3 ต.ค. 2018 เวลา 05:23
เล่าหมดเปลือก จุดจบของสงครามราคา เหลือกำไรกี่ % ปลาใหญ่จะกินปลาเล็กรึเปล่า ??
สำหรับใครที่กำลังทำการค้าต่างๆ เชื่อว่าต้องมีปัญหาเรื่องราคามาจุกจิก ไม่มากก็น้อย แม้ธุรกิจเราอาจจะไม่เกี่ยวด้านราคา แต่ก็โดนอดเปรียบเทียบราคาไม่ได้อยู่ดี
และสำหรับคนที่ทำธุรกิจ ซื้อมา~ขายไป หรือกระทั่งโรงงานต่างๆ ที่เป็นธุรกิจสงครามราคาเกือบเต็มรูปแบบ เขาจะเจอมรสุมอะไรกันบ้าง กำไรเหลือกันเท่าไหร่ ตอนนี้เราจะมาเล่ากันให้หมดเปลือกเลย
คนที่อ่านถึงตอนนี้ ลองนึกตัวเลขในใจกันดูว่า ถ้าเราซื้อของชิ้นนึง แล้วนำมาขายออกไป เราหวังกำไรกี่ % และขั้นต่ำสุดแล้ว กำไรที่เรายอมรับได้ ยอมรับที่กี่ % ( ลองเขียนจดไว้ดู )
ธุรกิจ ที่เราจะมานำเสนอ เป็นธุรกิจเกี่ยวกับขายอุปกรณ์ ก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่ตัดราคากันมาเนิ่นนานกว่า 40-50 ปี ฉะนั้นย่อมตัดราคากันถึงที่สุด ใครที่คิดว่าธุรกิจที่เราทำ ตัดราคากันมากแล้ว ลองมาดูธุรกิจที่คุณคิดกันว่าตัดราคากันมากขนาดนี้รึเปล่า
ธุรกิจขายอุปกรณ์ ก่อสร้าง เราจะเน้นภาพรวม เพราะสินค้าแต่ละประเภท กำไรอาจจะต่างกันบ้าง จึงเหมาเป็นภาพรวม ให้เข้าใจง่ายๆ เราจะแบ่งร้านค้า ออกเป็น 4 ประเภท
1. ร้านค้าขนาดเล็ก เน้นขายทั่วไปมีลูกค้าขาจรเสียส่วนใหญ่ ร้านพวกนี้ ราคาค่อนข้างสูง เน้นขายสถานที่ใกล้เคียง เพราะช่างอาจจะขี้เกียจหาสินค้าไกลๆ ร้านประเภทนี้เน้นกำไรสูง อยู่ที่ 40-150% ( ร้านประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่เติบโต เพราะไม่มีลูกค้าประจำเจ้าใหญ่ๆ )
2. Modern trade ร้านจำพวก ไทวัสดุ ร้านพวกนี้มีสินค้าครอบจักรวาล ราคาค่อนข้างมีมาตราฐาน แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายเรื่องการดำเนินการสูง ทำให้กำไรของร้านแบบนี้อยู่ที่ 20-40% (หมายเหตุ ถ้าเป็น dohome ราคาจะถูกกว่า ไทวัสดุ กำไรจะอยู่ที่ 15-30% ต่อสินค้า )
3. ร้านค้าขนาดกลาง - สูง ร้านประเภทนี้เริ่มตัดราคากันเป็นหลัก เนื่องจากต้องดึงลูกค้าให้อยู่กับเรามากที่สุด ลูกค้าเกือบทุกคน ไม่มี Brand Royalty ถ้าคุณขายถูก ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนร้านในทันที เนื่องจากเราต้องแข่งกับร้านที่มี Power ร้านอื่นๆ และยังต้องกดกำไรให้เห็นส่วนต่างมาก พอที่ลูกค้าจะไม่หันไปซื้อ Modern trade ดังนั้นร้านค้าประเภทนี้จะได้กำไรอยู่ที่ 2-15%
4. ยี่ปั้วะ ต่างๆ กำไรของยี่ปั้วะนั้นแทบจะต่ำเตี้ย จนบางครั้งก็รับความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนเช่นกัน สินค้าบางประเภท ตัดราคากันที่ 0.5% ใช่แล้วท่านฟังไม่ผิด ตัดราคาที่ 0.5% นั้นคือ ของราคา 1,000บาท แต่ตัดราคากันแค่ 5 บาท ลูกค้าก็พร้อมที่จะย้ายร้านสั่งแล้ว (สินค้าเหมือนกัน) กำไรของยี่ปั้วะส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ 1-5%
กลยุทธ์ การตัดราคา ไม่ใช่แค่รับมาเท่าไหร่ ก็ขายเท่านั้น แต่จะนับไปรวมถึงเป้าสินค้า ด้วย เช่น
ยี่ปั้วะ ซื้อของ 1 ล้านบาท ได้ ทอง 1 บาท ส่วนใหญ่มักคิดว่า ก็มอบเป้าแบบเดียวกันให้ลูกค้าของเราไป ก็คือจบ
แต่ในความเป็นจริง ลูกค้าของยี่ปั้วะส่วนใหญ่ ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อเป้าพวกนี้ได้ ยี่ปั้วะบางแห่งจึง นำเป้าสิ่งของนั้นๆ มาตีเป็นมูลค่า แล้วมาลดราคาสินค้าให้เรา เช่น เป้าทอง 1 บาท ตีเป็นมูลค่า 20,000 บาท เทียบเป็น 2% จาก 1 ล้านบาท ก็นำส่วนตรงนี้มาลดราคาให้ลูกค้าเพิ่มจากเดิมให้อีก 1-2% แทน ( อย่างที่บอก 0.5% ยังมีผลเลย ดังนั้น 1-2% ถือว่าเยอะมาก )
สรุปแล้ว ในธุรกิจซื้อมาขายไป ในสินค้าชนิดเดียวกัน ที่ใครๆก็สามารถเป็นตัวแทนขายได้ กำไรสุทธิจะเป็น
ขายส่ง 1.5-3%
ขายปลีก 3-10%
ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก รึเปล่า??
ถามว่า ธุรกิจนี้ จะโดนเจ้าใหญ่กินเรียบรึเปล่า ผมตอบได้เลยว่า "ไม่แน่" โดยปัจจุบัน ไทวัสดุ และ Dohome ได้กินปลาเล็ก จำพวกร้านค้าขนาดเล็กๆ ที่เน้นกำไรสูงๆไปเกือบหมดแล้ว แต่ยังมีร้านค้าระดับ กลาง-สูง ยังอยู่รอดในตลาดนี้อยู่ แต่ ถ้าวันนึง Modern trade สามารถกดกำไรให้เหลือแค่ 2-10% ได้ ก็ถึงเวลาที่ร้านค้าทั่วไปจะล้ม แน่นอน เพียงแต่กำไร 2-10% จะเพียงพอต่อค่าดำเนินการ มหาศาลของพวก Modern trade ได้รึเปล่า ก็ต้องติดตามต่อไป
หลายคนมักคิดว่า Dohome , ไทวัสดุ ได้ต้นทุนถูกกว่าร้านค้า หรือ ยี่ปั้วะ เพราะว่ามีพาวเวอร์ในการซื้อสินค้า สำหรับผมตอบได้เลยว่า ไม่จริง! กลับเป็นร้านค้าระดับกลาง-สูง จะได้ต้นทุนถูกกว่าอีกด้วย
