14 ม.ค. 2021 เวลา 06:05 • กีฬา
Silver Rush 50, Leadville CO (July 10th 2016, 50miles 2,300m+, bib 65, finished 12:17:07)
Pre race
สถานที่
เมืองLeadvilleนี้เป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ออกไปทางด้านตะวันตกราว110ไมล์จากเมืองDenver รัฐColorado และเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของเทือกเขาRocky เดิมทีนั้นเป็นเหมืองเก่าที่ค้นพบแร่ทองคำและเงิน ผ่านพ้นความรุ่งเรืองปัจจุบันก็เป็นเมืองเงียบๆที่เป็นจุดหมายของนักกิจกรรมกลางแจ้ง คงเพราะเนื่องจากถนนที่ตัดผ่านตอนทำเหมืองเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งความเป็นมาลักษณะคล้ายกันนี้ก็พบได้หลายๆที่ทางฝั่งตะวันตก แต่ความพิเศษของLeadvilleที่ท้าทายและดึงดูดผู้คนก็คือที่ตั้งของเมืองที่อยู่ที่ระดับความสูงกว่า10,200ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล นึกภาพเปรียบเทียบกับดอยอินทนนท์บ้านเราที่สูงสุดอยู่ที่8,500ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ที่ความสูงจุดนี้Leadvilleถือเป็นเมืองรูปแบบcityที่ตั้งอยู่สูงที่สุดของประเทศนี้
รายการ Leadvilleนี้เป็นหนึ่งในซีรี่ยอดนิยมอันดับต้นๆของนักวิ่งtrail และรายการที่มีชื่อเสียงในความท้าทายสุดยอดก็คือ Leadville100 (LT100) ซึ่งก็ตามชื่อครับ 100ไมล์ หรือ160กิโลเมตร เป็นรายการใหญ่ระดับโลกของชาวฮาร์ดคอร์ ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน ที่วิ่งนี่คือLeadville Silver Rush 50 ซึ่งเป็นรายการน้องที่จัดขึ้นมาคล้ายเป็นการวอร์มอัพของLT100
Silver Rush 50นี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ ซึ่งแปลกพิเศษกว่ารายการultraทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ให้วันอาทิตย์เป็นวันพักฟื้นและเดินทางกลับบ้านกัน ส่วนเหตุผลที่รายการนี้จัดในวันอาทิตย์นั้นเพราะวันเสาร์เค้าจัดรายการ mountain bike 50 ใช้เส้นทางเดียวกัน และก็เพื่อตอบสนองความกระหายของชาวฮาร์ดคอร์บางส่วนที่ต้องการร่วมทั้งสองรายการคือ เสาร์ปั่น50 อาทิตย์วิ่ง50 เค้ามีคำขนานนามชายหญิงที่ร่วมจบครบทั้งสองรายการกลุ่มนี้ว่า Silver King และSilver Queen สรุปโปรไฟร์รายการนี้คือ 50ไมล์แบบภูเขาและอยู่ที่ระดับความสูง10,000-12,000ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลตลอดทั้งคอร์ส
ปล. ส่วนมาราธอนแบบถนนในเมืองนั้น ส่วนมากจัดในวันอาทิตย์ เดาว่าคงเพราะต้องมีการจัดการปิดถนน จึงเลือกวันที่การจราจรเบาบาง และใช้วันเสาร์เพื่อจัดกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มที่
เตรียมตัวก่อนวิ่ง
อุปสรรคหลักของรายการนี้คือการที่จะต้องวิ่งอยู่ที่ความสูง10,000+ ตลอดเวลาอย่างน้อยๆก็ครึ่งวัน ปัญหาหลักของชาวบ้านพื้นราบระดับน้ำทะเลที่จะต้องเจอแน่ๆคือ
