13 ธ.ค. 2018 เวลา 12:43 • ธุรกิจ
ทำไมฟุตบอลอังกฤษ เปลี่ยนชื่อจากดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีก แล้วทำอย่างไร ลีกนี้จึงกลายเป็นลีกที่ทำเงินอันดับ 1 ของโลกได้ วิเคราะห์บอลจริงจัง จะมาเล่าให้ฟัง
พรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ดีที่สุดหรือเปล่า ไม่รู้
แต่ที่รู้แน่ๆ คือพวกเขาเป็นลีกที่รวยที่สุด และมีคนติดตามมากที่สุดในโลก
ถ้าวัดกันที่คุณภาพของทีม ทุกสโมสรในอังกฤษ ณ เวลานี้ ยังเป็นรอง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด ด้วยซ้ำ ( 5 ปีหลังสุด แชมป์ยุโรปมีแค่ บาร์ซ่า กับ มาดริด)
แต่ถึงกระนั้น ผู้คนก็ยังติดตามฟุตบอลอังกฤษมากกว่า บอลคู่เล็กๆ ของพรีเมียร์ลีก ยังมีคนดู มากกว่าบอลคู่ระดับกลางๆ ของลีกอื่น ขณะที่มูลค่าถ่ายทอดสด ฉีกหนีลีกอื่นไปแบบไม่เห็นฝุ่น
คำถามที่น่าสนใจคือ "ทำไม"
ทำไมฟุตบอลอังกฤษ ถึงยึดหัวหาดของธุรกิจฟุตบอลได้มากกว่าลีกอื่นๆในยุโรป เป็นเรื่องที่น่าคิด
จุดเริ่มต้นในความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลอังกฤษ คือ การ "เปลี่ยน" จาก ฟุตบอลดิวิชั่น 1 เป็นพรีเมียร์ลีก ในปี 1992
1
เมื่อก่อนฟุตบอลอังกฤษ ก็เรียงกันไป ดิวิชั่น 1, ดิวิชั่น 2 , ดิวิชั่น 3 และ ดิวิชั่น 4
โดยทั้ง 4 ดิวิชั่น จะอยู่ในความดูแลของ "ฟุตบอลลีก" องค์กรในความดูแลของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ)
สถานการณ์ในตอนนั้น บรรดาสถานีโทรทัศน์ ถ้าหากต้องการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด คุณไม่สามารถซื้อได้เฉพาะทีมจากลีกสูงสุด คุณต้องซื้อทั้งแพคเกจ กล่าวคือซื้อรวบทั้ง 4 ดิวิชั่น โดยต้องมาเจรจากับ "ฟุตบอลลีก" ซึ่งฟุตบอลลีก ก็จะเอาเม็ดเงินไปกระจายให้สโมสร 4 ดิวิชั่นอย่างเท่าเทียม
ซึ่งบรรดาทีมใหญ่ๆ มองว่า มันไม่แฟร์กับสโมสรในลีกสูงสุด เพราะคนส่วนใหญ่ที่ดูบอล ก็ดูแต่ดิวิชั่น 1 กันทั้งนั้น ขณะที่ค่าจ้างนักเตะก็แพงกว่า ผู้เล่นมีคุณภาพมากกว่า ก็สมควรได้รับส่วนแบ่งมากกว่า
ทำไมทีมระดับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องได้รับส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด เท่ากับ ดอนคาสเตอร์ด้วยล่ะ มันยุติธรรมหรอ?
1
ในปี 1990 มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น เมื่อ สถานีโทรทัศน์ ITV ต้องการซื้อลิขสิทธิ์ของ 5 ทีมใหญ่ ในลีกสูงสุด หรือที่เรียกกันว่า "บิ๊กไฟว์" สำหรับการถ่ายทอดสด ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส, เอฟเวอร์ตัน และ อาร์เซน่อล
1
คือทีมอื่นไม่เอา ITV ต้องการแค่ 5 ทีมนี้ นั่นแปลว่า 5 ทีมนี้ จะได้รับรายได้อย่างมหาศาล
ตอนแรกฟุตบอลลีก ไม่ยอม แต่ก็มีการต่อสู้กันถึงชั้นศาล ปรากฏว่า ศาลโอเค ให้ 5 สโมสร สามารถเซ็นสัญญากับ ITV ได้
แต่ก่อนที่ 5 ทีม จะเซ็นกับ ITV ก็มีปัญหาอีก เพราะ สโมสรอื่นๆในลีกสูงสุด ก็ออกมาโวยกับฟุตบอลลีก คือคุณจะปล่อยให้ 5 ทีมนั้น รวยเละเทะอยู่แค่นั้นหรอ แล้วแบบนั้น ทีมอื่นจะเอาเงินที่ไหน มาซื้อนักเตะสู้ล่ะ
สถานการณ์เต็มไปด้วยความตึงเครียด กลุ่มบิ๊กไฟว์ยังไงก็ไม่ยอมเช่นกัน พวกเขาบอกว่า ในเมื่อผู้จัดการแข่ง ไม่สามารถจัดสรรส่วนแบ่งเงินได้อย่างยุติธรรม บรรดาทีมใหญ่ๆก็ต้องดิ้นรนหาเงินด้วยตัวเอง
เรื่องนี้ กลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่ทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ต้องลงมาจัดการเอง
1
สิ่งที่สมาคมฯ ไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ ถ้าทีมบิ๊กไฟว์เซ็นกับ ITV นั่นจะแปลว่า ลีกในประเทศจะมีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป เพราะเงินจะไปกองอยู่กับแค่ 5 ทีมนี้ และพวกเขาก็สามารถดึงนักเตะดังๆของทีมอื่นมาเสริมทัพได้โดยง่าย มันจะส่งผลให้ทีมกลางๆ และทีมเล็กๆ กลายเป็นแค่ทีมไม้ประดับของลีก เพราะไม่มีเงินซื้อนักเตะสู้
1
นั่นทำให้ เอฟเอ จะปล่อยให้การเซ็นสัญญาของ บิ๊กไฟว์ กับ ITV เกิดขึ้นไม่ได้ แต่แน่นอน พวกเขาต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้บรรดาทีมใหญ่พอใจด้วย
สมาคมฟุตบอลอังกฤษ มานั่งวางแผนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี
พวกเขา มองว่า "ฟุตบอลลีก" เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบมากเกินไป
1
ฟุตบอลลีก ต้องดูแลถึง 4 ดิวิชั่น ซึ่ง 4 ดิวิชั่นนี้ รูปแบบ และความต้องการก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่ดิวิชั่น 1 คือทีมเกรดเอ เป็นสโมสรระดับโลก จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบหนึ่ง แต่ ในระดับดิวิชั่น 4 คือฟุตบอลรากหญ้า ก็จำเป็นต้องได้รับการเทกแคร์อีกแบบหนึ่ง
มันกลายเป็นว่า องค์กรนี้ ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้ดีเลยสักทาง เพราะมันดูแลสโมสรสมาชิกเยอะเกินไป
ปลายปี 1990 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ จึงตัดสินใจว่าจะเอาฟุตบอลดิวิชั่น 1 แยกออกมาจากฟุตบอลลีก และตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา เพื่อดูแล ลีกสูงสุดโดยเฉพาะ
องค์กรอิสระ องค์กรนั้น ชื่อว่า "เอฟเอ พรีเมียร์ลีก"
คณะกรรมการ หรือ บอร์ดของพรีเมียร์ลีก ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆ จะมาจากสโมสรสมาชิกในลีกสูงสุด ทั้ง 22 ทีม โดยมีคนของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ คอยซัพพอร์ท ดูแลอยู่ห่างๆ
เอฟเอ พรีเมียร์ลีก มีอำนาจเต็มในการทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องขึ้นตรงกับ ฟุตบอลลีกอีกต่อไป
คุณสามารถเจรจาถ่ายทอดสด กับสถานีช่องไหนก็ได้ , จะทดลองกฎต่างๆ หรือ เทคนิคใหม่ๆ ก็ได้หมด ถ้าหากได้รับความเห็นชอบจาก 22 สโมสรสมาชิก
3
ขณะที่เรื่องของส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด จะเอาเงินก้อนทั้งหมด หักค่าใช้จ่ายที่จำเป็น แล้วเอามา หาร 22 แบ่งให้ ทุกๆสโมสรในพรีเมียร์ลีกอย่างเท่าเทียม
พอเอฟเอ มีมติแยกลีกออกมา บรรดาทีมใหญ่ก็รู้สึกว่าพอรับได้ เพราะ อย่างน้อย ส่วนแบ่งการถ่ายทอดสด ก็จะวนเวียนแต่เฉพาะในสโมสรลีกสูงสุดเท่านั้น ไม่ใช่ว่าดิวิชั่น 1 กับ ดิวิชั่น 4 ได้เงินพอๆกัน แบบนี้ มันก็เกินไป
ในฤดูกาล 1992-93 ฟุตบอลอังกฤษ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ จาก ดิวิชั่น 1 มาสู่ เอฟเอ พรีเมียร์ลีก
จากนั้นเปลี่ยนชื่อ
- ดิวิชั่น 2 เป็น ดิวิชั่น 1
- ดิวิชั่น 3 เป็น ดิวิชั่น 2
- ดิวิชั่น 4 เป็น ดิวิชั่น 3
การเปลี่ยนมาสู่พรีเมียร์ลีก เท่ากับว่า ในฟุตบอลอังกฤษ ณ เวลานี้ จะมี 3 องค์กรแบ่งความรับผิดชอบกัน
เอฟเอ - ดูแลเอฟเอคัพ และ ฟุตบอลทีมชาติ
พรีเมียร์ลีก - ดูแลเฉพาะพรีเมียร์ลีก
ฟุตบอลลีก - ดูแล ดิวิชั่น 1,2,3 และฟุตบอลถ้วย ลีกคัพ
1
พอมีการแบ่งกันแบบนี้ มันก็มีความคล่องตัวขึ้น พรีเมียร์ลีก สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเอาเงินไปอุ้มลีกรองอีก
ในปี 1992 สถานีโทรทัศน์ช่อง SKY ซื้อลิขสิทธิ์จากพรีเมียร์ลีก ในราคา 304 ล้านปอนด์ ในสัญญา 5 ปี
นอกจากนั้นยังขาย แพคเกจ ไฮไลท์เกมทุกเสาร์ และอาทิตย์ ให้กับสถานี BBC ซึ่งก็คือรายการดัง Match of the day นั่นเอง
ในช่วง 5 ปีแรก แต่ละสโมสรได้รับเงินก้อนปีละ 3 ล้านปอนด์ ดูเหมือนน้อยในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นในยุคนั้นก็ถือว่าเยอะแล้ว อย่างปีเตอร์ ชไมเคิล อย่างจากบรอนด์บี้ มาอยู่แมนฯยูไนเต็ด ในราคาแค่ 5 แสนปอนด์ หรืออย่าง เอริค คันโตน่า ก็ย้ายจากลีดส์ มาอยู่แมนฯยูไนเต็ด ในราคา 1.2 ล้านปอนด์เท่านั้น
พอแยกตัวออกมา พรีเมียร์ลีก ก็มาทำตลาดด้วยตัวเอง พวกเขาวางแผนกลยุทธ์ ในการตีตลาดเอเชีย ทั้งการจัดแข่งขัน บาร์เคลย์ เอเชีย โทรฟี่ เอาสโมสรในลีกสูงสุดมาทัวร์แข่งที่เอเชีย 2 ปีครั้ง ในช่วงปรีซีซั่น
1
รวมถึงมีการปรับเวลาแข่งขัน จากเดิมตามธรรมเนียมของฟุตบอลอังกฤษ จะอัดแข่งขันกันในวันเสาร์เวลา บ่าย 3 โมง (ที่ไทยคือ 3 ทุ่ม) แต่มีการโยกบางคู่แข่งเร็วขึ้น เป็น 18.30 (ตามเวลาไทย) และบางคู่แข่งดึกเป็น 23.30 นั่นก็เพื่อให้มีสล็อต ในการถ่ายทอดสดมากขึ้น
1
ลองคิดดูว่าถ้าทุกคู่แข่งพร้อมกันหมด เวลา 21.00 แฟนบอลก็คงจะตามดูเฉพาะทีมใหญ่ อย่าง ลิเวอร์พูล,แมนฯยู แต่พอมีการโยกสล็อตเวลา ทำให้ทีมอื่นๆมีโอกาสได้ Air Time มากขึ้น และมีสิทธิสร้างฐานแฟนของตัวเองเพิ่มขึ้นมา
ความน่าสนุกของพรีเมียร์ลีก คือ ทุกทีมซื้อนักเตะมาสู้กันเต็มที่ ทีมใหญ่ซื้อเพื่อมาลุ้นแชมป์ ทีมเล็กซื้อเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในซีซั่นต่อไป
เมื่อทุกคนมีเงินส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดสด นั่นทำให้สามารถเอาเงินก้อนนี้ไปจับจ่ายซื้อนักเตะจากต่างแดนมาเสริมทัพได้
พรีเมียร์ลีก ยังกระตุ้นการจับจ่ายของทีมเล็กๆ ด้วยการออกกฎที่ชื่อว่า Parachute Money หรือ เงินร่มชูชีพอีกด้วย โดยเงินก้อนนี้ จะมอบให้กับ สโมสร 3 ทีม ที่ตกชั้น เพื่อไม่ให้ทีมประสบภาวะช็อกทางการเงินมากเกินไป
คือเมื่อรายได้จากพรีเมียร์ลีกหายวับ ไปก้อนใหญ่ แต่ก็ยังพอมีเงินชูชีพ เอาไว้ประคองตัว เพื่อบริหารจัดการให้เอาตัวรอดได้โดยไม่ล้มละลายไปก่อน
1
นั่นทำให้บรรดาทีมเล็กๆ ที่ลุ้นหนีตาย กล้าซื้อนักเตะแพงๆ เพราะรู้ว่าต่อให้ตกชั้น ก็ยังมีเงิน Parachute คอยซัพพอร์ทอยู่อีกชั้นหนึ่ง
นอกจากนั้น พรีเมียร์ลีก ยังปฏิเสธ กฎเรื่องโควต้าต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ใครอยากจะเอานักเตะชาติไหนมาแข่งก็ได้ เพียงแต่ต้องผ่านเวิร์กเพอร์มิตเท่านั้น ซึ่ง ระบบเวิร์กเพอร์มิต ก็จะคัดกรองอยู่แล้วว่า คุณจะเอานักเตะมั่วๆที่ไหนมาแข่งไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพประมาณหนึ่ง
การกระจายเงินที่เท่าเทียม ทำให้ทีมเล็กๆ จึงมีผู้เล่นคุณภาพพอสมควร สามารถ เอามาต่อกรกับทีมใหญ่ได้อย่างสนุก
เราเห็น ทีมเล็กๆอย่างเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ มีเงินซื้อเปาโล ดิ คานิโอ หรือ ทีมลุ้นหนีตาย มิดเดิลสโบรห์ มีเงินซื้อนักเตะเบอร์ 10 ทีมชาติบราซิล จูนินโญ่ เปาลิสต้า แต่ละทีมพร้อมจ่ายเพื่อซื้อทีเด็ดให้ทีมตัวเอง
รวมกับเรื่องสไตล์การเล่นที่ แต่ละทีม มีความใจสู้ พร้อมลุย ไม่เน้นตั้งรับ นั่นส่งผลให้เกมพรีเมียร์ลีก ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่มูลค่าการถ่ายทอดสดที่มหาศาล
1
จากตัวเลข 304 ล้านปอนด์ ในสัญญา 5 ปีแรก SKY จ่ายหนักขึ้นเรื่อยๆ จนในสัญญาฉบับล่าสุด SKY กับ BT Sports ซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน ด้วยมูลค่า 5,136 ล้านปอนด์ ในสัญญา 3 ปี (ประมาณ 211,000 ล้านบาท)
แต่ละสโมสรจะได้รับส่วนแบ่งขั้นต่ำปีละ 80 ล้านปอนด์ โดยเอามารวมกับ ค่า Facility Fees หรือ จำนวนครั้งการถูกถ่ายทอดสด และ ค่า Merit Payments หรือ เงินรางวัลที่จะจ่ายตามอันดับ เมื่อจบซีซั่น
1
ซีซั่นที่แล้ว แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมแชมป์ ได้เงินมากที่สุด 149.4 ล้านปอนด์ แต่ทีมบ๊วยอย่าง เวสต์บรอมวิช ก็ไม่ใช่ว่าได้เงินน้อย พวกเขาทำเงินไป 94.6 ล้านปอนด์ ยังถือว่าเยอะมากอยู่ดี
หากลองไปเทียบกับ ระบบการแบ่งจ่ายเงินถ่ายทอดสดในสเปน จะเห็นความแตกต่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ ลาลีกา จะปล่อยให้แต่ละสโมสร ไปเจรจากับสถานีโทรทัศน์เอาเอง ซึ่งสถานีก็มักจะซื้อแต่เกมของเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า ทำให้ทั้งสองทีมนี้ รวยกันอยู่ 2 ทีม
ในฤดูกาล 2013-14 แอตเลติโก้ มาดริด ได้แชมป์ลาลีกา สเปน แต่พวกเขาได้เงินจากการถ่ายทอดสดแค่ 37 ล้านปอนด์เท่านั้น เทียบกับ บาร์ซ่า และ เรอัล มาดริด ที่ได้เงิน 125 ล้านปอนด์เท่ากัน
อย่าเพิ่งไปเทียบกับ บาร์ซ่า หรือ เรอัล มาดริดเลย ในปีที่เป็นแชมป์ แอตเลติโก้ ได้เงินจากการถ่ายทอดสด น้อยกว่า คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ทีมบ๊วยของพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลนั้นด้วยซ้ำ (คาร์ดิฟฟ์ได้เงิน 73 ล้านปอนด์)
1
การทีลาลีกา ไม่ตระหนักถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในการสร้างรายได้จากการถ่ายทอดสด มันส่งผลโดยตรง ให้ทีมเล็กๆ ไม่มีงบประมาณ ในการซื้อตัวนักเตะดังๆ ต่อกรกับทีมใหญ่ คือพวกเขาแค่ประคองตัวให้อยู่รอดได้ก็เก่งแล้ว
ดังนั้น ตั้งแต่ฤดูกาล 2015-16 ลาลีกา ได้มีการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการถ่ายทอดสดใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้แต่ละสโมสรมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องว่างเยอะมากอยู่ดี ระหว่างทีมอันดับ 1 กับ อันดับ 20
ซีซั่นที่แล้ว บาร์เซโลน่า ได้เงิน 146.2 ล้านยูโร ส่วนทีมที่ได้น้อยสุดคือ อลาเบส ได้เงิน 39.3 ล้านยูโร ห่างกัน 4 เท่า หากเทียบกับในพรีเมียร์ลีก ที่ทีมแชมป์กับทีมบ๊วยได้เงินห่างกัน ไม่ถึง 1 เท่าด้วยซ้ำ
1
แน่นอน อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย แต่เราปฏิเสธได้ไหมว่า ความเหลื่อมล้ำ จากจำนวนเงินการถ่ายทอดสด มันทำให้ความน่าสนใจลดลง
1
ลีกหนึ่ง ทีมเล็กสู้ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดเพื่ออยู่รอดให้ได้ ส่วนอีกลีก ทีมเล็กเดินหน้าไล่ล่าตัวดังๆ มาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้มากที่สุด
เราจะเห็นว่ามันมีความต่างกันอยู่
แน่นอน ในสเปน ทีมใหญ่ อาจจะยังดูมันส์เหมือนเดิม เกมเอลกลาสิโก้ ก็เป็นเกมที่คนเฝ้ารอกันทั้งโลก มาดริด เจอบาร์ซ่า ใครๆก็อยากดู
1
แต่ถ้าเป็นเกมของทีมกลางๆล่ะ? สมมติอันดับ 8 กับ อันดับ 9 เจอกัน เกตาเฟ่ ดวล คิโรน่า มันน่าสนใจไหม เทียบกับ อันดับ 8-9 ในพรีเมียร์ลีก บอร์นมัธ เจอ เลสเตอร์ คงตอบได้ไม่ยากว่า คู่ไหน จะมีคนดูมากกว่ากัน
การเจริญเติบโตของพรีเมียร์ลีก มีหลายสำนักวิเคราะห์ออกมาแล้ว ว่าประกอบด้วยหลายปัจจัยรวมกัน
1) ภาษาอังกฤษ เข้าใจง่าย สื่อสารง่าย ทำให้แฟนๆทั่วโลก เชื่อมโยงกับสโมสรได้ง่าย
1
2) เวลาแข่งลงตัว กับตลาดเอเชีย เป็นช่วงหัวค่ำพอดี เป็นเวลาพักผ่อนของคนทวีปนี้
3) การตีตลาดอย่างรวดเร็วก่อนถึงยุคอินเตอร์เน็ต บรรดาทีมใหญ่ๆเดินทางไปทัวร์ปรีซีซั่นต่างแดนเป็นประจำ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนๆ เสมอ
แต่อีกหนึ่งประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ พรีเมียร์ลีก เป็นลีกใหญ่ที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยมาก
คือโอเค ทีมจะรวยเพราะการเทกโอเวอร์ นั่นก็ประเด็นหนึ่ง แมนฯซิตี้รวยจริง เจ้าของสโมสรเป็นชีคจากอาบูดาบี หรือเชลซี มีเจ้าของคือมหาเศรษฐีรัสเซีย อันนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้
แต่อย่างน้อยในส่วนของผู้จัดการแข่งขัน ก็พยายามทำให้ทุกอย่างมัน "แฟร์" ที่สุด เท่าที่จะทำได้ ด้วยการกระจายเงินส่วนแบ่งของการถ่ายทอดสด อย่างเท่าเทียมที่สุด
เพราะพวกเขารู้ว่า ถ้าหากลดความเหลื่อมล้ำลงมา เกมฟุตบอลลีก จะเต็มไปด้วยความสนุก ยิ่งแต่ละทีม สู้กันเต็มที่เท่าไหร่ มูลค่าของลีก ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
1
ไม่จำเป็นต้องโตแค่ 2-3 ทีม ไม่จำเป็นต้องรวยแค่ 2-3 คน แต่ทุกๆคนสามารถเติบโตไปได้พร้อมๆกันทั้งหมด
ทุกคนสามารถรวยไปด้วยกันได้
เพราะ เกมการแข่งที่เอื้ออำนวยให้มีผู้ชนะแต่หน้าเดิมๆ มันจะไปสนุกอะไร
โลกนี้ ไม่มีใครอยากเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้นหรอก จริงไหม
คนทุกคนลงเล่น เพราะต้องการเป็นผู้ชนะกันทั้งนั้น
#PremierLeague
โฆษณา