17 ธ.ค. 2018 เวลา 05:34 • ศิลปะ & ออกแบบ
การตั้งค่ากล้องถ่าย Portrait สำหรับมือใหม่
การตั้งค่ากล้องถ่าย Portrait สำหรับมือใหม่ ต้องทำยังไงอาจจะเป็นเรื่องที่ดูยากและสับสนเสมอ ว่าควรเริ่มที่ไหนดี ในวันนี้เดี๋ยวเราจะมาหัดตั้งค่าสำหรับถ่ายภาพ Portrait กันเลยดีกว่าว่าควรเริ่มที่ไหน
การตั้งค่ากล้องถ่าย Portrait สำหรับมือใหม่
1. การตั้งค่าระบบโฟกัสในการถ่าย Portrait เพื่อให้ตาของแบบเกิดความคมชัด
ต้องอธิบายที่มาที่ไปก่อนว่าทำไมเราถึงต้องถ่ายตาออกมาให้คมชัด เพราะว่าภาพถ่าย Portrait ของเรา ดวงตาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำหน้าที่สื่อสารกับคนดู บ่งบอกอารมณ์ ความรู้สึกในตอนนั้นได้ครับ
ง่ายที่สุดคือการเลือกใช้การโฟกัสแบบ Single Point หรือการโฟกัสที่จุดเดียว ทำไมต้องใช้แบบนี้ เพราะว่าเราสามารถกำหนดจุดโฟกัสที่ต้องการได้ด้วยตัวเองในตอนนี้ตำแหน่งโฟกัสก็คือที่ตานั่นเองครับ
ซึ่งจากที่ผมเจอมาคนที่ใช้เลนส์รูรับแสงที่ F1.4 และ F1.8 ในมือใหม่มีเหมือนกันที่ไม่ได้ใช้การโฟกัสแบบนี้ ใช้การโฟกัสแบบที่ให้กล้องเลือกให้ ทำให้โฟกัสไม่ได้เข้าที่สายตา ทำให้ภาพ Portrait โฟกัสหลุด ดูเบลอแปลก ๆ เพราะจุดที่เป็นสายตาควรจะชัดกลับกลายเป็นเบลอนั่นเอง
2. ใช้ ระบบโฟกัสสำหรับการถ่าย Portrait โดยเฉพาะ ทั้ง Eye Focus Tracking และ Face Detection ในการตั้งค่ากล้องถ่าย Portrait
สำหรับกล้องบางคนมีระบบ Eye Focus Tracking หรือ Face Detection ทำให้การโฟกัสง่ายเข้าไปอีก โดยปกติเราจะเลือกโฟกัสที่ตาเลย แต่ว่าสำหรับกล้องบางตัวอย่างเช่น Sony มีระบบ Eye Focus Tracking หรือบางกล้องก็มีระบบโฟกัสที่ใบหน้าเลย ก็จะทำให้สายตาคมชัดได้เหมือนกัน และโหมดนี้ออกแบบมาเพื่อการถ่าย Portrait โดยเฉพาะอยู่แล้ว ทำให้การถ่ายภาพแล้วตาคมชัด สวยแบบนี้ ทำได้ง่าย ๆ เลยล่ะ
สรุป
– ให้เราใช้การโฟกัสแบบ Single Point แล้วโฟกัสที่ตา
– ถ้ากล้องใครมีโหมด Eye Focus Tracking หรือ Face Detection ก็ใช้โหมดนี้ได้ครับ
– อย่าลืมดูภาพเสมอด้วยว่าโฟกัสของเรามีผิดพลาดไหม หลุดหรือเปล่า เบลอตรงไหนไหม เพราะบางทีอาจจะพลาดได้
การตั้งค่า Shutter Speed สำหรับถ่าย Portrait ทั้ง Indoor และ Outdoor
ในการถ่ายภาพ Portrait เราจะเจอแสงส่วนใหญ่หลัก ๆ คือแสงภายในอาคาร หรือที่เราเรียกว่า Indoor และแสงที่อยู๋นอกอาคาร ที่เรียกว่า Outdoor นั่นแหละครับ โดยพื้นฐานของ Shutter Speed มันจะมีอยู่สองอย่างหลัก ๆ ที่จะแนะนำตามนี้คือ
1. เราต้องการใช้ Shutter Speed เพื่อควบคุมแสง ก็คือ ความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเยอะ แสงผ่านเข้ามาในกล้องก็จะลดลง ความเร็วชัตเตอร์ยิ่งน้อยแสงผ่านเข้ากล้องเยอะขึ้น
2. เราต้องการใช้ Shutter Speed เพื่อหยุดภาพ ก็คือ ความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเยอะ ภาพเคลื่อนไหวยิ่งหยุดนิ่ง และความเร็วชัตเตอร์ยิ่งน้อย ภาพยิ่งเบลอง่ายขึ้น
3. การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ขั้นต่ำ สำหรับถ่าย Portrait ไม่ให้เกิดการเบลอจากมือสั่น (คือการถือด้วยมือถ่ายแล้วไม่เบลอนั่นแหละ)
