19 ธ.ค. 2018 เวลา 02:50 • ปรัชญา
ความมุ่งมั่นของเดการ์ต
เจ้าของวลีเด็ด I think, I doubt therefore I am.
เดการ์ต (Rene Descartes, 1596-1650) เติบโตมาในกระบวนทรรศน์ยุคกลาง ได้รับการอบรมโดยนักบวชเยสุอิต (Jesuit) เป็นชาวคาทอลิกที่ใช้ชีวิตอยู่ตลอดช่วงสงครามศาสนา 30 ปี ระหว่างฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์วาลัวส์คาทอลิกและดยุคราชวงศ์บูร์บองโปรเตสแตนต์
การเติบโตจากตระกูลขุนนางทำให้เดการ์ตได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน เขาศึกษาคณิตศาสตร์และปรัชญา และรู้สึกไม่พอใจปรัชญาที่สอนตามแนวคิดอัสสมาจารย์ โดยเดการ์ตเห็นว่าขาดหลักค้ำประกันความน่าเชื่อ เขาจึงขวนขวายเรียนต่อด้านกฎหมาย แต่ก็ยังไม่เห็นว่ามีความรู้อะไรที่เชื่อได้ว่าจริง และหันมาเชื่อว่าต้องหาประสบการณ์จากการใช้ชีวิตและตรึกตรองตามหลักการ แล้วจึงเอามาตีความไบเบิลและธรรมชาติ จึงได้ทดลองใช้ชีวิตเป็นอัศวินอาสาสมัครในกองทัพกรุงปารีสฝ่ายคาทอลิก ต่อมาก็เป็นอัศวินอาสาสมัครในกองทัพโปรเตสแตนต์ไปรบกับกองทัพคาทอลิกในเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี
ระหว่างนั้น เขาได้เฝ้าดูเพื่อหาประสบการณ์ ความพยายามอย่างแท้ของเดการ์ตในการตรึกตรองแสวงหาความเข้าใจและตอบคำถามคาใจ คือ "หลักค้ำประกันความจริงอยู่ที่ไหน" ทำให้เขาได้รับความรู้สึกเสมือนบัญชาจากสวรรค์ให้ใช้วิชา "เรขาคณิต" ค้ำประกันความน่าเชื่อถือของความรู้ทุกอย่างของมนุษย์ ตั้งแต่เขาอายุได้ 23 ปี
เรขาคณิตใช้หลักการอ้างเหตุผลที่ต่อเนื่องกันเป็นสายยาว แม้จะดูง่ายแต่ก็สามารถใช้เพื่อบรรลุข้อพิสูจน์ที่ยากที่สุด ทำให้เดการ์ตเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายบรรดาที่เป็นความรู้ของมนุษย์นั้นน่าจะสัมพันธ์กันและกันในทำนองเดียวกันทั้งหมด เป็นระบบเครือข่ายของความเป็นจริงที่มีความสัมพันธ์กันอย่างละเอียดยิบโดยไม่มีจุดเริ่มต้นสมบูณณ์ เพราะทุกจุดโยงใยถึงกันและกัน
เดการ์ตยังต่อยอดกระบวนการพิสูจน์สัจพจน์ของแอเริสทาทเทิลไว้ โดยเน้นว่าต้องไม่รับว่าอะไรจริงจนกว่าจะเห็นแจ่มแจ้งและชัดเจน (clear and distinct)
ต้องแบ่งประเด็นปัญหาออกเป็นส่วนๆ เท่าที่จำเป็นเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด และค่อยๆ พิจารณาตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง เริ่มจากง่ายไปหายาก และต้องทบทวนองค์รวมให้แน่ใจได้ว่าไม่มีการข้ามขั้นตอนใดเลย
ทั้งนี้ เพื่อให้ถึงที่สุดเลยก็ยอมให้สงสัยเสียหมดทุกอย่างเสียก็แล้วกัน เรียกว่า “สงสัยสากล”  (universal doubt) เดการ์ตได้ดำเนินวิธีอย่างชาญฉลาดต่อการแก้ปัญหาที่ตกทอดมาจากฮับส์ (Thomas Hobbes) นั่นคือ กลไกของจิตสามารถใช้คำนวณหาความรู้และความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพล้วนแต่เป็นเครื่องจักรที่เราอาจคำนวณได้ แต่เราจะรับรองได้อย่างไรว่าเป็นความรู้วัตถุวิสัย
