20 ต.ค. 2018 เวลา 13:23
ดราม่าการบินไทย “สิทธิ” และ "การเสียสละ”
ช่วงที่ผ่านมา กระแสดราม่าการบินไทยมีเรื่องน่าสนใจที่ผมคิดว่าน่าควรจะนำมาคุยกัน
สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าวผมพอจะสรุปให้ฟังดังนี้ครับ
เริ่มจากมีสื่อพาดหัวข่าวว่า “เจริญ! บินไทย TG971 ดีเลย์ 2 ชั่วโมงครึ่ง เหตุนักบินไม่ยอมเทกออฟเพราะที่นั่งพวกเดียวกันเองไม่ลงตัว จนผู้โดยสารต้องยอมย้ายที่ให้"
โดยมีเนื้อความว่า นักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้นบิน เนื่องจากมีนักบินที่ต้องบินกลับไปทำงานต่อ (deadhead pilot) ไม่ได้นั่งชั้น first class เพราะมีผู้โดยสารนั่งจนเต็มแล้ว จนเครื่องดีเลย์ไปสองชั่วโมงครึ่ง
สุดท้ายมีผู้โดยสาร first class ยอมเสียสละไปนั่ง business class ให้กับ deadhead pilot แทน นักบินประจำเครื่องจึงยอมนำเครื่องขึ้นบิน และตามมาด้วยการร้องเรียนของผู้โดยสารที่ยอมสละที่นั่งให้ จนเป็นกระแสดราม่าอยู่ตอนนี้
จากนั้นก็มีข้อเท็จจริงตามมาว่า ผู้โดยสารเที่ยวบินนี้จริงๆแล้วไม่มีใครซื้อตั๋ว first class มาตั้งแต่ต้น มีแต่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋ว business class ที่การบินไทยยอมให้ผู้โดยสารสามารถเลือกที่นั่ง first class ได้
เพราะฉะนั้นผู้โดยสารกลุ่มนี้เลยเหมือนได้รับการ upgrade เป็น first class ฟรีไปโดยปริยาย (แต่หน้าตั๋วก็ยังเป็น business อยู่)
ที่นั่งชั้น first class จึงเต็มด้วยผู้โดยสาร business กลุ่มนี้
ปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่าจริงๆแล้วต้องมีการล็อคที่นั่ง first class ให้กับ deadhead pilot กลุ่มนี้
แต่เกิดความผิดพลาดบางอย่างของการบินไทยเอง ที่ปล่อยให้ผู้โดยสาร business มาเลือกที่นั่ง first class จนเต็ม
ส่วนประเด็นที่ว่าทำไม deadhead pilot ต้องนั่ง first class มีการอธิบายว่านักบินควรต้องได้รับการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ก่อนขึ้นบินครั้งต่อไป
เพราะเป็นอาชีพที่ต้องมีมาตรฐานด้านความพร้อมทางร่างกาย และจิตใจค่อนข้างสูง ถ้านักบินพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนนับร้อยชีวิตได้
ดังนั้น first class จึงเหมาะสมที่สุด
โดยมีกฎปฏิบัติ การนับชั่วโมงทำงาน และชั่วโมงพักผ่อนอย่างชัดเจน
ซึ่งตามกฎถ้านักบินไม่ได้นั่ง first class จะไม่นับว่าเป็นชั่วโมงพักผ่อน
.
ในฐานะคนนอกที่ตามข้อมูล ถ้าพยายามมองในมุมของนักบินประจำเครื่องคือ deadhead pilot ควรต้องได้นั่ง first class ตาม สิทธิ และ ตามกฎด้านความปลอดภัยดังที่กล่าวมาข้างต้น
ส่วนผู้โดยสารควรกลับไปนั่ง business class ตาม “สิทธิ” เดิมที่ควรได้
ถ้ามองในมุมผู้โดยสาร คือในเมื่อการบินไทยให้พวกเขาเลือกนั่ง first class ไปแล้ว นั่นก็คือ “สิทธิ” ที่พวกเขาควรได้รับ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในการบินไทยเอง ทำไมต้องมาลด “สิทธิ” ที่พวกเขาควรได้รับด้วย
“สิทธิ” คำเดียวกัน เขียนเหมือนกัน แต่ตีความหมายต่างกันจึงถูกใช้เข้าห้ำหั่นกัน
สงครามเย็นระหว่างกัปตันและผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงเกิดขึ้น
โดยมีผู้โดยสารที่เหลือเป็นตัวประกัน
ถ้าจะกล่าวว่า กัปตัน จับผู้โดยสารเป็นตัวประกันฝ่ายเดียวก็อาจจะไม่ค่อยถูกนัก
เพราะจริงๆแล้วผู้โดยสารที่ได้รับการ upgrade กลุ่มนี้ ก็จับผู้โดยสารที่เหลือเป็นตัวประกันเหมือนกัน
ถ้าจะมองให้ลึกลงไปอีก ผู้โดยสารกลุ่มนี้อาจมองว่า ทำไมต้องเป็นฉันที่เป็น “ผู้เสียสละ” เพราะยังมี คนอื่นๆอีกที่ซื้อตั๋วราคา business แต่จะยังได้นั่ง first class ต่อเพราะฉะนั้นทำไมพวกเขาต้องยอมด้วยล่ะ
.
ผมลองคิดเล่นๆดูว่า ถ้าผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจได้ บังคับให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้กลับไปที่นั่ง business ตามเดิมทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องมีใครเป็นผู้เสียสละ
และยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดในการจองที่นั่งของการบินไทยเอง โดยให้เหตุผลว่าจริงๆแล้วมีผู้โดยสารท่านอื่นที่ซื้อตั๋ว first class ไว้ก่อนหน้านี้แล้วแต่มีปัญหาเรื่องการจอง (ไม่ต้องบอกว่าเป็น deadhead pilot มาใช้สิทธิ)
ในเมื่อไม่มีใครเป็นผู้เสียสละ ก็จะไม่มีการเปรียบเทียบว่าทำไมมีแต่ฉันคนเดียวที่เสียสิทธิ
ก็จะไม่มีใครรู้สึกว่าเสียสิทธิ
ทุกคนกลับไปใช้สิทธิ business ตามเดิม เพราะผู้มีสิทธิ first class ที่เสียเงินตัวจริงมาใช้สิทธิแล้ว
ก็อาจจะไม่มีใครร้องเรียน เที่ยวบินก็อาจจะไม่ดีเลย์และเรื่องราวอาจจะไม่เลยเถิดถึงขนาดนี้
.
หรือจริงๆแล้ว ก็แค่ยอมให้ deadhead pilot นั่ง business ไปก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหากันภายในอีกที ก็คงไม่มีดราม่าจากสังคมขนาดนี้
แต่ก็อาจจะตามมาด้วยปัญหาภายในของกลุ่มนักบินเองที่อาจมองว่า ละเมิดกฎมาตรฐานความปลอดภัยของการบิน ไม่รักษาสิทธิเพื่อนร่วมอาชีพ กลับไปรักษาสิทธิของผู้โดยสารที่ไม่ควรได้ตั้งแต่ต้น
.
ที่กล่าวมาทั้งหมดผมไม่ได้ตัดสินว่ากัปตันหรือผู้โดยสารกลุ่มนี้ทำถูกหรือผิด
แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ยังไงก็คงต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในการแก้ปัญหา
ทุกการกระทำย่อมมีผลของการกระทำ
ทุกทางเลือกย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย
เหมือนที่ตอนนี้นักบินและการบินไทยต้องจ่ายกับกระแสดราม่าอยู่ตอนนี้ครับ
โฆษณา