18 ม.ค. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
รอด หรือ ร่วง? เมื่อ Vingroup วางแผนรถยนต์เวียดนาม VinFast ถึงจุดคุ้มทุนในอีก 5 ปี และลุยตลาดสหรัฐ
รถยนต์สัญชาติเวียดนามนามว่า “VinFast” จากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม “Vingroup” ได้เปิดเผยแผนการดำเนินงานที่จะทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนในการผลิตและการดำเนินธุรกิจภายใน 5 ปี โดยเป็นรายได้แบบ EBITDA (Earnings before interest tax depreciation and amortization) คือ รายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ซึ่งเป็นรายได้จากงบกระแสเงินสด นับเป็นตัวบ่งชี้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพทางธุรกิจขององค์กร
โดยในรายงานสรุปของ Vingroup Investor Day KB Vietnam Securities กล่าวว่า VinFast มีแผนจะคุ้มทุน EBITDA ภายใน 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และการลดต้นทุนการผลิต
ในปี 2020 VinFast ได้จำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดทุกรุ่น 29,485 คันรวม แบ่งเป็นรถยนต์รุ่น Fadil จำนวน 18,016 คัน รุ่น Lux A2.0 จำนวน 6,013 และรุ่น Lux SA2.0 จำนวน 5,456 คัน
รถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ขายอยู่ในปัจจุบันของ VinFast
VinFast มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันเบนซิน 2 รุ่น และรถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่นในปี 2565 และเริ่มให้บริการรถโดยสารไฟฟ้า VinBus ตั้งแต่ปีนี้ ด้วยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะทำให้ VinFast ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ 30% ในเวียดนาม ส่วนในตลาดต่างประเทศ VinFast จะทำตลาดเฉพาะรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า 2 ใน 3 รุ่น คาดว่าจะเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาในต้นปี 2565 นอกจากนี้บริษัทยังกล่าวว่า จะลงทุนในเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ แบตเตอรี่ และระบบชาร์จ เทคโนโลยีการควบคุมด้วยเสียง และเครื่องมือ เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อประสบการณ์ส่วนบุคคลสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
ก่อนหน้านี้ในการประชุมประจำปี 2020 นาย Pham Nhat Vuong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Vingroup ยังกล่าวว่า ในอนาคต VinFast และ Vinsmart ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติเวียดนามจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตเพื่อส่งออก เจาะจงไปที่ตลาดในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จุดสำคัญคือ ถ้าผลผลิตในสหรัฐอเมริกาบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการแล้ว Vingroup จะนำไปขยายต่อในตลาดอื่นๆ
Pham Nhat Vuong ประธานคณะกรรมการบริหารของ Vingroup
นอกเหนือจากนี้รายงานในแผนคาดการณ์การลงทุนยังกล่าวถึงการวางแนวของ Vingroup กับ One Mount Group (OMG) ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2563 ด้วยงบจดทะเบียนลงทุน 3,000 พันล้านดอง หรือราว 3.9 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการวางแนวทางเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามจากผลิตภัณฑ์หลัก 3 ประเภท ได้แก่ Vin ID, VinShop และ One Housing
