30 ก.ย. 2018 เวลา 16:28
“ความโดดเดี่ยว”
1."ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวและรู้สึกเหงามากๆ ถึงแม้ว่าสามีของฉันจะให้เงินฉันเป็นจำนวนมาก ผู้คนต่างบอกว่าทำไมฉันถึงโชคดีขนาดนี้ล่ะ แต่ฉันกลับคิดว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการ และมันไม่ได้ทำให้ฉันมีความสุขไปทั้งหมดหรอกค่ะ”
นี่คือคำสัมภาษณ์ของหญิงสูงวัยอายุ 80 ปี ชาวญี่ปุ่นที่ตั้งใจโขมยของเล็กๆน้อยๆเพื่อต้องการติดคุกที่ญี่ปุ่น เพื่อที่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและเหงา
หลายคนอาจคิดในใจว่า ถ้าฉันมีเงิน ฉันจะออกไปใช้เงินอย่างมีความสุข จะมาติดคุกให้เสียอิสระเสรีทำไม
แต่นี่คือเรื่องจริงที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มเพื่มขึ้นเรื่อยๆ
ลองสมมติให้คุณเลือกระหว่าง มีอิสระ มีเงินใช้ไม่จำกัดแต่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่มีครอบครัว ไม่มีเพื่อน กับ มีครอบครัว มีเพื่อนที่อบอุ่น และรายล้อมไปด้วยคนที่คุณรักและเค้ารักคุณ แต่ไม่มีเงิน ไม่มีอิสระ คุณจะเลือกแบบไหน
ไม่ว่าคำตอบคุณจะเป็นแบบไหน ดูเหมือนว่าหญิงชราคนนี้จะเลือกแบบหลัง
2.ในปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ถ้าจะพูดถึงประเทศที่เผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานและหนักหน่วงแล้วคงไม่พ้นที่จะพูดถึงประเทศญี่ปุ่น
สมัยก่อนในสังคมญี่ปุ่น ผู้สูงอายุมักจะอาศัยร่วมกับคนในครอบครัว แต่ในช่วงหลังพบว่ามีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวและไม่มีคนดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดพบว่ามีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวถึงหกล้านคนในญี่ปุ่น
ถึงแม้บางคนจะอาศัยอยู่กับคนในครอบครัว แต่กลับไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆในครอบครัว ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครคุยด้วย รู้สึกไม่มีตัวตน บางคนถึงกับบอกว่ารู้สึกตัวเองเป็นเหมือนแค่แม่บ้านคนหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน จึงรู้สึกไร้ค่า ถึงแม้จะอยู่บ้านก็เหมือนไม่ได้อยู่
พวกเธอจึงออกจากบ้าน
ออกไปหาตัวตน
3.”ฉันไม่รู้จะบอกคุณยังไงให้เห็นภาพว่าฉันรู้สึกสนุกมากแค่ไหนที่ได้ทำงานในโรงงานของเรือนจำ บางวันที่ฉันได้รับคำชมในเรื่องฝีมือและความปราณีตในงานที่ฉันทำ ฉันเพิ่งจะได้รับรู้ถึงความสนุกในการทำงาน และฉันรู้สึกเสียใจมากที่แต่ก่อนไม่ได้ทำงานเลย แต่ตอนนี้ชีวิตของฉันได้เปลี่ยนไปแล้วค่ะ"
เพียงแค่พวกเธอได้ทำงาน มีคนเห็นคุณค่าของเธอ กล่าวชื่นชมเธอ แค่นี้พวกเธอก็พบตัวตนที่มีความหมายแล้ว
ลองย้อนกลับมามองที่บ้านเรา ผู้สูงอายุบ้านเราก็คงมีสถานการณ์ไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากเหมือนผู้สูงอายุในญี่ปุ่น แต่น่าคิดว่าผู้สูงอายุในไทยที่อาศัยอยู่กับคนในครอบครัวทุกวันนี้จะมีความสัมพันธ์กันแบบไหน
สอดคล้องกับงานวิจัยของฮาร์เวิร์ดที่ทำทำการทดลองกับคนกว่า 1300 คนต่อเนื่องยาวนานถึง 80ปี เปลี่ยนหัวหน้าทีมวิจัยถึง 4 คน เพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้คนสุขภาพดีและมีความสุข
การทดลองพบว่า ผู้ทดลองที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่บ่งบอกว่าคนๆนั้นจะมีสุขภาพดีและมีความสุข
โดยพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีที่อายุ 50ปี เมื่อพวกเขาอายุมากขึ้นที่อายุจนถึงอายุ 80ปี จะมีสุขภาพกายที่ดี สุขภาพใจที่ดี ความจำดี และมีความสุข
ผู้วิจัยยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความโดดเดี่ยว” มีผลเสียเทียบเท่ากับ การสูบบุหรี่หรือการติดเหล้าเลยทีเดียว
4.จากเรื่องที่กล่าวมาทำให้ผมคิดได้ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ต้องการได้รับความรัก การยอมรับ และการเห็นคุณค่า