เนื่องจากมีสินค้าหลายๆประเภท ที่ให้ต้นทุนพวก ไทวัสดุ dohome ถูกกว่า( เพราะเขาซื้อเยอะ) สุดท้าย ทุกร้านค้าย่อยๆก็เลิกขายสินค้านั้น จนสุดท้าย สินค้านั้นขายเฉพาะ Modern trade ก็อยู่ไม่ได้ กำไรหาย เพราะ modern trade มีกำลังในการกระจายสินค้า+กำลังซื้อ ก็จริง แต่คงไม่มากเท่าร้านค้า ที่ขายอยู่ทั่วประเทศเป็นแน่ ( แถมต้องโดนเปรียบเทียบสินค้าประเภทเดียวกัน ในชั้นวางข้างๆ )
ผู้จ้างวาน ส่วนใหญ่ อยากได้สินค้าดีๆ ยี่ห้อดีๆ คุณภาพดีๆ แต่เกือบทั้งหมด มักให้ช่างหรือผู้รับเหมาเป็นคนจัดหาสินค้านั้นๆ ซึ่งผู้รับเหมาส่วนมาก ไม่ซื้อของตาม Modern trade อยู่แล้ว
ช่าง , ผู้รับเหมา เลือกที่จะซื้อสินค้าข้างนอก เพราะราคาถูกกว่า และ สามารถ "บวกราคา" ได้ ,, ผมไม่ปฏิเสธ ว่าผมก็ทำเช่นกัน ช่าง,ผู้รับเหมา อยากให้เขียนราคาเท่าไหร่ ผมก็เขียน ถึงคนทั้งประเทศ จะว่าผมเลว แต่ถ้าเราไม่เขียนให้เขา เขาก็ไปซื้อร้านอื่นที่ยินดีที่จะทำ (กลายเป็นเราเสียลูกค้า)
และถึงเราไม่เขียน เขาก็มีบิลเปล่า ที่ไว้สำหรับเขียนเองอยู่ดี ผู้รับเหมากว่า 70-80% บอกราคาสินค้า สูงกว่าราคาที่ตนเองซื้อได้ ช่างจะซื้อร้านข้างนอกที่ถูกกว่า แต่ไปบอกลูกค้าในราคา ไทวัสดุ(หรือแพงกว่า) จึงเป็นส่วนต่างที่ทำให้ช่างได้เงินเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ถ้ามีเพื่อนมาถามว่า จะซื้ออุปกรณ์ ก่อสร้างที่ไหนดี ส่วนใหญ่แล้ว ผมจะไม่แนะนำร้านตัวเอง และแนะนำพวก Modern trade แทน เพราะกำไรอันน้อยนิด ไม่ค่อยคุ้มค่าเวลาซื้อขายกับเพื่อนเช่นกัน (ถ้าเพื่อนเชื่อใจเราก็ดีไป(อันนี้เป็นข้อยกเว้น) แต่ถ้าเพื่อนไม่เชื่อใจ สอบถาม เช็คราคา รายละเอียด นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเสียความรู้สึกอีกด้วย)
ถ้าให้นึกภาพ เพื่อนซื้อ 10,000 เรากำไรอยู่ประมาณ 200-300 บาท แต่ต้องมาตอบคำถามมากมายก่ายกอง ย่อมไม่คุ้มกับเวลาเป็นแน่ ยังไม่นับเรื่องต้องรับผิดชอบต่างๆนาๆ กรณีเกิดปัญหา >>> ตามปกติ โรงงานเป็นคนรับผิดชอบ แต่ถ้าขายกับเพื่อน จะกลายเป็น เราต้องรับภาระตรงนี้แทนเพราะจะเสียความรู้สึกกันเปล่า ของเสียแต่เราไม่รับผิดชอบ
( เชื่อเถอะว่า เพื่อนคุณไม่เชื่อหรอกว่าคุณกำไร 2-3% )
สุดท้ายกลับมาคำถามเดิม คุณคิดว่ากำไรสินค้า ที่คุณคิดไว้ตอนแรก คุณคิดไว้เท่าไหร่ ??
.
ปล. ต้องเข้าใจว่า สินค้าที่ยกตัวอย่างมา แข่งสงครามราคามาเนิ่นนาน แต่! ปัจจุบัน การเช็คราคาสินค้า ค่อนข้างง่าย จึงใช้เวลาไม่นานเหมือนสมัยก่อน ก็อาจจะเจ็บสาหัสไม่ต่างกัน
โฆษณา