หนึ่ง.อากาศเบาบาง ความกดอากาศต่ำ ซึ่งทำให้หอบง่ายเหนื่อยง่ายกว่าปกติ การเน้นspeed work(ไม่ได้ทำ) และหาโอกาสฝึกวิ่งบนที่สูง(ไม่ได้ทำ)น่าจะช่วยได้บ้าง นอกจากนี้ก็น่าจะมีการเทรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของlung capacityและการหายใจ อุปกรณ์พวกนี้มีให้เลือกซื้ออยู่หลายแบบ หลักการของอุปกรณ์พวกนี้ก็แค่ง่ายๆคือทำให้เราหายใจลำบากขึ้น ถ้านิยมแบบบ้านๆก็ลองซื้อลูกโป่งมาเป่าเล่น ก็น่าจะได้ผลคล้ายๆกัน ส่วนใครจะลงทุนใช้ altitude simulationรูปแบบอื่นที่แพงๆก็หาข้อมูลกันให้ดี และการใช้เพื่อเพิ่มเม็ดเลือดแดงอย่างที่หวังนั้น คำตอบก็ยังกำกวม แต่หากเป็นอะไรที่สบายใจสบายกระเป๋าแล้วละก็คงต้องลองกันเอาเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือกะว่าจะลองแต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ทำ สรุปที่ได้ทำคือแค่back-to-back long run และเน้นเรื่องทานอาหารเท่าที่พอจะทำได้และเท่าที่มีเวลา
สอง.อาการป่วยสารพัดอื่นๆ ปวดหัว คลื่นไส้ หูอื้อ เวียนหัว นอนไม่หลับ ทานไม่ลง ถ่ายไม่ออก ฯลฯ(altitude sickness) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เป็นแล้วก็จะหายเอง แต่อาจมีความสำคัญที่รายละเอียดของช่วงเวลาป่วยของแต่ละคน ซึ่งคร่าวๆกล่าวไว้ว่า ทันทีที่เราไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ร่างกายจะยังไม่ตอบสนองใดๆในทันที แต่หลังจากนั้นจะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นช่วงเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นอย่างหนักและเฉียบพลัน และจะค่อยเบาบางลงไปเรื่อยๆ กล่าวกันว่าช่วง ณ จังงังนี้จะมีช่วงเวลาประมาณ24-48ชั่วโมง ใครอยู่ที่ราบ ซ้อมที่ราบ อาจทดลองอิงกับทฤษฎีย์นี้ดูได้ ไม่ใช่เพราะว่ามันถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ แต่คือเพื่อความสบายใจเป็นหลัก โดยวิธีที่แนะนำคือให้เลี่ยงแข่งในช่วงที่อาจป่วยเฉียบพลัน และเลือกระหว่าง หนึ่งไปก่อนเนิ่นๆเพื่อให้ร่างกายปรับตัว(หายป่วย) แล้วค่อยแข่ง หรือสองไปให้กระชั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วแข่งให้เสร็จก่อนที่ร่างกายจะเริ่มปรับตัว(เริ่มป่วย)
สุดท้ายที่พึงระวังสำหรับพื้นที่สูงๆคืออากาศที่อาจแปรปรวนอย่างรุนแรง ฝนตก ลมแรง ลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง แดดจ้า อบอ้าว หนาวสั่น ทั้งหมดนี้เป็นสภาพปกติ และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมดภายในช่วงไม่กี่นาที เพราะฉะนั้นเตรียมอุปกรณ์และเตรียมใจให้พร้อม
เป้าหมาย
course recordของรายการนี้อยู่ที่ราวๆเกือบ7ชั่วโมง คูณสองออกมาคือเวลาคาดการตามสูตรส่วนตัว ซึ่งดันไปตรงกับfinal cut off time 14ชม.พอดี สรุปง่ายๆคือเป้าหมายวิ่งให้จบกับทำเวลาเป็นอันเดียวกัน
ขอจบบันทึกยาวๆเชิงเดาๆพอรู้ไว้แค่นี้ก่อน ส่วนจะวิ่งจบหรือไม่จบ ถูกหรือผิดค่อยมาว่ากันอีกที
โฆษณา