13 ม.ค. 2019 เวลา 22:00 • ปรัชญา
หากไม่ถึงวัด ก็ขอให้ถึงธรรม
สังคมวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาชีวิตมากมาย ... หลายคนเข้าวัดเข้าวา หวังให้พระพุทธศาสนาเป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ปมทุกข์ในใจ..
ที่ผ่านมา ผมสังเกตเห็นข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง..
คนที่รู้จักบางคน แม้ไม่เคยบวชเรียนหรือไม่ค่อยเข้าวัดฟังธรรมแต่กลับมีศีลมีธรรมในการใช้ชีวิตมากกว่าบางคนที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน
หลายคน ไม่เคยเดินจงกลม ทำสมาธิ นุ่งห่มขาว ... แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีความเข้าใจในหลักคำสอนของศาสนาได้ดีและมีจริยธรรมไม่แพ้คนที่เข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ
ในทางกลับกัน...
คนที่ทำบุญตักบาตรเป็นประจำ บูชาพระสงฆ์ ทรงเครื่อง ถวายจตุตปัจจัย เข้าวัดฟังธรรมทุกอาทิตย์แต่ชีวิตจริงกลับไม่ได้นำธรรมะมาสั่งสอนตัวเอง ไม่นำมาใช้ ได้รับแล้วปล่อยผ่านเลย ... คนเหล่านี้มีมากมายในสังคม ...
บางคนที่มุ่งมั่น อุตส่าห์ลางานไปนั่งวิปัสสนาในป่าเขา ปฏิบัติธรรม 7 วัน 7 คืน แต่พอจบหลักสูตรและกลับไปใช้ชีวิตปกติไม่กี่วัน ชีวิตและจิตใจก็วุ่นวายฟุ้งซ่านเหมือนเดิม... แถมสาเหตุก็จากปัญหาเดิม..
กรณีนี้ผมเรียกว่า "ใกล้วัดแต่ไกลธรรม"
ในความจริงแล้ว การมีชีวิตแบบฆราวาสก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพระธรรมคำสอน... ไม่ว่าจะแนวทางที่เน้นปริยัติ(ทฤษฎี) หรือ ปฏิบัติ...เพียงแต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ "วิธีการ"
หากรู้วิธีการ ก็ "ถูกต้อง".... แต่ถ้าไม่รู้ฯ ก็เท่ากับ "ถูกต้ม"
"ถูกต้อง"ในที่นี้ คือเข้าใจหลักธรรมที่เป็นแก่นแท้แห่งพุทธ นำไปใช้ได้จริง...
ส่วน"ถูกต้ม" คือหลงทาง อาทิ หลงบูชาตัวบุคคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนามธรรม เน้นเซ่นไหว้ ทำพิธีกรรม ถามหาคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิต(ของตัวเอง)จากพระอาจารย์รูปนั้นรูปนี้จนไม่เป็นอันทำอะไร...
ตอนอายุยังน้อย ผู้เขียนเคย "หลงทาง" มาก่อน เนื่องด้วยเพราะอายุและวุฒิภาวะ..แต่จนวันหนึ่งเมื่อได้เรียนรู้แนวทางที่ถูกต้อง จึงตื่นรู้ ... และยอมรับว่าตนเอง เดินมาผิดทาง ...
เมื่อยอมรับตัวเองแล้วจึงกลับใจ ปรับเปลี่ยนมุมมองในการศึกษาธรรมะเสียใหม่...จนทำให้เห็นว่า การเข้าใจธรรมที่ดีนั้น เราต้องศึกษาที่คำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้า หมั่นทบทวนกับตัวเองโดยใช้สติเป็นเครื่องมือกำกับใจ...
ที่สำคัญคือเวลาที่เจอปัญหาในชีวิต ก็พยายามนึกคิดเสมอว่าเราจะใช้ธรรมะบทใดเรื่องใดมาแก้ความทุกข์ใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถึงจะเข้าใจเหตุของทุกข์นั้นและปลงให้ตัวเอง "เห็นทุกข์"... ไม่ใช่ "เป็นทุกข์"
การศึกษาหรือเข้าใจศาสนาหรือหลักธรรมแบบผิวเผิน ไม่ว่าจะเชื่อตามบุคคลโดยไม่ใช้สติของตัวเองคิดเอง หรือการ "เผลอใจ" ไปหลงศรัทธา ทำพิธีการอะไรๆแบบมากล้น เกินพอดี นั่นคือภัยเงียบที่อันตราย...
อันตรายในที่นี้ไม่ใช่การเรียนรู้หลักธรรมที่ผิดทางเท่านั้น แต่เป็นอันตรายสำหรับการเรียนรู้ปัญหาทุกๆเรื่องในชีวิตเราด้วย
ใช้สมองเราตรึกตรองก่อนเชื่อ และใช้สติเป็นตะแกรงร่อนอีกครั้งก่อนที่จะเคารพศรัทธา..
กับพยายามศึกษาหลักคำสอนที่บริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ โดยหลีกเลี่ยงการผูกติดกับตัวตนของบุคคล อวิชชาหรือพิธีกรรมใดๆที่เน้นเเค่เพียงเปลือกนอก...
หากสามารถทำตามที่กล่าวมาได้ วันหนึ่งท่านจะเข้าใจในธรรมอย่างถ่องแท้ และ ธรรมจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวท่าน ...
ยิ่งใกล้ธรรมเท่าไหร่ ชีวิตเราก็ยิ่งมีภูมิคุ้มกันมากเท่านั้น ...
ไม่ว่าเราจะไกลวัดเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทาง.... ขอเพียงเราต้องไปให้ถูกทางเท่านั้นก็พอ
โฆษณา