14 ม.ค. 2021 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
ที่ชื่อบริษัท นานมี เพราะจะได้มีนานๆ
2
หากพูดถึงอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่สมัยเราเป็นนักเรียน และนักศึกษา
คงหนีไม่พ้นดินสอ ปากกา ดินสอสี และอุปกรณ์การเรียนนานาชนิด
หนึ่งในแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานก็คือ แบรนด์ ตราม้า
ที่มีเจ้าของคือ บริษัท นานมี ที่อยู่คู่คนไทยมาเกือบ 100 ปี
แล้วบริษัท นานมี มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงอยู่มานานขนาดนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ณ เมืองเล็กๆ ริมชายฝั่งทะเลจีนตะวันออกอย่าง ซัวเถา ได้เกิดทุพภิกขภัย หรือภาวะขาดแคลนอาหารเป็นวงกว้าง
เรื่องดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนอดอยากกันถ้วนหน้า ซ้ำร้ายตอนนั้นก็ยังเกิดสงคราม ระหว่างจีนก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมของจีน กับ กลุ่มคอมมิวนิสต์
ช่วงนั้นเอง ที่ชาวจีนแต้จิ๋วกว่า 2 ล้านคน ได้อพยพมายังประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีคุณทองเกษม สุพุทธิพงศ์ ที่ได้ขึ้นเรือสำเภามาหาโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวที่กรุงเทพมหานคร
จากความลำบากในครั้งนั้น ทำให้คุณทองเกษม ต้องทำงานเป็นลูกจ้างและอ่านหนังสืออย่างหนัก
จนในที่สุดเขาก็สามารถเลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อเขามีประสบการณ์ และมีเงินทุนในระดับหนึ่ง
เขาจึงได้ตัดสินใจเปิดร้านขายหนังสือขนาดเล็กในย่านเยาวราช
ในชื่อ บริษัท นานมี จำกัด
และที่ชื่อนานมี ก็เพราะว่า คุณทองเกษม อยากให้ธุรกิจร้านของเขามีอายุนานๆ นั่นเอง
ในขณะที่ชื่อนี้ ก็มีการออกเสียงคล้ายภาษาจีนคำว่า “หน่ำมุ่ย” ที่แปลว่า “ความงดงามทางตอนใต้”
ช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี กิจการของ นานมี ได้เติบโตอย่างมากจนต้องขยายสาขา
1
ซึ่งที่สาขาใหม่นี่เอง ก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของกิจการผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน
 
ในช่วงที่นานมีกำลังขยายกิจการอยู่นั้น ไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการศึกษา
คือ การขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 7 ปี ทำให้ความต้องการเครื่องเขียนเพิ่มขึ้น
ซึ่ง นานมี ก็เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้ประโยชน์ และก็ยิ่งเติบโตจนขยับขยายไปเปิดสำนักงานใหญ่ที่ถนนสุรวงศ์
ต่อมาทางนานมีได้เล็งเห็นว่า ในอนาคตตลาดเครื่องเขียนจะเติบโตได้อีกมาก
จึงได้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก จนได้ก่อตั้งเป็นบริษัท นานมี อุตสาหกรรม จำกัด
ซึ่งที่นั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องเขียนภายใต้แบรนด์ที่เรารู้จักกันดี นั่นก็คือ “ตราม้า”
1
Cr. นานมี
โดยแบรนด์ตราม้า ได้นำเทคโนโลยีจากบริษัท MAX Co., Ltd. จากประเทศญี่ปุ่น
มาใช้ในการผลิตลวดเย็บกระดาษในประเทศไทยเป็นคนแรก
ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นสินค้าที่เราเรียกติดปากกันว่า “แม็กซ์” นั่นเอง
นอกจากนานมี จะทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเขียนแล้ว
อีกหนึ่งธุรกิจที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ ก็คือ “นานมีบุ๊คส์”
ธุรกิจดังกล่าวถูกก่อตั้งโดยลูกสาวของคุณทองเกษม
เพราะเห็นว่าในสมัยนั้น ยังไม่ค่อยมีใครทำหนังสือภาษาไทยเท่าไร
เธอจึงได้เริ่มจากการเปิดแผนกหนังสือไทยในบริษัท นานมี
จากนั้นก็ได้แยกตัวออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ นานมีบุ๊คส์
นานมีบุ๊คส์ จัดพิมพ์หนังสือดีมีคุณภาพจากหลายประเทศหลายภาษา เช่น ครอบครัวตึ๋งหนืด และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ซึ่งก็น่าจะเป็นหนังสือที่ใครหลายคนต้องเคยอ่านในวัยเด็ก
Cr. Nanmeebooks
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงรู้สึกว่า นานมีเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน
แต่อย่างไรก็ตาม โลกนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นานมีจึงถือได้ว่ากำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่
จากการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ทำให้เกิดกระแส Paperless หรือ สังคมไร้กระดาษ
นักเรียน นักศึกษาหลายคนหันเริ่มหันไปใช้ iPad หรือ Tablet ในการเรียน
แทนการใช้กระดาษ หรือเครื่องเขียนแบบดั้งเดิม
และหลายๆ ธุรกิจก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลดการใช้กระดาษกันมากขึ้น
Cr. Thairath
เพราะการใช้กระดาษซึ่งมีต้นทุนที่สูง ทั้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรต้นไม้และพลังงานในการผลิต
เป็นการสิ้นเปลืองทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังทำให้เกิดขยะ และมลพิษต่อสำนักงาน
1
นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังเป็นตัวเร่งให้เทรนด์ Paperless ยิ่งมาเร็วขึ้น
หลายบริษัทต้องหันมาใช้นโยบาย Work from Home จึงต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเอกสาร
ให้สามารถเข้าถึงได้จากที่ไหนก็ได้
รวมถึงการพัฒนาของ Cloud Service ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงานแบบ Paperless
1
ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคค่อยๆ เปลี่ยนไป อุปกรณ์สำนักงานที่นานมีผลิต เช่น แม็กซ์ แฟ้มเอกสาร เครื่องเขียนต่างๆ ก็ถือได้ว่ากำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทีนี้ เรามาดูผลประกอบการบริษัท นานมี
ปี 2561 รายได้ 428 ล้านบาท กำไร 47 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 401 ล้านบาท กำไร 40 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า จากปี 2561 มาปี 2562 ทั้งรายได้และกำไรของนานมีนั้นลดลงไปบ้าง แต่ก็ถือว่ายังต่อสู้กับความท้าทายนี้ได้ดี เพราะยังสามารถทำกำไรได้ในระดับหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน อีกธุรกิจอย่างหนังสือและสิ่งพิมพ์ ก็กำลังเผชิญความท้าทาย นั่นก็เพราะว่าพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนสมัยนี้ เปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของออนไลน์อย่างชัดเจน
แค่มีสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว ก็เปรียบเสมือนเราได้ย่อโลกทั้งใบลงมาไว้ในมือของเรา
1
จากเคยต้องหาความรู้ผ่านหนังสือ ก็เปลี่ยนมาเป็นหาความรู้ผ่านโลกออนไลน์
ร้านหนังสือหลายแห่ง หรือ สำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มทยอยกันปิดตัวลง
เช่น สำนักพิมพ์ Openworlds ที่ทำธุรกิจมา 8 ปี หรือ สำนักพิมพ์เครือโมโน กรุ๊ป ก็ได้ปิดตัวลงไปเช่นกัน
Cr. Openworlds Thailand
ซึ่งอีกธุรกิจของนานมี อย่างบริษัท นานมีบุ๊คส์ ที่ทำธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์
ปี 2561 รายได้ 396 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 378 ล้านบาท กำไร 8 ล้านบาท
ธุรกิจเครื่องเขียน สิ่งพิมพ์ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยก่อน ตอนนี้ กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้หมายความว่าความท้าทาย หรือวิกฤติจะเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป
เพราะในทุกวิกฤติ มันก็มีโอกาสอยู่เสมอ
อยู่ที่เราจะมองเห็น และคว้ามันไว้หรือไม่
 
ซึ่ง นานมี ที่อยู่คู่คนไทยมาแล้วเกือบ 100 ปี
ก็น่าจะหาวิธีปรับตัว และยังอยู่คู่คนไทย ต่อไปอีกนาน ๆ เหมือนที่ชื่อได้กล่าวไว้..
โฆษณา