16 ม.ค. 2021 เวลา 05:13 • ประวัติศาสตร์
“นินเทนโด (Nintendo)” บริษัทเกมผู้สร้างประวัติศาสตร์วงการเกม” ตอนที่ 2
ก้าวที่เติบโต
ตลาดใหญ่สำหรับวีดีโอเกมส์คือสหรัฐอเมริกา และฮิโรชิก็รู้ดีว่าหากอยากจะให้บริษัทเติบโต ก็จำเป็นต้องเจาะตลาดอเมริกันให้ได้
ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) ฮิโรชิได้เปิด “Nintendo of America” หรือ “NOA” และแต่งตั้งให้ลูกเขย คือ “มิโนรุ อาราคาวะ (Minoru Arakawa)” เป็นประธาน NOA
มิโนรุ อาราคาวะ (Minoru Arakawa)
นินเทนโดสาขาอเมริกานี้ได้ทำการจัดจำหน่ายเกมไปทั่วสหรัฐอเมริกา หากแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ฮิโรชิพอใจ
สิ่งที่บริษัทต้องมีคือเกมฮิต เกมที่ทำให้ทั้งประเทศยกย่องนินเทนโด
ทางด้านญี่ปุ่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของนินเทนโดก็กำลังพัฒนาเกมตู้หยอดเหรียญ โดยเกมที่ออกคือ “Radar Scope”
Radar Scope
เกมนี้คือเกมยิงยานอวกาศ และได้รับความนิยมที่ญี่ปุ่น และมีทีท่าว่าจะไปได้ดีในสหรัฐอเมริกา
มิโนรุได้รับคำสั่งซื้อก้อนใหญ่จากสหรัฐอเมริกา หากแต่กระบวนการผลิตและขนส่งนั้นก็ยาวนาน และเมื่อส่งถึงสหรัฐอเมริกา เจ้าของเกมตู้ต่างก็รู้สึกผิดหวัง
Radar Scope มีราคาแพง และเจ้าของเกมตู้ต่างก็มองว่ามันน่าเบื่อ ไม่สนุก
Radar Scope กลายเป็นสินค้าที่ขายไม่ออก โกดังของนินเทนโดในสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยเกมที่ขายไม่ออก
ถึงแม้ว่าจะล้มเหลว หากแต่มิโนรุก็ไม่ยอมแพ้ ยังมองหาช่องทางทำเงินให้บริษัท
ทางด้านญี่ปุ่น “ชิเงรุ มิยาโมโตะ (Shigeru Miyamoto)” พนักงานคนใหม่ของนินเทนโด ได้รับมอบหมายให้ปรับปรุง Radar Scope หากแต่เขาก็มองว่าทางที่ดี น่าจะมุ่งไปยังสิ่งใหม่ๆ เลยดีกว่า
ชิเงรุ มิยาโมโตะ (Shigeru Miyamoto)
ชิเงรุเกิดที่โซโนเบะ ประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ.1952 (พ.ศ.2495)
ตั้งแต่เด็ก เขาเป็นเด็กที่มีจินตนาการล้นเหลือ ชอบการผจญภัย
วันหนึ่ง ขณะออกท่องเที่ยว เขาเกิดไปพบทางเข้าถ้ำ วันต่อมา เขาจึงกลับมาอีกครั้งพร้อมตะเกียง และทำการสำรวจถ้ำ
ชิเงรุสำรวจถ้ำอย่างสนุกสนานและตื่นเต้น และเขาก็ไม่เคยลืมประสบการณ์นี้
ชิเงรุเรียนจบทางด้านออกแบบอุตสาหกรรมในปีค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) โดยทีแรก เขาตั้งใจจะเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่เปลี่ยนใจไปทำงานในอุตสาหกรรมของเล่น
พ่อของชิเงรุ ช่วยให้ชิเงรุได้สัมภาษณ์กับฮิโรชิ ผู้บริหารนินเทนโด
ในเวลานั้น ฮิโรชิอยากจะจ้างวิศวกรมากกว่าศิลปิน หากแต่ฮิโรชิก็นึกถูกชะตาชิเงรุ และบอกให้ชิเงรุกลับมาใหม่ และนำตัวอย่างงานที่เคยทำกลับมาให้ดูด้วย
ฮิโรชิรีบกลับไปเอาภาพวาดและภาพออกแบบต่างๆ ที่ตนเคยทำมาให้ฮิโรชิดูทันที ซึ่งฮิโรชิก็ชอบมาก
ชิเงรุมีมุมมองของเด็ก ซึ่งฮิโรชิคิดว่านี่คือสิ่งที่นินเทนโดต้องการ และได้จ้างฮิโรชิเป็นศิลปินของบริษัท
ชิเงรุเข้าทำงานกับนินเทนโดในปีค.ศ.1977 (พ.ศ.2520) โดยรับหน้าที่ตกแต่งตู้เกมหยอดเหรียญ
เมื่อ Radar Scope ล้มเหลว ชิเงรุก็ต้องการที่จะพัฒนาเกมใหม่ๆ เกมที่มีตัวละครใหม่ๆ มีเนื้อเรื่อง
ไอเดียของชิเงรุคือการสร้างเกมโดยอิงจากการ์ตูน “ป๊อปอาย (Popeye)” ซึ่งโด่งดังในสหรัฐอเมริกา หากแต่นินเทนโดไม่สามารถใช้ชื่อป๊อปอาย เนื่องจากไม่สามารถตกลงกับทางสหรัฐอเมริกาได้
ชิเงรุจึงออกแบบตัวละครใหม่ทั้งหมด นั่นคือเกม “Donkey Kong”
Donkey Kong
Donkey Kong เป็นเกมที่มีเนื้อเรื่อง ผู้เล่นต้องรับบท “Jumpman” ไปช่วยหญิงสาวที่ถูก Donkey Kong จับไป
Donkey Kong นั้นแตกต่างจากเกมตู้อื่นๆ มีโครงเรื่อง มีด่านต่างๆ
ชิเงรุออกแบบให้ Jumpman มีหนวดและใส่หมวกสีแดง แต่ก่อนที่เกมจะเสร็จสมบูรณ์ มิโนรุ ประธาน NOA ก็ได้เปลี่ยนชื่อ Jumpman เป็น “มาริโอ้ (Mario)”
มาริโอ้ (Mario)
สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อ ก็เนื่องจากมิโนรุจำเป็นต้องหาชื่อภาษาอังกฤษให้ตัวละคร และบังเอิญเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโกดังของนินเทนโดในซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ชื่อว่ามาริโอ้ จึงนำชื่อนี้มาตั้ง
Donkey Kong ออกวางจำหน่ายในปีค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) และประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั้งในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
NOA สามารถทำยอดขายได้เกือบสองล้านดอลลาร์ (ประมาณ 60 ล้านบาท)
ในที่สุด ฮิโรชิก็ทำได้สำเร็จ เขาสามารถเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาได้แล้ว
ด้วยความโด่งดังของ Donkey Kong ทำให้มาริโอ้ก็โด่งดังและปรากฎตัวในเกมอื่นๆ อีกมากมาย และยังกลายเป็นมาสค็อตของบริษัท
ชิเงรุได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวีดีโอเกม” และเป็น “ดีไซเนอร์เกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” และเขาได้ช่วยสร้างสรรค์เกมอีกกว่า 150 เกม
ตอนต่อไป นินเทนโดจะเป็นยังไงต่อ จะขึ้นหรือลง
ต้องรอติดตามในตอนหน้านะครับ
โฆษณา