20 ธ.ค. 2018 เวลา 04:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สนามแม่เหล็กโลกยุคโบราณอาจเกิดจากทะเลแมกมาเหนือพื้นผิว
โลกในยุคที่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ ๆ เมื่อหลายพันล้านปีก่อน อาจมีสนามแม่เหล็กโลกอีกแบบที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้ โดยเกิดจากการไหลเวียนของมหาสมุทรหินหนืดหรือแมกมา (Magma) บนพื้นผิวที่ยังไม่มีแผ่นเปลือกโลกนั่นเอง
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ของสหรัฐฯ ได้ทดสอบสร้างแบบจำลองทางธรณีวิทยาของโลกและดาวเคราะห์คล้ายโลกจำพวก "ซูเปอร์เอิร์ธ" (Super-Earth) ในยุคที่กำเนิดขึ้นได้ไม่นาน และพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์เหล่านี้จะมีสนามแม่เหล็กอยู่แล้ว ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นใหม่ ๆ
ผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กชนิดนี้อยู่บนพื้นผิวดาวเป็นหลัก ซึ่งในกรณีของโลกก็น่าจะอยู่บนพื้นผิวโลก ไม่ใช่ภายในแกนกลางและเนื้อโลกเช่นในปัจจุบัน
ทีมผู้วิจัยพบว่ากระแสไหลเวียนของหินหนืดปริมาณมหาศาลบนพื้นผิวดาว สามารถทำให้เกิดการนำไฟฟ้าที่มีกำลังมากพอจะเป็นไดนาโมขนาดยักษ์ได้ โดยความเร็วในการไหลเวียนของหินหนืดเพียง 1 มิลลิเมตรต่อวินาที ก็เพียงพอที่จะเกิดสนามแม่เหล็กซึ่งครอบคลุมดาวทั้งดวงขึ้นได้แล้ว
โอกาสเกิดสนามแม่เหล็กบนดาวเคราะห์ที่มีสูงขึ้นนี้ เท่ากับว่ามนุษย์จะมีโอกาสค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เนื่องจากการมีสนามแม่เหล็กเป็นตัวบ่งบอกว่า สิ่งมีชีวิตบนดาวดวงนั้นได้รับการปกป้องจากรังสีอันตรายในอวกาศ
ทุกวันนี้โลกของเราเสมือนมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดยักษ์อยู่ภายใน โดยแกนโลกชั้นนอกที่เป็นเหล็กและนิกเกิลหลอมเหลวหมุนอยู่ท่ามกลางทะเลแมกมา ซึ่งประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่เบากว่าและอนุภาคมีประจุไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่ากระบวนการให้กำเนิดสนามแม่เหล็กที่พื้นผิวดาวเคราะห์ จะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับการเกิดสนามแม่เหล็กอีกประเภทหนึ่งซึ่งมาจากแกนกลางของดาว
โฆษณา