แต่บางคนอาจเถียงว่าในสังคมทุกวันนี้ การมีเงินมากๆสิสำคัญกว่าเพราะสิ่งที่จะตามมาเองคือการได้รับความรักจากผู้อื่น ได้รับการยอมรับ มีคนเห็นคุณค่า เพราะเรามีเงิน
แต่ถ้าเราจะอ้างถึงงานวิจัยของฮาร์เวิร์ด ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่มีเงินป็นเงื่อนไขแบบนี้ ไม่น่าจะใช่ความสัมพันธ์ที่ดีแบบเดียวกันในความหมายของผู้วิจัย
ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ควรสนใจเรื่องเงินเลย ควรสนใจแต่เรื่องความสัมพันธ์อย่างเดียวหรือไม่ ผมคิดว่านั่นก็น่าจะเป็นการเข้าใจผิดเหมือนกัน
ตัวอย่างพ่อแม่ที่ไม่มีเงินต้องคอยพึ่งพาลูกให้คอยดูแลอย่างเดียว สร้างปัญหาครอบครัวมามากต่อมากแล้ว
ผมคิดว่าถ้าเราขัดสนเรื่องเงินแล้วก็ยากที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้ เราควรต้องดูแลตัวเองได้ดี ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองก่อน ถึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้
แล้วถ้าเป็นคนที่ไม่ต้องการมีครอบครัว มีลูก แปลว่าในอนาคตต้องมีสุขภาพไม่ดี ไม่มีความสุขอย่างนั้นหรือ นั่นก็คงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเหมือนกัน
การอยู่คนเดียวไม่ได้แปลว่าต้องโดดเดี่ยว
ถ้าเรายังได้ทำงานที่ดี มีคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ มีเพื่อนที่ดี อยู่ในชุมชนที่ดี ก็น่าจะทำให้เรามีความสุขได้
เพราะถึงแม้จะเป็นคนที่มีครอบครัว มีลูก ก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าพวกเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดไป อย่างผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นรายนี้ที่พอสามีเสียชีวิต ลูกออกไปมีครอบครัวของตัวเอง ตัวเองไม่ได้ทำงาน ไม่มีเพื่อน ก็เคว้งคว้าง รู้สึกโดดเดี่ยว
เราไม่ควรฝากความหวังว่าจะให้ลูกมาดูแลเราตอนเราแก่เฒ่า เป็นหนี้บุญคุณเรา ต้องมาตอบแทนบุญคุณเรา
แน่นอนการได้ใช้ชีวิตบั้นปลายพร้อมครอบครัว พร้อมลูกหลาน เป็นสิ่งที่ทุกคนรวมถึงผมปราถนา แต่ถ้าเราจำเป็นต้องอยู่โดยไม่มีพวกเขาเราต้องอยู่ได้ และที่สำคัญต้องอยู่อย่างมีความสุข
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมีเงินที่มั่นคงในระดับหนึ่ง
เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะทำอะไร อยู่ที่ไหนและแบบไหน สำหรับผม ถ้าผมจำเป็นต้องอยู่คนเดียวจริงๆ ผมคงเลือกจะทำงานที่ผมรักต่อไปเท่าที่จะทำได้ งานที่มีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น และถ้าเลือกได้ผมคงเลือกที่จะอาศัยอยู่ในโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุดีๆสักแห่ง เพราะโครงการลักษณะนี้มักจะมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีเพื่อนมากมาย มีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยดูแล รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆให้เราทำ
อย่างน้อยผมคงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
และอย่างน้อยก็คงมีอิสระเสรีมากกว่า
5.“คุกคือโอเอซิสสำหรับฉัน มันคือสถานที่ที่ฉันรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจค่ะ ถึงแม้ว่าอยู่นี่ ฉันจะไม่มีอิสระเลยก็ตาม แต่ฉันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลใจแล้วค่ะ ที่นี่มีผู้คนมากมายให้ฉันได้พูดคุยด้วย”
“ฉันรู้สึกชีวิตของฉันนั้นสนุกขึ้นมากเมื่อได้มาอยู่ในเรือนจำ เพราะว่าที่นี่มีผู้คนมากมายและฉันก็ไม่รู้สึกเหงาด้วย”
คำกล่าวของผู้สูงอายุอีกรายซึ่งเหมือนจะคอยเตือนเราว่า ให้ความสำคัญกับผู้คนรอบข้างให้ดีๆ ทำสิ่งดีๆต่อกัน เข้าใจกัน ให้อภัยกัน ให้เวลากับพวกเขาให้มากๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะมีความสุขก็คือพวกเขา
และตัวคุณนั่นเองครับ
Ref: 1.Bloomberg: Japan’s prison are a haven for elderly woman by Shio Fukada
2.The Harvard Gazette: Good genes are nice but Joy is better by Liz Mineo
โฆษณา