12 ม.ค. 2019 เวลา 05:09 • การศึกษา
ฉากสุดท้ายจอมโจรผู้ยิ่งใหญ่เสือฝ้าย
◎สังหารเสือฝ้าย◎
ในที่สุด ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร กับคณะพาเสือฝ้ายกับพวกไปลงเรือที่วัดท่าช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวตลาดท่าช้างราว ๑ กิโลเมตร เรือลำนั้นเถ้าแก่เทียบ เจ้าของตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ให้ความร่วมมือกับตำรวจให้ยืมไปใช้ในราชการ อีกทั้งมีความสนิทชิดชอบกับผู้กองยอดยิ่งมาก(ต่อมาสายสืบรายงานมาว่าเถ้าแก่เทียบ เป็นผู้หนึ่งที่รับซื้อของโจร อยู่มาวันหนึ่งกำนันเทียบได้รับเชิญไปงานเลี้ยงในกรุงเทพฯและหายตัวไปอย่างลึกลับ จนกระทั่งมีผู้ไปพบกลายเป็นศพอยู่หลังโรงลิเก)
ในตอนสายวันเดียวกันข่าวเสือฝ้ายถูกตำรวจพาตัวไปอย่างน่าสงสัย บรรดาสมุนโจรที่เหลืออยู่ได้พากันบุกเข้าไปคลังแสงในค่ายโจร โดยมิต้องรอรับคำสั่งจากใครอีกและก็ไม่มีกล้ายับยั้งได้ บางกลุ่มได้นำเรือออกติดตามไปช่วยเสือฝ้ายกลับมา บางกลุ่มฉวยโอกาสหนีเอาตัวรอดไปหากินอยู่ถิ่นอื่น
อาจารย์มนัส โอภากุล เขียนเรื่อง“สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ?” ในนิตยสาร
“ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๐ มีความตอนหนึ่งว่า“….ส่วนเสือฝ้ายก็เข้าหาตำรวจเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวมาที่จังหวัดสุพรรณบุรี พักอยู่ที่โรงแรมศรีธงชัย(ปัจจุบันคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา)มิได้มีการจำจองแต่ประการใด นัยว่าจะนำตัวเข้าหาผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯ ประชาชนแตกตื่นไปดูเสือฝ้ายเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าทราบข่าวก็ไปดูกับเขาเหมือนกัน เสือฝ้ายยิ้มแย้มแจ่มใสดี รุ่งเช้าตำรวจนำตัวเดินทางโดยทางเรือเข้าไปทางจังหวัดอ่างทอง แต่แล้วมีข่าวว่าเสือฝ้ายกระโดดน้ำหนี จึงถูกตำรวจยิงตาย เป็นไปไม่ได้เสือฝ้ายกระโดดน้ำหนีตำรวจด้วยเรืองอะไรกัน ในเมืองจะนำตัวเข้าหาผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นการกระทำที่ทุกคนรู้ว่าตำรวจเล่นไม่ซื่อ แต่จะเป็นคำสั่งของใครไม่ทราบได้......”
ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร ได้รับรายงานว่า มีสมุนโจรจำนวนมากกำลังติดตามมาชิงตัวหัวหน้ากลับไป จึงต้องรีบออกเดินทางในกลางดึกวันนั้น โดยแล่นลัดเลาะไปตามแม่น้ำท่าจีนมุ่งสู่ พอเรือแล่นผ่านประตูน้ำบางยี่หน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการอยู่ได้ปิดประตูน้ำลงทันที พร้อมทั้งมีปืนกลมือเมดเสนขนาด ๙ ม.ม. ซึ่งทางราชการตำรวจเรียกว่าปืนกลมือแบบ 96 ที่ผลิตในประเทศเดนมารกเข้าประจำที่ รวมทั้งอาวุธปืนชนิดต่างๆและลุกระเบิดมือเตรียมตอบโต้สมุนโจรที่จะติดตามมา
เข้าคลองลาดชะโดไป อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับเรื่องนี้ผู้เขียนได้สอบถามรายละเอียดกับพ่อเสือมเหศวร
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ ครั้งที่ทางวัดเดิมบางจัดพิธีสืบชะตาให้พ่อ(มเหศวร) เนื่องในเทศกาลสงกรานต์(ปีใหม่ไทย)
พ่อเสือมเหศวรเล่าว่า ขณะนั้นตนมีเรื่องโกรธเคืองกับเสือฝ้าย เพราะเสือฝ้ายไปจับแม่ไปเป็นตัวประกัน โดยเสือแพรวสมุนเอกหักหลังเป็นผู้แนะนำเสือฝ้าย เพื่อบังคับให้เสือมเหศวรมอบตัวหรือยิงทิ้ง ซึ่งพ่อเสือมเหศวรไม่กลัว ตั้งใจจะไปท้าเสือฝ้ายให้มายิงกันตัวต่อตัว พอดีเสือฝ้ายถูกตำรวจจับไปเสียก่อน ตนได้แต่ชิงเอาตัวแม่กลับมาเท่านั้น
ส่วนพ่อเสือใบนั้นหนีเตลิดไปแถบจังหวัดกาฬสินธุ์ ถิ่นของเสือคงคนสนิท
ฝ่ายเสือฝ้ายพอฟ้าสางก็ตื่นลุกจากที่นอน พบ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง นั่งเฝ้าอยู่ตลอดทั้งคืนลุกขึ้นหยิบขันน้ำยื่นส่งให้ และพูดว่า“เอ้าล้างหน้าเสีย อารมณ์จะได้สดชื่น”
เสือฝ้ายยื่นรับพร้อมกับกล่าวคำ“ขอบคุณ”
หลังจากล้างหน้าเสร็จเรียบร้อย เสือฝ้ายหันกลับมาเตรียมยื่นขันน้ำส่งคืน ด้วยความซาบซึ้งในไมตรีจิตจึงถามว่า“ท่านดีกับผมอย่างนี้ ยังไม่ทราบชื่อท่านเลยครับ”
“ผม ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร”
เสือฝ้ายตกตะลึงจนขันน้ำที่ถือหลุดจากมือ“ผู้กองยอดยิ่ง มือปราบจับตาย” ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่พระครูธรรมขันธ์สุนทร(ม.ร.ว.เอี่ยม อิศรางกูร ณ อยุธยา)เคยเตือนให้ระวังตัวไว้
ผู้กองยอดยิ่งพยักหน้ายิ้ม พร้อมกับกระตุกปืนที่เอวออกมาขู่
ขณะนั้นเรือแล่นมาถึงกุฏิตึกหน้าวัดนางในธัมมิการาม กองอำนวยการหน่วยปราบปรามพิเศษเรือเบาเครื่องเตรียมจะจอด แต่ผู้กองยอดยิ่งสั่งให้คนขับเรือต่อไป จนกระทั่งถึงบริเวณสะตือสี่ต้น บ้านบางตะโพ้น ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ซึ่งชาวบ้านทุกคนทราบดีว่า บริเวณแถบนี้เป็นแดนประหารโจรมามากมายแล้ว ยิงเสร็จก็หันหลังกลับไม่ต้องฝัง ช่วงที่ตายใหม่มีเลือดสดๆไปออกจากรูกระสุนปืน สุนัขชาวบ้านเลี้ยงไว้จะมาเลียเลือดกินจนอิ่ม ส่วนซากศพปล่อยไว้ให้แร้งกามากินเป็นอาหาร เวลาผ่านไปหลายวันอาจจะมีสุนัขหิวโซมาแทะกระดูกกินหรือคาบหัวกะโหลกไปเล่น
ลุงเตียม พลายพูล อายุ ๘๗ ปี ชาวบ้านกองช้าง อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า บางครั้งก็ยิงทิ้งกลางวันแสกๆ แกกับเพื่อนยังไปนั่งดูและถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ แต่แกก็อ้างว่าต้องการมานั่งหลบแดดไม่ได้มาดู
