9 ม.ค. 2021 เวลา 04:43 • ข่าว
สรุปโค้งสุดท้ายก่อน “โดนัลด์ ทรัมป์” ลงจากตำแหน่ง
หาทางอภัยโทษตัวเอง ตำรวจสภาเตรียมโดนเหตุสอบหยุดม็อบไม่อยู่
ความวุ่นวายในช่วงเวลาท้ายยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แผลงฤทธิ์สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งประเทศ จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเกือบเป็น “จลาจล” หลังมีมวลชนผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาระหว่างการประชุมเพื่อรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีผู้สนับสนุนเสียชีวิต 4 ราย และตำรวจ 1 นาย พร้อมกับผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าสร้างความสั่นคลอนต่อระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับประเทศที่เรียกว่าเป็นผู้นำของระบอบฯ ผู้นำโลกหลายประเทศทั้งยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ต่างออกมาประณามการกระทำของทรัมป์ที่เป็นต้นเหตุของการปลุกปั่นม็อบให้ไปชุมนุม และลุกลามบุกรุกสถานที่ราชการจนมีคนเจ็บคนตาย
การก้าวลงจากตำแหน่งที่ไร้ซึ่งความสง่างามของทรัมป์ กำลังเป็นเหมือนพันธนาการที่ผูกมัดตัวเอง และต้องการหาทางลงแบบที่ให้ตัวเอง “ผิดน้อยที่สุด” หรือพ้นผิดไปเลยถ้าหากทำได้ แนวคิดการอภัยโทษตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำนักข่าวต่างประเทศกำลังสนใจในประเด็นนี้ว่า ทรัมป์อาจจะใช้วิธีดังกล่าวเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิดเมื่อลงจากอำนาจ
The New York Times ระบุว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สมุนทรัมป์บุกรัฐสภา ทรัมป์ได้หารือกับปรึกษาและนักกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางกฎหมายในการอภัยโทษให้ตัวเอง
มันไม่ใช่ครั้งแรกที่ทรัมป์มีแนวคิดแบบนี้เพราะเมื่อปี 2560 ทรัมป์ก็ได้มีการหารือกับที่ปรึกษาถึงเรื่องนี้เช่นกัน สื่อที่เป็นพันธมิตรของทรัมป์ เช่น Sean Hannity ใน Fox News ก็ได้นำเสนอข่าวต่อสาธารณะชนว่า ทรัมป์ควรทำเช่นนั้น และทรัมป์ก็ยังทวีตข้อความว่า “ฉันเชื่อว่าฉันมีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น”
1
"ตามที่นักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนระบุไว้ว่า ฉันมีสิทธิ์ที่จะอภัยโทษตัวเองอย่างแท้จริง แต่ทำไมฉันถึงทำเช่นนั้นในเมื่อฉันไม่ได้ทำอะไรผิด"
แต่ถึงกระนั้นการให้อภัยตนเองของประธานาธิบดียังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายและการเมืองต่างแสดงความคิดเห็นกันมุมที่แตกต่างออกไปภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่บันทึกทางกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ประธานาธิบดีไม่สามารถอภัยให้ตัวเองได้ แต่เขาสามารถลงจากตำแหน่งและขอให้รองประธานาธิบดีมารักษาการแทนและอภัยโทษให้ได้ อย่างไรก็ตามบันทึกนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
1
ในทางกฎหมายยังคงมีความกำกึ่งอยู่ว่า สรุปแล้วทำไม่ได้หรือไม่เคยทำ เพราะไบรอัน คัลต์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่เคยมีผู้นำสหรัฐคนไหนทำมาก่อน ทรัมป์อาจจะลองใช้อำนาจนี้ดูก็ได้”
1
ตรงข้ามกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางคนกล่าวว่า การอภัยโทษตนเองจะขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการละเมิดหลักการที่ว่า ไม่มีใครเป็นผู้พิพากษาในคดีของตนเองได้
และถึงแม้ว่าทรัมป์จะให้การอภัยโทษให้ตัวเองได้ แต่มันกฎหมายก็ไม่ได้ครอบคลุมในส่วนของความผิดในคดีอื่นๆ นั่นรวมไปถึงคดีอาญาที่อัยการเขตแมนฮัตตัน ไซรัส แวนซ์ และคดีแพ่งของเลติเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่อยู่ในการฟ้องร้องถึงการที่ทรัมป์ได้เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้สูงเกินจริงหรือไม่เพื่อขอรับเงินกู้และผลประโยชน์ทางภาษีในการดำเนินธุรกิจของเขา