โดยเดการ์ตได้แยกเรื่องจิตกับกายออกจากกันเพื่อให้แยกเป็นคนละประเด็น คือ ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละส่วน แม้จะเกิดปัญหาตามมา ก็ถือหลักค่อยๆ แก้ปัญหาไป
ดังนั้น เดการ์ตจึงมองว่าจิตเดินตามกฎของจิต กายเป็นสสารย่อมเดิมตามกฎของกลศาสตร์
จุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการแยกกายกับจิตออกจากกันนี้ก็คือ ปัญหาที่ว่าจิตจะรู้เรื่องสสารรวมทั้งร่างกายของตนเองได้อย่างไร และแน่ใจได้อย่างไรว่าจิตจะรู้ตนเป็นความจริงวัตถุวิสัย
การสงสัยสากลเป็นการเปิดโอกาสต่อข้อสงสัยทั้งปวง โดยไม่ละทิ้งปัญหาใดไว้ แต่ก็ไม่ได้นำปัญหาทั้งหมดมาคิด วิเคราะห์ในคราวเดียวกัน
เดการ์ตเสนอให้ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละข้อ หากสงสัยไปเรื่อยๆ ย่อมไม่พบกับคำตอบใดที่แน่ใจได้เลย
เดการ์ตได้พบว่าความสงสัยสากลก็ไม่อาจสงสัยได้หมดทุกอย่าง เพราะมีอยู่สิ่งหนึ่งทำอย่างไรก็สงสัยไม่ได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดตรรกะ แน่นอนที่ว่าต้องมีมูลบทที่เชื่อว่าเป็นจริงคือ ทำอย่างไรก็สงสัยไม่ได้เป็นปฐมบทก่อน
และนั่นคือ ความสงสัยในตนเอง (I doubt) เมื่อแน่ใจในความจริงนี้ จึงค่อยๆ ก้าวต่อไปด้วยความแน่ใจ เดการ์ตได้เสนอความแน่ใจนี้ผ่านข้อความ I think เพราะว่ามีความสงสัยจึงมีการดำเนินความคิด ถ้าไม่คิดจะสงสัยได้อย่างไร เมื่อแน่ใจว่าจิตคิดได้ ก็ก้าวไปสู่ข้อความสำคัญ I am นั่นคือ ฉันมีอยู่
เพราะฉันมีอยู่จึงได้คิดและสงสัยได้ หากไม่มีฉันอยู่จะคิดและสงสัยได้อย่างไร เมื่อยืนยันความแน่ใจใน 3 ข้อความนี้ จึงแน่ใจได้ว่าการดำเนินการของจิตตามกฎของจิตนั้นให้ความจริงวัตถุวิสัย
แต่อะไรที่เป็นหลักค้ำประกันความจริงนี้ คำตอบที่สำคัญและเป็นจุดหักเหสำคัญอย่างหนึ่งของกลไกของจิตก็คืออัชฌัตติกญาณ (intuition) ซึ่งเป็นสมรรถภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ในการเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและชัดเจน
หากไม่ยอมรับบทบาทของอัชฌัตติกญาณ มนุษย์ก็ไม่อาจหนีความสงสัยไปได้ เพราะจะไม่แน่ใจต่อความจริงใดๆ เลย
การที่มนุษย์มีอัชฌัตติกญาณและสมรรถภาพเหตุผลเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถใช้เพื่อไล่เรียงความรู้ให้แน่ใจได้ตามลำดับ ไล่เรียงไปได้ถึงไหนก็แน่ใจได้ถึงนั่นว่าเป็นความรู้วัตถุวิสัย
มีผู้คิดตามและยึดถือตามหลักการของเดการ์ตอย่างมั่นคง เรียกว่า Cartesian
ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
โฆษณา