10 ม.ค. 2021 เวลา 00:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อัตราภาษีดูยังไง คิดยังไง??
ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ยื่นภาษีของปี 63 กัน อัตราภาษีบ้านเรานั้นจะเป็นลักษณะขั้นบันได ยิ่งมีเงินได้สุทธิสูง ก็จะเสียอัตราภาษีในระดับที่สูงขึ้น แล้วอัตราภาษีนี้ ดูยังไง คิดยังไง มาอ่านโพสนี้กัน...
มาเริ่มค่อยๆ ดูกัน
เงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปีที่เป็นรายได้ที่เราต้องเสียภาษี ลบด้วย ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่เรามี
.
ซึ่ง “ค่าใช้จ่าย” นั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า รายได้ประเภทไหนหักค่าใช้จ่ายได้อย่างไหร่ และหักได้เท่าไหร่
เช่น รายได้ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราคุ้นเคย คือ รายได้ 40(1) และ 40(2) ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ต้องนำทั้งรายได้ 40(1) และ (2) รวมกัน และหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ.
ส่วน”ค่าลดหย่อน” ก็จะเป็นค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีค่าลดหย่อนส่วนตัวที่รัฐกำหนดไว้ให้ คือ 60,000 บ. อันนี้จะเป็นพื้นฐาน ส่วนใครมีค่าลดหย่อนบุตร คู่สมรส บิดามารดา ที่นำมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม ก็จะอยู่ในส่วนเรื่องของ “ค่าลดหย่อน”
หรือถ้าใครไม่ภาระติดตัวแบบนี้ ก็หาค่าลดหย่อนได้จากอื่นๆ เช่น SSFX, SSF, RMF, PVD, กบข. ประกันชีวิตและประกันบำนาญ
นอกจากนั้นในปี 2563 มีช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีค่าลดหย่อนพิเศษ อย่างช้อปดีมีคืนเพิ่มเติมขึ้นมา
ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ตรง “เงินได้สุทธิ” นี้เองที่เราจะนำเข้ามาคำนวณอัตราภาษี ซึ่งอัตราภาษีของบ้านเรา จะใช้เป็นแบบขั้นบันได ตามรูปด้านล่างนะ
การคำนวณอัตราภาษีนี้ เราต้องดูว่าเงินได้แต่ละฐานของเรา เป็นบันไดแต่ละขั้นที่ต้องก้าวไปจากขั้นแรก และบวกสะสมแต่ละขั้นกันไปเรื่อยๆ แบบนี้...
ตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือนคนนึงโสดอายุ 30 ปี พ่อแม่ยังมีเงินได้ มีเงินเดือน 45,000 บ. ต่อเดือน มีค่าลดหย่อนเพิ่มแค่เรื่องของประกันสังคม ซึ่งหักได้ 5,850 บ.ต่อปี และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) 34,150 บ. ลองดูกันว่า จะเสียภาษีเท่าไหร่
เริ่มจาก
เงินได้ทั้งปี 45,000 บ. X 12 เดือน = 540,000 บ. ต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ 40(1)
หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ. ดังนั้นจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด ตรงนี้ แค่ 100,000 บ.
ค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนส่วนตัว รัฐกำหนดให้ลดหย่อนได้ 60,000 บ.
ประกันสังคม 5,850 บ.
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 34,150 บ.
เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณอัตราภาษี คือ
540,000 – 100,000 – 60,000 – 5,850 – 34,150 บ. = 340,000 บ.
มาดูกันที่อัตราภาษีแบบขั้นบันไดกัน ที่ต้องเริ่มกันที่ตั้งแต่ก้าวแรก หรือขั้นแรก แล้วบวกขึ้นไปเรื่อยๆ
เริ่มกันที่ขั้นที่ 1 จากตาราง เงินได้ในขั้นแรก 150,000 บ. แรก ไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้น 150,000 บ. แรกของเรา ขั้นนี้ ภาษีที่ต้องเสีย คือ 0
มาขั้นที่ 2 เงินได้ที่มากกว่า 150,000 จนถึง 300,000 บ. เสีย 5% ซึ่งช่วงนี้ ก็คือเงินได้ของเราในช่วงนี้ทั้งหมด คือ 150,000 บ. ก็ต้องถูกนำมาคิดภาษี ในอัรา 5% ขั้นที่ 2 นี้ เราจะเสียภาษี = 150,000 X 5% = 7,500 บ.
แต่เงินได้ของเรา 340,000 มีอยู่ในช่วงที่เกิน 300,000 บ.ขึ้นไปด้วย จึงยังไม่เสร็จ ต้องเดินก้าวขึ้นไปในขั้นบันไดถัดไปต่อ
มาขั้นที่ 3 เงินได้ที่มากกว่า 300,000 จนถึง 500,000 บ. เสีย 10% โดยที่เงินได้เรา จะอยู่ในช่วงนี้ 40,000 บ. เราก็นำตรงนี้มาคูณด้วยอัตราภาษี 10% = 40,000 บ. X 10% = 4,000 บ.
จะเห็นว่าเงินได้เราสุดอยู่ตรงขั้นนี้ ก็ไม่ต้องเดินต่อไปในขั้นถัดไป ทีนี้เราก็เอาแต่ละขั้นที่เราสะสมไว้ในทั้ง 3 ขั้น มาเป็นภาษีที่เราต้องจ่าย แบบนี้
= 0 บ. + 7,500 บ. + 4,000 บ.= 11,500 บ.
สรุป ภาษีที่เราต้องเสียทั้งปีก็จะเท่ากับ 11,500 บ.
จะเห็นว่าถ้าเราต้องการเสียภาษีน้อยลง คือ เราต้องเปลี่ยนลักษณะรายได้ไปเป็นรายได้ลักษณะอื่นเพื่อจะได้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่แล้วการเปลี่ยนรายได้อาจทำได้ยาก เราก็ต้องหาค่าลดหย่อนอย่างอื่นมาเพิ่มเติม เพื่อทำให้เมื่อคำนวณ “เงินได้สุทธิ” แล้วน้อยลง
เช่น ถ้าตัวอย่างข้างต้น มีลงทุนใน SSF อีก 40,000 บ. จะทำให้เงินได้สุทธิเหลือ 300,000 บ. ก็จะทำให้เสียภาษีเท่ากับ 7,500 บ.
การคิดอัตราภาษีจะเป็นแบบขั้นบันได ที่เราต้องเอาภาษีที่เราต้องจ่ายในแต่ละขั้นมาบวกสะสมรวมกันไปทีละขั้น แบบตัวอย่างที่แสดงให้ดูนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#ภาษี
#อัตราภาษี
#ลดหย่อนภาษี
โฆษณา