22 พ.ย. 2018 เวลา 16:58
ถ้ามีคนชวนให้คุณใช้ชีวิตแบบประหยัดด้วยการไม่กินอาหารนอกบ้านเลย
ซื้อเนื้อและวัตถุดิบที่ใกล้วันหมดอายุมาทำอาหารกินเอง
หรือเช่าห้องเล็กๆราคาถูก
หรือยืมล็อกอินเพื่อนดู Netflix ฟรี
หรือการอ่านหนังสือจากห้องสมุดเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือ
ทั้งๆที่คุณมีเงิน มีรายได้ ที่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้
แต่เพื่อที่จะได้ประหยัดและเก็บเงินให้ได้มากที่สุด
คุณจะทำตามคำชวนเขามั้ย
แน่นอนก่อนตอบคำถาม ก็คงต้องถามกลับเขาว่าแล้วจะประหยัดไปเพื่ออะไรล่ะ
คำถามนี้ Sylvia Hall มีคำตอบครับ
Sylvia อายุ 38 ปี มีอาชีพเป็นทนายความ ที่รัฐซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา
เธอวางแผนที่จะเกษียณตอนอายุ 40 ปี
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเธอจึงเลือกใช้ชีวิตแบบประหยัดตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
แนวทางการใช้ชีวิตของเธอมีชื่อว่า FIRE movement หรือ Financial Independence Retire Early movement
หมายถึงกลุ่มคนชั้นกลางที่มุ่งหวังความเป็นอิสระทางการเงินและเลิกทำงานก่อนวัยเกษียณเพื่อไปทำตามความปรารถนาที่แท้จริงของตน
ผู้เข้าร่วม FIRE movement มองว่าการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมเป็นการสูญเสียเวลาที่มีค่าในชีวิต
คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นคนยุค millenials และ Gen X
มักมีการศึกษาสูงและมีรายได้สูงกว่าคนทั่วไป
พวกเขาเห็นคนเข้าสู่วัยเกษียณมากมายที่ไม่มีความสุขเพราะไม่ได้เตรียมตัวเรื่องการเงิน
พวกเขารู้สึกว่าการที่จะหาความมั่นคงเรื่องรายได้จากการทำงานไปตลอด เป็นเรื่องไร้สาระ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาได้ผ่านช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว
โดยแนวทางหลักๆของกลุ่ม มีทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1.เก็บออมอย่างหนัก (50-70 % ของรายได้)
2.ใช้ชีวิตอย่างประหยัด (กินอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตนสามารถจับจ่ายได้)
3.ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงยไว้ใช้จ่ายตอนเกษียณ
โจนาธาน เมนดอนซา หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วม FIRE movement เล่าว่า อิสรภาพทางการเงินของพวกเขาหมายถึงการมีสินทรัพย์สุทธิมูลค่าราวๆ 25 เท่า ของรายจ่ายประจำปี
ดังนั้นผู้ที่ใช้เงินปีละ 40,000 เหรียญ หรือ 1.3 ล้านบาท จะมีอิสรภาพทางการเงินเมื่อมีสินทรัพย์มูลค่า 1 ล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 32 ล้านบาท
จากนั้นก็ยึดกฎ 4 % ในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ
นั่นคือแต่ละปีจะถอนเงินมาใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 % โดยคาดหวังว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะสามารถชดเชยส่วนที่ถูกถอนออกมาใช้จ่ายได้
ฟังดูดีนะครับ ตรงกับความฝันของใครหลายๆคนรวมทั้งผมด้วย
ไม่ต้องทำงาน ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ มีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
แต่มันจะทำได้ง่ายอย่างนั้นจริงๆเหรอครับ
แน่นอนว่านอกจากผู้เข้าร่วมต้องมีวินัยและมีความอดทนที่สูงแล้ว
การใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมแบบบริโภคนิยมก็เป็นสิ่งที่ท้าทายเหมือนกัน
และบางครั้งการเข้มงวดและจริงจรังมากเกินไปก็อาจจะทำให้กลายเป็นกลุ่มสุดโต่ง และสร้างความลำบากให้กับคนรอบข้างได้
Brandon วัย 36 ปี เริ่มหมุกมุ่นกับการประหยัดอดออม จนรู้สึกตัวเองไม่มีความสุข
เขาจะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้ง ที่เวลามีแขกมาค้างที่บ้านและใช้น้ำร้อนอาบน้ำเป็นเวลานาน เพราะนั่นหมายถึงค่าไฟที่เขาต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
หรือแม้กระทั่งจะหงุดหงิดมากถ้าแฟนของเขาสั่งอาหาร main course ราคา 15 เหรียญ แทนที่จะสั่งแซนด์วิชธรรมดาๆ ราคา 10 เหรียญ
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมมักจะมีไอดอลหรือกูรูต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตแบบประหยัดสุดๆ
ซึ่งกูรูเหล่านั้นมักจะเขียน blog ให้คนติดตามหรือเขียนหนังสือวางขายด้วย
เหมือนจะเป็นเรื่องดีที่มีคนที่ประสบความสำเร็จในการทำ FIRE มาบอกเคล็ดลับในการใช้ชีวิตให้ทำตาม
แต่กลับพบว่ากูรูเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินจากผลตอบแทนของการใช้วิธี FIRE อย่างเดียว แต่มีรายได้หลักจากการเขียน blog หรือเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับ FIRE ต่างหาก
FIRE blogger บางคนมีรายได้ถึง 400,000 เหรียญ หรือราว 13 ล้านบาท ต่อปีเลยทีเดียว
“ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วล่ะ ว่าทำไมผมใช้ชีวิตแบบประหยัดสุดๆ และทำตามอย่างที่พวกเขาบอกทุกอย่าง แต่ก็ยังเก็บเงินไม่ได้อย่างพวกเขาอยู่ดี”
ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งแสดงความเห็นไว้ หลังจากที่ได้ทราบแหล่งที่มารายได้ของเหล่ากูรูต่างๆ
และพบว่ายังมีความย้อนแย้งของการใช้ชีวิตแบบ FIRE เพราะผู้เข้าร่วมไม่เชื่อเรื่องความมั่นคงจากเงินเดือน แต่กลับเชื่อเรื่องการเกษียณจากความมั่งคงของรายได้จากการลงทุนแทน
ซึ่งแน่นอนว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง และเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาแล้วก็ต้องย่อมส่งผลกระทบของเงินลงทุนตรงนี้ไม่มากก็น้อย
และประเด็นสำคัญที่สุดของคนที่คิดจะเข้าร่วม FIRE movement ต้องถามตัวเองก็คือ ถ้าเราไม่ทำงานแล้ว ชีวิตที่เหลือต่อไปเราจะทำอะไร
สำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจน มีความฝัน มี passion ที่อยากทำต่อคงไม่มีปัญหา
แต่สำหรับคนที่อยากแค่เกษียณเร็วๆ เพราะไม่อยากทำงาน อยากสบาย แต่ไม่มีความฝัน หรือ passion อื่นๆนี้คงเป็นปัญหาแน่นอน
“การที่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากไปทำงานทุกๆวัน ได้พบปะเจอผู้คนมากมาย มาเป็นนั่งอยู่เฉยๆคนเดียวเหงาๆ นี้เป็นเรื่องที่แย่มากๆเลยค่ะ”
“ฉันเพิ่งได้รู้ว่าการได้ทำงานมีค่าต่อฉันขนาดไหน”
Pattee หนึ่งในผู้เข้าร่วม FIRE movement กล่าวไว้ ซึ่งตอนนี้เธอกำลังมองหางาน freelance ทำอยู่
บางครั้งการที่เราได้ทำงานที่เรารัก มีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีทีสุดแล้ว
เมื่อเรามีความสุขอยู่แล้วก็ไม่รู้จะรีบเกษียณไปทำไม
ในทางกลับกันถ้าเรามีความฝันที่ชัดเจนมากอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ และจะไม่ได้ทำแน่ๆ ถ้ายังทำงานประจำอยู่
FIRE movement ก็เป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง
ที่สำคัญคือต้องเราเตรียมวางแผนไว้เสมอ
ถ้าชีวิตหลังเกษียณไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิดไว้ เรารู้สึกเบื่อ เหงา ไม่มีคุณค่า เราจะทำยังไงต่อไป
คนใกล้ชิดเราจะเข้าใจ และพร้อมที่จะสนับสนุนเรามั้ย
ถ้าเกิดวิกฤติกับเงินลงทุนของเราขึ้นมา เราจะทำยังไง
ถ้าจำเป็นจริงๆ เราจะสามารถกลับไปทำงานได้อยู่รึเปล่า
ต้องคิดเผื่อกรณีที่เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในหลายๆทาง และวางแผนรับมือกับมัน
เพราะสิ่งที่ ”แน่นนอน” ที่สุดก็คือ “ความไม่แน่นอน”
กลับมาดูที่ Sylvia ทุกวันนี้เธอมีรายได้หลังจ่ายภาษีที่ประมาณ 270,000 บาทต่อเดือนและมีรายจ่ายค่าอาหารเพียงแค่ 2,400 บาทต่อเดือน ส่วนรายจ่ายอื่นๆเช่น ค่าเช่าห้อง หนี้ กยศ. เธอจะควบคุมไว้ไม่ให้เกิน 30% ของรายได้
หลังจากเกษียณ เธอวางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ และ ไปเยี่ยมเพื่อนๆ และครอบครัว
เธอวางแผนไว้แล้วว่า ถ้าเกิดวิกฤติหรือปัญหาในการลงทุน เธอจะสามารถปรับการใช้ชีวิตให้อยู่รอดได้
“ฉันไม่มีความรู้สึกอยากได้ อยากมี หรืออยากเป็นเจ้าของวัตถุสิ่งของต่างๆมากมาย”
“ฉันใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอดและฉันก็มีความสุขดี ฉันไม่เคยรู้สึกว่าชีวิตฉันขาดอะไรไป”
“ถ้าฉันมีรายได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า ชีวิตฉันก็คงไม่เปลี่ยนอะไร ฉันก็คงไม่ได้มีความสุขมากขึ้นอะไร”
“ตอนนี้ฉันมีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว”
พอได้ฟังที่ซิลเวียให้สัมภาษณ์แล้ว ผมเชื่อจริงๆครับว่า เธอจะมีความสุขในการใช้ชีวิตหลังเกษียณของเธอ
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการวางแผนการเกษียณครับ
โฆษณา