Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เซลส์นอกตำรา
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2018 เวลา 02:09 • ไลฟ์สไตล์
คุณค่าของงานที่ทำ
เคยนัดเพื่อนสมัยเรียน ม. ปลาย กับมหาลัยกินข้าว (เหล้า) กันมั๊ยครับ
นับตั้งแต่ผมเรียนจบจากปริญญาโทจากเมืองนอก ผมก็แทบไม่ได้เจอพวกมันอีกเลย ถ้านับอายุตอนที่จบก็น่าจะประมาณ 28-29 ปี ในอายุประมาณนี้ หลายๆ คนก็เริ่มจะเติบโตในสายงานของตนเอง หรือใครที่โดดเด่นหน่อยก็เริ่มมองลู่ทางในการเป็นเจ้าของกิจการ เรื่องเงินทองแทบไม่ต้องพูดถึง ถ้าทำงานมาต่อเนื่องตั้งแต่เรียนจบ ระดับเงินเดือนก็น่าจะมากกว่าผมเกือบเท่าตัว
1
ส่วนตัวผมเองที่ตั้งแต่กลับมา มาช่วยป๊าทำบริษัทเล็กๆ ของเรา เริ่มต้นทำงานเป็นเซลส์ธรรมดาๆ คนนึง (งานที่แม้แต่คนจบ ป. ตรี ไม่มีประสบการณ์ก็ทำได้) ก็เริ่มรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเป็นธรรมดา
ความน้อยเนื้อต่ำใจก็มีสาเหตุของมันสารพัดอย่าง หลักๆ เลยก็คือ เรื่องเงิน ถึงแม้ผมจะเป็นเซลส์ที่มียอดขายไม่ขี้เหร่นัก จากความกะล่อนและเอาตัวรอดของตนเอง แต่พ่อผมก็ให้เงินเดือนในระดับที่ว่า “เหมาะสม” เมื่อเทียบกับขนาดออฟฟิศ และความคุ้มค่าในการจ้างผม หากเมื่อเทียบกัน ผมเคยคิดว่าถ้ายังทำงานในสายงานออกแบบต่อไปตามสเตปของมัน เงินเดือนเราจะมากกว่านี้มั๊ยว๊า
อีกประการเวลานัดเจอเพื่อนที่นานๆ จะได้เจอกันที ก็มักจะมีคำถามยอดนิยมประมาณว่า “ เฮ้ย เป็นไงวะ ทำไรอยู่ “ หรือ
“ โบนัสกี่เดือนวะ ปีนี้ “ บางคนหนักข้อเข้าก็เริ่มบ่นถึงการมีลูกน้อง การบริหารทีมของตนเอง แบบไม่ได้ตั้งใจจะข่มเพื่อนที่ด้อยกว่า แต่เซลส์ตัวน้อยๆ อย่างผมก็ได้แต่รับฟังแล้วหัวเราะแหะๆ (ลำพังตัวกูเองยังเอาไม่รอดเลย)
จริงอยู่ทุกคนอาจจะคิดว่า ผมมีทางลัดไม่ต้องไปลำบากแบบคนอื่นที่ได้สานงานต่อจากครอบครัว แต่กระนั้นก็ดี บริษัทของเราก็เป็นเพียงกิจการเล็กๆ ที่แค่พอจะเลี้ยงคนในบริษัทให้อยู่รอดปลอดภัยมีกินมีใช้ไม่ลำบากเพียงแค่นั้น อาจจะไม่ใช่มรดกบริษัทที่มียอดขายปีละเป็นร้อยๆ ล้านซะเมื่อไหร่
ผมไม่ทราบหรอกว่าคนอื่นๆ เค้ามองความก้าวหน้ากันแบบไหน แต่พอเปรียบเทียบเงินเดือนและฐานะทางสังคมระหว่างผมกับเพื่อนมันก็อดคิดไม่ได้ว่า
ผมอาจจะตัดสินใจผิดที่กลับมาทำงานที่บ้าน
1
ผมจึงได้แต่เก็บมาคิดไว้ในใจ ก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป โดยหวังว่าสิ่งที่ทำมันคงจะก่อดอกออกผลมาซักวันนึง
ขณะเดียวกันก็คิดไปด้วยว่า ไหนๆ เราก็เลือกทางนี้ไปแล้ว ลองมาลุยให้สุดลิ่มทิ่มประตูกันดูซักตั้ง
แล้วโชคชะตาก็นำพาชีวิตให้ผมมาพบกับคนที่มีอิทธิพลคนนึงในชีวิตเซลส์แมนอย่างผม
พี่โจ้ง วีระชัย
