10 ม.ค. 2019 เวลา 01:21 • ประวัติศาสตร์
ความเห็นเรื่อง ยุทธหัตถี ๔ ... พระแสงง้าวเท่านั้น
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
เหตุผลที่ต้องใช้ "ง้าว" ในการทำยุทธหัตถี มี ๓ ประการคือ
๑. ขนาดของช้าง ... จากพื้นถึงคอช้าง สูงอย่างน้อย ๒๕๐เซนติเมตร นั่นคือ เกือบๆชั้นสองของบ้าน (ภาพแรก) แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ ... "ระยะต่อสู้" ... ช่วงคอช้างตรงที่เราขี่ถึงหน้าผากช้างก็ราวๆ ๗๐-๙๐เซนติเมตร บวกกับ ระยะห่างระหว่างช้างอีกอย่างน้อย ๕๐เซนติเมตร นั่นหมายความว่า จากตัวเราถึงศัตรูมีร่วมๆ ๒๐๐-๒๕๐เซนติเมตร(ภาพที่๒-๓)ไม่มีอาวุธใดจะฟันถึงได้ในระยะนั้น นอกจาก ง้าว .... ซึ่งตรงกับขนาดของ "พระแสงของ้าวพระยาแสนพลพ่าย" ที่ยาวประมาณ ๒๒๐เซนติเมตร(ภาพที่๔) และรวมถึงง้าวใน พช.พระนคร(วังหน้า) หลายเล่มก็เกิน ๒๐๐เซนติเมตร(ภาพที่๕)
๒. รูปแบบการต่อสู้ ... การทำยุทธหัตถี คือ การใช้สัตว์ขนาดใหญ่เป็นพาหนะ แต่การต่อสู้คือ การนำช้างชนเข้าระยะ (จึงเรียกว่า ชนช้าง) แล้วใช้อาวุธยาวทำการต่อสู้ ... ซึ่งต่างกับการ ขี่ม้าดวลทวนแบบยุโรป(Lance Fighting) ที่เป็นการใช้ทวนยาว(ภาพที่๖) หนีบไว้กับลำตัว แล้วขี่ม้าสวนกัน(ภาพที่๗) และระหว่างจังหวะสวนนั้นก็ใช้ทวน แทงใส่กัน(ภาพที่๘) ซึ่งต่อมา ทักษะการใช้ทวนต่อสู้แบบนี้ ได้พัฒนามาเป็น การฟันดาบเรียกว่า เอเป้(ภาพที่๙)
เมื่อช้างเข้าชนกันแล้ว ขุนศึกบนคอช้าง จะไม่อาจทรงตัวให้ใช้อาวุธโจมตีเข้าเป้าหมายได้ ด้วยเพราะแรงปะทะ ... จังหวะการต่อสู้เริ่มขึ้นตรงนี้ "ใครทรงตัวได้ดีกว่า จะได้โอกาสฟันก่อน ถ้าอีกฝ่ายทรงตัวไม่ทัน ก็หลบไม่ได้รับไม่ทัน นั่นหมายถึงชีวิต .. แต่ถ้าทรงตัวได้ ก็หลบได้รับทัน จึงจะได้โอกาสโต้กลับ" ...
๓. พลังการโจมตี ... ถ้าเราต้องเลือกการโจมตีครั้งแรก "การฟัน" เป็นคำตอบที่ดีที่สุด ... เพราะ
- การฟัน สามารถใช้แรงจากการปะทะเป็นโมเมนตัม เพิ่มกำลังการโจมตีได้อีกหลายเท่าตัว
- การฟัน มีรัศมีการทำลายที่กว้าง ทำให้ยากแก่การป้องกัน
- การฟัน เป็นการเปิดฉาก เพื่อสร้างจังหวะสังหาร
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ อานิสงค์แห่ง ง้าว และเป็นเหตุที่ การยุทธหัตถี จึงต้องเลือก ง้าว (ภาพที่๑๐-๑๑)
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
บันทึกของ Jacques de Couer ต้นฉบับภาษาดัชต์(ภาพที่๑๒) บันทึกว่า "maar Maparsja stierf in de stad Tavaj van een lanssteek in de keel" ... แต่การเผยแพร่คำแปลว่า "แต่ Maparsja (พระมหาอุปราชา) ไปตายที่เมือง Tavaj โดยบาดแผลที่โดนแทงด้วยหอกเข้าที่ลำคอ" ...โดยผู้แปล ไปแปลมาจากฉบับแปลภาษาอังกฤษอีกที
เมื่อได้ยินคำแปลเยี่ยงนั้น ผมก็เกิดประเด็นสงสัยอยู่หลายข้อ
๑. Jacques de Coure บันทึกเป็น ภาษาดัชต์ ผู้แปลเป็น ภาษาอังกฤษ มีความความเข้าใจในภาษาดัชต์ ในระดับใด?
๒. Jacques de Coure แยกออกระหว่าง "Lans กับ Speer"(ทวนกับหอก) รึไม่? (ภาพที่๑๓-๑๔)
ดร.อิสระ สระมาลา ท่านให้ความเห็นว่า ..."lanssteek น่าจะหมายถึง "แผลถูกแทง" ไม่น่าหมายถึง ตัวอาวุธ"...
จากข้อสัณนิฐานนี้ ผมจึงลองค้นเพิ่มเติม ก็พบว่า ...
