17 ธ.ค. 2018 เวลา 04:19 • ประวัติศาสตร์
ญี่ปุ่นกับการก้าวแบบกระโดดสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก
19 ปี หลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นจัดโอลิมปิค เปิดรถไฟชินกันเซ็น และ เปิด Tokyo Tower
35 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่น กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
การมี”โชค”ย่อมมีส่วน แต่ การมีความพร้อมที่จะรับ”โชค”นั้นมีส่วนสำคัญยิ่งกว่า
เราได้ทำความเข้าใจว่า ญี่ปุ่นก้าวข้ามความเป็นประเทศปิดที่มีแต่เกษตรกรรมมาสู่มหาอำนาจทางการทหาร จนแผ่อิทธิพลไปทั่วเอเชีย – แปซิฟิก และถูกสหรัฐอเมริกาถล่มจนย่อยยับไปทั้งประเทศ และ สหรัฐอเมริกาก็มาตั้งตัวเป็นหัวโจกในการ รื้อโครงสร้างของประเทศ จนพื้นฐานของประเทศเปลี่ยนแปลงไป
ตอนนี้จะมาเล่าต่อครับว่า มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ที่ทำให้เพียง 35 ปีญี่ปุ่นก็กลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้
จะว่าไปแล้วญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีวิทยาการที่ก้าวหน้า อันเกิดจากความตื่นตัวหลังการเปิดประเทศในปี 1868 แล้ววิ่งไล่ตามพัฒนาการของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปด้วยการนำเข้าวิทยาการ และ ผู้มีความรู้ และ ส่งคนของตนออกไปเรียนรู้ความรู้ทุกแขนง จนเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่น้อย โรงงานเหล็ก และอื่นๆอีกมากมายจนกระทั่งมีความรู้ความสามารถในการ สร้างเรือรบ และ เครื่องบินของตัวเอง
ดังนั้นการย่อยยับจากการแพ้สงคราม ไม่ได้ทำให้วิทยาการนี้หายไป เพียงแต่รอเวลาที่จะนำมันกลับมาสร้างความมั่งคั่งให้ญี่ปุ่นอีกครั้ง
เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของอำนาจ ทำให้ Power ของประเทศถูกนำไปใช้อย่างถูกวิธี และ เกิดประโยชน์ต่อคนทุกระดับ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ จึงผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของญี่ปุ่นอย่างที่ไม่มีใครสามารถหยุดได้
1. รัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจและรายได้ไปทุกระดับ
2. การเมืองระดับประเทศอันเกิดจากภัยคุกคามของการเติบโตของคอมมิวนิสต์
3. การเกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและทำงานเพื่อปวงชน
4. การสร้างความเชื่อมั่นให้พลเมืองชาวญี่ปุ่น และ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานหนัก
5. Oil Price Crisis
6. การเพิ่มค่าเงินเยนเพื่อลดการขาดดุลย์ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา
(หมายเหตุ : 6 หัวข้อนี้เกิดจากการรวบรวมมุมมองมาจากหลายๆแหล่ง อาจไม่ตรงกับนักวิชาการที่เคยว่าไว้ ก็ขอออกตัวว่า เวปนี้ชื่อ Japan in Trachoo View นะครับ)
เรามาว่ากันไปทีละข้อเลยนะครับ
1. รัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจและรายได้ไปทุกระดับ
หัวข้อนี้ขอให้ย้อนกลับไปคลิกที่ “ความเดิมตอนที่แล้ว” ที่อยู่ต้นๆของบล็อกนี้นะครับ
2. การเมืองระดับประเทศอันเกิดจากภัยคุกคามของการเติบโตของคอมมิวนิสต์
2.1 เมื่อภัยจากคอมมิวนิสต์เริ่มคืบคลานเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเริ่มจากสงครามในเกาหลี สหรัฐอเมริกาได้กลับลำนโยบายที่เคยส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานเพื่อถ่วงดุลย์บริษัทใหญ่ๆที่ กลับ กลายมาเป็นออกกฏห้ามสหภาพแรงงานทำการประท้วง เพราะเกรงว่าสหภาพแรงงานจะเป็นช่องทางในการแทรกซึมเข้ามาหยั่งรากของลัทธิคอมมิวนิสต์
และเมื่อบริษัทใหญ่ๆที่เคยเรียกว่า Zaibutsu ที่เคยร่วมมือกับทหาร ก็ไม่มีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น การทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีเสถียรภาพมั่นคงและเจริญเติบโตน่าจะเป็นหนทางการป้องกันการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ดีกว่า แผนการส่งเสริมให้บริษัทเติบโตขยายตัวจึงเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ญี่ปุ่นเริ่มมีโครงสร้างทางการอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งขึ้น
1
2.2 สงครามเกาหลี 1951-1953 และ สงครามเวียตนาม 1965-1973 เป็น “โชค” ของญี่ปุ่นจริงๆ เพราะในวันเวลานั้น ญี่ปุ่นคือมหามิตรคนเดียวที่ไว้ใจได้ในเอเชียและมีศักยภาพในการอุตสาหกรรมหนัก ญี่ปุ่นจึงได้รับเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะที่ใช้ในสงครามทั้งสอง สงครามเกาหลีทำให้ญี่ปุ่นได้รับเม็ดเงินถึง 2 พันล้านเหรียญ หรือ 6 หมื่นล้านบาท (ในวันนั้นมันเป็นเงินที่ใหญ่มาก) และ ได้รับจำนวนที่มากกว่านั้นอีกในสงครามเวียตนาม คือ 5 พันล้านเหรียญหรือ 1.5 แสนล้านบาททีเดียว
การสั่งซื้อข้าวของ สารเคมี อาวุธ ยานพาหนะ เสื้อผ้า เพื่อจัดส่งไปให้ทหารในสงครามทั้งสอง ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเติบโตเข้มแข็ง มีวิทยาการที่ก้าวหน้า มีรายได้เข้าประเทศจำนวนมากมายมหาศาลที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในห้วงเวลาต่อมา
เช่นการที่ Toyota Nissan และ Kubota เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับ Contract และก้าวหน้าจนมีความยิ่งใหญ่ระดับมาจนวันนี้
3. การเกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและทำงานเพื่อปวงชน
ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ในปี 1952 ก็เกิดระบบพรรคการเมืองขึ้น โดยมีพรรค LDP พรรคเสียงข้างมากในปัจจุบัน และ พรรค JSP เกิดขึ้นมา (ผมขอข้ามรายละเอียดและเรื่องราวฉาวโฉ่ของการคอรัปชั่นของพรรคการเมืองญี่ปุ่น เพราะไม่ใช่สาระของสาเหตุของการก้าวมาเป็นมหาอำนาจนะครับ)
พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้เสียงของประชาชนเป็นใหญ่ ก็ได้ทยอยกันออกนโยบายที่จะทำให้ประเทศเกิดความก้าวหน้ามากมาย
1. การส่งเสริมอุตสาหกรรม รถยนต์ ก่อสร้าง เครื่องไฟฟ้าให้เจริญเติบโตและรายได้สู่ประชากรจำนวนมาก ผู้คนย้ายเข้าอยู่ในอพาร์ทเม้นต์ที่สดวกสบาย
1
เหล่าบริษัทเครื่องไฟฟ้าโปรโมท Concept ให้แม่บ้านในปี 1955 ว่า ความสุขของชีวิตจะต้องมี เครื่องซักผ้า ตู้เย็นและ ทีวีขาวดำ และในปี 1966 ด้วย Concept 3Cs ว่าต้องมี Color TV, Cooler Air Condition, Car
รายได้ที่ได้เพิ่มของประชากรก็นำมาซื้อข้าวของที่ผลิตในประเทศของตน ไม่ซื้อของจากต่างประเทศ ยิ่งส่งผลให้เงินหมุนวนในประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
2. ในปี 1960 มีการผลักดันให้เกิดนโยบายการตั้งเป้าให้รายได้ประชาชนเพิ่มเป็นสองเท่าในระยะเวลา 10 ปีให้สำเร็จในปี 1970 โดยการสงเสริมการลงทุน ส่งเสริมการค้าขายต่างประเทศ (สินค้าไม่ดีก็ออกไปก่อน) หาแหล่งเงินกู้ ลงทุนในเทคโนโลยี่ และ ลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตสูงๆ เช่น เหล็ก เรือ และ รถยนต์
นับว่าเป็นนโยบายที่ รัฐบาลกล้าตั้งเป้าหมายอย่างใจถึงมาก พวกเค้าทำได้สำเร็จเพียงแค่ 8 ปีเสียด้วยซ้ำ (อยากให้เมืองไทยมีแบบนี้บ้าง)
3. การผลักดันให้เกษตรกรใช้เครื่องทุ่นแรง โดยรัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการซื้อใช้เครื่องมือเพื่อการทำนา ปลูกข้าว รถยนต์ รถไถ จำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชากรที่เหลือน้อยในภาคเกษตร เพราะผู้คนเข้าไปทำงานอุตสาหกรรมในเมือง สามารถทำนาทำการเกษตรด้วยจำนวนคนที่น้อยลง ได้ผลผลิตมากขึ้น และผลที่ตามมาคือ เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คนมีอายุก็สามารถทำการเกษตรได้ ในปี 1990 เกษตรกรเป็นผู้ที่มีรายได้มากกว่าคนเมืองถึง 20% นี่คือสาเหตุที่เค้ากล่าวกันว่า ชาวนาญี่ปุ่นรวยมากนี่เอง
4. การสร้างความเชื่อมั่นให้พลเมืองชาวญี่ปุ่น และ การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานหนัก
รัฐบาลญี่ปุ่นรู้ดีกว่า ขวัญและกำลังใจของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เค้าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจนี้ขึ้นมา ดังนั้นในห้วงปี 1958-1964 มีสิ่งสำคัญๆเกิดขึ้นคือ การสร้าง Tokyo Tower การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิค และ การมีรถไฟความเร็วสูงของตัวเอง เพื่อสร้างความหวัง ความเชื่อมั่นให้กับชาวญี่ปุ่นในอนาคตที่สดใส ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มุ่งหน้า ผลักดันการลงทุน การค้าขายต่างประเทศ การศึกษา และ ผลลัพธ์ก็คือ คนญี่ปุ่นก็ต่อสู้ร่วมกันจนนำความเจริญกลับมาให้ประเทศอีกครั้ง
อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ได้รับอานิสสงค์จากสงครามเกาหลีและเวียตนาม เป็นหัวหอกในการบุกตลาดต่างประเทศ
ในช่วงแรกที่ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ไปที่สหรัฐอเมริกา รถยนต์ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักด้วยความที่รถยนต์มีขนาดเล็ก เครื่องยนต์เล็ก คนอเมริกันไม่ชอบ แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงบุกหนักเข้าไปทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ย่อท้อ พัฒนารถยนต์ให้อย่างน้อยก็มีความ Reliable
1
ในปี 1973 โอเปคขึ้นราคาน้ำมัน 70% ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ ญี่ปุ่นกลับโชคดีจากเหตุการณ์นี้เพราะ รถยนต์ของญี่ปุ่นถูกมองเป็นรถที่ให้ความประหยัดน้ำมัน เหมาะสมกับห้วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง ในปี 1980 รถญี่ปุ่นกลายเป็นรถที่ขายมากที่สุดในโลกและสิ้นปี 1990 รถญี่ปุ่นมีส่วนครองตลาดในอเมริกาถึง 25%
ด้วยการสร้างชื่อเสียงของรถยนต์ว่าเป็นรถที่ไม่จุกจิก ไม่เสียง่าย ได้นำภาพลักษณ์มาสู่เครื่องไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่พาเหรดเข้าไปเจาะตลาดอเมริกาประสพความสำเร็จอย่างสูง เงินไหลเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อุตสาหกรรมเจริญเติบโตรุดหน้าทุกวงการ