ก่อนหน้าที่ผมจะได้พบกับพี่โจ้ง ยอดขายผมเริ่มไต่มาในระดับเฉียดๆ แสนต่อเดือนบ้าง แสนต่อเดือนบ้าง แต่ก็ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แม้จะได้พี่สมคิดมาเป็นลูกค้าประจำที่สร้างยอดต่อเดือนได้ไม่น้อย แต่ด้วยความที่ลูกค้าคนอื่นอาจจะยังไม่มากพอที่จะสร้างยอดขายของผมให้ถึงหลักแสนต่อเดือนได้ บวกกับภาวะกำลังใจที่เกิดจากการเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับคนอื่น ก็ทำให้ไฟที่เคยลุกโชนเริ่มจะมอดลงเรื่อยๆ ผันตามกับจำนวนลูกค้าที่หาในแต่ละวันก็เริ่มลดลง ต่อให้หาเพิ่มมาก็คงสร้างยอดได้ไม่เยอะ หาไปก็เท่านั้น จะเรียกว่าท้อถอยก็คงจะไม่ผิดนัก
แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีสินค้าอยู่ตัวนึงที่พ่อแนะนำให้ผมรู้จัก เรื่องมันเริ่มมาจากว่า ลูกค้าประจำของบริษัทมีความต้องการหาน้ำมันชนิดนึงที่ติดมาจากเครื่องที่ต่างประเทศ ราคาต่อลิตรจัดว่าสูงพอสมควร และด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ พ่อผมมีการสต็อกสินค้าตัวนี้ไว้พอดี จึงทำให้เรามี reference ที่จะนำน้ำมันตัวนี้ ไปขายกับเครื่องจักรชนิดนี้ที่เริ่มมีการนำเข้ามาใช้มากมาย ในแถบสมุทรสาคร และมหาชัย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมออกไปบุกตลาดทางโซนนั้นดู (ก็เนื่องจากบริษัทผมมีเซลส์อยู่แค่สองคนนี่นะ ไม่ใช่พี่แว่นก็ต้องเป็นผมล่ะ) เนื่องจากราคาของเราถูกกว่าเกือบครึ่ง
1
ผมพบกับพี่โจ้งจากการไปเดินงานแสดงสินค้าที่ อิมแพค เมืองทองธานี
หลายๆ คนไปเดินงานเหล่านี้เพื่อจะไปหาสินค้า หรือซื้อสินค้า แต่สำหรับเซลส์แมนอย่างเราๆ งานเหล่านี้แหละเป็นงานขายของชั้นดี ฮ่าฮ่า ผมในตอนนั้นหาลูกค้าไม่มากเวลาว่างย่อมมากกว่าปกติอยู่แล้ว
ผมเปรียบเสมือนพ่อค้าร้านซูชิที่ไปเดินเลือกปลาที่ตลาดสึกิจิตอนตีสามเลยทีเดียว ลองคิดดูว่าจะมีที่ไหนล่ะ ที่รวบรวมเอาลูกค้ามาเป็นกองพะเนินเท่างานแสดงสินค้าแบบนี้
ลูกค้ามากมายขนเซลส์ทั้งบริษัทมาออกบูธเพื่อหาลูกค้า ซึ่งอันที่จริง พี่โจ้งไม่มีความจำเป็นต้องมาที่บูธด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่โรงงานแกเป็นโรงงานขนาดไม่ใหญ่นัก และแกก็เป็นผู้จัดการโรงงาน คงตกกระไดพลอยโจนให้มาประจำบูธ
1
“ สวัสดีครับ พอดีผมมาจากบริษัท.......ขายสินค้าที่ใช้กับเครื่อง.......ไม่ทราบทางโรงงานมีใช้บ้างมั๊ยครับ ” ผมพูดพร้อมยื่นนามบัตรให้แก
พี่โจ้งสีหน้าตะลึงเล็กน้อย แกคงไม่คิดว่าบูธที่เปิดมาเพื่อขายของจะกลายเป็นว่าแกกลับโดนขายซะเอง
“ นี่น้องมาได้ไงเนี่ย ที่นี่เค้ามาออกบูธหาลูกค้ากัน ไม่ใช่ให้ลูกค้ามาขายของเค้า “ พี่โจ้งตอบกลับมาด้วยความประหลาดใจ
“ พอดีผมเดินผ่านมาแล้วมีนามบัตรติดไว้พอดีน่ะครับ “ ผมนึกในใจว่า ดีนะไม่ได้ยื่นแคตตาล็อคให้แกด้วย
ปกติเวลาแวะไปตามบูธ คนรับหน้ามักจะเป็นเซลส์และให้เบอร์ติดต่อมาว่า “เดี๋ยวน้องโทรมาวันหลังนะ มาติดต่อคุณ......”
เพราะคงไม่มีใครเอาช่างหรือหัวหน้าช่างมาเฝ้าบูธ ซึ่งที่ผมต้องการก็คือแค่นั้นแหละ รายชื่อโรงงาน และผู้ติดต่อ
เพียงแต่แวบแรกที่เห็นพี่โจ้ง ผมสัมผัสได้ทันทีว่าแกไม่ใช่เซลส์ ไม่ใช่เจ้าของโรงงาน แกดูไม่กลมกลืนกับคนทั้งบูธนั่นเลย
ผมเดาว่าถ้าแกไม่ใช่ผู้จัดการโรงงาน ก็ต้องเป็นหัวหน้าอะไรซักอย่าง ละผมก็เดาถูก
1
“ จริงๆ เราก็มีเครื่องจักรที่ว่านั่นอยู่ แล้วพี่จะแน่ใจได้ไงว่าน้ำมันของน้องใช้ได้จริง ถ้าใช้ไม่ได้เครื่องพี่พังน้องรับผิดชอบมั๊ย ”
“ ใช้ได้แน่นอนครับ ผมเคยขายกับโรงงานที่มีเครื่องประเภทเดียวกับพี่มาแล้ว “ ผมตอบแบบมั่นใจ
“ งั้นน้องไปหาพี่ที่โรงงาน แล้วค่อยมาคุยกัน” พี่โจ้งตอบมา ผมรีบขอเบอร์มือถือแกไว้ เตรียมพร้อมสำหรับไปหาแกอาทิตย์หน้า
1
ผมมาทราบในภายหลังเพราะแกเล่าให้ผมฟังว่า แกชอบในความใจกล้าของผม มีที่ไหนคนเค้ามาหาลูกค้า มึงเสือกหน้าด้านมาขายของ
หลังจากนั้นไม่นานผมก็ไปหาแกที่โรงงาน
บทสนทนาระหว่างผมกับพี่โจ้งเป็นไปอย่างไหลลื่นและถูกคอกันเป็นอย่างมาก จังหวะนั้นเรื่องขายของกลายเป็นเรื่องรองไปแล้วสำหรับผม การพูดคุยกับพี่โจ้งในครั้งแรกผมสัมผัสได้ทันทีถึงคำว่า “ถูกชะตากัน” โดยไม่ต้องอาศัยใครแนะนำมา หรืออาศัยความกะล่อนของผมเลยแม้แต่น้อย
พี่โจ้งเป็นผู้จัดการโรงงานมืออาชีพ แกอยู่มาเป็นสิบโรงงานในแถบมหาชัย (สำหรับคนที่ไม่ทราบ มหาชัยเป็นแหล่งที่มีโรงงานเล็กใหญ่กระจุกตัวกันอยู่มากที่สุดแล้ว) หน้าที่ของแกส่วนมากคือการไปวางระบบ พอเริ่มลงตัวแกก็จะร่อนไปโรงงานอื่น ซึ่งผมมาทราบอีกในภายหลังว่าสถาบันที่พี่โจ้งจบมา
แกสามารถจะไปทำงานโรงงานฝรั่ง โรงงานญี่ปุ่น รับเงินเดือนหลักสองแสนได้สบายๆ แต่สิ่งที่แกเลือกทำกลับเป็นอะไรที่ทำให้ผมทึ่งในความคิดของแกเป็นอย่างมาก
“ พี่เกิดที่นี่ เดินเล่นที่ท่าฉลอมตั้งแต่เด็กๆ พอเรียนจบมาทำงาน ก็อยากทำงานแถวๆ บ้านนี่แหละ ใครจะไปเป็นเจ้าของโรงงาน ทำงานกับฝรั่ง ญี่ปุ่น อะไรก็ช่างหัวแม่ง ” พี่โจ้งยืนยันหนักแน่น
จะว่าไปมันก็จริง ผมคิดว่าระดับความสามารถของพี่โจ้ง น่าจะไปทำอะไรแบบนั้นได้สบายๆ
นอกจากนั้นแล้วพี่โจ้งยังเคยสมัครเป็นอาจารย์พิเศษ สอนโรงเรียนช่างกลอาชีวะแถบนั้นอีกหลายโรงเรียน พี่โจ้งบอกผมว่า
“คนพวกนี้อย่ามองแค่ภายนอก แท้ที่จริงเค้ามีความสามารถ เพียงแต่ต้องชี้ทางให้ถูก เมืองไทยเราขาดช่างแรงงานพวกนี้ มีแต่พวกจบปริญญาตรี พอมาทำโรงงานก็จะเป็นผู้บริหารท่าเดียว มึงซ่อมเครื่องยังไม่เป็น จะไปบริหารอะไรเค้า”
“ ทำแบบนี้พี่มีความสุข ได้เห็นคนที่เราเคยสอนเคยปั้น ตั้งแต่มันเป็นแค่ช่างเชื่อมเหล็ก กลายเป็นผู้จัดการตามโรงงาน เห็นละมันชื่นใจ “
การที่พี่โจ้งทำแบบนี้ มันทำให้แกเป็นคนที่มีเครือข่ายใยแมงมุม (ในหมู่ช่าง) กว้างขวางมากในมหาชัย และผมก็ได้อานิสงฆ์จากการที่ได้รู้จักแกนี่แหละ ทุกครั้งที่ไปหาพี่โจ้ง แกมักจะแนะผมว่า
“ไปโรงงงานนี้สิ ไปหาไอ...... เอาเบอร์มือถือไป”
ช่างบางคนบอกตรงๆ ถ้าไม่ได้บอกว่าพี่โจ้งแนะนำมา แทบจะถีบเซลส์กระเด็นตั้งแต่อยู่หน้าป้อมยามแล้ว (ดุพอพอกับร็อดไวเลอร์)
หลังจากได้พบกับพี่โจ้งสิ่งที่ผมได้ค้นพบก็คือ เงินไม่ใช่คำตอบของความสุข, สำเร็จ เสมอไป
เหตุผลของความน้อยเนื้อต่ำใจของผมน่าจะมาจากระดับเงินเดือนที่เมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันมันช่างน้อยกระจ้อยร้อยเสียเหลือเกิน พาลเชื่อมโยงไปถึงความก้าวหน้าของตนเองในวัยเฉียดสามสิบ
ผมเริ่มถามตัวเองว่าละกับสิ่งเรากำลังทำอยู่ล่ะ “คุณค่า” ของมันอยู่ตรงไหนกัน
ไม้บรรทัดในการชี้วัดความสำเร็จหรือคุณค่าของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป อยู่ที่เราเลือกเอาสเกลไหนมาวัด เพียงแต่ว่าเงินอาจจะเป็นสเกลที่เป็นสากลและง่ายที่สุด แต่ใครกันที่บอกได้ว่ามันถูกต้องเสมอไป
สเกลความสำเร็จบางทีอาจเป็นว่า “ เราทำประโยชน์ให้คนรอบตัวมากแค่ไหน “ หรือในสเกลที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น “ เราทำประโยชน์ให้สังคม (หรือประเทศ) ที่เราอยู่ในระดับไหน “
สำหรับพี่โจ้งผมตอบเลยว่า ในสังคมที่แกอยู่ แกได้สร้างประโยชน์มากมาย แม้จะเป็นแค่สังคมเล็กๆ ในจังหวัดๆ นึง แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความสุขเล็กๆ ให้กับแก
นั่นเองทำให้ผมตระหนักเลยว่า “คุณค่า” ของงานที่ทำ อยู่ที่ว่า “ประโยชน์” ที่มันสร้างว่าแผ่วงกว้างเป็นรัศมีใหญ่แค่ไหนรอบๆ ตัวเรา
สำหรับตัวผมเองอาจจะไม่ยิ่งใหญ่ระดับ พี่โจ้ง มหาชัย แต่มันอาจจะเป็นแค่เราได้สร้างประโยชน์ให้กับคนในครอบครัว
พ่อแม่ผมจากที่เคยต้องตะลอนๆ หาลูกค้าด้วยตนเอง กลายเป็นว่างแทบทั้งวันคอยรับโทรศัพท์ เที่ยงออกไปกินข้าวในห้างแอร์เย็นๆ กลับมาได้เจอลูก ถามไถ่ถึงลูกค้าที่ไปหามาด้วยสีหน้าที่ปลื้มปิติ
สมัยทำงานในสายงานออกแบบ เรื่องกินข้าวเย็นกับที่บ้านนับเป็นของแสลง เพราะบางทีทำงานเลิกดึกดื่น การกินข้าวกับที่บ้านกลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดสำหรับผม (เพราะมันไม่ชิน) จะได้เจอแม่กับพ่อก็เฉพาะช่วงเช้าที่ออกไปทำงานเท่านั้น
ด้วยไม้บรรทัดอันน้อยๆ นี้ ก็นับว่างานที่ผมทำอยู่ทุกๆ วันอย่างน้อยๆ ก็สร้างความสุขให้พ่อแม่ที่ตรากตรำมาทั้งชีวิตแทบไม่ต้องลำบากเหมือนก่อนอีกต่อไป
ความสุขที่เคยตามหาบางทีก็เกิดขึ้นง่ายๆ แค่การกินข้าวเย็นพร้อมหน้ากันที่บ้านของเรา
ความก้าวหน้าที่เคยคิดว่ามันไม่ไปไหน (เมื่อเทียบกับคนอื่น) ก็เป็นว่าเราสร้างยอดขายให้บริษัท ให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ ในทุกๆ ย่างก้าวที่เราไปหาลูกค้า
ความคิดที่เคยคิดว่าเราตัดสินใจผิด มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอากติกาไหนมาคิด ว่าทำงานกับที่บ้านมันผิดหรือถูก
และด้วยคอนเนคชั่นจากพี่โจ้ง ทำให้ผมได้ลูกค้าในแถบนั้นมาอีกหนึ่งกำมือ แถมไม่ใช่ลูกค้าธรรมดา แต่เป็นลูกค้าที่สร้างยอดขายเป็นประจำให้กับผม ทำให้ยอดขายระดับ 100,000 บาทต่อเดือนที่เคยเกินเอื้อม กลายเป็นเรื่องปกติในทุกๆ เดือน หลังจากที่ผมได้รู้จักกับแก
ยอดขายระดับ 100,000 ต่อเดือนทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีคุณค่าขึ้นมาบ้าง แต่อีกใจนึงก็คิดว่าจริงๆ เรายังเต็มที่ได้มากกว่านี้อีก ยัง มึงยังทำได้มากกว่านี้
ผมยังเคยบอกพี่โจ้งในวันนึงที่ไปหาแกว่า พี่รู้มั๊ยผมก็ถือเป็นลูกศิษย์พี่คนนึงเหมือนกันนะ
พี่โจ้งไม่ตอบอะไร แกได้แต่ยิ้มไม่ตอบคำ
ปล. เปลี่ยนแนวมาเน้นสาระนำความสนุกสนานกันบ้างคงไม่ว่ากันนะครับ 555
31 บันทึก
188
24
7
31
188
24
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย