15 ธ.ค. 2018 เวลา 07:04 • การเมือง
บทความ
ภาคใต้ยุคใหม่ : วิสัยทัศน์ใหม่และอนาคตใหม่
โดย อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ด้ามขวานของไทยคือภาคใต้14จังหวัดที่มีศักยภาพสูงมากขนาบด้วย2อ่าว(อ่าวไทย-อ่าวเบงกอล)2ทะเล(ทะเลไทย-ทะเลอันดามัน)2มหาสมุทร(มหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก)มากมายด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ สุดปลายด้ามขวานทางใต้คือมาเลเซียและสิงคโปร์ ข้ามช่องแคบมะละกาก็มีบรูไนและอินโดนีเซียรวมตลาด300ล้านคน ลงใต้อีกก็ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และหมู่เกาะเซาท์แปซิฟิก หันไปทางตะวันออกมีฟิลิปปินส์อีก100ล้าน หันไปทางตะวันออกข้ามอ่าวเบงกอลก็มีศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศอีก1,200ล้านคน ภาคใต้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางประวัติศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนฝั่งและนอกฝั่ง ประชาชนมีการศึกษาและตื่นตัวทางการเมือง และภาคใต้ก็ยังมีปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมากว่า14ปีเป็นปมปัญหาใหญ่แต่ไม่ยากเกินแก้ไข จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์”ภาคใต้ยุคใหม่”ตามสไตล์”อนาคตที่ออกแบบได้”ของผมเริ่มจากการวางเป้าหมาย 5 เป้าหมายและขับเคลื่อนด้วย 6 นโยบาย อธิบายง่ายๆสั้นๆได้ดังนี้ครับ
5 เป้าหมายภาคใต้ยุคใหม่
1. ศูนย์กลางเส้นทางการค้าของโลก
2. Gatewayประตูสู่อาเซียนใต้เอเซียใต้และแปซิฟิกใต้
3. ฐานเศรษฐกิจใหญ่ของยางพารา น้ำมันปาล์ม ผลไม้และประมง
4. ฮับการท่องเที่ยวและเมืองไซเบอร์ของอาเซียน
5. ยกระดับรายได้ประชาชนคนใต้เพิ่มเท่าตัวภายในไม่เกิน6ปี(10,000เหรียญ per capita)
เมื่อวางเป้าหมายภาคใต้ยุคใหม่ก็ออกแบบเครื่องมือคือนโยบายในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้แก่ 6 นโยบายและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน
1.ยุทธศาสตร์คลองไทย-คลองโลก
เป็นยุทธศาสตร์แห่งอนาคตที่จะทำให้ภาคใต้กลายเป็นเส้นทางการขนส่งและการค้าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก(International Trade Lane)ร่นระยะทางการเดินเรือเชื่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยคลองไทยโดยไม่ต้องอ้อมผ่านคาบสมุทรมลายูที่ช่องแคบมะละกาซึ่งเคยทำให้ประเทศสิงคโปร์ร่ำรวยมั่งคั่งมาหลายสิบปีในฐานะเมืองท่า คลองไทยที่จะขุดมีความกว้าง300เมตรลึก30เมตรยาว135กิโลเมตรใช้เวลาไม่เกิน5-6ปีก็เสร็จ เรือขนส่งสินค้า เรือขนส่งน้ำมันและแก๊สเหลวและ เรือโดยสารจะมาใช้บริการปีละหลายหมื่นลำทำให้ภาคใต้กลายเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ทางทะเลของโลกที่ใหญ่กว่าคลองปานามาในทวีปอเมริกาใหญ่กว่าคลองสุเอซในตะวันออกกลางและคลองคีลในยุโรปหลายเท่าจะมีรายได้มีอาชีพมีความเจริญยืนยาวไปชั่วกัปชั่วกัลป์ และจะให้มีเขตเศรษฐกิจบริการและไซเบอร์ที่เรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ระดับโลก(Global Southern Economic Corridor:GSEC:จีเซค)ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในแนวเขตขนานกับคลองไทยใหญ่ไม่แพ้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(Eastern