แอลลี่ ฮอนิง นักวิเคราะห์กฎหมายของ CNN กล่าวว่า การอภัยโทษตนเองน่าจะก่อให้เกิดความท้าทายทางกฎหมาย ก่อนอื่นอัยการจะต้องฟ้องทรัมป์แม้ว่าเขาจะอภัยโทษให้ตนเองก็ตาม จากนั้นคดีจะถูกฟ้องร้องในศาลซึ่งขึ้นอยู่กับศาลฎีกาโดยให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและประวัติศาสตร์ รวมถึงความเห็นของกระทรวงยุติธรรม และเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ของผู้กำหนดกรอบรัฐธรรมนูญ (Framers of the Constitution) ซึ่งการให้อภัยตัวเองมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นผล แต่แทบจะไม่มีข้อเสียใดๆ สำหรับทรัมป์เลยอย่างน้อย “ การโล่ที่มีแม้จะเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าไม่มีโล่เลย”
ดังนั้นอาจจะสรุปไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วทรัมป์สามารถอภัยโทษให้ตัวเองได้หรือไม่ เพราะแม้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ชัดเจนในอำนาจ แต่ถึงแม้จะอภัยโทษได้ แต่ความผิดอื่นๆ ทั้งทางแพ่งและอาญาที่อยู่นอกเหนือจากนี้ก็ต้องไปฟ้องร้องสู้กันในศาลต่ออยู่ดี และต้องมีความเห็นประกอบกฎหมายจากหน่วยงานผู้คุมกฎระเบียบนำมาพิจารณาร่วม ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปกันอีกหลายตลบ
อย่างไรก็ตามปัญหาหลังจากที่ผู้สนับสนุนทรัมป์สามารถบุกเข้าไปถึงภายในอาคารรัฐสภาได้ กำลังจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัยอย่างตำรวจกำลังเตรียมถูกสอบสวนถึงความหละหลวมในการป้องป้องสถานที่ราชการสำคัญที่สุดของประเทศ
สมาชิกรัฐสภาเรียกร้องให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจรัฐสภา และเรียกร้องให้ชี้แจงถึงความผิดพลาดในครั้งนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเนื่องจากอาคารแห่งนี้มีจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากเพียงพอที่จะดูแลเมืองขนาดกลางๆ ในประเทศได้เลย แต่สำหรับอาคารที่มีพื้นที่เล็กๆ และอาณาบริเวณโดยรอบเพียงแค่ 1 ตารางกิโลเมตร กับไม่สามารถปกป้องการบุกรุกของฝูงชนได้
สตีเวน ซันด์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจรัฐสภา ได้กล่าวไว้ก่อนการประชุมรับรองผลการเลือกตั้งว่า อาคารรัฐสภามีความปลอดภัย และฝูงชนจะไม่สามารถเข้าถึงภายในของอาคารได้ แต่สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามข่าว เพราะนอกจากฝูงชนจะกรูกันบุกรุกเข้ามาภายในอาคารได้แล้ว ยังทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกินขึ้นมายาวนานกว่า 200 ปี ซึงครั้งล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นคือ เมื่อปี พ.ศ. 2357 ซึ่งอยู่ในช่วงของการทำสงครามระหว่างสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งเวลานั้นกองทัพอังกฤษได้บุกเข้าไปเผาทำลายภายในอาคารรัฐสภา
แต่นั่นคือสงคราม คือกองกำลังทหาร ไม่ใช่พลเรือนแบบเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า
ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มผู้ประท้วงที่บางคนถือธงสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate flags) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกบฎและการเหยียดเชื้อชาติ บางคนแต่งกายคล้ายชุดทหาร ที่เจ้าหน้าที่ยอมปล่อยให้เข้าไปในอาคารรัฐสภาอย่างง่ายดาย หรือเจ้าหน้าที่บางคนยังเซลฟี่กับกลุ่มผู้ประท้วง ถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์
1
ซึ่งไม่รู้ว่านี้คือความบกพร้องหรือตั้งใจ ที่ทำให้ผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปในอาคารได้
จากความบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้ สตีเวน ซันด์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจรัฐสภา และพอล เออร์วิง ตำรวจประจำรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลตำรวจ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และจะมีผลในวันที่ 16 มกราคมนี้
สุดท้ายทรัมป์ได้ทวิตข้อความออกมาหลังจากบัญชีทวิตเตอร์ถูกปลดการแบนว่าจะไม่เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดน ในวันที่ 20 มกราคม ก่อนที่บัญชีของเขาจะถูกระงับเป็นการถาวรในเวลาต่อมา
ส่วนไบเดนเองก็หาได้แคร์ว่าทรัมป์จะไม่เข้าร่วมพิธีตามประเพณี โดยบอกว่า เขาไม่รู้สึกอะไร เป็นเรื่องที่ดี ที่ทรัมป์จะไม่เข้าร่วม เพราะทรัมป์เป็นความน่าอายของประเทศและไม่เหมาะสมกับตำแหน่งอีกต่อไป
โฆษณา