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vin ID มีเป้าหมายที่จะเป็นแอปพลิเคชันผู้ช่วยส่วนตัวที่ผสานรวมฟังก์ชันมากมาย เช่น การชำระเงิน การจัดการที่อยู่อาศัย และการจ่ายชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
VinShop เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการร้านขายของชำในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดซื้อ จัดส่ง การจัดการร้าน ชำระเงิน ไปจนถึงการสนับสนุนทางการเงินซัพพลายเออร์ที่มีความสามารถในการเป็นช่องทางการจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการ
ส่วน One Housing เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบสนองความต้องการในการซื้อขาย เช่าซื้อ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ Vingroup กล่าวว่า รายได้ของ OMG ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินจากพันธมิตรที่จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของ OMG คือ Techcombank หนึ่งในธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของเวียดนาม โดยถูกจัดเป็นธนาคารอันดับ 1 ในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อบ้าน ธุรกิจการบัตรเครดิตและเดบิต รวมถึงธุรกิจนายหน้าขายประกัน โดยปัจจุบันมีลูกค้าทั้งหมด 5 ล้านราย และมีสาขาจำนวน 315 แห่ง
อาณาจักร Vingroup และบริษัทในเครือบางส่วน
โลกธุรกิจในความเป็นจริงไม่ง่ายเหมือนการตั้งวิสัยทัศน์
จากแผนดังกล่าวของ Vingroup จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ภายใน 5 ปีนั้น นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับค่ายรถยนต์ของเวียดนามในการก้าวขึ้นมาในตลาดระดับสากล เพื่อแข่งขันกับรถยนต์ค่ายใหญ่ๆ จากทั้งญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐ หรือแม้กระทั้งจากประเทศจีน ที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีระดับสูง ความเชื่อมันของผู้บริโภค เครดิตความน่าเชื่อถือของลูกค้าต่อตัวบริษัท การบริการหลังการขายและอะไหล่ ศูนย์บริการ รวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเครื่องยนต์กลไลซึ่งเป็นสิ่งที่ Vinfast ไม่มี
โรงงาน VinFast ที่เมืองไฮฟอง
เนื่องจาก Vinfast ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการประกอบรถยนต์ขึ้นมาสักหนึ่งคันจากการใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีรถยนต์ค่ายนั้น ค่ายนี้มาประกอบเป็นรถยนต์ของตัวเอง นับเป็นจุดเสียเปรียบและเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงจนถีบราคารถยนต์เวียดนามที่พึ่งจะเกิดใหม่ได้ไม่นานให้มีราคาที่แพงกว่ารถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ด้วยความที่ไม่ได้มีพื้นฐานความถนัดในอุตสาหกรรมยานยนต์เท่าไรนัก VinFast เลือกที่จะไม่ทำทุกอย่างเอง แต่เป็นการพาร์ทเนอร์กับยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ระดับโลก 20-30 ราย ทั้ง BMW, Opel, Magna Steyr รวมถึงทาง Robert Bosch
อย่างรถยนต์รุ่นแรกคือ Fadil ที่มีรูปทรงคล้ายกับรุ่น KARL ROCKS ของ Opel ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1.4 ลิตร ใช้เกียร์ CVT รวมถึงวางตัวเองเป็น Crossover SUV ตามสมัยนิยม มีราคานั้นเริ่มต้นที่ 450 ล้านด่อง หรือราว 600,000 บาท
ส่วนรุ่น Lux A 2.0 และรุ่น Lux SA 2.0 ที่เป็นรถยนต์ตัวแพงของ VinFast ก็มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2 ล้านบาท (รุ่น Lux A) และ 2.64 ล้านบาท (รุ่น Lux SA) ใกล้เคียงกับรถยนต์ค่ายหรูอย่าง Mercedes Benz GLA ที่ราคาเริ่มต้น 1.99 ล้านบาท และ Lexus IS ที่ราคาเริ่มต้น 2.6 ล้านบาทเช่นกัน