ก่อนหน้าเสือฝ้ายหนึ่งอาทิตย์ยิงทีเดียว ๗ ศพ ล้วนเป็นเสือร้ายตัวฉกาจจากที่อื่นทั้งนั้น
สำหรับเหตุการณ์เสือฝ้ายในช่วงนี้ นายชื้น อยู่ถาวร สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดอ่างทอง ได้ฟังจากชาวอ่างทองในภายหลังว่า“......เวลา ๒๒.๐๐ น. พอเรือจอดเทียบและเจ้าหน้าที่กำลังวุ่นกับการขนของเสือฝ้ายก็กระโดดหนีจากเรือยนต์ลงไปในน้ำ เพื่อหลบหนี แต่นายประกอบ ทรัพย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กับ ร.ต.อ.เลื่อน ปัณฑรนนทกะ ผู้กำกับการตำรวจภูธรอ่างทองคว้าคอไว้ได้ ต่อจากนั้นกองปราบอันมี ร.ต.อ.ยอดยิ่ง เป็นหัวหน้าก็คุมตัวเสือฝ้ายเดินทางไปทางหลังวิเศษไชยชาญ พอถึงทางแยกหลังวัดนางในธรรมิการาม ซึ่งอยู่หลังตลาด เสือฝ้ายก็โดดเข้ากระแทก พลฯจำปาเซล้มลง แล้วฉวยคาร์ไบน์จากพลฯจำปาวิ่งหนี ร.ต.อ.ยอดยิ่งกับ ร.ต.อ.เลื่อนและพวกจึงวิ่งตามโดยทันที แต่ฝ้ายทั้งๆที่กำลังหนีก็หันมากระหน่ำตำรวจด้วยคาร์ไบน์เป็นการสกัดกั้นการติดตาม
เสือฝ้ายวิ่งเต็มเหยียดไปถึงตำบลบ้านบางตะโพ้นก็พอดีพบกับพรรคพวก ซึ่งมาซุ่มคอยชิงตัวหัวหน้าจากเงื้อมมือตำรวจอยู่ แล้วฝ่ายนอกกฎหมายซึ่งอาศัยราวป่าเป็นฉากกำบังก็ปล่อยกระสุนปืนกลมายังกองปราบดังหูดับตับไหม้ ตำรวจจึงแปรขบวนยิงสู้อย่างดุเดือด การต่อสู้ดำเนินไปราวชั่วโมงเศษและในที่สุดก็ยุติลงด้วยการอำลาโลกของฝ้าย เพ็ชรนะกับพรรคพวกอีก ๗ คน ส่วนสมุนอื่นๆหลีกรอดมฤตยูและเงื้อมมือตำรวจไปได้(ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์“พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐)
ส่วน ร.ต.อ.เลื่อน ปัณฑรนนทกะ ได้บันทึกผลงานในสมุดประวัติไว้ว่า
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๐ ได้สืบสวนจับกุมและยิงต่อสู้นายฝ้าย เพ็ชนะ หัวหน้าผู้ร้ายสำคัญกับพวก ที่สุดนายฝ้ายคนร้ายกับพวกได้ถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงานตาย ๗ คน และจับได้อาวุธปืนและระเบิดมือจากผู้ตายด้วย
กรมตำรวจสืบลงประวัติ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐
ที่บ้านท่าใหญ่ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีทราบข่าวเสือฝ้ายถูกยิงตายในเวลาต่อมา ทำให้นางทองใบ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากและนางสงัด ภรรยาคนสุดท้ายของเสือฝ้ายรีบเดินทางไปที่บ้านบางตะโพน ตำบลศาลเจ้าโรงทอง อำเภอวิเศษชัยชาย จังหวัดอ่างทองทันที
ในวันรุ่งขึ้นมาพบร่างของเสือฝ้ายถูกทิ้งขึ้นอืดอยู่โคนต้นสะตือ ภรรยาม่ายทั้งสองต่างเศร้าโศกเสียใจและแสดงความรักเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการทำหน้าที่สัปเหร่อรูดเอาเนื้อที่เน่าแฟะออก แล้วนำเอากระดูกรวมใส่ผ้าห่อไว้ ก่อนที่จะนำไปทำการฌาปนกิจที่วัดหลวง ตำบลยี่ล้น อำเภอวิเศษชัยชาญ ซึ่งห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว ๓ กิโลเมตร
การตายของเสือฝ้ายกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั่วประเทศพากันสนใจ หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พร้อมกับข่าวติดต่อกันนานเกือบเดือน
หนังสือพิมพ์“พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ พาดหัวข่าวตัวโตเรื่องการสังหารเสือฝ้ายว่า“นายพลตำรวจตงฉินสงสัยเรื่องเสือฝ้ายว่าถ้าเป็นเรื่องยิงทิ้ง ตำรวจทั้งหมดก็พลอยเสื่อม การตัดสินชีวิตผู้ร้ายไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ” ส่วนรายละเอียดของข่าวมีดังต่อไปนี้
เนื่องจากพฤติการณ์โดยละเอียดของกองปราบยังมิได้รายงานเข้ามา ความตายของ“เสือฝ้าย” เพ็ชนะ อดีตขุนโจรสุพรรณ ผู้กลับใจเข้าสวามิภักดิ์มอบอาวุธต่อเจ้าหน้าที่-มอบตัวให้บ้านเมือง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงเป็นเรื่องทำให้เกิดความสงสัยกันทั่วไป โอกาสนี้เจ้าหน้าที่ข่าวของเราได้พบกับ พล.ต.ต.พระอภิบาลศุภมิตร อดีตผู้รักษาการณ์ในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งขึ้นชื่อในยุคนั้นว่าเป็นนายพลตำรวจ“ตงฉิน” ผู้ประณามการ“จับตาย”ของตำรวจอย่างยิ่ง เมื่อพูดกันถึงเรื่องนี้นายพลผู้เลื่องชื่อส่ายหน้าอย่างสลดใจ กล่าวว่า
◎นายพลสังเวชใจ◎
“เท่าที่ผมได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์รู้สึกสังเวชใจเหลือเกิน เพราะรูปการมันเป็นไปในทำนอง“ยิงทิ้ง” ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงก็เหลือทน คนเราไม่น่าจะมีจิตใจร้ายกาจถึงอย่างนั้น เรายังเป็นคนอยู่นี่ ท่านกล่าวอย่างเคร่งเครียดและเน้นต่อไปอย่างหนักแน่นว่า“ตำรวจเสื่อมเกียรติ ผมก็เลือดตำรวจคนหนึ่ง ถ้ามีการสกปรกจริง ร.ต.อ.ยอดยิ่ง ก็ทำให้ตำรวจทั้งหมดเสื่อมเกียรติอย่างไม่มีชิ้นดี” ไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ แล้วท่านนายพลกล่าวต่อไปว่า การทำผิดหรือถูกของฝ้าย เพ็ชนะ กับพวกไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจที่จะวินิจฉัย เป็นหน้าที่ของศาลที่จะพิพากษา เมื่อท่านรักษาการณ์ในตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ มีเรื่องชนิดนี้เกิดขึ้น ท่านจะตั้งกรรมการสอบสวนกันอย่างกวดขัน
ความผิดฐานประมาท
“….จริงอยู่กรรมการมักจะไม่ได้หลักฐานอะไรที่จะเอาความผิดแก่ตำรวจในกรณียิงคนร้ายฝ่ายเดียว เพราะเอาไปยิงกันในป่าหรือที่ลับตาคน แต่เว้นระยะนิดหนึ่งแล้วท่านย้ำว่า“ผมจะเอาความผิดฐานประมาทปล่อยให้ผู้ร้ายหลุดจากกุญแจมือไป ทั้งๆที่ตำรวจคุมตัวอยู่อย่างหนาแน่น
◎ศีลธรรมของตำรวจ◎
จากนั้นท่านกล่าวถึงความรู้สึกของท่านในเรื่องการ“จับตาย”หรือ“ยิงทิ้ง”ว่า“ตำรวจควรจะนึกถึงศีลธรรมจรรยาไว้ให้มากที่สุด เราเป็นมนุษย์ไม่ใช่สัตว์ป่า ควรจะมีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจเกี่ยวข้องติดต่อกับราษฎรทุกๆวัน ควรจะต้องมีใจกว้างขวางและเพียบพร้อมไปด้วยศีลธรรมจรรยา ม่ายแล้วราษฎรเดือดร้อน”
◎เรื่องคงไม่เงียบ◎
ท้ายที่สุดท่านนายพลสรุปว่า“เรื่องนี้ผมเข้าใจว่า ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยคงจะไม่ยอมให้เรื่องผ่านไปอย่างเงียบๆเป็นแน่ เพราะท่านได้กล่าวไว้แล้วว่า นายฝ้ายกลับตัวเป็นคนดี เรียกมาหาหรือถ้าจะยิงทิ้งเรียกไปยิงที่บ้านท่านก็ได้........
หนังสือพิมพ์รายวัน“พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ เสนอข่าวของเสือฝ้ายมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้าหลวงสุพรรณเผยเรื่องฝ้าย
ว่าไม่ควรมาถูกตำรวจปลิดชีพเสียเลย นโยบายปราบผู้ร้ายต้องมาเสียกลางคัน ผู้ที่ไปกับฝ้ายก็เป็นคนดีๆ กองปราบแรงไป
เราได้รายงานเรื่อง“ฝ้าย เพ็ชนะ”หรือที่เรียกกันว่า เสือฝ้าย ซึ่งทางกองปราบที่อยู่ในความควบคุมของ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร และนายประกอบ ทรัพย์มณี ข้าหลวงจังหวัดอ่างทองได้ปราบเป็นศพไปแล้ว พร้อมด้วยผู้ติดตาม“ฝ้าย” ๖ ศพมาแล้วเป็นลำดับและข่าวคืบหน้า ซึ่งเราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด จากปากคำของพระรามอินทราปรากฏว่า อดีตอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งให้นายประกอบ ทรัพย์มณี ข้าหลวงจังหวัดอ่างทอง ส่งรายการสอบสวนโดยละเอียดมายังกระทรวงมหาดไทย
ผมตกใจเหลือเกิน
และเมื่อนักข่าวของเราได้พบกับขุนธรรมรัฐธุระการ(ธรรมรัตน์ โรจนสุนทร) ข้าหลวงสุพรรณบุรี ผู้ซึ่งได้รับนโยบายการปราบโจรร้ายโดยตรงจากกระทรวงมหาดไทย เราก็ได้ทราบรายละเอียดคืบหน้าในการตายของ“ฝ้าย”ซึ่งท่านข้าหลวงแถลงแก่นักข่าวของเราว่า ผมรู้สึกตกใจมาก เมื่อได้รับข่าวว่า“ฝ้าย”ตายเสียแล้ว เพราะเวลานั้นผมเดินทางมากระทรวงเสียก่อน ก่อนหน้าเดินทางมากระทรวง“ฝ้าย”ได้มาหาผมที่บ้านและเตือนถึงเรื่องไปปราบโจรด้วยกันและผมก็รับว่าจะไป เผอิญต้องมากรุงเทพฯเสียและก่อนวันที่ผมจะมากรุงเทพฯนี้ ร.ต.อ.ยอดยิ่ง และนายประกอบ ทรัพย์มณี ได้มาที่สุพรรณแจ้งว่าจะมารับตัวนายฝ้าย ผมจึงถามว่ามีเรื่องอะไรหรือ ทาง ร.ต.อ.ยอดยิ่งบอกว่า นายฝ้ายมีเรื่องอยู่ทางอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ขอรับตัวไปสอบสวน ยังไม่ทันซักอะไรกันมาก ก็เผอิญมีธุระ ผมจึงต้องรีบไป ร.ต.อ.ยอดยิ่งและคณะก็เดินทางไปยังบ้านนายฝ้ายในคืนนั้นเอง(๒๔ มีนาคม)ผมมารู้เอาตอนเช้าและก็เดินทางมากรุงเทพฯ พอมาถึงกรุงเทพฯ จึงรู้ว่าฝ้ายถูกยิงตายแล้ว ผมเสียใจมาก“ฝ้าย”ไม่น่าจะต้องตายเลย ท่านข้าหลวงพึมพำด้วยความสลดใจ
2
◎ผู้ติดตามไม่ใช่คนร้าย◎
นักข่าวของเราได้เรียนถามความรู้สึกต่อท่านข้าหลวงว่า“มีความรู้สึกอย่างไรในการตายของ”ฝ้าย”ครั้งนี้
ท่านข้าหลวงตอบอย่างจริงใจว่าเป็นคนดีจริง กลับตัวได้และทำการปราบโจรร่วมมือกับผมอย่างใกล้ชิด ไม่น่าจะต้องตายและข้อที่สำคัญที่สุด คนติดตาม“ฝ้าย”มานั้นเป็นคนดีๆทั้งสิ้น เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญไม่ใช่เสือสางอะไรเลย
กองปราบแรงไป
นักข่าวของเราถามว่า บ้านนายฝ้ายอยู่ในท้องที่สุพรรณจึงเป็นเรื่องที่ทางสุพรรณจะจัดส่งตัวไปได้ ถ้าหากทางอ่างทองจะรับตัวไปใช่หรือไม่
“อ๋อแน่ ผมส่งตัวฝ้ายไปเมื่อไรก็ได้ เพราะผมพบกับฝ้ายเสมอ โดยเฉพาะผมได้นัดแนะกันไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะออกปราบผู้ร้ายกันอีก ผมรู้สึกว่ากองปราบออกจะแรงไปหน่อย
“นายฝ้าย”อยู่สุพรรณท้องที่ของผม บอกผมว่าต้องการผมก็ส่งได้ แต่นี่ผมยังมิทันรับรู้
รายละเอียด เรื่องก็กลับเป็นอย่างนี้น่าเสียใจ ผมมารายงานต่อปลัดกระทรวง(พระรามอินทรา)หลังว่า นโยบายการปราบผู้ร้ายเสียแนวหมด เพราะเสียมือสำคัญ นโยบายนี้รับช่วงกันมาแต่ครั้ง พลเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม(นายช่วง ขวัญเชิด)ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย(ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๔–มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๕…ผู้เขียน) จนถึง คุณทวี บุณยเกตุ เป็น ร.ม.ต.มหาดไทย(ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๘–มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙…ผู้เขียน)แต่ต้องมาเสียกลางคัน
3
>ใหญ่เเค่ไหน ก็ยังเล็กกว่าโลง<
จบไปเเล้วครับสำหรับเสือฝ้ายผู้ยิ่งใหญ่แห่งสุพรรณตอนต่อไปจะเป็นเนื้อเรื่องตามจับเสือดำอย่าลืมติดตามกันนะครับเเละสำหรับคำถามในโพสก่อนว่ารูปของบุคคลที่ลงนั้นเป็นใครลุงที่ใส่เเว่นไม่ใช่พระคือลุงเตียม พลายพูล อายุ ๘๗ ปีส่วนอีก2ท่านนั้นน่าจะเป็นนายตำรวจที่ติดตามการสังหารเสือฝ้ายและเป็นผู้เล่ารายละเอียดให้ฟังครับส่วนชื่อนั้นไม่ทราบ
1
สำหรับตอนนี้ขอมอบ◎พระคาถา4เกลอ◎
กะระมะถะ กิริมิถิ กุรุมุถุ เกเรเมเถ
พระคาถาคงกระพัน หัวใจสี่เกลอ ถ้าทำด้วยความมั่นใจเชื่อมั่นแล้วก็จิตนิ่ง ให้ปลุกเสกปูนแดงหรือน้ำลายป้ายดินคาดคอระหว่างลูกกระเดือกกับใต้คาง โดยใช้นิ้วป้ายอึดใจหนึ่งก่อนจะต่อสู้จะกี่จบก็ได้
*******************************************
ขอขอบคุณ อาจารย์ไพฑูรย์ พันธ์เชื่องาม
โฆษณา