2 ธ.ค. 2018 เวลา 09:03 • ปรัชญา
"ความสัมพันธ์มีขีดจำกัด"
อาจเคยมีคนตั้งคำถามสงสัยว่า
- ทำไมคนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนสนิทของเรา ถึงกลับไม่รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนสนิทของเขา
- ทำไมเมื่อเจอเพื่อนสนิทเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีกครั้งในงานเลี้ยงรุ่น กลับไม่มีอะไรจะคุยกัน
- ทำไมยิ่งเป็นผู้ใหญ่ การเป็นเพื่อนกับใครสักคนถึงยากจัง
คำถามเหล่านี้ สามารถตอบได้ด้วยแนวคิดของ Robin Dunbar ครับ
Dunbar ได้ทำการศึกษาจนทราบว่า การที่คนเราจะสร้างความสัมพันธ์กับใครได้นั้น ต้องอาศัยการทำงานของสมองส่วน Neocortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และจดจำ (Cognition and learning) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การที่เราจะเป็นเพื่อนกับใครสักคนได้ มันก็ผ่านกระบวนการใกล้เคียงกับการเรียนหนังสือนั่นแหละ ซึ่งถ้าจำสมัยเราเป็นนักเรียนได้ เราก็จะจำได้ว่าการโหมอ่านหนังสือเยอะ ๆ ตอนช่วงใกล้สอบ จะเกิดภาวะ "สมองตัน" คืออ่านยังไงก็ไม่สามารถรับเนื้อหาที่อ่านเข้าไปได้อีกแล้ว ...และเนื่องจากว่าการสร้างความสัมพันธ์ก็ใช้สมองส่วนเดียวกันกับการเรียนรู้
ก็เลยหมายความว่า การจะสร้างความสัมพันธ์ก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน
คนปกติจะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้จำกัดอยู่ที่ 100-250 คน (แตกต่างกับไปขึ้นกับบุคลิกของแต่ละคน รวมถึงปัจจัยรอบข้าง ณ ขณะนั้นด้วย) ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งค่าเฉลี่ยของคนปกติในการสร้างความสัมพันธ์จะอยู่ที่ 147.8 คน ตีว่าเท่ากับ 150 คน ... จำนวนนี้เรียกว่า Dunbar's Number
1
นั่นหมายถึงว่า คนเราจะมีเพื่อนที่รักษาความสัมพันธ์ "ได้อย่างใกล้ชิด" ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้ประมาณ 150 คน
ซึ่งต่อมา Dunbar และคณะได้ทำการศึกษาต่อและพบว่า ในจำนวน 150 คนนี้ เราจะมีการแบ่งระดับความสัมพันธ์ออกเป็นหลายระดับอีก ประกอบด้วยระดับใกล้ชิดที่สุดจะมีประมาณ 5 คน และในระดับที่รองลงไปที่จะมีจำนวนเป็น 3 เท่าของระดับก่อนหน้า ดังนั้นตัวเลขจึงเป็น 5 - 15 - 50 และ 150 ตามลำดับ ลักษณะของความสัมพันธ์เป็นลำดับขั้นนี้ เรียกว่า วงแห่งความสนิทสนม (Circle of Acquaintanceship)
เพื่อให้เห็นภาพเลยจะยกตัวอย่างว่าแต่ระดับของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง
- ระดับ "เพื่อนรัก" 5 คน จะเป็นคนที่ใกล้ชิดที่สุดในชีวิต มักจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือคนรัก
- ระดับ "เพื่อนสนิท" 15 คน จะเป็นคนอื่น ๆ ที่เราผูกพันค่อนข้างมากในชีวิต เช่น เป็นเพื่อนในกลุ่ม
- ระดับ "เพื่อน" 50 คน จะเป็นคนที่เราต้องได้พบปะบ่อย ๆ ในชีวิตจริง เช่น เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนที่ทำงานในห้องเดียวกัน
- ระดับ "กลุ่มของฉัน" 150 คน เป็นคนที่เรารู้จักและเคยเห็นหน้า มีความสัมพันธ์ระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ได้สนิทสนมมาก เช่น เพื่อนร่วมคณะและชั้นปีเดียวกัน เพื่อนที่ทำงานในหน่วยงานเดียวกันแต่คนละฝ่าย
- ระดับ "คนรู้จัก" 500 คน เป็นคนที่เราคุ้นหน้าและมีความสัมพันธ์ด้วยเล็กน้อย แต่เราจะไม่รู้สึกสนิทอะไรกับเขา เช่น เพือนในมหาวิทยาลัยที่เจอกันตอนทำกิจกรรม รปภ ที่ตรวจบัตรหน้าที่ทำงาน
- และระดับสุดท้าย 1500 คน คือจำนวนคนมากที่สุดที่คนเราจะสามารถจดจำได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