เปรียบเทียบราคารถยนต์เริ่มต้นรุ่นต่างของ VInFast และค่ายอื่นๆ
ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ทั้ง Vingroup และรัฐบาลเวียดนามยอมกลืนเลือดแบกภาวะขาดทุนมากถึง 40% ต่อคัน รวมทั้งให้สิทธิทางภาษีต่างๆ เพื่อให้คนเวียดนามชายตามามองรถยนต์ของตัวเอง แทนรถยนต์ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศมากที่สุด
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าว่า VinFast เตรียมใจไว้แล้วว่าในช่วง 5 ปีแรกบริษัทจะต้องขาดทุนอย่างยับเยินถึง 18 ล้านล้านด่อง หรือกว่า 23,000 ล้านบาทต่อปี รวม 5 ปี จะขาดทุนราว 115,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการขาดทุนที่มหาศาล โดยในทางธุรกิจแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพลิกกลับมาคุ้มทุนได้ภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างที่วางแผนเอาไว้
1
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ปัจจัยแรกคือ ยอดขายของ VinFast ในประเทศเวียดนาม แม้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตในอัตราที่ไม่สูง โดยเฉลี่ยต่อเดือนแล้วมีรถยนต์ของค่ายนี้ในทุกๆ รุ่นสามารถขายได้เพียงหลักร้อยคันบ้าง พันคัน ต่อให้รวมทั้งปี 2563 ขายไปแล้ว 29,000 กว่าคันสำหรับทุกรุ่นก็จริง แต่เป้าหมายจริงๆ ที่ตั้งเอาไว้คือในช่วงปีแรกที่ต้องการยอดขายต่อปีที่ 2.5 แสนคัน นับว่าเป็นยอดขายสุทธิที่น้อยกว่าที่คาดเคลื่อนไปมากจากเป้าหมาย และหากภายในปี 2025 จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 5 แสนคันต่อปี ก็ยังไม่อาจคาดเดาอนาคตของ VinFast ได้ว่าจะขายได้ถึงเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งยอดขายที่เกิดขึ้นนี้ก็มาจากแคมเปญการให้ส่วนลดสูงถึง 600 ล้านด่อง หรือราว 78,000 หมื่นบาทต่อคัน ที่รัฐบาลและบริษัทใช้เงินอุดหนุนแล้วก็ตาม
ปัจจัยต่อมาคือ รายได้ของชาวเวียดนามส่วนใหญ่ที่ยังคงมีรายได้ต่อเดือนไม่สูงมากนักที่จะสามารถเข้าถึงการมีรถยนต์ส่วนตัว แม้ว่าชาวเวียดนามกำลังมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของเศรษฐกิจในช่วงเวลาหลายปีมานี้ก็ตาม แต่รายได้เฉลี่ยของมนุษย์ออฟฟิศเวียดนามที่ทำงานมา 2 ปี ขึ้นไปทั้งในเมืองใหญ่อย่างฮานอยและโฮจิมินห์ ก็มีเงินเดือนราว 9,000 -12,000 บาท ส่วนตำแหน่งงานที่มีรายได้เริ่มสูงอย่างเภสัชกร หรือวิศวกร ก็มีเงินเดือนราว 15,000 บาทเท่านั้น
หากคำนวนโดยใช้วิธีการนำอัตราการขึ้นเงินเดือนที่ปกติของบริษัททั่วไปที่มักขึ้นเงินเดือนให้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเป็นปกติก็อยู่ที่ราว +-5% ต่อปี ดังนั้นต่อให้ 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจเวียดนามจะโตมากมายขนาดไหน ก็ขึ้นเงินเดือนรวมๆ แล้ว 2,500 – 3,000 บาท ดังนั้นจึงสามารถมองได้หลายมุมว่า รายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือนทั่วไปจะสามารถซื้อรถยนต์ขับไหวมากน้อยขนาดไหน จากฐานเงินเดือนประมาณนี้ สุดท้ายก็ไม่วายที่ต้องหันไปหารถจักรยานยนต์ที่เป็นดังอวัยวะของร่างกายของชาวเวียดนามเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี
การจราจรติดขัดและแสนวุ่นวายในเวียดนาม ที่มีสัดส่วนของจำนวนรถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก
อีกหนึ่งปัจจัยคือ คุณภาพของรถยนต์ การบริการหลังการขาย รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันเพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์อื่นๆ หากต้องลงเล่นในสนามจริงระดับสากล ซึ่งประเด็นนี้ต้องเข้าใจว่า VinFast มีการแบ่งรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในการเข้าไปทำตลาดในแต่ละกลุ่มอย่างที่ระบุจากรายงานทิศทางของบริษัทที่กล่าวไปจากข้างต้นบทความ โดยรถยนต์รุ่นที่ตั้งเป้าเน้นตลาดในเวียดนามอย่างเดียวคือ Fadil ที่พยายามเป็นรถรุ่นที่ให้คนเวียดนามเข้าถึงมากที่สุด เพราะมีราคาต่ำกว่าล้านเพียงรุ่นเดียว ก็อาจจะพอมีหวังอยู่บ้างที่จะขายได้ เหมือนที่มาเลเซียขายรถยนต์ยี่ห้อ Proton ซึ่งเป็นอดีตรถยนต์แห่งชาติมาเลเซียที่แม้ในเวลานี้ไปไม่รอดจนต้องขายให้กลุ่มทุนจีนไปแล้ว
1
แต่ในช่วงที่ยังไปได้อยู่นั้น ราคาขายในประเทศถูกกว่ารถยนต์จากค่ายต่างชาติ เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีกีดกันรถยนต์จากค่ายต่างชาติให้มีราคาสูงกว่ามาก ในวงเล็บที่ว่าคนมาเลเซียมีรายได้สูงต่อเดือนสูงกว่าคนเวียดนาม 7 เท่า
ซึ่งการแบกรับการขาดทุน และได้รับการ Subsidize จากรัฐบาลมาเป็นเวลานาน สุดท้ายรถยนต์ยี่ห้อ Proton ก็ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับค่ายรถยนต์อื่นๆ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี 100% ได้ โดยเฉพาะรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น
แต่รุ่นอื่นๆ ของ VinFast ยังคงไกลเกินกว่าเอื้อมที่คนเวียดนามส่วนใหญ่จะซื้อไหว
ส่วนรถยนต์รุ่นที่จะไปลุยตลาดโลก รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า ที่เวียดนามฝันว่าอยากจะไปบุกตลาดสหรัฐ ก็ต้องเจอกับทั้งเจ้าถิ่นที่แข็งแกร่งอย่าง Tesla และ GM อีก รวมทั้ง BMW และ Mercedes Benz จากค่ายยุโรปที่ก็จ้องจะเข้าไปลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาเหมือนกัน นี่ยังไม่เจอรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน และญี่ปุ่น ที่ก็ต่างพร้อมใจกระโดดมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดบนโลกใบนี้
ดังนั้น VinFast ที่เวลานี้พึ่งจะตั้งไข่ เดินเตาะแตะยังไม่ได้ แข้งขายังไม่มั่นคง การรุกตลาดโลกเร็วไปไม่ใช่เรื่องได้เปรียบสักเท่าไหร่ เพราะโอกาสเจ็บหนักมีสูงกว่าสำเร็จ เนื่องจากตัวเองไม่ได้มีเทคโนโลยีที่เป็น “ออริจินัล” เลยสักอย่าง
โรงงาน VinFast ที่เมืองไฮฟอง
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแผนการล่วงหน้าในอีก 5 ปีที่ Vingroup ตั้งเป้าเอาไว้ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจในการมองไปข้างหน้าแบบนักธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงจะไปได้ถึงหรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่สามารถตอบไม่ได้ แต่หากมองจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วล่ะก็ มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่เรื่องท้าทาย แต่มันคือการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่จะไปได้ไปต่อ หรือพ่ายแพ้จนไม่ต้องล้มหายตายจากไปเหมือนรถยนต์ค่ายต่างๆ ที่ผ่านมา
เพราะต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันและอนาคตไม่ใช่ “เสือนอนกิน” อีกต่อ เพราะผู้เล่นแต่ละรายต่างฟาดฟันกันเพื่อแย่งพื้นที่ของถ้ำ ดังนั้นอีก 5 ปี เราอาจต้องมาดูกันว่า VinFast ในตอนนั้นจะอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกใบนี้
โฆษณา