ญี่ปุ่นเริ่มได้ดุลย์การค้าสหรัฐอเมริกามากมาย จนสหรัฐอเมริกาต้องออกมาตรการกีดกันญี่ปุ่น จนทำให้ญี่ปุ่นรวยหนักขึ้นไปอีก
6. การเพิ่มค่าเงินเยนเพื่อลดการขาดดุลย์ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา
เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และ เครื่องไฟฟ้าของญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ญี่ปุ่นจึงเริ่มได้ดุลย์การค้าอย่างมหาศาลต่อสหรัฐอเมริกา สร้างความไม่พอใจกับประชาชนอเมริกันอย่างมาก เพราะ รถยนต์เริ่มขายไม่ออก คนงานโรงงานเริ่มตกงาน จึงเกิดแรงกดดันให้รัฐบาลกดดันให้เกิดการขึ้นค่าเงินเยน เพื่อให้ของจากญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น คนอเมริกันจะได้ซื้อของญี่ปุ่นน้อยลง
แต่ทว่าเรื่องนี้กลับส่งผลเชิงบวกให้กับญี่ปุ่นหนักขึ้นไปอีกเพราะ
1. เงินเยนที่สูงขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นสามารถหาซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าได้ถูกลงและได้ของที่มีคุณภาพมากขึ้น ย่ิงทำให้สินค้าของญี่ปุ่นได้รับภาพพจน์ว่า มีคุณภาพสุดยอด
2. ญี่ปุ่นเข้าไปตั้งโรงงานในอเมริกาเสียเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเปรียบที่ค้าขายให้อเมริกาด้วยเงินเยน แต่กลายเป็นว่า ต้นทุนเป็น US Dollar แต่เอาเงินกลับไปบ้านตัวเอง สบายไปอีก
จาก Series ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา 35 ปีหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เงินหลั่งไหลเข้าประเทศมากมาย ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีเงินสดมากมายจนต้องออกไปซื้อกิจการต่างๆของประเทศอเมริกา
การก้าวมาสู่ความเป็นมหาอำนาจของญี่ปุ่นนั้นอาจนับได้ว่า เกิดจากจังหวะ โชค และที่สำคัญที่สุดคือ ความมุ่งมั่นของคนญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นเอง และเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก ผมเองที่สงสัยเรื่องนี้ก็ได้คำตอบแล้ว
ปล.พอพูดถึงเรื่องการสร้างชาติของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้ ขออนุญาติแนะนำนะครับ(ไม่ใช่สปอนเซอร์นะครับ หนังเก่าแล้ว 555)
ภาพยนตร์เรื่อง Always Sunset on Third street เป็ยภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะบอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนผ่านตัวละครแต่ละตัว แต่Background ของภาพยนตร์คือช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่ผู้คนกำลังทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะ เศรษฐกิจ หากใครอยากทราบวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงนั้น แนะนำเลยครับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ มีทั้งหมดสามภาค หนังอาจจะมีช่วงที่เนือยบ้าง แต่รับรองว่าประทับใจและคุ้มค่าจริงๆครับ จะหาว่าโฆษณาก็ยอม 55 แต่สำหรับครที่สนใจเรื่องประเทศญี่ปุ่น อยากให้ลองหามาดูจริงๆครับ ผมดูครบทั้งสามภาค บอกได้เลยว่ากลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามสงบใหม่ๆนั้นมาเต็มครับ ^^
โฆษณา