วิธีมาตรฐานที่ผมใช้มาตั้งแต่ใช้กล้องก็คือ ความเร็วชัตเตอร์ต้องไม่ต่ำกว่า ระยะเลนส์ หรือทางความโฟกัสเลนส์ เช่น ใช้เลนส์ระยะ 50mm ก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/50 ไปเลย หรือใช้เลนส์ 85mm ก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/100 เผื่อไว้ก็ได้งี้ครับ วิธีนี้จะทำให้เราสามารถถือกล้องถ่ายโดยที่ภาพไม่เบลอเพราะการถือกล้องของเรา แต่ยังมีอีกปัจจัยที่ทำให้กล้องเบลอได้คือตัวแบบขยับเร็วกว่าความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งผมจะเล่าในหัวข้อต่อไปว่าควรทำไง
การใช้ความเร็วชัตเตอร์เพื่อหยุดแบบให้นิ่ง
บางครั้งการถ่าย Portrait ไม่ใช่ผู้หญิงเสมอไป แต่เป็นเด็กที่วิ่งไปมา สิ่งที่เราต้องทำคือใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เด็กวิ่งไปมาจะใช้ความเร็วชัตเตอร์สัก 1/125, 1/200 หรืออาจจะสูงกว่านั้นขึ้นไปอีกถ้าแบบยังวิ่งได้เร็วกว่านี้ (แต่ถ้าเกินสัก 1/200 เด็กก็วิ่งเร็วพอสมควรเลยนะ) หัวใจคือให้เราเช็คบ่อย ๆ ว่าความเร็วชัตเตอร์ในสถานการณ์นั้นถ่ายที่เท่าไหร่แล้วไม่เบลอแบบชัวร์ ๆ
4. การตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพในอาคาร
ในการถ่ายภาพ Portrait ภายในอาคารหรือพวกไฟห้างสรรพสินค้าจะเจออุปกรณ์ที่ชัดเจนอย่างนึงก็คือเรื่องของสภาพแสงที่น้อย ค่อนข้างน้อยมากสำหรับกล้อง ดังนั้นความเร็วที่ใช้ผมจะเลือกต่ำที่สุดที่เราจะถือได้ นั่นคือตามหัวข้อที่เคยกล่าวไป ผมจะใช้ ความเร็วชัตเตอร์ = ทางยาวโฟกัสเลนส์ แล้วพยายามให้แบบอยู่นิ่ง ๆ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์เกินนี้
นอกจากนี้ผมจะใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างหน่อยอาจจะ F1.4 – F1.8 เพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่เยอะที่สุดครับ ทำให้ผมไม่ต้องไปยุ่งกับ ISO นั่นเอง
5. การใช้ความเร็วชัตเตอร์สำหรับถ่ายภาพนอกอาคาร
อันนี้แทบไม่ต้องบอกอะไรมากเลยคือ มันจะตรงข้ามกันกับภายในอาคารคือปริมาณแสงส่วนใหญ่จะเยอะมาก แล้วยิ่งใช้รูรับแสง F1.4 – F1.8 แสงจะค่อนข้างล้นเลยถ้าหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ตามมาตรฐาน เพราะงั้นความเร็วชัตเตอร์ในหัวข้อนี้คือ เท่าไหร่ก็ได้ที่ทำให้แสงที่ล้น ๆ กลับมาพอดี ต้องดูที่สเกลวัดแสงหรือว่าภาพของเรา ช่วงไหนแดดแรงอาจจะ 1/400 เลยก็ได้ เพราะที่ F1.4 เนี่ย ถ่ายนอกอาคารเคยเจอหนัก ๆ 1/4000 แล้วแสงแทบจะเกินก็มี อันนี้ต้องลองฝึกปรับเองนะ
6. การตั้งค่ารูรับแสงสำหรับถ่าย Portrait
อันนี้ง่าย ๆ ครับ ยิ่งรูรับแสงของกล้องเรากว้างเท่าไหร่ โอกาสที่ฉากหลังละลายจะเยอะขึ้น แนะนำว่าให้ใช้รูรับแสงสัก F1.4 – F1.8 จะได้โบเก้ฉากหลังที่ละลายได้สวยแน่นอนเลยถ้าหากใครต้องการฉากหลังที่ชัดขึ้นกว่าเดิม ก็ใช้เลนส์เดิมแหละแต่ปรับรูรับแสงให้แคบลง ก็จะได้ฉากหลังที่ชัดขึ้นมาก ๆ เลยล่ะ
7. เลือกใช้ระยะเลนส์ให้เหมาะสมกับการถ่าย Portrait
บางครั้งเราอาจจะถ่ายภาพ Portrait โดยเลือกใช้เลนส์เน้นละลายหลังโบเก้ใหญ่หน่อยก็จะสัก 85mm หรือ 135mm แล้วแต่นะครับ แต่ที่ผมมีคือใช้ 85mm นั่นเอง การใช้เลนส์ช่วง Telephoto แบบนี้จะเน้นที่การละลายฉากหลังนั่นเองครับ
ส่วนการใช้ระยะเลน์ที่ต่ำกว่าช่วง 50mm แม้ว่าจะเปิดที่ F1.4-F1.8 ก็ตาม ฉากหลังจะเริ่มมองเห็นเนื้อหาด้านหลังว่าเป็นอะไร แต่ก็จะมีการละลายนะ เพียงแต่ไม่ได้ละลายกระจุยกระจายแบบพวก 85mm และ 135mm แต่ว่าเป็นการละลายในแบบที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวของฉากหลังได้ครับ ความชอบของแต่ละคนอันนี้ต้องลองเลือกกันดูนะ
อ่านบทความสอนถ่ายภาพอื่น​ ๆ​ ได้อีกที่​
โฆษณา