12 ต.ค. 2018 เวลา 15:58
วันนี้เรามาคุยกันเรื่อง ”จิตวิทยาการเงิน” กันต่อครับ
โพสท์ที่แล้วผมได้พูดถึง บทละครการเงิน (money script) ซึ่งก็คือ ความเชื่อฝังลึก (core belief) ที่เกิดจาก ทัศนคติ ความเชื่อ ประสบการณ์ เกี่ยวกับการเงินที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก แล้วส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นพฤติกรรมการใช้เงินในปัจจุบันไปแล้ว
และเราได้พูดถึงกลุ่มแรกคือ “money status” หรือ “พวกสร้างภาพ”
คือกลุ่มคนที่ผูกคุณค่าตัวเองไว้กับตัวเงินหรือสิ่งของ คนกลุ่มนี้จึงมักจึงใช้เงินซื้อสิ่งของเกินฐานะเพื่อประกาศสถานะทางสังคมที่ดีกว่า หรูกว่า ไปแล้วนะครับ
วิธีแก้ก็คือ ฝึกถามตัวเองว่าอะไรคือคุณค่าที่แท้จริงระหว่าง บ้านหรู รถหรู ไลฟ์สไตล์หรูหรา หรือ ครอบครัวที่อบอุ่น การได้ทำงานที่รักและมีคุณค่า
ต่อไปเรามาดูกลุ่มที่เหลือกันบ้างครับ
กลุ่มที่สอง “money vigilance” หรือ “พวกหวงเงิน”
คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เงินมีไว้เก็บ ไม่ได้มีไว้ใช้ ไม่กล้าใช้เงินซื้อสิ่งของที่จำเป็น มักจะกลัวการสูญเสียเงินมากจึงไม่กล้าลงทุนที่มีความเสี่ยงแม้แต่นิดเดียว
จริงๆคนกลุ่มนี้มักมีวินัยทางการเงินที่ดี แต่ถ้ามากไปก็จะกลายเป็นคนขี้เหนียว
คนกลุ่มนี้จึงมักไม่มีความสุขกับเงินที่ตัวเองมี
วิธีแก้ก็ง่ายมากครับ กันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เลย เพื่อเอาไว้ใช้ฟุ่มเฟือยหรือเพื่อความบันเทิงบ้าง
หรือ ศึกษาการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย
กลุ่มที่สาม “money avoidance” หรือ “พวกเลี่ยงเงินทอง”
คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า เงินคือสิ่งไม่ดี คนรวยคือคนโลภ ฉันไม่มีค่าคู่ควรกับเงิน
มีความคิดว่าการไม่มีเงินหรือยากจน เป็นความดีงาม สูงส่ง
หรือ มีความคิดว่าฉันจะมีเงินมากกว่าคนอื่นได้ยังไง ในเมื่อยังมีคนขาดแคลนกว่าฉันอยู่
คนกลุ่มนี้มักไม่กล้าพูดเรื่องเงิน ค่าตอบแทน หรือ เงินเดือน เพราะกลัวจะเป็นคนไม่ดี
การได้เพิ่มเงินเดือนหรือเงินพิเศษกลับกลายเป็นทำให้พวกเขารู้สึกผิดซะอีก
วิธีแก้ของคนกลุ่มนี้คือต้องเปลี่ยนความเชื่อให้ได้ว่า เงินไม่ใช่สิ่งไม่ดี เงินมีสถานะเป็นกลาง อยู่ที่คนใช้ว่าจะเอาไปทำอะไรและเราสามารถใช้เงินไปในทางที่ดีได้มากมาย
กลุ่มที่สี่ “money worship” หรือ “พวกบูชาเงิน”
คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เงินคือพระเจ้า เงินซื้อได้ทุกอย่าง ยิ่งมีเงินมากยิ่งนำอำนาจและความสุขมาให้ และยังเชื่อว่า มีเงินมากเท่าไหร่ก็ไม่พอ
ถ้าคนบูชาเงินมีรายได้น้อย มักเป็นหนี้บัตรพลาสติก เพื่อนำมาใช้จ่ายซื้อความสุขแบบไม่ยั้ง หรือจะยอมทำงานหนักมากเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
วิธีแก้คนบูชาเงินคือ ต้องทำความเข้าใจว่าการมีเงินเพิ่มเมื่อเลยจุดๆหนึ่งไปแล้ว ไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะความสุขที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
และยังมีความสุขอีกมากมายที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ
ฟังดูเหมือนง่ายนะครับวิธีแก้ของกลุ่มต่างๆที่กล่าวมา แต่จริงๆแล้วทำได้ยากมากครับ เพราะเป็นทัศนคติฝังลึกที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก
ที่น่าสนใจคือ บางคนมี money script สองแบบในคนเดียวกันหรือมี money conflict
ซึ่งที่เจอบ่อยๆคือ มีสคริปต์ “เลี่ยงเงิน” กับ “บูชาเงิน” ปนอยู่ในตัวเอง
คนกลุ่มนี้มักจะแสดงออกด้วยการ เกลียดคนรวย แต่ลึกๆในใจแล้วก็อยากรวยเหมือนคนอื่นเขา
ประเด็นนี้ผมเห็นว่าค่อนข้างจริงในสังคมไทย จากการสังเกตใน social ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนรวยหรือกลุ่มทุน ก็พร้อมที่จะด่าไว้ก่อนเลย โดยไม่ศึกษาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่นๆเลย
คือเกลียดคนรวย เกลียดกลุ่มทุน แต่ลึกๆแล้วก็อิจฉา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเป็นเหมือนเขา
หรือถ้าเป็นคนรวยหรือดาราซื้อของราคาแพง ก็มักจะด่าว่าทำไมไม่เอาไปบริจาคช่วยเหลือคนยากจน
แต่ลึกๆแล้วตัวเขาเองนั่นแหละที่อยากมีเงินเพื่อใช้ซื้อของราคาแพงเหมือนดาราคนนั้น เป็นต้น
จากที่กล่าวมา ถ้าเราได้มีโอกาสสังเกตคนรอบข้างที่มีปัญหาการใช้เงิน ก็ลองพิจารณาดูนะครับว่าเขามีทัศนคติการใช้เงิน ตรงกับ money script แบบไหนบ้างรึเปล่า
เพื่อที่จะได้มาทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเราเองด้วย
เราเองก็อาจพบว่าตัวเรามี money script บางแบบอยู่ในตัวเราก็ได้
ทุกครั้งที่ต้องใช้เงินซื้อของ ลงทุน หรือ ก่อหนี้ ลองคิดให้ดีก่อนว่าเราทำไปเพราะอะไร
เราทำเพราะต้องการชดเชยปมในวัยเด็กหรือไม่
หรือเพราะทำไปตามความเชื่อฝังลึกที่เกิดตั้งแต่วัยเด็กหรือเปล่า
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการใช้เงินครับ
อ้างอิง : หนังสือ คนชนะหนี้ , มณฑานี ตันติสุข
โฆษณา