13 ก.พ. 2021 เวลา 23:09 • ท่องเที่ยว
🥢🧧สุดสัปดาห์พาเที่ยว 🧧🥢
"เยาวราช ถิ่นเก่า เราไม่ลืม"
จะลืมได้อย่างไร ถิ่นที่รากแก้วยึดโยง
ชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมากับอาม่าอากง ในชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่แห่งนี้
ผืนแผ่นดินไทยให้โอกาสแก่ชาวจีนที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมา ให้ที่อยู่อาศัย ให้ที่ทำมาค้าขาย
ที่สำคัญคือให้การศึกษาที่เปิดกว้าง และเท่าเทียมกัน
กลับไปเยือนถิ่นเก่าเยาวราชกันค่ะ
ภาพจาก http://www.eakpawintravel.com/archives/1753
ถนนเยาวราช
โฉมหน้าใหม่ๆของชุมชนจีนกรุงเทพ
ถนนเยาวราชเป็นหนึ่งในถนนที่สร้างขึ้นตามโครงการตัดถนน 18 สาย เพื่อส่งเสริมการค้าขายในอำเภอสำเพ็ง ตามที่กระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2435 ในบริเวณที่แต่เดิมเป็นชุมชนแออัดของชาวจีน เป็นพื้นที่ด้านหลัง ระหว่างถนนเจริญกรุง และถนนสำเพ็ง
ถนนเยาวราชมีความยาวเพียง 1,532 เมตร กว้าง 20 เมตร แต่ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี
รัชกาลที่ 5 ท่านทรงมีพระราชดำริให้หลีกเลี่ยงบ้านเรือนของราษฎร แนวถนนจึงคดโค้งไปมา
ตัดถนนเสร็จให้ปลูกตึกแถวสมัยใหม่สองข้างทางให้เช่าทำการค้าขาย เกิดเป็นย่านการค้าใหม่ที่เสริมความรุ่งเรืองของอำเภอสำเพ็ง
ด้านซ้ายคือ มณฑปวัดไตรมิตร ด้านขวาคือซุ้มเฉลิมพระเกียรติhttp://www.chinatownyaowarach.com/articles/42005029/วงเวียนโอเดียน_ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ_ย่านเยาวราช.html
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ที่อยู่ใกล้กับวัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมคือวงเวียนโอเดียน มีน้ำพุสวยงาม ตั้งอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ “โอเดียน”
ตรงข้ามวงเวียนโอเดียนจะเห็นมณฑปสีทองของวัดไตรมิตรวิทยารามสูงเด่นเป็นสง่า
ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำที่งดงามยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน
"พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"
ในวโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมกับวัดไตรมิตรวิทยาราม ได้จัดให้มีโครงการ "จัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร(หลวงพ่อทองคำ) วัดไตรมิตรวิทยาราม”
ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ มองจากวัดไตรมิตร
ชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช "ความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำ" จัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อ
1. เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี
2. กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 - 2394)
3. เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ.2394 - 2500)
4. ตำนานชีวิต
5. พระบารมีปกเกล้า
6. เยาวราชวันนี้
 
พี่เขียนได้ไปกราบหลวงพ่อทองคำ และเข้าชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชนี้ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลกินเจปี 2555
1
ช่วงนี้เป็นช่วงตรุษจีน จึงได้เอามาให้ชมกันค่ะ
รูปปั้น แสดงชีวิตคนจีนในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช by เขียนตามใจ
เหมือนได้เดินย้อนเวลากลับไปชมภาพชีวิตในอดีต เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาในเมืองไทย
หาบขายขนมจุ๋ยก้วย ในกระทะทองเหลือง ใส่กระทงใบไม้แห้ง
จัดแสดง หน้าร้านของพ่อค้าชาวจีน บนถนนเยาวราช
บรรพบุรุษ ของพี่เขียนก็มาจากเมืองจีนค่ะ