Economic Corridor:EEC)ในภาคตะวันออกเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจและศักยภาพใหม่ของประเทศไทยและอาเซียนโดยเจ้าของโครงการคือประเทศไทยและคนไทยทั้งนี้จะระดมทุนในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน( Infrastructure fund )หรือการร่วมทุนรัฐ-เอกชนโดยใช้ICOซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของโลก
ประโยชน์อีกประการคือเรือรบหลวงของราชนาวีไทยสามารถปฏิบัติการดูแลน่านน้ำไทยได้ทั้ง2ฝั่งทะเลใต้และเรือสินค้าเรือโดยสารยังผ่านคลองไทยใช้บริการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือถ่ายลำเกาะสีชังเพิ่มรายได้อีกมากมาย
2.นโยบาย100ท่าเรือ2ทะเล2อ่าว(อ่าวไทย-อ่าวเบงกอล)
เป็นนโยบายเปิดเส้นทางการขนส่งคนและสินค้าทางน้ำในอ่าวไทยและอ่าวเบงกอลโดยสร้างท่าเรือใหม่และใช้ท่าเรือเก่าในทุกจังหวัดภาคใต้เชื่อมท่าเรือในอ่าวไทยตัวกอท่าเรือในจังหวัดภาคตะวันออก ท่าเรือเกาะกง-กัมปงโสมหรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาและท่าเรือเวียดนามใต้หรือจะลงใต้ไปท่าเรือกลันตัน ท่าเรือตรังกานูของมาเลเซียและ ท่าเรือสิงคโปร์หรือทางฝั่งอันดามันก็มีท่าเรือในประเทศรอบอ่าวเบงกอล เช่นท่าเรือกันตัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือมะริด-ทวาย-เมาะลำใย-ย่างกุ้ง-ซิตเวย์ในพม่า ท่าเรือจิตตากองในบังคลาเทศ ท่าเรือกัลกัตตา-เชนไนในอินเดีย ท่าเรือศรีลังกา ท่าเรืออาเจะของอินโดนีเซีย ท่าเรือปีนังของมาเลเซียมีเรือขนส่งขนาด2,000-5,000ตันและเรือโดยสารเดินเรือประจำทางทุกสัปดาห์เช่นเดียวกับฝั่งอ่าวไทยโดยมีคลองไทยเชื่อมการเดินเรือข้าม2ฝั่งทะเล2อ่าว2มหาสมุทร
การขนส่งทางน้ำถูกที่สุดกว่าการขนส่งทุกประเภทและการเดินเรือขนคนขนสินค้าในอ่าวเบงกอลยังไม่มีใครทำ เราทำก่อนครองตลาดก่อน ผมคิดเรื่องนี้เมื่อครั้งไปยืนบนตึกหอการค้าดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองออกนอกหน้าต่างเห็นเรือโป๊ะเรือขนสินค้าหลายร้อยลำจอดเทียบท่าเตรียมตระเวณไปเมืองท่าในอ่าวเปอร์เซียครับ สมัยเป็นรัฐมนตรีไปสำรวจประเทศรอบอ่าวเบงกอลและรอบอ่าวไทยมาหมดแล้ว ทำได้ทันทีทั้งท่องเที่ยวและส่งออกสินค้าไทยชื่อดังในภูมิภาคBIMSTECและMIT-GTอยู่แล้วจำพวกพวกเครื่องอุปโภคบริโภคยารักษาโลกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมุ้งเครื่องนอนอาหารสำเร็จรูปปลากระป๋องสัปปะรดกระป็องนมเนยสบู่ยาสีฟันครีมข้าวน้ำตาลมันยางผลไม้ผักปลาเนื้อสัตว์เครื่องไฟฟ้าคอมพิวเตอร์แอร์พัดลมมอเตอร์ไซจักรยานเรือยางเรือยนต์เครื่องมือวัสดุก่อสร้างสุขภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรโอท็อผไปได้หมดมีตลาดเกือบ2พันล้านคนรอซื้ออยู่แล้ว
3.นโยบายฮับการบิน
ภาคใต้มีจุดที่ตั้งที่มีศักยภาพสูงมากด้านใต้ใกล้มาเลเซียสิงคโปร์บรูไนอินโดนีเซียปาปัวนิวกินีและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้เลยไปตะวันออกมีฟิลิปปินส์ทางตะวันตกมีพม่าและประเทศเอเซียใต้รวมทั้งมัลดีฟขณะเดียวกันก็ขนาบด้วย2อ่าว(อ่าวไทย-อ่าวเบงกอล)2ทะเล(ทะเลไทย-ทะเลอันดามัน)2มหาสมุทร(มหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก)มากมายด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่งดงามมาก