แต่ละระดับสามารถแบ่งได้ด้วย "ความใกล้ชิดกันทางอารมณ์" (Emotional Intimacy) อธิบายก็คือ คนที่เรากล้าเล่าความลับให้ฟัง คนที่เราอยากปรับทุกข์ด้วย คนที่เรานึกถึงไม่ว่าจะยามสุขหรือทุกข์ เพื่อนที่เรามีความรู้สึกลักษณะนี้มากๆ ก็จะยิ่งอยู่ในระดับที่ใกล้กับตัวเรามากขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่พบว่ามีส่วนสำคัญในการพิจารณาว่า เพื่อนคนไหนอยู่ในระดับใดของเรา คือ เวลาที่เราใช้ในการติดต่อในแต่ละวัน โดยพบว่าเพื่อนในระดับสนิทมากเราจะใช้เวลากับเขา "โดยสมัครใจ" ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน (0.37 วันต่อคน) และระยะเวลาตรงนี้จะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับของความสัมพันธ์ โดยพบว่าเพื่อนในระดับ "กลุ่มของฉัน" นั้น บางครั้งยังไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันเลยก็ได้
1
อธิบายมาถึงตรงนี้จึงพอจะบอกได้ว่า ทำไมคนที่เรารู้สึกว่าสนิทด้วยถึงไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนสนิท นั่นเป็นเพราะเราอาจจัดเขาให้ไปอยู่ในวง "สนิท" แต่เขาอาจจัดเราไปอยู่ในวง "เพื่อน" เฉย ๆ ครับ Circle of Acquaintanceship นี้เป็นของใครของมัน และไม่จำเป็นว่าคนสองคนจะจัดให้อีกฝ่ายอยู่ในระดับเดียวกันก็ได้
5
และที่ผมเขียนย้ำมาตลอดบทความครับว่า ระดับความสัมพันธ์ของแต่ละคนนั้นจะรักษาได้แค่ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ หากเวลาผ่านไปหรือมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป คนเราอาจมีการจัดการ List ระดับความสัมพันธ์ใหม่ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น เรามีเพื่อนสนิทจากที่ทำงานเก่า พอเราย้ายที่ทำงานเพื่อนสนิทคนเดิมจะถูกลดระดับลงไปเป็นเพื่อนเฉย ๆ โดยที่เราเองก็ไม่ทันรู้ตัวเหมือนกัน และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเราเจอเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนานมาก บางครั้งเราถึงไม่ได้รู้สึกสนิทกับเขาเหมือนเดิม
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมพอเราแก่ตัวขึ้นเราถึงสร้างเพื่อนใหม่ได้ยาก ตรงนี้ก็เป็นเพราะว่าจำนวนความสัมพันธ์ของคนเราเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วจะ "เต็มอยู่แล้ว" ครับ ดังนั้นการที่เราจะขึ้นไปแทนระดับที่สูง ๆ ได้จะต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงมากกว่าคนที่เป็นเพื่อนกับเขาอยู่แล้วมาตั้งแต่เด็ก (ซึ่งหลายครั้งมักจะถอดใจเองไปก่อน) แต่ถ้าเป็นกรณีตรงกันข้าม ถ้าเราอยากได้คนที่รู้จักใหม่มาแทนคนในตำแหน่งเดิม เราจะทำการลดระดับความสัมพันธ์ (Devaluation) คนที่อยู่ในระดับเดิมเพื่อให้คนใหม่เข้าไปแทนได้ (ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ถ้านึกตามไม่ทันให้ลองจินตนาการถึงวิธีการที่คนที่มีแฟนอยู่แล้วแต่ไปเจอคนใหม่ที่เขาคิดถึงแฟนคนปัจจุบันของตัวเองนะครับ นั่นแหละการ Devaluation ซึ่งคนบางคนจะมีการ Devaluation เพื่อนของเขาอยู่บ่อย ๆ เช่น ผู้ที่เป็น NPD ตามที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
จากการศึกษาของ Dunbar ทำให้เราทราบอย่างหนึ่งว่า การที่เราจะสร้างเพื่อนในระดับที่ใกล้ชิด ซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนที่ถือว่ามีคุณภาพสูงนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและต้นทุน (เช่นความพยายาม) อย่างมาก กว่าจะได้เพื่อนสนิทมาสักคนต้องใช้เวลาใช้ความพยายามสูงมากทีเดียว (ในงานวิจัยกล่าวว่า สามารถอธิบายได้ด้วยสมดุลของแนช (Nash's Equilibrium) ได้ด้วย)
ดังนั้น หากมีใครสักคนที่จัดเป็น "เพื่อนแท้" ของเรา จงเก็บรักษาเขาไว้ให้ดี ๆ นะครับ
Reference:
1. R.I.M.Dumbar. 1992. Neocortex size as a constraint on group size in primates. Journal of Human Evolution. 22(6): 469-493.
2. A.Sutcliffe, R.I.M.Dunbar, J.Binder, H.Arrow. 2011. Relationships and the social brain: Integrating
psychological and evolutionary perspectives. British Journal of Psychology. 103(2): 149-168.
Reference รูปประกอบ: AP Photo/Binsar Bakkara
โฆษณา