Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
papaboy
•
ติดตาม
21 พ.ย. 2018 เวลา 09:08 • การเมือง
“ฉ้อโกง” หรือ “ผิดสัญญา” ?
เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานใดกันแน่ระหว่าง
• #ฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาที่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน หรือ
• คู่กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาเป็นเพียงแต่ #ผิดสัญญาทางแพ่ง ที่จะต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งเอาเอง ซึ่งปัญหาทำนองนี้ ฝ่ายผู้เสียหายก็มักจะอยากให้เป็นคดีความทางอาญา เพราะการติดตามทวงถามให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น มีมาตรการที่รุนแรงและรวดเร็ว
ทั้งนี้ตามหลักกฎหมายและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกานั้น การจะพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือผิดสัญญานั้น หาได้ขึ้นอยู่ตามความต้องการของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ แต่จะต้องพิเคราะห์ถึง
****“เจตนาขณะทำสัญญา” **** ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เพียงแต่ทำสัญญาหรือตกลงแบบส่งๆไป เพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณี เช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม ย่อมเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง
ซึ่งการพิเคราะห์ถึง “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่สัญญา ว่าขณะทำสัญญาตั้งใจจะปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ #ภายในจิตใจของคู่สัญญาคนนั้นๆ ดังนั้น จึงต้องใช้ #หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา โดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่างๆของทั้งสองฝ่ายมาวินิจฉัยประกอบกัน โดยมีตัวอย่างแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ดังนี้
1. พิจารณาจากความสามารถในการปฏิบัติตามสัญญาของคู่กรณีขณะทำสัญญา หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะทำสัญญานั้น คู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างแน่แท้ ไม่ว่าจะเพราะไม่มีความสามารถในการปฏิบัติตามสัญญา หรือ เพราะวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นไม่อาจปฏิบัติได้อย่างแน่แท้ เช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นได้ว่าคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ต้น มีเจตนาเพียงหลอกลวงเอาผลประโยชน์จากคู่กรณีอีกฝ่าย
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201-1203/2498 (หลอกให้ร่วมเงินลงหุ้น โดยให้ประโยชน์ในอัตราร้อยละ 50 ต่อเดือน ) คำพิพากศาลฎีกาที่ 1301/2547 (หลอกให้ร่วมลงทุนโดยจะให้ผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ 10-20 ต่อเดือน ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6196/2534 ,5876/2538 (หลอกลวงเอาเงิน โดยอ้างว่าจะไปทำงานที่ต่างประเทศ ทั้งๆที่ไมได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่มีความสามารถจะจัดส่งคนทำงานไปต่างประเทศ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6836/2543 (หลอกลวงเอาเงินโดยอ้างว่าจะไปติดต่อไถ่ถอนรถยนต์จากบุคคลที่สาม ทั้งๆที่ไม่รู้จักบุคคลที่สาม ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278-279/2501 (หลอกลวงเอาสินค้า อ้างว่าจะนำไปส่งให้ร้านค้าต่างๆ แต่ไม่มีร้านค้าอยู่จริง ใช้ชื่อร้านค้าปลอม หรือลอกเลียนร้านค้าที่มีอยู่จริง) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2533 (หลอกลวงให้ร่วมลงทุนซื้อขายทองคำ ทั้งๆตนเองไม่ได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551 (หลอกลวงว่าจะเอาเงินไปซื้อเบี้ยงเลี้ยงทหารล่วงหน้า ทั้งๆที่ไม่สามารถทำได้๗
แต่ถ้าหากขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญามีความสามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ ถึงแม้ภายหลังจะปรากฏพฤติการณ์อันทำให้คู่สัญญานั้นไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ ย่อมจะบ่งชี้ให้เห็นได้ว่า ไม่ได้มีเจตนาจะฉ้อโกง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูพฤติการณ์อื่นๆประกอบด้วย โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3784/2532 (ตกลงขายข้าวโพด รับเงินค่าข้าวโพดไปแล้ว ไม่ยอมส่งข้าวโพดให้ บอกว่าเปลี่ยนใจไม่ขายแล้ว และบอกว่าไม่มีเงินคืนให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้าวโพดอยู่จริงขณะที่ทำการซื้อขายกัน) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2548 (ตกลงขายหุ้น รับเงินค่าหุ้นไปแล้ว ไม่โอนหุ้นให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีหุ่นอยู่จริง) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2542 (รับเงินวางมัดจำรถยนต์ไว้แล้ว นำรถยนต์ไปขายผู้อื่นภายหลัง) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674-1675/2543 (ผู้จะขาย ไม่จำเป็นต้องเจ้าของกรรมสิทธิ์ขณะทำสัญญาซื้อขาย เพียงแต่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้จะซื้อได้เมื่อถึงกำหนดระยะ ซึ่งผู้จะซื้อทราบอยู่แล้วว่าผู้จะขายไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4379/2547 (แม้ผู้จะขายบ้านจัดสรร ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย แต่ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านจัดสรรไปบางส่วน และยังมีการจัดสรรที่ดินแบ่งเป็นภาระจำยอม มีการจัดสาธารณูปโภคเพื่อใช้เป็นประโยชน์ร่วมกันในโครงการ และได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อบางคนแล้ว ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2525 (หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว นำที่ดินไปขายฝากบุคคลอื่นทีหลัง และครบกำหนดไม่มีเงินไปไถ่ถอน)
