นการเผาเงินไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ มาร์คยังสังเกตได้ว่า ตอนที่ รีด บอกให้ Blockbuster ซื้อ Netflix ในราคา 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น
ทางจอห์น แอนทิโอโค แทบจะกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่
1
แน่นอนว่า คำตอบของ จอห์น แอนทิโอโค แห่ง Blockbuster ก็คือ “ไอเดียนั่นน่ะ มันไม่มีทางสำเร็จหรอก!”
Netflix หาทางพยายามอย่างหนัก ประหยัดทุกหนทาง ลดจำนวนพนักงาน จนสามารถอยู่รอด ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 2002
ธุรกิจเริ่มทำกำไรในปีถัดมา และในปี ค.ศ. 2005 Netflix มีหนังทั้งหมด 35,000 เรื่อง และปล่อยเช่า DVD 1 ล้านแผ่น ในแต่ละวัน!
ตรงกันข้ามกับ Blockbuster ที่มีเกือบหมื่นสาขาทั่วโลก แต่ปรับตัวไม่ทันยุคอินเตอร์เนต ทำให้ Blockbuster ต้องประกาศล้มละลายในปี ค.ศ. 2010 และปัจจุบัน มีจำนวนสาขาเพียง 1 สาขา เท่านั้น!
จริงๆ แล้วมาร์ค แรนดอล์ฟ สละตำแหน่ง CEO ให้ รีด แฮสติ้งส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 โดยเป็นทาง รีด เอง ที่บอกว่า มาร์ค เป็น CEO ที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งเพราะว่ามาร์คต้องคอยปรึกษาคณะกรรมการบริษัทอยู่ตลอดเวลา
Marc Randolph cr.Netflix
มาร์ค ทั้งอึ้ง และมึนงง เมื่อพบว่าบริษัทที่เขาสร้างมา และไอเดียก็เริ่มจากตัวเขา สุดท้าย กลายเป็นของคนอื่น
แต่ทางรีดเอง ก็ยังอยากให้มาร์คทำงานร่วมกันต่อ โดยให้มาร์คเป็นประธานบริษัท...
มาร์ค อึดอัดใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เขากล่าวไว้ในหนังสือ That will never work ว่า คนส่วนใหญ่พอพูกถึงบริษัท Netflix ก็จะนึกถึงเรื่องราวของ รีด แฮสติ้งส์ ที่คิดไอเดีย Netflix ขึ้นมาเพื่อแก้ pain ของตัวรีดเอง ที่ต้องโดนค่าปรับ จากการคืนวีดิโอเทปล่าช้า (ทั้งๆ ที่ช่วงแรก Netflix ก็คิดค่าปรับลูกค้าเช่นกัน)
เรื่องราวจุดกำเนิด ของ Netflix ก็เหมือนอีกหลายๆ เรื่อง ที่ถูกปรับแต่งด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด ให้จดจำได้ง่าย และสร้างแรงบันดาลใจ
เหมือนอย่างที่เซอร์ไอแซ็คนิวตัน นั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล หรือเรื่องอาร์คีมีดิส กับอ่างน้ำ...
1
มาร์ค ตัดสินใจลาออกจาก Netflix ในปี ค.ศ. 2004 โดยเขาก็ผันตัวเองไปเป็น ที่ปรึกษาให้บริษัทสตาร์ทอัพหลายๆ บริษัท...เขายังชื่นชอบที่จะทดสอบไอเดียของเขา และอยากที่จะช่วยสร้างบริษัทใหม่ๆ มากกว่า
โดยสรุป สำหรับไอเดียที่ดี สัก 1 เรื่องนั้น อาจเกิดมาจากไอเดียที่แย่ๆ เป็นพันไอเดีย ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าไอเดียไหนดี และไอเดียไหนแย่..
ดังนั้น หากมีใครมาบอกว่า ไอเดียที่คิด ไม่มีวันสำเร็จ...
1
ให้บอกกับตัวเองว่า...ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร....ไม่มีไอเดียไหน ที่เป็น “ไอเดียที่ดี”
แต่มันคือ กระบวนการในการค้นหาว่า ไอเดียไหน เป็น “ไอเดียที่แย่” และพิจารณาเลือก ไอเดียที่ “น่าจะพอเป็นไปได้” แล้วจึงทำการทดลองเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เราเชื่อ
หลายไอเดียธุรกิจชั้นยอด ไม่ได้เริ่มมาจากการร่างแผนธุรกิจ หรือ “Business Plan” แต่มาจากการ ทดลอง ทดลอง แล้วก็ ทดลอง
เหมือนที่ ซีรีส์เกาหลีเรื่อง “Startup” ใน Netflix ที่นางเอก ซอล ดัลมี เคยเขียนจดหมายไปให้ นัม โดซาน ว่า...
“การได้เตร่บ้างก็ไม่เห็นเป็นไร บางทีการแล่นเรือโดยไร้แผนที่ก็ยอดเยี่ยมเหมือนกัน”
ขึ้นชื่อว่าการทดลองก็ย่อมมีการล้มเหลว แต่สำหรับคนที่สำเร็จ คนเหล่านั้นเขาล้มได้ แต่เขาไม่ยอมน็อค
การลองเสี่ยง แล่นเรือโดยไร้แผนที่ ถึงแม้จะอันตรายแต่ก็น่าลอง...ถ้าไอเดียนั้น มันตอบโจทย์ชีวิตเราจริงๆ
และบางทีไอเดียนั้น อาจเป็นไอเดียที่มีมูลค่า 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ดังเช่น ไอเดีย “Netflix” ก็เป็นได้...
ที่มา: That will never work, No rules rule, Wiki
#ThatWillNeverWork
#TheSandboxTH
#Netflix
โฆษณา