๑. ในภาษาดัชต์ มีคำว่า Speer ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Spear ที่แปลว่า หอก ดังนั้น ถ้า Jacques de Couer จะบันทึกว่า ถูกแทงด้วยหอก ก็น่าจะเขียนว่า "Werd gestoken met een speer"
๒. ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า lanssteek เป็น คำประสม ที่มีความหมายจำเพาะ เพราะเมื่อเราแยกคำจะพบว่า
- คำว่า lans ในภาษาดัชต์ ตรงกับคำว่า lance ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า "ทวน" ซึ่งผันมาเป็นคำว่า laceration ใช้เป็นศัพท์ทางการแพทย์เรียก ลักษณะแผลฉีกขาด อยู่ทุกวันนี้ (ภาพที่๑๕)
- คำว่า steek ในภาษาดัชต์ ตรงกับคำว่า stitch ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า "แนวตะเข็บ หรือ ต่อย"
เมื่อรวมคำแปลแล้ว lanssteek น่าจะตรงกับ ภาษาอังกฤษว่า laceration stitch แปลเป็นไทยได้ว่า "แนวบาดแผลฉีกขาด"
สรุป... ประโยคจากบันทึกของ Jacques de Couer ที่ว่า "maar Maparsja stierf in de stad Tavaj van een lanssteek in de keel" ...จึงต้องแปลว่า... "แต่ Maparsja (พระมหาอุปราชา) ทรงสิ้นพระชนม์ที่เมือง Tavaj ด้วยแนวบาดแผลฉีกขาดที่พระศอ"
 
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
ในบันทึก จดหมายเหตุของ Jeremias van Vliet หรือ วันวลิต (ภาพที่๑๖) ได้บันทึกเหตุการณ์ จากคำบอกเล่า ขอผู้อยู่ร่วมสมัยกับ สมเด็จพระนเรศ ว่า ..."สมเด็จพระนเรศใช้อาวุธตะขอโน้มพระศอพระมหาอุปราชาแล้วแทงที่พระศอ"... ซึ่งตรงนี้ ก็ถือว่าตรงกับ บันทึกคำให้การของขุนหลวงหาวัด ที่บันทึกว่า "ทรงใช้พระแสงของ้าวในการยุทธหัตถี" ... และตรงกับ Jacques de Couer ที่บันทึกว่า "พระมหาอุปราชาทรงสิ้นพระชนม์เพราะบาดแผลถูกแทง" แต่ก็ไม่ได้บันทึกถึงลักษณะอาวุธตรงๆ
ซึ่งถ้าหากเราเอาบันทึกทั้งหมดมารวมกันก็น่าจะคาดการณ์ได้ดังนี้
Jacques de Couer - ถูกแทงที่พระศอ
Jeremias van Vliet - ถูกขอเกี่ยวโน้มลงมา แทงที่พระศอ
คำให้การชาวกรุงเก่า - ถูกฟันสะพายแล่ง
คำให้การขุนหลวงหาวัด - ถูกฟันสะพายแล่ง
การฟันสะพายแล่ง คือ การฟันตั้งแต่ต้นคอพาดเฉียงลงที่ชายโครงอีกด้าน ดังนั้น เหตุการณ์คงสรุปได้ประมาณว่า
๑. ช้างสมเด็จพระนเรศนั้น ยันต้นพุทราอันนั้นเข้าได้แล้ว จึงชนกระแทกขึ้นไป ก็ค้ำคางช้างอุปราชาเข้า ฝ่ายช้างช้างอุปราชาก็เบือนหน้าไป
๒. สมเด็จพระนเรศได้ทีก็ ฟันด้วยพระแสงของ้าวหมายสะพายแล่งทันที
๓. พระมหาอุปราชาทรงยกพระแสงง้าวขึ้นรับทัน
๔. อาจเพราะสมเด็จพระนเรศทรงฟันลงมาในจังหวะเดียวกับที่ ช้างทรงยันกลับ ระยะง้าวจึงเกินเป้าหมายออกไป
๕. แต่ด้วยพระปรีชาไหวพริบ ทรงดึงพระแสงของ้าวกลับทันที
๖. ทำให้ขอเกี่ยวพระแสงง้าวของพระมหาอุปราชา
๗. และพระวรกายของพระมหาอุปราชาก็ถลำเข้ามา
๘. ซึ่งปลายพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศ ที่ตั้งท่ารอแทงอยู่พอดี
๙. พระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศ แทงเข้าที่ พระศอของพระมหาอุปราชาและทรงหมดพระสติที่คอช้างนั้น
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
ทั้งหมดเป็น ความเห็นของกระผมต่อ กรณีเรื่อง "การใช้อาวุธในการยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศกับพระมหาอุปราชา" ในฐานะ ผู้ศึกษาศิลปะการใช้อาวุธโบราณและการสร้างอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธไทย กระผมได้แสดงความรู้ความเข้าใจเท่าที่จำเป็น แต่มิอาจจะแสดงรายละเอียดทั้งหมดลงไปได้ โดยเฉพาะการสาธิต หากท่านผู้อ่านสนใจในประเด็นใดเป็นพิเศษ ก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ครับ ... ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามครับ
รัฐกฤษ สงสำเภา / ครูหนึ่ง
ผู้อำนวยการสถาบันศาสตรายุทธ์
โฆษณา