14 ม.ค. 2021 เวลา 03:13 • การเมือง
ฝังทรัมป์
1
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
ผมตื่นนอนตอนเช้าของวันพุธที่ 13 มกราคม 2564 ได้ทันดูการถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ซึ่งส.ส.สหรัฐลงมติสนับสนุนการถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์จากการเป็นประธานาธิบดีโดยการใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 หรือ 25th Amendment
www.abcnews.go.com
บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 กำหนดให้รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่สามารถลงนามว่าประธานาธิบดีไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ และส่งจดหมายไปถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งถ้ามีการใช้บทบัญญัติฯ นี้จริงๆ นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐแทนทรัมป์โดยอัตโนมัติ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐมีมาแล้ว 27 ครั้ง ครั้งที่ 25 มีการเสนอตั้งแต่ 6 กรกฎาคม 1965 ใช้เวลานาน 1 ปี 219 วัน กว่าจะมีการให้สัตยาบันร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
2
การแก้ไขบางครั้งใช้เวลาเป็นร้อยปี อย่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 27 มีการเสนอแก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 1789 หลังจากนั้นมาอีก 202 ปีกับอีก 223 วัน จึงมีการให้สัตยาบันครบทุกรัฐมีข้อความว่า “ห้ามมิให้สภาผู้แทนราษฎรขึ้นเงินเดือนให้แก่ตนเอง หากแต่ให้การขึ้นเงินเดือนนั้นจะต้องมีผลเพื่อสภาชุดต่อไปภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งถัดไป”
1
www.usnews.com
รัฐธรรมนูญสำหรับที่ใช้อยู่มีการลงนามเมื่อ 17 กันยายน 1787 ได้รับการให้สัตยาบันจากแต่ละรัฐใน ค.ศ.1788 มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 1789 ตั้งแต่นั้นมา สหรัฐก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอด รัฐธรรมนูญของสหรัฐจึงขลังเพราะไม่มีการเปลี่ยน การแก้ไขก็ยาก เวลาผ่านมาสองร้อยกว่าปี แก้ไขเพ่ิมเติมเพียง 27 ครั้งเท่านั้น
 
กลับมาเรื่องของทรัมป์ครับ ก่อนหน้านี้ รองประธานาธิบดีเพนซ์บอกกับประธานสภาผู้แทนราษฎร นางแนนซี เพโลซี ว่า การใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ไม่ใช่ส่ิงที่ดีที่สุดสำหรับประเทศชาติ เราก็ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า เพนซ์และคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ส่วนใหญ่จะกล้าลงนามว่าทรัมป์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือเปล่า หลายคนบอกว่า น่าจะใช้การฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่งหรือ Impeachment มีทางเป็นไปได้มากกว่า
 
รัฐธรรมนูญของสหรัฐ ค.ศ. 1787 บัญญัติเรื่องการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่งไว้ในมาตรา 1 ให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีอำนาจฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่งข้ารัฐการและให้สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเป็นผู้พิจารณาตัดสินว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามคำฟ้องของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
 
การฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่งของสหรัฐเกิดขึ้นของจริงยากครับ ผมขอยกตัวอย่างของจริงให้ดู ย้อนหลังไปเมื่อ ค.ศ.1797 สภาผู้แทนราษฎรฟ้องให้ขับนายวิลเลียม บลันต์ สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเทนเนสซีออกจากตำแหน่ง ข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับอังกฤษในการเข้ายึดครองดินแดนฟลอริดาของสเปน แต่สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐยุคนั้นไม่รับคำฟ้อง
 
จาก ค.ศ. 1803 จนถึงปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฟ้องให้ขับข้ารัฐการออกจากตำแหน่งทั้งสิ้น 19 คน พวกที่โดนมากที่สุดเป็นผู้พิพากษาศาลระดับต่างๆ 15 คน และผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐ 1 คน ซึ่งก็ลงเอยด้วยการที่สมาชิกวุฒิสภาตัดสินว่าไม่มีความผิด
 
อีก 1 คน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาก็ตัดสินว่าไม่มีความผิดเช่นกัน อีก 2 คนเป็นประธานาธิบดีคือ ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน และประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งวุฒิสภาตัดสินว่าไม่ผิดทั้งสองคน
 
การฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง แม้จะเริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็จะไปรอดที่สมาชิกวุฒิสภา ดูเหมือนกับเป็นการเล่นละครอย่างไรไม่รู้ เหมือนกับว่าสภาผู้แทนราษฎรฟ้องเพียงเพื่อให้บุคคลนั้นมีตำหนิติดตัว ไม่ได้ต้องการให้ถูกขับจริงๆ
 
ทรัมป์เป็นนักการเมืองที่มีฤทธิ์พิษสงรอบตัว ถึงตอนนี้ก็ยังมีสาวกติดตามแกอยู่อีกหลายสิบล้านคน ทุกคนก็กังวลว่า สาวกเหล่านี้จะก่อเรื่องวุ่นวายให้ประเทศ จึงอยากจะขุดหลุมฝังทรัมป์เสียก่อน
 
ทว่า อ้า ต้องระวังครับ เพราะทรัมป์เป็นเมล็ดพันธ์ุ แต่พอได้น้ำก็งอกขึ้นมาจากหลุมได้อีก.
โฆษณา