21 ม.ค. 2021 เวลา 15:20 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอย “เวเนซุเอลา” จาก มั่งคั่ง สู่ แร้นแค้น ที่ไม่มีทางจบสิ้น
ในวันที่เงินไร้คุณค่าไม่ต่างจากเศษกระดาษ นั่นหมายความว่าเสถียรภาพของประเทศได้จบสิ้นลงแล้ว เรื่องราวของประเทศเวเนซุเอลา ดินแดนที่เคยร่ำรวย มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา เต็มไปด้วยแร่ธาตุมีค่า และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่มาวันนี้กลายเป็นประเทศที่ใครต่อใครอยากหนีออกจากเมือง เกิดการอพยพของคลื่นมหาชนนับล้าน หนีตายเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จากความล่มสลายของเศรษฐกิจ และสังคม ธนบัตรสกุลเงิน “โบลิวาร์เวเนซุเอลา” สกุลเงินหลักของประเทศเวเนซุเอลา ถูกโปรยเกลื่อนถนนอย่างไร้คุณค่าไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษธรรมดาที่ไร้คนแยแส ประกอบกับวิกฤตการณ์ต่างๆ อันแสนเลวร้ายที่เกิดขึ้น กลายเป็นประเทศที่สุดแสนจะแร้นแค้น ไร้อาหาร ไร้ไฟฟ้า ไร้น้ำประปา ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองอยู่ในขณะนี้
“เวเนซุเอลา” ในวันนี้ใกล้ถึงคราวล่มสลายแล้วหรือไม่ และสิ่งที่หลายคนกังวลก็คงหนีไม่พ้นว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้หรือเปล่า ในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าให้อ่านอย่างเข้าใจง่ายๆ ตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤตการณ์นี้จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน
จาก “มั่งคั่ง” สู่ “ล่มสลาย”
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี ค.ศ. 1900 เวเนซุเอลา ประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในอดีตเวเนซุเอลาคือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยรายได้ 95% มาจากการส่งออกน้ำมันที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับประเทศนี้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเวเนซุเอลามีปริมาณสำรองแหล่งน้ำมันดิบที่สามารถขุดเจาะได้ในประเทศ สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ไปอีกนับร้อยปี
ในปี 1976 เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมน้ำมันในเวเนซุเอลา อดีตประธานาธิบดี “คาร์ลอส เปเรส” ออกนโยบายยึดธุรกิจพลังงานของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาลทั้งหมด และมีการตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า “Petroleos de Venezuela S.A.” เพื่อควบคุมกิจการพลังงานในประเทศทั้งหมด
อดีตประธานาธิบดี คาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ ผู้ครองอำนาจ 2 สมัย ช่วงปี พ.ศ. 2517-2522 และ พ.ศ. 2532-2536
หลายคนคงคิดว่า ในรัฐบาลยึดกิจการเอกชนมาบริหารจัดการเองก็น่าจะดีสิ เงินทองก็ไม่รั่วไหลไปอยู่ในมือของเอกชน รัฐสามารถมีรายได้จากการขายน้ำมันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประเทศก็มีเงินมากขึ้น ร่ำรวยขึ้นสิ เชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องคิดแบบนี้
1
แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะหากเข้าใจคำว่าของรัฐของหลวง ทำอะไรแบบราชการทำ ก็จะเข้าใจภาพที่เกิดขึ้นแบบไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ
แน่นอนว่าอานิสงส์จากรายได้ของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ยังคงส่งรายได้ให้กับเวเนซุเอลาอย่างมหาศาล รัฐบาลก็คงคิดว่า เงินจากการขายน้ำมันมันคงไหลเข้าคลังอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว จะเจียดเงินเล็กๆ น้อยๆ ไปใช้ในโครงการประชานิยมบ้างก็คงจะไม่เป็นอะไรหรอกกระมัง
“Petroleos de Venezuela S.A.” อดีตบริษัทพลังงานเอกชนที่ถูกรัฐบาลเวเนซุเอลายึด
ดังนั้นรัฐบาลเวเนซุเอลาในยุคนั้นจึงออกนโยบายการแจกเงินประชาชนกันเป็นว่าเล่น ทั้งๆ ที่ประเทศไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติใดๆ ที่ต้องโปรยเงินฟรีๆ ให้ประชาชน เงินที่หาเข้าประเทศมาได้แทนที่จะถูกนำไปพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างหรือปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ พัฒนาด้านการศึกษา การแพทย์ หรือใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ แต่กลับถูกมาผลาญใช้กับนโยบายประชานิยมอย่างไม่มีลิมิตแบบนี้ และนักการเมืองในยุคหลังนายคาร์ลอส ต่างก็ชูนโยบายลด แลก แจก แถม หาเสียงกับประชาชน หวังจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งและเข้าไปเป็นรัฐบาลเพื่อช้เงินหลวงปรนเปรอตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งทำให้ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมอย่างช้าๆ เรื่อยๆ มาอย่างยาวนานตลอด 24 ปี
2
ปี 1999 “ฮูโก้ ชาเวซ” ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จากนโยบายประชานิยมสารพัดนับพันโครงการที่สัญญาว่าจะมอบให้กับชาวเวเนซูเอล่า ที่เป็นเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ แต่นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำ ถึงการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล เช่น
1
อดีตประธานาธิบดี ฮูโก้ ชาเวซ ดำรงตำแหน่ง 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 – 5 มีนาคม พ.ศ. 2556
โครงการสร้างบ้านราคาถูก ซึ่งเป็นการขายบ้านราคาต่ำกว่าท้องตลาด และโครงการร้านค้าของรัฐที่ขายสินค้าราคาถูกกว่าราคาทุน
ให้ประชาชนหยุดทำการเกษตรและหันมาซื้ออาหารโดยการนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
1
สั่งตรึงราคาสินค้าให้มีราคาถูก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ของถูกตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าขาดทุน เมื่อร้านค้าของรัฐบาลขายตัดราคา ธุรกิจห้างร้านของเอกชนก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการไป หรือรัฐบาลเข้าไปควบคุมและผลิตสินค้าออกมาขายเอง
แทรกแซงการทำงานของธนาคารกลาง โดยกำหนดค่าเงินต่างประเทศเอง กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเอง ทำให้กลไลตลาดถูกบิดเบือนไม่สะท้อนตามความเป็นจริง แถมยังเกิดการขาดแคลนของสกุลเงินต่างประเทศ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง จนส่งผลกระทบให้ระบบการเงินพังทลายลงอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
อัดงบประมาณมหาศาลเพื่ออุดหนุนราคาพลังงานให้ถูกยิ่งกว่าราคาของขนมหวาน ว่ากันว่าในยุคของชาเวซ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกแพงสุดเพียงแค่ 5 บาทต่อลิตรเท่านั้น ประชาชนใช้น้ำมันทิ้งขว้างผลาญพลังงานอย่างเมามัน เพราะต่อให้ใช้พลังงานมากเท่าใด ก็ไม่ต่างอะไรเหมือนกับใช้ฟรี
1
ยังไม่รวมถึงนโยบายแจกเงินแล้วแจกเงินอีก และการทุจริตคอรัปชันอย่างมโหฬาร แต่ถึงกระนั้นประชาชนชาวเวเนซูเอล่าก็หาใช่จะสนใจชะตากรรมของประเทศไม่ เพราะทุกคนต่างหลงมัวเมาอยู่กับชีวิตแสนสุขสบายจากนโยบายประชานิยม โดยไม่มีใครสนใจว่ามันกำลังบ่อนทำลายประเทศอย่างรุนแรง
2
เวเนซุเอลา ติดอันดับคอรัปชั่นสูงที่สุดของโลก จากดัชนีความโปร่งต่อการทุจริต (CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX)
ใช้เงินเป็นม่าน ปิดบังทุกประสาทสัมผัสของประชาชน
4
เพื่อเป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนให้สนิท ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่สื่อมวลชน พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งระบบตุลาการ ต่างถูกอุดปากเงียบโดยเงินและอิทธิพลของชาเวซ ในตอนนั้นเวเนซุเอลาไม่ต่างอะไรกับการเดินเข้าสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และยังประกาศกร้าวตัดขาดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา คู่ค้ารายสำคัญเก่าแก่ตั้งแต่สมัยยุคสงครามโลก และหันไปซบอกจีนกับรัสเซียแทน
5
ยิ่งนานวันเข้าผลจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในยุคเก่าๆ หลายชุด ที่ก่อร่วมกันผลาญเงินประเทศมานับ 20 กว่าปี ก็เริ่มส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพของเวเนซูเอลา กิจการน้ำมันของรัฐบาลประสบภาวะขาดทุน จากการบริหารแบบราชการ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ และไร้ประสิทธิภาพ เพราะในองค์กรมีแต่ลูกท่านหลานเธอ เส้นสายจากคนในรัฐบาล และข้าราชการระดับสูง ที่เข้าไปนั่งกินเงินเดือนแพงๆ ไปวันๆ
1
สุดท้าย “Petroleos de Venezuela S.A.” ก็เจ๊งยับ ขาดทุนบานเบอะ เวเนซุเอลาต้องบากหน้าขอกู้เงินจากจีนและรัสเซีย เพื่อมาชดเชยส่วนที่ขาดทุนไป ชาเวสเริ่มเห็นแล้วว่า ปัญหาที่รัฐบาลของตัวเองและรัฐบาลในยุคก่อนก็เอาไว้เริ่มแผลงฤทธิ์แล้ว แต่แทนที่จะยกเลิกนโยบายบางตัวที่เป็นปัญหา ก็กลับไม่ยอมเลิกและยังดันทุรังทำต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าล้มเลิกไปแล้วจะทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่เสพติดประชานิยมงอมแงม ส่งผลกระทบต่อคะแนนความนิยม และอาจทำให้เขาหลุดจากอำนาจได้ในที่สุด
กระทั่งในปี 2013 “ฮูโก้ ชาเวซ” ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง สิ้นสุดยุคของขวัญใจชาวรากหญ้า แต่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา
ในปี 2013 “นิโคลัส มาดูโร” เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เพื่อสืบทอดอำนาจต่อจากชาเวซ การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนายมาดูโรนั้นถือว่าขึ้นมาในจังหวะที่เวเนซุเอลากำลังดำดิ่งสู่ยุคมืด จำได้ไหมว่าในช่วงต้นผู้เขียนบอกว่า เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาผูกความเป็นความตายของประเทศเอาไว้กับราคาน้ำมัน แน่นอนว่าของทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน มีขึ้นก็ต้องมีลง เพราะในปี 2014 ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้จากการขายน้ำมันของเวเนซุเอลาก็ลดลงตามไปด้วย เมื่อรายได้ของรัฐลดลงประกอบกับการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพในกิจการน้ำมันของรัฐ ก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ ลองคิดดูว่าประเทศที่ผูกติดเศรษฐกิจไว้กับการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว 100% ไม่มีรายได้จากทางอื่นที่มาคอยเป็นตัวเฉลี่ยให้มีรายได้เข้าสู่ท้องพระคลัง มันจะเกิดอะไรขึ้น?
1
นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ในปี 2015 พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999 แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้นายมาดูโรยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป อย่างที่บอกแม้แต่ศาลเองก็ถูกอำนาจเงินซื้อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองนี้ ส่งผลทำให้เกิดการประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีฝ่ายค้านเป็นผู้หนุนหลัง เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของนายมาดูโร เหตุการณ์ประท้วงบานปลายรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ทำให้มาดูโร่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมทั้งกล่าวหาว่าสหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฝ่ายค้าน สนับสนุนให้โค่นล้มเขาลงจากอำนาจ
การชุนนุมประท้วงต่อต้าน นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กลางกรุงการากัส
ความเลวร้ายยังคงไม่จบสิ้นเมื่อราคาน้ำมันจมดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงเหลือเพียงแค่ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพียงเท่านั้น จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีราคาสูงถึงนับร้อยดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อผลจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลทำให้เงินในคลังแทบจะไม่มีเหลือถึงขั้นติดลบ สถานการณ์ภายในประเทศเวเนซุเอลาก็เข้าสู่ภาวะวิกฤตขั้นเลวร้ายที่สุด หน่วยงานรัฐต่างๆ แทบไม่มีเงินงบประมาณจะมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงาน เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะงักงัน ภาคการผลิตต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ก็ไม่มีเงินงบประมาณมาจ่ายค่าแรงให้กับคนงาน แม้ว่ารายได้ของรัฐลดลง แต่นโยบายประชานิยมต่างๆ ยังคงต้องใช้เงินต่อไปไม่ได้ลดลงตามไปด้วย โครงการต่างๆ นับพันโครงการยังคงบีบคอเขย่าขอเงินรัฐบาล ทำให้นายมาดูโรตัดสินใจพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างมหาศาล เพราะรัฐบาลมีการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเอาไว้หมดแล้ว
1
การที่ยิ่งพิมพ์เงินถมเข้าสู่ระบบมากเท่าไหร่ ค่าเงินโบลิวาร์ก็ยิ่งตกต่ำลงเท่านั้น เพราะเงินก็คือกระดาษ ถ้าเงินไม่มีการซื้อขายในตลาดเงิน ไม่มีทองคำมาค้ำประกันค่าเงิน เงินก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษไร้ค่า
1
ในบางช่วงของปี 2016 อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาเคยพุ่งสูงถึง 20,000% (ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในอัตรา 1-3% เท่านั้น) จนสุดท้ายเงินโบลิวาร์ ก็ไม่มีค่ามากพอที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอย และถูกนำมาโปรยเกลื่อนถนนอย่างที่ปรากฏเป็นภาพบนโลกออนไลน์ที่เราเห็นนั่นเอง
ค่าเงินโบลิวาร์เวเนซุเอลา ไร้ค่าจนถูกโปรยกลางถนน หรือทำเป็นต้นไม้ยังไม่มีใครอยากได้
ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาพุ่งสูงถึง 300,000% และหากวิกฤตการณ์เลวร้ายนี้ยังคงไม่สามารถยุติลงได้ เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอาจพุ่งไปถึง 1,000,000%!
ผลจากการล้มสลายทางเศรษฐกิจทำให้มีการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบที่มีมูลค่าสูงเป็นแสนเท่าจากค่าเงินในปัจจุบัน แต่มันก็ไม่ช่วยอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะคงไม่มีใครที่อยากจะแบกเงินเป็นกระสอบเพื่อไปซื้อข้าวของเครื่องใช้เพียงแค่ไม่กี่ชิ้น ในตอนนี้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว คนรวยจำนวน 3% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้นที่อยู่ได้อย่างสุขสบาย ซึ่งคนรวยเหล่านี้ไม่มีใครใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกต่อไป ส่วนใหญ่จะถือเงินสกุลหลักเช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น
ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หยุดชะงักเพราะไม่มีเงินงบประมาณ เกิดปัญหาน้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ มีการปล้นสะดม เกิดจลาจลมากมาย โรงพยาบาลไร้ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรค มีเด็กทารก คนป่วย คนแก่ เสียชีวิตในโรงพยาบาลโดยที่ไม่รับการรักษาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่นายมาดูโรก็หาแยแสต่อวิกฤตในครั้งนี้ไม่ ยังคงไม่ยอมลงจากอำนาจ พร้อมกับไม่หยุดกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาและพรรคฝ่ายค้านคือต้นเหตุของวิกฤตการณ์ทั้งหมด
1
แม้แต่ระบบน้ำประปาก็ล้มเหลว ประชาชนในกรุงการากัสต้องกรอกน้ำจากท่อระบายน้ำเพื่อใช้
ทุกวันนี้ผู้คนกว่า 4 ล้านคน จากทั้งหมด 32 ล้านคนในเวเนซุเอลา ต่างต้องทิ้งบ้านและเดินเท้าเดินอพยพข้ามประเทศ เพื่อไปตายเอาดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นการอพยพของผู้คนที่ใหญ่ที่สุดและมากที่สุดในซีกโลกตะวันตก และไม่มีทีท่าว่า วิกฤตนี้จะสิ้นสุดลงได้ในเร็ววัน
เพราะในตอนนี้เวเนซุเอลา ก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ล่มสลายไปแล้ว รัฐบาลของตัวเองก็ไร้ศักยภาพในการดูแลชีวิตประชาชน และทำเพียงแค่รักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ให้อยู่ในตำแหน่งบนซากของความรุ่งเรืองและความแร้นแค้นทุกข์ยากของประชาชนเพียงเท่านั้น
ชาวเวเนซุเอลานับล้านคนยอมทิ้งประเทศบ้านเกิดแสนบอบช้ำไว้ข้างหลัง แล้วเดินเท้าอพยพข้ามชายแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเอาตัวรอดจากความแร้นแค้น
แล้วประเทศไทยจะเป็นแบบเวเนซุเอลาหรือไม่?
ในมุมมองส่วนตัวที่ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะโลกสวย แต่หากมองจากระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ถือว่ามีความแข็งแกร่งพอสมควร เงินทุนสำรองของไทย ถือว่ามีมากที่สุดติดอันดับหัวแถวของโลก และประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่ได้พึงพาสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
1
อีกทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชนของไทยค่อนข้างเข้มแข็งในการเดินหน้านำพาประเทศให้ก้าวต่อไป ภาคประชาชนเรามีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในขณะที่ภาคเอกชนไทยทั้งระดับ SMEs ไปจนถึงขนาดใหญ่ ยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และก้าวไปสู่การลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเรามีการถ่วงดุลอำนาจอยู่หลายขา ฉะนั้นเรื่องราวเลวร้ายแบบเวเนซุเอลา อาจเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย
ความหิวโหยทำให้ชาวเวเนซุเอลาต้องกินอาหารจากเศษขยะ
แต่ถ้าหากเรายังคงคิดที่จะหวังว่า การที่รัฐบาลจะหาข้าวให้เรากินอย่างเดียว ไม่ออกไปปลูกข้าว ปลูกผัก จับปลาเอง เมื่อนั้นแหละหายนะจะเกิดขึ้น ประชาชนก็คือหนึ่งในกลไก​สำคัญในการพาตัวเองและประเทศชาติเดินไปข้างหน้า ฉะนั้นอย่าหลงไหลมัวเมากับสิ่งที่รัฐบาลหรือใครก็ตามที่จะมาแจกนั่นแจกนี่ สัญญาจะให้นั่นให้นี่ เพราะการติดสบายไม่ช่วยเหลือตัวเอง แบมือขอเงินอย่างเดียวแบบนี้แหละ คือสิ่งเลวร้ายที่สุด ที่ทำให้เกิดความล่มสลาย
โฆษณา