ด้วยจุดที่ตั้งเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทำให้ภาคใต้มีศักยภาพพร้อมอัพเกรดเป็นฮับศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและระดับโลกเทียบชั้นกัลลาลัมเปอร์และสิงคโปร์โดยสามารถพัฒนาสนามบินนราธิวาสหาดใหญ่ภูเก็ตสุราษฎร์ธานีเป็นฮับการบินของภาคใต้ตอนล่างตอนกลางและสนามบินหัวหินเป็นฮับการบินภาคใต้ตอนบนตามคอนเซ็ปท์”เชื่อมใต้-เชื่อมไทย-เชื่อมโลก”
ผมเคยเป็นที่ปรึกษาสายการบินของเพื่อนและผมมีธุรกิจท่องเที่ยวของตัวเองทำให้เข้าใจอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของโลกวันนี้และวันหน้าในฐานะผู้ประกอบการว่าการบินตรงสู่สนามบินที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวแหล่งการค้าคือความต้องการของผู้โดยสารนักธุรกิจนักท่องเที่ยว สนามบินของเราสามารถบินไปยังจังหวัดข้างเคียงเมืองข้างเคียงประเทศข้างเคียงด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่กลางเล็กหรือกรณีเป้าหมายเฉพาะเช่นสนามบินนราธิวาสก็รองรับการเดินทางไปแสวงบุญของพี่น้องมุสลิมไทยและมาเลเซียที่นครเมกกะของซาอุดีอาระเบียได้โดยตรง
ภาคใต้ยังเหมาะกับการมีเครื่องบินทะเลอย่างมาก เมื่อปีที่แล้วผมเคยบินจากอ่าวมะนิลาไปเกาะมินโดโรเพื่อให้คำปรึกษาด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาท่าเรือโดยเครื่องบินทะเลของสายการบินแอร์ฮวนของฟิลิปปินส์ซึ่งมีเครื่องบินทะเลขนาด18ถึง70ที่นั่งบรรทุกผู้โดยสารไปตามเมืองที่อยู่บนเกาะต่างๆ
สำหรับสนามบินหัวหินสามารถเป็นฮับการบินขนาดกลางขนาดเล็กบินไปสนามบินมะริดสนามบินทวายด้วยเครื่องเอทีอาร์70-80ที่นั่งหรือไปสนามบินดอนเมืองสนามบินอู่ตะเภาสนามบินตราดสนามบินเกาะกงสนามบินเสียมราฐสนามบินโฮจิมินห์ที่อยู่ไม่ไกลนัก
นโยบายนี้รัฐไม่ต้องลงทุนมีเอกชนสนใจขอเพียงมีนโยบายชัดเจนและรัฐช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกเท่านั้นก็คิกออฟได้
4. นโยบายลิมอดาซา ระเบียงเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย
ปัญหาชายแดนใต้เกิดปะทุรุนแรงอีกครั้งตั้งแต่ปี2547ทำให้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากและกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของคนในพื้นที่โดยตรง ตอนเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์และประธานคณะกรรมการโลจิสติกส์การค้าปี2551-2554จึงได้เริ่มนโยบายลิมอดาซาคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนของ5จังหวัดภาคใต้เป็นระเบียงเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย(Thailand-Malaysia Economic Corridor )ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูลและสงขลากับรัฐ5รัฐทางเหนือของมาเลเซียคือกลันตัน เปรัค เปอร์ลิส เคดะห์และปีนังร่วมมือกัน5สาขาได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อเปลี่ยนบังเกอร์เป็นเคาเตอร์(เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า)