อาม่าเดินทางมาจากเมืองจีน อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่ส่งให้ลูกๆทั้ง 8 คน ได้เรียนจนจบการศึกษาตามความสามารถ มีอาชีพการงานที่เลี้ยงครอบครัวได้ทุกคน มีหลานยายหลานย่า รวม 15 คน
ตุ๊กตาหุ่นแสดงถึงชีวิตของคนจีนเยาวราชในสมัยก่อน ภาพบนเป็นงานแต่งงานที่หรูหราบนตึกที่ต้องขึ้นลิฟต์แบบลูกกรงเหล็กขึ้นไปชั้นบนสุด
อาม่าต้องเป็นหญิงเหล็ก และแกร่งแน่ๆ
ท่านเดินทางจากเมืองจีนมากับเรือสำเภาตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี ฉันไม่รู้หรอกว่าทำไมอาม่าถึงต้องจากพ่อแม่เดินทางมาเพียงลำพัง มาอยู่ที่บ้านญาติๆที่ปากน้ำโพ
เด็กอายุเท่านี้ที่ทำอย่างนี้ได้ จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งเพียงไร? เมื่อมาอยู่บ้านคนอื่นต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่กับเขาได้ เรียกว่าต้องใช้ทั้งมนุษยสัมพันธ์ และความสามารถเฉพาะตัวรอบด้านเลยล่ะค่ะ
เมื่ออาม่าแต่งงานกับอากง แล้วจึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพ
ตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ไม่เคยเห็นอาม่าอยู่ว่างๆเลย มือของท่านจะต้องหยิบจับ ทำอะไรอยู่ตลอดเวลา เข้าครัว หั่นผัก สับหมู ทำพะโล้ มาที่บ้านอาม่าเมื่อไร จะมีอาหารกินตลอด
เมื่อถึงเทศกาลต่างๆเช่นตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ อาม่าก็จะมีอาหารเซ่นไหว้เจ้าเพียบพร้อม ทั้งกระดาษเงินกระดาษทองก็ต้องมาช่วยกันนั่งพับ
กระดาษเงินกระดาษทอง ไหว้เจ้า by เขียนตามใจ
บ้านอาม่าอยู่ที่สามแยก บนถนนไมตรีจิต เป็นถนนซอยเล็กๆที่เชื่อมระหว่าง ถนนจากวงเวียน 22 กรกฎา กับถนนที่จะไปต่อกับถนนพระราม 4 (เขียนแล้วอ่านดูก็คงจะงง ใครที่ไม่เคยผ่านแถวนั้นจะงงกับถนนเล็กถนนน้อยที่ตัดกันอย่างไม่มีแบบแผนค่ะ ด้านหนึ่งเป็นสามแยก อีกด้านหนึ่งเป็น 5 แยก!)
บ้านอยู่ในแวดล้อมของ 3 ศาสนา 3 ความเชื่อคือ
1.เป็นที่ตั้งของคริสตจักรไมตรีจิต ของสภา
คริสตจักรแห่งประเทศไทย
2. ศาลเจ้า “ชิกเซี้ยม่า”
3.วัดไตรมิตรวิทยาราม
ชีวิตในวัยเด็กจึงคุ้นเคยกับสถานที่เหล่านี้
อาม่าเป็นผู้พาไปไหว้เจ้าตามเทศกาลต่างๆ
ที่ชอบมากคือ ได้ไปยืนดูงิ้ว แต่งตัวสวยๆ มีเจ้าหญิงอุ้มตุ๊กตาออกมายืนรำพึงที่ริมเวที พร้อมกับร่ายรำตามบทเพลง ยืนดูตาไม่กระพริบเลยค่ะ😀
ภาพวาดที่ติดบนผนังศาลเจ้า by เขียนตามใจ
ช่วงปีนั้นที่กลับไปเยี่ยมเยียนถิ่นเก่า เป็นเทศกาลกินเจ มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้ขอพรกันคับคั่ง คนเดินกันขวักไขว่จุดธูปเทียนกันควันโขมง
ไหว้เจ้าขอพร
เดินเข้าซอยเล็กๆที่โค้งไปด้านหลังบ้านอาม่าก็จะถึงหน้าศาลเจ้าชิกเซี้ยม่าค่ะ
แถวนี้มีการทำขนมตุ้บตั้บ ทุบกันอย่างเมามันเหงื่อไหลไคลย้อยเลยค่ะ😅
คนมาทำบุญที่ศาลเจ้า ชิกเซี้ยม่า ในเทศกาลกินเจ
เขาใช้ค้อนแท่งสี่เหลี่ยม ลูกบาศก์แบบนี้ ทุบถั่วที่ใส่น้ำตาลจนเหนียวเกาะกันเป็นก้อน
เวลาทุบก็จะมีเสียง “ตุ้บ”ตั้บ” ๆๆ จึงเป็นที่มาของชื่อขนมนี้ค่ะ😀
โต๊ะ และค้อนที่ใช้ทุบขนม ตุ้บตั้บ
เดินออกมาสู่ถนนที่ต่อตรงมาจากพระรามสี่ แล้วไปเชื่อมกับเจริญกรุง เหมือนเดินเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเลยล่ะค่ะ
เดินผ่านร้านหมอฟันฮั่วเพ้ง ที่เคยไปนอนอ้าปากให้หมอเอาสำลีชุบน้ำยาสีน้ำตาลๆ กลิ่นฉุนๆมาเช็ดเข้าไปในฟันที่มีรูผุ ก่อนจะดึงถอนฟันออกไปแล้วยังเสียวสยองไม่หาย😆
ร้านในตึกเก่าริมถนน
ร้านขายเครื่องเขียนเก่าแก่ยังตั้งอยู่ที่เดิมด้วยป้ายชื่อเดิม”เสริมทรัพย์” ที่เราจะเอา”ทรัพย์ไปเสริม”ให้เขาทุกเปิดเทอม ที่จะต้องไปซื้อดินสอปากกา พู่กันที่นี่ ร้านยาจีน ยาต้มสมุนไพร ก็ยังอยู่ เพียงแต่แต่งร้านให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น
ถนนที่ออกมาจาก ถนนไมตรีจิต
ภาพข้างบน คือถนนที่อาม่าพามาเดินบ่อยที่สุด เด็กๆก็ชอบ อาม่าพาไปดูอะไรกันหนอ?