2. พิจารณาว่า ภายหลังจากทำสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว ได้มีการปฏิบัติตามสัญญาบ้างแล้วหรือไม่ หากภายหลังทำสัญญาแล้ว คู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาได้มีการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้วบางส่วน แต่ไม่อาจปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงไปได้ภายหลัง ย่อมชี้ให้เห็นว่าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายนั้นไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรก ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2542 (หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านแล้ว ก็ส่งบ้านให้ครอบครอง เมื่อผู้เสียหายจะขอชำระเงินเพิ่มเติม ก็ไม่ยอมรับ เพราะยังไม่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19/2541 (หลังทำสัญญาซื้อขายแล้ว ส่งสินค้าให้จำนวน 2 ครั้ง ไม่ครบตามสัญญา ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6604/2540 (รับเงินไปปรับพื้นที่ทำการเกษตร และได้ทำการปรับพื้นที่ไปแล้ว รวมทั้งการร่างแผนโครงการ ติดต่อขออนุญาตกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ทำไม่เสร็จสิ้น) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3585/2534 และ 151/2527 (เคยทำการซื้อขายกันมาแล้วหลายครั้ง ภายหลังเกิดปัญหา รับเงินไปแล้วไม่ส่งมอบสินค้าให้ หรือส่งมอบสินค้าให้แล้ว ไม่ยอมชำระเงิน ย่อมเป็นเพียงเรื่องทางแพ่ง เพราะพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าทำการซื้อขายกันจริงๆมาแล้วหลายครั้ง ไม่ได้ตั้งใจมาฉ้อโกงแต่แรก)
แต่ถ้าหากภายหลังจากทำสัญญาแล้วไม่เคยปฏิบัติตามสัญญาเลยนับแต่ทำสัญญา ย่อมชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรก ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่102/2485 , 1719/2518 (หลังทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว นำรถหลบหนีไปทันที และไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลย ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551 (อ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนประกอบกิจการ แต่เมื่อรับเงินไปแล้วไม่ประกอบกิจการใดๆ)
3.พิจารณาว่า ภายหลังจากผิดสัญญาแล้ว มีการปฏิเสธความรับผิดทางแพ่งหรือไม่ หากภายหลังกระทำผิดสัญญาแล้ว คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญา ปฏิเสธความรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยอ้างว่าไม่ได้ทำสัญญา หรือทำสัญญาแต่ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ทั้งๆที่ความเท็จ ย่อมสามารถนำมาประกอบให้เห็นได้ว่าคู่กรณีฝ่ายนั้นตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่แรก อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2529 (ซื้อโคไป แล้วไม่นำค่าโคมาชำระ เมื่อถูกตามจับได้ อ้างว่าชำระแล้ว ) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1866/2543 (หลอกให้ผู้เสียหายรับซื้อฝากที่ดิน โดยชี้ที่ดินผิดแปลง และหลังทำสัญญาขายฝากแล้ว ไม่ขวนขวายหาเงินมาไถ่ถอนเลย) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2536 (ขณะทำสัญญาซื้อขาย รับรองว่า เช็คที่ผู้ซื้อจ่ายสามารถขึ้นเงินได้ หากขึ้นเงินไม่ได้จะรับผิดชอบเอง แต่เมื่อเช็คขึ้นเงินไม่ได้ อ้างว่าไม่ต้องรับผิด เพราะเป็นนายหน้าอย่างเดียว) ) คำพิพากษาศาลฎีกา 39/2552 (หลังจากรับสินค้าที่ซื้อไปแล้ว ไม่ชำระเงินตามกำหนด ปิดโทรศัพท์หนี) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2507 (รับสินค้าไป อ้างว่าจะขายต่อ แล้วไม่นำเงินมาให้ หลังเกิดเหตุ อ้างว่าไม่ได้รับสินค้าไปจากผู้เสียหาย )
แต่ถ้าหากภายหลังผิดสัญญาแล้ว คู่กรณียอมรับแต่โดยดีว่าผิดสัญญาและรับจะชดใช้ทางแพ่งให้ ก็อาจชี้ให้เห็นได้ว่าไม่มีเจตนาฉ้อโกงมาตั้งแต่แรก ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 927/2534 (หลังผิดสัญญาแล้วยอมรับว่าผิดจริง และยอมชดใช้ให้) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728/2542 (เมื่อขอคืนเงินก็รับว่าจะคืนให้ แต่ขอเลื่อนเวลาออกไปก่อน)
ทั้งนี้การที่พิจารณาว่า การผิดสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อกันนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกง หรือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งนั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆของคู่กรณีตามตัวอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และนอกจากนี้ในแต่ละคดียังมีข้อเท็จจริงอื่นๆที่ย่อมแตกต่างกันไป นอกเหนือจากตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ที่จะชี้ให้เห็นว่า คู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญานั้น ตั้งใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ต้น หรือไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ในภายหลัง อันจะทำให้สามารถชี้ขาดได้ว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง
#ปะป๊าบอย #นิติราม #พ่อค้ารถ #รถยนต์ใช้แล้ว #ผู้ประกอบการที่ดี #ชะนีรถ
1 บันทึก
6
5
1
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย