30 พ.ย. 2018 เวลา 10:22 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้ได้อย่างไรว่าเข้าหน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว ?
ปีนี้ ทางการประกาศว่า วันที่ 27 ตุลาคม 2561 คือวันเริ่มต้นหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ
เคยสงสัยไหมคะเราใช้อะไรกำหนดว่า วันไหนคือหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ ?
เมย์ก็สงสัย เลยโทรไปสอบถาม “ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา” ค่ะ เจ้าหน้าที่น่ารักมากเลย และอธิบายให้ฟังว่า การจะตัดสินว่าวันไหนจะเป็นหน้าหนาวอย่างเป็นทางการนั้น ดูที่ 3 ปัจจัย
ทิศทางลมและความเร็วลม อันนี้เป็นหลักใหญ่สำคัญของหน้าหนาวเลยค่ะ .. ทิศทางลมจะเปลี่ยนอย่างเด่นชัด จากลมฝนที่พัดมาจากแถวอินเดียทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้เป็นลมหนาวที่พัดมาจากมองโกเลียและจีนตอนบนทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
พอช่วงหน้าหนาวมองโกเลียหนาวจัดค่ะ ส่วนมากวันทั้งวันอุณหภูมิต่ำว่า 0 องศาตั้งแต่เช้าถึงมืดเลย
ก็เลยถามต่อไปว่า ทิศทางลมจะเปลี่ยนอย่างเด่นชัดนี่ใช้อะไรวัดคะ ?
คำตอบคือ ก็ใช้ความเร็วลมในแต่ละระดับ ลมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ระดับล่าง กับ ระดับบน ซึ่งจะวิ่งสวนกันคนละทาง ปกติแล้ว ยิ่งสูงยิ่งหนาว และยิ่งสูงยิ่งความดันต่ำค่ะ ในหน้าหนาว ลมที่บอกว่าพัดมาจากมองโลเลียที่เอาอากาศหนาวมาด้วยคือลมระดับล่างค่ะ ส่วนลมระดับบนจะวิ่งจากไทยขี้นไปข้างบนค่ะ
แต่แม้จะอยู่บนความสูงเท่าเดิมความดันก็เปลี่ยนได้นะคะหากว่าลมมีความเร็ว และซึ่งความดันนี่เองที่จะเป็นตัวบอกว่ามีลมพัดมาหรือยัง แรงแค่ไหน  เช่น ลมระดับที่ความสูง 600 เมตรมีความดัน 950mbar (มิลลิบาร์) พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวเลขเหล่านี้ก็จะเป็นตัวกำหนดว่าจะเป็นหน้าหนาวหรือยังค่ะ
อนึ่ง ณ ระดับน้ำทะเล ความดันจะอยู่ที่ 1,013.25 mbar (มิลลิบาร์) แต่ถ้าสูงขึ้นไปความดันจะลดลงอีก ลมระดับบนที่อยู่ใกล้เราที่สุดมีความดัน 850 mbar (มิลลิบาร์) ค่ะ ถ้าความดันสูงกว่านั้นเป็นลมระดับล่างค่ะ
ส่วนเครื่องบินนี่ บินอยู่ที่สูงมากๆ ประมาณ 10 กม. คือว่าบินไปกับลมชั้นบนค่ะ ความดันต่ำมาก ประมาณ 200mbar ค่ะ (และลมนี่ก็จะช่วยทำให้บินเร็วขึ้น หรือไม่ก็ช้าลงด้วยนะคะ เวลาบินไปไกลๆจะสังเกตได้ว่าบางครั้งเวลาไปกับกลับเครื่องบินจะใช้เวลาไม่เท่ากัน)
ปริมาณฝนลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนเลย ไม่ได้แปลว่าฝนไม่ตก แต่ว่าฝนจะตกน้อยลงอย่างมากค่ะ
อุณหภูมิที่ต่ำลง โดยจะเห็นชัดที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทยมี 3 ฤดู ซึ่งจะเข้าหน้าหนาวในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม แต่ประเทศที่ฝนตกชุก เช่นฟิลิปินส์ กับ อินโดนีเซีย เค้าไม่มีหน้าหนาวเหมือนเรานะคะ มีแค่ 2 ฤดู คือ Wet (ฝน) กับ Dry (แล้ง) เท่านั้นค่ะ
ส่วนยุโรป จะเข้าหน้าหนาวช้ากว่าเรา ส่วนมากจะไปเริ่มหน้าหนาวก่อนคริสมาสต์ไม่กี่วัน และไม่มีหน้าฝนค่ะ ฝนจะไปตกหน้าร้อนแทน ส่วนประเทศซาอุฯ ฝนจะตกในฤดูหนาวค่ะ
ประเทศที่อยู่เหนือๆ หรือ ใต้ๆไปมากๆจะมี 4 ฤดู คือ ร้อน ใบไม้ร่วง หนาว ใบไม้ผลิ วนเรียงกันแบบนี้ค่ะ และไม่ได้ใช้ทิศทางลมเป็นตัวกำหนดฤดูเหมือนเรา แต่ว่าใช้เวลาที่ได้รับแสงอาทิตย์ในแต่ละวันเป็นตัวกำหนดฤดูค่ะ เราอาจจะเคยได้ยินว่าหน้าหนาวมืดเร็ว ถ้าเป็นเมืองนอก ในหน้าหนาวบางครั้ง 6 โมงเย็นก็มืดไม่เห็นอะไรแล้วนะคะ
เมย์เคยไปที่ออสเตรเลียช่วงคริสมาสต์ อันนี้ฤดูจะกลับกับยุโรป คริสมาสต์เป็นหน้าร้อนทุ่มกว่ายังสว่างจ้าอยู่เลยค่ะ และเวลาออสเตรเลียหนาว ยุโรปก็จะร้อนค่ะ
สรุปแล้ว การบอกฤดูของแต่ละประเทศในแต่ละส่วนของโลกก็จะแตกต่างกันออกไปนะคะ
ประเทศไทย จะบอกฤดูโดยการดูทิศทางการเปลี่ยนของลมเป็นหลักค่ะ มี 3 ฤดู
ประเทศที่มี 4 ฤดู ก็จะใช้ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ได้รับเป็นหลักโดยไม่ได้ดูทิศทางลมเลย
และแม้จะเป็นชื่อฤดูเดียวกัน เช่น ฤดูหนาว เราก็เริ่มกันคนละเวลากับยุโรปนะคะ และฤดูหนาวของแต่ละประเทศก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ภูมิประเทศอีกด้วยค่ะ
สุดท้ายนี่ก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ใจดีของศูนย์ภูมิอากาศที่ให้ข้อมูลอย่างเต็มใจและเต็มที่ด้วยนะคะ
โฆษณา