หลังจากเดินทางไปพบมุขมนตรีและภาคเอกชนใน5รัฐมาเลเซียถึง2รอบทำให้นโยบายนี้เดินหน้าจนมีการประชุมลิมอดาซาซัมมิทระดับรัฐมนตรีไทย-มาเลเซียและการประชุมระหว่างภาคเอกชนของ5จังหวัด5รัฐถึง3ครั้งพร้อมกับมีการตั้งสภาธุรกิจลิมอดาซาใน2ประเทศ
เมื่อร่วมค้าร่วมลงทุนสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างกัน เศรษฐกิจของ5รัฐ5จังหวัดชายแดนดีขึ้นผู้คนมีงานมีฐานะดีขึ้นการสู้รบและความรุนแรงก็ค่อยๆลดลง
เสียดายที่นโยบายนี้หยุดไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งต่อไปถ้าเราเป็นรัฐบาลจะสานต่อนโยบายของทุกรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่เอาความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองเป็นที่ตั้งจะดีกว่านี้แน่
การเมืองยุคใหม่จะให้เครดิตให้เกียรติทุกพรรคทุกรัฐบาลทุกคนที่สร้างผลงานดีๆให้กับประเทศของเราครับ
5.นโยบายฐานเศรษฐกิจเขตเศรษฐกิจใหม่
ฐานเศรษฐกิจและรายได้คนภาคใต้มาจากการท่องเที่ยว การค้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ กิจการประมงและการแปรรูปเกษตรอุตสาหกรรมน่าจะทำให้คนใต้มีกินมีใช้และร่ำรวย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ตอนนี้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและนักท่องเที่ยวลดลงชาวประมงก็ย่ำแย่มาหลายปีแถมยังมีผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ผมจึงเสนอนโยบายใหม่6นโยบายเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ฐานรายได้ฐานอาชีพใหม่ๆให้ภาคใต้และประเทศของเรา เราจะกินบุญเก่าอีกต่อไปไม่ได้ ต้องสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่เพราะหลายอาชีพเดิมไม่มีอนาคตเหมือนในอดีต
ตัวอย่างเช่นยางพารา เราส่งออกมากที่สุดในโลกเป็นแชมป์โลกแต่ชีวิตชาวสวนยางอยู่แบบลุ่มๆดอนๆเดี๋ยวราคายาง๓โล1002โล100บางทีราคาตกยิ่งกว่านี้บางทีขึ้นไปโลละเกิน100ก็มีมาแล้ว
ถามว่าเราทำไมไม่แปรรูปสร้างมูลค่าก็ต้องบอกว่าทำเหมือนกันแปรรูปจนเป็นประเทศที่ส่งออกยางรถยนต์สูงเป็นอันดับ5ของโลก แต่ยางธรรมชาติต้องแข่งกับยางสังเคราะห์ที่ได้จากน้ำมันดิบ เวลาราคาน้ำมันดิบแพง อุตสาหกรรมหันมาซื้อยางธรรมชาติ เวลาราคาน้ำมันดิบถูกเขาไม่ซื้อยางธรรมชาติหันไปซื้อยางสังเคราะห์ ราคายางเราก็ร่วง วนไปเวียนมาแบบนี้และอนาคตของโลกข้างหน้าจะมีรถไฟฟ้ามาแทนรถใช้น้ำมัน ราคาน้ำมันจะลดลงเรื่อยๆจึงต้องมีนโยบายใหม่ที่ผมเสนอพร้อมกับลดพื้นที่ยางพาราตามเป้าหมายอย่างจริงจังเพื่อลดปริมาณการผลิตให้เท่ากับความต้องการจะทำให้เกิดราคาที่ดีมีเสถียรภาพ
เรียกว่าทำน้อยได้มาก ไม่ใช่ทำมากได้น้อย
เรื่องปาล์มน้ำมันก็เช่นกันเราส่งออกเป็นอันดับ3ของโลกแต่ชะตากรรมเหมือนยางพาราต้องทำแบบเดียวกันโดยเพิ่มการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นและสร้างอุตสาหกรรมโอริโออินดัสตรีที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในแหล่งผลิตใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน
ผมเป็นมิสเตอร์เอทานอลผลักดันการผลิตเอทานอลตั้งแต่ปี2543จนรัฐบาลฯพณฯชวน หลีกภัยเห็นชอบทำให้เกิดการใช้แก๊สโซฮอลล์ทั่วประเทศในทุกวันนี้ ผมเริ่มส่งเสริมไบโอดีเซลในปี2544 และถ้าสร้างเขตเศรษฐกิจโอริโออินดัสตรีในภาคใต้จะแก้ปัญหาเชิงรุกแทนตั้งรับได้ดีกว่ายั่งยืนกว่าด้วยการบริหารเขตเศรษฐกิจแนวใหม่และมีองค์กรบริหารรูปแบบใหม่ทันสมัยโปร่งใสศักยภาพสูงจะทำได้สำเร็จเร็วขึ้น
แนวทางแบบนี้ใช้ได้กับการพัฒนาผลไม้ การประมงและการท่องเที่ยวครับ
6.นโยบายทางด่วนพิเศษ South Spider
ถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงหมายเลข4เป็นทางหลวงที่ยาวที่สุด1,277กิโลเมตรจากกรุงเทพถึงด่านสะเดาสงขลาเริ่มสร้างสมัยจอมพล.ป พิบูลสงครามในปี2493มีการขยายเป็นถนน4เลนอย่างจริงจังสมัยฯพณฯชวน หลีกภัยตามนโยบายกระจายการลงทุนกระจายความเจริญและกระจายโอกาศสู่ภูมิภาคในปี2535นับเป็นถนนสายหลักของภาคใต้
วันนี้จะต้องสร้างทางหลวงพิเศษที่เรียกว่ามอเตอร์เวย์แบบถนนออโต้บาห์นของเยอรมันจากกรุงเทพถึงสุดชายแดนใต้และระหว่างทางต้องสร้างถนนสี่เลนแยกซ้ายแยกขวาเข้าถึงจังหวัดด้านอ่าวไทยและด้านอันดามันใช้วิธีร่วมลงทุนพีพีพี.แบบใหม่ใครคิดค่าผ่านทางต่ำสุดชนะได้ทำไม่ต้องมาเสนอค่าสัมปทานให้รัฐสูงจึงชนะเหมือนในอดีต
การขนส่งเดินทางผ่านทางด่วนเหล่านี้จะได้ถูกและทำได้เร็วขึ้นจึงสร้างได้พร้อมกันหลายช่วงหลายตอนถนน เช่นเดียวกับการสร้างรถไฟ4รางทางคู่ก็ทำได้ในรูปแบบเดียวกัน
จะได้เสร็จเร็วและเสร็จพร้อมๆกันในเวลาไม่กี่ปี
เป็นถนนใยแมงมุมเรียกโก้ๆว่า เซาท์ สไปเดอร์ (South Spider)
จะทำให้ภาคใต้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นเพราะมีเส้นทางขนส่งเดินทางบนบกทั้งทางถนนทางรางเทียบชั้นประเทศในยุโรป
ทั้ง 6 นโยบายและยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย5ประการจึงเป็นแนวทางหลักของการสร้าง”ภาคใต้ยุคใหม่”ที่พวกเราชาวประชาธิปัตย์ยุคใหม่สามารถทำได้ทันที
ผมจึงมาขอการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกท่านช่วยเลือก”อลงกรณ์ พลบุตร”เบอร์3 เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่
เพื่อเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์และเปลี่ยนแปลงภาคใต้สู่อนาคตใหม่ครับ.
ประวัติผู้เขียน : อลงกรณ์ พลบุตร
จบปริญญาตรีและโทจากธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรการศึกษาอบรมเกือบ10ประเทศ เป็นประธานสาขาพรรค สส.6 สมัย รองหัวหน้าพรรค2สมัย ดาวเด่นแห่งปีของรัฐสภา มือปราบคอรัปชั่นของรัฐสภา มิสเตอร์เอทานอล ผู้ก่อตั้งองค์กรพรรคการเมืองเสรีประชาธิปไตยแห่งเอเซีย(CALD) รมช.พาณิชย์ ประธานคณะกก.โลจิสติกส์การค้า ผู้ก่อตั้งBizclub รมต.ศก.อาเซียน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ปัจจุบัน:ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ(UN International Conference on Human Settlements) ผู้บรรยายพิเศษปริญญาเอกโทตรีของมหาวิทยาลัยและอาชีวะศึกษา ผู้บรรยายพิเศษหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนเช่น บยส.ของศาลยุติธรรม นธป.ของศาลรธน. วตท. Tepcotของหอการค้า วิทยาการตำรวจ สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ เขียนหนังสือ4เล่ม เป็นเจ้าของบริษัทและหุ้นส่วนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รีสอร์ต ฟาร์มและอีคอมเมิร์ซ4บริษัท
โฆษณา