14 ม.ค. 2019 เวลา 05:01 • ประวัติศาสตร์
การสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากรัชกาลที่6และรัชกาลที่7
หลักการสืบราชสันตติวงศ์นั้น คนทั่วๆไปอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก คือลูกสืบต่อจากพ่อ หรือไม่ก็ผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แต่ในความจริงแล้ว การสืบราชสันตติวงศ์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ต้องผ่านกระบวนการคิด การประชุม การเห็นชอบจากขุนนางและอีกหลายอย่าง
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงการสืบราชสันตติวงศ์จากรัชกาลที่6ไปรัชกาลที่7 และรัชกาลที่7ไปรัชกาลที่8 ให้ทุกท่านได้รับฟังครับ
ในช่วงต้นรัชกาลจักรี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1นั้น การสืบราชสันตติวงศ์ เป็นการสืบจากพ่อสู่ลูก คือรัชกาลที่1ไปยังรัชกาลที่2 และรัชกาลที่2 สืบไปยังรัชกาลที่3 ซึ่งอันที่จริงแล้ว รัชกาลที่3นั้น มีพระอิสริยศักดิ์ที่น้อยกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ(รัชกาลที่4) เนื่องจากรัชกาลที่3 นั้นมีพระอิสริยยศเป็นเพียงพระองค์เจ้า มีพระราชมารดาเป็นสามัญชน ซึ่งไม่ได้อยู่ในขอบเขตของผู้ที่จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เนื่องจากพระองค์นั้น ทรงแก่กล้าในราชการบ้านเมือง พร้อมทั้งยังมีเสียงสนับสนุนจากขุนนางเป็นอย่างมาก พระองค์จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่3แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3
แต่ต่อมา เมื่อสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์ ราชบัลลังก์ก็ได้ย้อนกลับมาหาเจ้าฟ้ามงกุฎ โดยมีการสันนิษฐานกันไปในหลายทาง บางความเห็นก็คาดว่าพระองค์ท่านทรงทราบตั้งแต่ทีแรกว่าบัลลังก์เป็นของเจ้าฟ้ามงกุฎ เนื่องจากเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นเจ้าฟ้าและเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่ที่พระองค์ได้ครองราชย์เพราะแก่ราชการ พระองค์จึงไม่ได้แต่งตั้งพระราชโอรสองค์ไหนเป็นเจ้าฟ้า แต่บางความเห็นก็บอกว่า ในเวลานั้นเหล่าขุนนางอยากจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้ราชบัลลังก์ เรื่องจากพระราชโอรสของรัชกาลที่3 ไม่มีผู้ใดที่มีพระบารมีมากพอที่จะปกครองเหล่าขุนนางรวมถึงปกครองแผ่นดินได้ สุดท้ายราชบัลลังก์จึงตกมาสู่เจ้าฟ้ามงกุฎหรือรัชกาลที่4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4
และหลังจากรัชสมัยของรัชกาลที่4 บัลลังก์ก็ตกสู่รัชกาลที่5ซึ่งเป็นพระราชโอรสและได้รับความเห็นชอบจากเหล่าขุนนาง และสืบต่อมายังรัชกาลที่6 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่5 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ต่อจากสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกที่สวรรคตไป
สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
รัชกาลที่5และรัชกาลที่6
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่การสืบราชบัลลังก์ต่อจากรัชกาลที่6นี่แหละครับ เนื่องจากรัชกาลที่6 พระองค์ท่านมิได้มีพระราชโอรส มีเพียงพระราชธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี การสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์นั้น จึงเป็นปัญหาว่าใครจะขึ้นเป็นรัชกาลที่7
ต้องบอกว่าการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 ได้ขึ้นครองราชย์นั้น นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์มากครับ เพราะถึงแม้ท่านจะเป็นพระราชโอรสร่วมพระครรภ์กับรัชกาลที่6 เป็นถึงสมเด็จเจ้าฟ้า แต่ด้วยความที่ท่านเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็ก จึงค่อนข้างที่จะถูกมองข้าม ไม่มีใครคิดว่าท่านจะได้ขึ้นนั่งบัลลังก์ ถึงขนาดที่ว่า ตอนที่ท่านผนวชเป็นพระภิกษุนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านได้ชักชวนให้ท่านบวชไม่สึก เพราะคิดว่ายังไงท่านก็คงไม่ได้ขึ้นครองราชย์แน่ๆ เนื่องจากท่านเป็น “น้องเล็ก”
1
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7
รัชกาลที่7 หรือในเวลานั้นคือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ก็มิได้ทรงคิดว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากพระองค์นั้นยังมีพระเชษฐาอยู่อีกหลายพระองค์ คือ
สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่พระองค์จะได้บัลลังก์นั้น โอกาสมีน้อยมาก เนื่องจากพระองค์มีพระเชษฐาถึง3พระองค์ด้วยกัน
แต่ผมคิดว่า บางทีโชคชะตาก็อาจจะกำหนดเอาไว้แล้ว เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็กลับเกิดขึ้น พระเชษฐาของพระองค์ทั้ง3พระองค์นั้น ต่างสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของรัชกาลที่6ทั้งสิ้น ทำให้ลำดับของพระองค์ในการสืบราชบัลลังก์นั้น จากที่ไม่มีใครคิดว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ กลับกลายเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับราชบัลลังก์ที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ รัชกาลที่7เอง พระองค์ก็ไม่ได้ทรงคิดและเตรียมพระองค์มาก่อน
1
อันที่จริงนั้น พระเชษฐาของพระองค์ต่างก็มีพระโอรสซึ่งมีสิทธิในราชบัลลังก์เช่นกัน แต่ก็มีเหตุให้ไม่สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ นั่นก็คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่เนื่องจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ประสูติจากหม่อมมารดาซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ทำให้พระองค์ทรงถูกตัดสิทธิออกไปโดยปริยาย เนื่องจากการที่กษัตริย์เป็นลูกครึ่งนั้น คงจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและเหล่าขุนนาง
1
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
อีกพระองค์หนึ่งคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย แต่พระองค์ก็ถูกตัดสิทธิ เนื่องจากรัชกาลที่6ทรงเห็นว่า พระองค์เป็นพระโอรสที่เกิดจากหม่อมมารดาที่เป็นนางละคร ไม่ได้มีชาติตระกูลสูง อาจจะไม่เป็นที่เคารพยำเกรงของผู้คน พระองค์จึงถูกตัดสิทธิออกไปเช่นกัน
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช
บัลลังก์จึงอยู่ใกล้กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา(รัชกาลที่7) เป็นอย่างมาก โดยในเวลานั้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่6 กำลังทรงพระครรภ์ ไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย รัชกาลที่6ก็กำลังทรงพระประชวรหนัก รัชกาลที่6จึงทรงมีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติไว้ เนื้อความว่า ถ้าเป็นพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงรับเป็นรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ตามราชประเพณี ซึ่งผลที่ออกมาก็คือเป็นพระราชธิดา นั่นคือ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา จึงได้ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่7โดยปริยาย
ต่อมาภายหลังเมื่อรัชกาลที่7 ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2478 ก็เกิดปัญหาตามมาว่าใครจะขึ้นเป็นรัชกาลที่8ต่อไป เนื่องจากรัชกาลที่7ก็มิได้มีพระราชโอรส มีเพียงพระโอรสบุญธรรมคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต และรัชกาลที่7ก็เป็นพระราชโอรสองค์เล็ก พอเรื่องเป็นอย่างนี้ ลำดับการสืบสันตติวงศ์ก็ต้องย้ายสาย คือจากสายพระพันปีหลวง พระราชมารดาของพระองค์ ย้ายไปยังสายพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ผู้ที่ควรจะได้ขึ้นต่อ คือสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชหรือภายหลังคือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดานั่นเองครับ
1
แต่เนื่องจากพระราชบิดาก็ได้สวรรคตไปตั้งแต่ปีพ.ศ.2472 แต่มีพระราชโอรสที่สามารถสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปได้2พระองค์ คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช
ดังนั้นลำดับแรกในรายชื่อผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ก็คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลหรือรัชกาลที่8ในเวลาต่อมาและสืบมาถึงรัชกาลที่9นั่นเองครับ
5
ทั้งหมดนี้คือลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่6และรัชกาลที่7ครับ ออกตัวก่อนว่าที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาอะไรไม่ดีทั้งสิ้นนะครับ เพียงแต่คิดว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์โดยตรงและมีผู้ที่สนใจเรื่องนี้ด้วย เลยเขียนตามที่เคยสืบค้นมาครับ
โฆษณา