27 ธ.ค. 2018 เวลา 12:12 • สุขภาพ
7 วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง
วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น
1. บีบจมูก กลืนน้ำลาย
ในเคสที่หูอื้อเพราะดำน้ำหรือขึ้นเครื่องบิน ซึ่งอาการเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ เราสามารถแก้อาการหูอื้อได้ง่าย ๆ ด้วยการทำ Toynbee maneuver คือบีบจมูกทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง จากนั้นเอามือที่บีบจมูกออก แล้วกลืนน้ำลายอีก 1 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้ท่อยูสเตเซียนเปิดและปิด แก้อาการหูอื้อได้
2. รักษาหวัดให้หาย
ในกรณีที่หูอื้อเพราะเป็นหวัด แนะนำให้รักษาอาการหวัดให้หายดี แต่หากหวัดหายแล้วยังหูอื้ออีก ให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอีกที
3. เติมวิตามินให้ร่างกาย
Michael Seidman หัวหน้าศูนย์แพทย์ Center for Integrative Medicine เผยงานวิจัยว่า อาการหูอื้ออาจเกิดเพราะร่างกายเราขาดวิตามิน B12 และซิงค์ ซึ่งเป็นวิตามินตัวสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะประสาทหูเสื่อมจากสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้นการกินวิตามิน B12 วันละ 25-50 มิลลิกรัม และซิงค์วันละ 30 มิลลิกรัมจะช่วยบำรุงระบบประสาท รวมทั้งแก้อาการหูอื้อได้ ทว่าวิธีนี้จะเห็นผลเพียง 30-40% เท่านั้นนะคะ
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ประสาทหูที่เสื่อมเฉียบพลันก็ต้องการการฟื้นฟูเหมือนอวัยวะอื่น ๆ เช่นกัน ดังนั้นคนที่หูอื้อไม่ยอมหาย ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของตัวเองบ้างก็ดี โดยพยายามนอนก่อน 4 ทุ่ม หรือพักผ่อนไม่ต่ำว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
5. กำจัดขี้หู
อาการหูอื้อบางครั้งอาจเกิดจากการมีขี้หูอุดตัน ดังนั้นการกำจัดขี้หูออกจึงเป็นวิธีแก้หูอื้ออีกทางหนึ่ง ทั้งนี้สำหรับคนที่มีอาการหูอื้อ ขอให้หลีกเลี่ยงการแคะหูด้วยตัวเอง แต่ให้พบแพทย์เพื่อทำการกำจัดขี้หูออกให้ ซึ่งจะปลอดภัยและช่วยแก้หูอื้อได้มากกว่า รวมทั้งยังเป็นการไปหาสาเหตุของอาการหูอื้อที่ถูกต้องและตรงจุด ซึ่งจะช่วยแก้หูอื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. เอียงศีรษะเพื่อเอาน้ำในหูออก
ถ้ารู้สึกเหมือนน้ำเข้าหูและทำให้หูอื้อ ควรเอียงศีรษะข้างที่มีน้ำเข้าหูลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปทางด้านหลัง ซึ่งจะทำให้ใบหูราบตรงต่างจากลักษณะปกติที่ใบหูจะเป็นรูปตัว S คราวนี้น้ำก็จะไหลออกจากหูได้สะดวกและส่วนมากก็จะพาเอาอาการหูอื้อหายไปด้วย ทว่าหากใครยังหูอื้ออยู่ เคสนี้ต้องขอให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางแล้วล่ะค่ะ
7. พบแพทย์เฉพาะทาง
หากลองรักษาเบื้องต้นแล้วไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของอาการหูอื้อ และรักษาตามสาเหตุที่เป็น ซึ่งอาจจะทำการรักษาด้วยยา เช่น ยาขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น ยาบำรุงประสาทหู เป็นต้น หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัด แล้วแต่เคสนั้น ๆ ไป
วิธีป้องกันหูอื้อ
ถ้าไม่อยากรำคาญกับอาการหูอื้อ เรามีวิธีป้องกันหูอื้อมาฝาก
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง
- เคี้ยวหมากฝรั่งหรือพยายามกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ขณะโดยสารเครื่องบิน เพื่อให้ท่อยูสเตเซียนเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลา ป้องกันอาการหูอื้อได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น แอสไพริน, aminoglycoside และ quinine
- ลดอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- งดสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินอาจขัดขวางการลำเลียงเลือดไปยังประสาทหูได้
- รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ๆ พยายามระมัดระวังเหตุที่จะกระทบกระเทือนไปถึงหูได้
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการติดเชื้อที่หู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
- พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
- ลดความเครียด วิตกกังวล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควบคุมโรคที่เป็นให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด เป็นต้น
cr. health.kapook
ขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน
โฆษณา