16 ก.พ. 2021 เวลา 13:16 • การศึกษา
ชีวิตหลังโควิด-19: แอร์โฮสเตสหันมาขายสายคล้องหน้ากาก
"อาชีพสายการบิน คือโดนผลกระทบหนักมาก แต่รู้สึกเป็นอาชีพที่เขา รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรืออาจจะลืม" บิว - สาริศา ฐิตะโชติการ เจ้าของร้าน Why Serious
เมื่อมีไวรัสโคโรนาระบาดไปทั่วโลก คนที่ทำอาชีพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ สาริศา ฐิตะโชติการ หรือ บิว แอร์โฮสเตสของสายการบินแห่งหนึ่ง เธอถูกบริษัทเรียกไปเซ็นสัญญาให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง หรือ leave without pay เธอจึงตัดสินใจมาออกร้านขายสายคล้องหน้ากากและเครื่องประดับพร้อมกับขายบนออนไลน์
.
เธอเล่าว่า เธอเคยทำงานออฟฟิศก่อนที่จะมาเป็นแอร์โฮสเตส แล้วพบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง จึงไม่อยากกลับไปสมัครงานอีก และเธอก็ยังหวังว่าเมื่อมีวัคซีนและเปิดประเทศแล้ว เธอจะได้กลับไปทำงานในสายการบินอีก เธอจึงตัดสินใจลองทำอะไรใหม่ๆ โดยเริ่มจากการออกแบบกระเป๋าขายออนไลน์ แต่ก็ขายได้ไม่ดีอย่างที่หวัง
.
“เริ่มช่วงประมาณส.ค.ปีที่แล้ว ก็เริ่มทำกระเป๋า เสร็จแล้วเราก็อยากออกหน้าร้าน เหมือนออนไลน์มันเงียบๆ อยากออกขายหน้าร้านดู ตอนแรกไปขาย ก็ขายเป็นกระเป๋าอย่างเดียวเลย เต็มโต๊ะ เงียบกริบ ไม่มีลูกค้าเลย เราก็เลยรู้สึกว่า เราต้องหาอะไรที่ราคามันถูกแล้วคนเข้าถึงได้”
เมื่อกระเป๋าขายไม่ดี บิวลองมองหาสินค้าที่จะราคาย่อมเยา เข้าถึงคนได้ง่าย และพบว่าสายคล้องหน้ากากเพิ่งจะเริ่มมีในไทย จึงไปรับมาขาย ปรากฎว่าวันแรกขายได้จนหมด จากนั้นก็รับมาขายเพิ่มอีก จนลองมาศึกษาดูแล้วพบว่าสามารถทำเองได้ จึงเลือกที่จะทำเอง เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนแบบและอะไหบ่ได้ตามชอบ อีกทั้งทำให้ลดต้นทุนได้ และควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยร้านของเธอมีจุดเด่นตรงที่มีจี้ ให้เลือกเยอะและไม่เหมือนใคร ตอบโจทย์คนที่ต้องการสายคล้องหน้ากากเป็นไอเท็มแฟชั่น
.
::: ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล :::
.
บิวเปิดเผยว่า ตัวเธอเคยใช้สิทธิในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพียง 1 ครั้ง และไม่เคยได้รับสิทธิจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลเลย เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ก็ไม่เคยลงทะเบียนทัน
.
ขณะที่โครงการ “เราชนะ” ที่เป็นโครงการช่วยลดค่าครองชีพกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเธอ แต่เธอก็ไม่ได้สิทธินั้น เพราะรัฐใช้ฐานข้อมูลจากปี 2562
.
“ก็แอบตะหงิดใจนิดนึงว่าทำไมเขายึดจากฐานปี 62 ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่คนที่ตกงานมันคือในปี 63 หรือ 64 รู้สึกว่ามันเป็นเกณฑ์ที่แปลกๆ อยู่เหมือนกันเนอะในการวัดว่าจะช่วยคนคนหนึ่ง”
.
“อาชีพอย่างเรา อาชีพสายการบิน คือโดนผลกระทบหนักมาก แต่รู้สึกเป็นอาชีพที่เขา รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจหรืออาจจะลืม เผลอลืมหรือตกหล่นไป คือเหมือนเป็นกลุ่มที่เขาคิดว่ายังมีเงินที่จะอยู่ต่อได้มั้ง แต่มันก็มีหลายๆ คนที่เขามีภาระ เหมือนรายได้เขาเยอะมาแต่ก่อน เขาก็มีภาระที่เขาต้องจ่ายเยอะในแต่ละเดือนเหมือนกัน แต่สุดท้ายเขามาโดนตัดไป แล้วก็ไม่มีมาตรการอะไรรองรับเลย”
บางคนอาจมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา คนทำงานสายการบินเป็นคนที่มีรายได้สูงมาตลอด น่าจะมีเงินเก็บหรือไม่เดือดร้อนมากนัก แต่บิววองว่า ภาพของแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้เคยมีเงินเดือนสูง แต่พอไม่มีงานแล้ว เงินเก็บก็ไม่เพียงพอกับภาระที่มีอยู่
.
“พี่ผู้หญิงเขาเป็นแอร์ แฟนเป็นนักบิน แล้วส่งลูกเรียนนานาชาติ ผ่อนบ้านกัน แล้วก็จบทั้งคู่ แล้วทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากจะไปต่อรองกัน อย่างกู้บ้านก็ต้องไปต่อรองกับธนาคารเอง ตัวเราเองก็เป็นคนผ่อนบ้าน ก็รู้สึกว่ารัฐไม่ได้เข้ามาดูอะไรตรงนี้เลย โดยส่วนตัวที่ผ่อนบ้านเองเนี่ย ตอนนี้ดอกเบี้ยก็แสนกว่าบาทแล้ว ที่ขอผ่อนผันมา เขาก็มีจดหมายมา ก็หลายแสนแล้ว แค่ดอกเบี้ยที่เราไปขอผ่อนผัน ก็ไม่เคยได้มาตรการอะไรเยียวยาตรงนี้เลย”
โฆษณา