เดินจากบ้านออกมาเลี้ยวขวา มีร้านขายยาร้านใหญ่ชื่อ “ซุยลิ้มฮึ้ง “หน้าร้านวางครกบดยาไว้เป็นสัญลักษณ์
เดินไปเรื่อยๆจนสุดทางเท้า จะเริ่มได้กลิ่นมาก่อน ตามด้วยเสียงร้อง “เจี๊ยบๆๆๆๆ” เสียงเล็กๆ
ร้านขายลูกเจี๊ยบค่ะ ตัวเล็กๆขนฟูสีเหลืองๆวิ่งกันพล่านอยู่ในกระบะไม้ไผ่กลมๆ มีถาดใส่น้ำวางอยู่ตรงกลาง😀 เด็กๆดูไม่เคยเบื่อ แต่อยู่นานไม่ได้ค่ะ ....กลิ่นขี้ไก่ค่อนข้างแรง😁
คริสตจักรไมตรีจิต ห้างไทยวัฒนาพานิช ทวพ แหล่งหนังสือเด็ก และ นิตยสารชัยพฤกษ์
อีกด้านหนึ่งของถนนหน้าบ้านอาม่า เป็นที่ตั้งของคริสตจักรไมตรีจิต ซึ่งมีโรงเรียนประถมอยู่ด้วย
อีกฝั่งเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ใหญ่ ชื่อ ไทยวัฒนาพานิช ที่ผลิตหนังสือเด็กคุณภาพดีเป็นชุด ขายเล่มละ 7 บาท หนังสือ “เจ้าชายน้อย”ฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็ของสำนักพิมพ์ ทวพ. นี้ล่ะค่ะ
ความสุขของเด็กยุคนั้น คือ ได้นอนอ่านหนังสือสบายๆค่ะ ทั้ง นิตยสารชัยพฤกษ์รายปักษ์ ออกทุก 2 สัปดาห์ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ และการ์ตูน ที่วาดโดย น้ารงค์ ในชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งแทบจะแย่งกันอ่านเลยล่ะค่ะ😀
บานหน้าต่างในคริสตจักรไมตรีจิต สร้าง 1935
บันไดด้านหน้าตึกในคริสตจักรไมตรี
ถนนไมตรีจิต บ้านอาม่าอยู่ด้านซ้ายมือ มองไปเห็นยอดแหลมมณฑปของวัดไตรมิตร
เดินเข้ามาในถนนเล็กๆนี้.....แทบจะได้กลิ่นก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วที่หอมหวนยวนใจลอยขึ้นมาปะทะจมูก
ก็ร้านขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดซีอิ๊วของ “อาไจ๊” มาตั้งเตาผัดทุกเย็นที่มุมฟุตบาทใต้หน้าต่างบ้านอาม่านี่เองค่ะ😀
แต่พวกเรา ไม่ค่อยได้กินหรอกค่ะ นานนานที ก็เพราะ อาม่ามีกับข้าวให้กินจนอิ่มอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกมาซื้อข้างนอก....แต่กลิ่นมันยั่วจมูกมากๆเลยค่ะ😀
หน้าต่างบานเก่า ของตึกที่เคยเป็นบ้านอาม่า
ความหลังพรั่งพรูแค่มองบานหน้าต่าง!
ภาพเด็กหญิงมุดเข้าไปค้นใต้เตียงนอนห้องอาอี๊ (แต่ก่อนเตียงนอนเป็นกระดานไม้ยกสูงระดับเอว กินพื้นที่ครึ่งห้อง ข้างใต้เป็นที่เก็บของ และเป็นที่ซ่อนตัวอย่างดีของเด็กๆ)
เพื่อหาหนังสือกุลสตรีเล่มเก่าๆที่อาอี๊อ่านจบแล้วมากองๆไว้ นี่คือขุมทรัพย์เลยล่ะ
พออ่านเบื่อๆก็มานั่งบนเตียง มองออกไปนอกหน้าต่างนี้ เห็นกรงนกพิราบที่อยู่ชั้นดาดฟ้าของตึกตรงข้าม
บ้านตรงข้ามบ้านอาม่า เป็นร้านขายยา
แต่ก่อนชั้นบนสุดของบ้านอาม่าเป็นดาดฟ้าโล่ง ที่อาม่าปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ มีหมู่ม้าหิน และชิงช้าไว้นั่งเล่น
นี่คือสนามเด็กเล่นแสนสนุกของหลานๆล่ะค่ะ🥰
ตึก 3 คูหานี้ เคยเป็นบ้านอาม่า ที่มีดาดฟ้าเป็นที่วิ่งเล่นของหลานๆ
🌸วันนี้พาไปเที่ยวชมได้เพียงเสี้ยวหนึ่งของเยาวราชเท่านั้นเองค่ะ ยังมีที่น่าสนใจอีกมากมาย ไว้โอกาสหน้าได้ไปอีกจะพาไปเที่ยวต่อค่ะ🌸

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา