16 ม.ค. 2019 เวลา 03:49 • การศึกษา
เรียนรู้เรื่องจีนกับสถาบันขงจื่อ
"ต้นข้าวที่มีเมล็ดเต็มรวง จะโน้มต่ำเสมอ" วาทะโดยขงจื่อ
อุปมาเหมือน ยิ่งรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งต้องถ่อมตนไว้ เพื่อหมั่นหาความรู้เพิ่มไว้เสมอ
หลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อของสถาบันขงจื่อมาบ้าง เป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เหมือนกันว่า ลัทธิขงจื่อเคยโดนกวาดล้างไปสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนโดยเหมาเจ๋อตุง
แต่เมื่อมาถึงสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ปรากฏว่าแนวคิดของขงจื่อก็ได้ถูกนำกลับมาเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหลักการศึกษาของจีนยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ถึงขั้นส่งเสริมให้มีสถาบันขงจื่อไปทั่วประเทศ และส่งออกไปหลายประเทศในโลกด้วย
ขงจื่อคือใคร จริงๆคำถามนี้อาจจะไม่ต้องตอบกันมากสำหรับคนที่ชื่นชอบและสนใจเรื่องจีนอยู่แล้ว แต่ถ้าให้กล่าวสั้นๆ เขาคือนักคิด นักปราชญ์คนสำคัญที่สุดของจีนในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน เขาได้ออกเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อศึกษาความรู้และนำเสนอความคิดในการปกครองต่อผู้มีอำนาจ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนัก แม้ว่าเหล่าศิษย์ที่ร่วมทางไปกับเขาจะได้กลายเป็นขุนนางใหญ่และแม่ทัพคนสำคัญของหลายเมืองก็ตาม
แต่สุดท้ายแล้วในช่วงบั้นปลาย ขงจื่อก็ได้รับการยอมรับในฐานะของนักการศึกษา ซึ่งความคิดและคำสอนของเขาได้รับการรวบรวมจากลูกศิษย์ เป็นคัมภีร์หลุนอวี่ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อคนจีนมาถึงปัจจุบัน
แต่แล้ว แนวคิดขงจื่อก็โดนทำลายล้างลงเมื่อเหมาเจ๋อตุงทำการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้แนวคิดขงจื่อแทบจะหายไปจากสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ยังอยู่รอดมาได้ในไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ หรือก็คือในประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลออกไปตั้งรกรากอยู่จำนวนมาก
ส่วนสาเหตุที่ขงจื่อได้รับการกลับมาเชิดชูอีกครั้ง เพราะแนวคิดของขงจื่อแม้จะมีจุดที่โบราณ คร่ำครึ และและไม่เหมาะสมกับค่านิยมสมัยใหม่อยู่บ้าง แต่ขงจื่อให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างสูงสุด จีนมีบทเรียนมาแล้วกับการล้างแนวคิดนี้ ส่งผลให้ประชาชนจีนในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาแทบจะสิ้นวัฒนธรรมเก่าๆไปเลย และการศึกษากลายเป็นปัญหาของชาติด้วย
แต่น่าสังเกตว่า ประเทศที่นำขงจื่อมาใช้ มักมีความเจริญทางการศึกษามาก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เมื่อจีนเห็นบทเรียนเหล่านี้แล้ว จึงได้นำแนวคิดขงจื่อกลับมาเชิดชูใหม่
แต่ที่เด็ดยิ่งกว่าอีกคือ เปิดสถาบันส่งออกเพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมและไมตรีกับหลายๆประเทศด้วย ทำให้หลังจากปี พ.ศ. 2548 ได้มีสถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อก่อตั้งขึ้นในหลายประเทศ
โดยสถาบันขงจื่อจะอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ห้องเรียนขงจื่อจะตั้งในโรงเรียนมัธยม ปัจจุบันมีสถาบันขงจื่อจาก 134 ประเทศทั่วโลก แยกเป็นสถาบันขงจื่อ 500 แห่งและห้องเรียนขงจื่ออีก 1012 แห่ง
ส่วนในประเทศไทย ทางสถาบันขงจื่อมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ดังๆก็เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เชียงใหม่ ขอนแก่น ราชภัฎสวนดุสิต ฯลฯ เช่น ถ้าผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานไปเรียนภาษาจีนและจีนศึกษา ก็มีช่องทางที่จะขอทุนได้ด้วยครับ
แล้วสอนอะไรบ้าง นอกจากภาษาจีนมุ่งเน้นเป็นหลักแล้ว ก็ยังรวมถึงด้านวัฒนธรรมจีน ประวัติศาสตร์ ปรัชญาขงจื่อ ฯลฯ
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปจากความเจริญทางเทคโนโลยี สถาบันขงจื่อที่เปิดสอนในไทยเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยตามด้วย
ใน พ.ศ. 2557 ได้มีความคิดจากพระพรหมมังคลาจารย์ แห่งวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิร่มฉัตร ได้มีความคิดริเริ่มในการจัดตั้งสถาบันขงจื่อรูปแบบใหม่ โดยจะเชิญชวนสถาบันการศึกษา หน่วยราชการและองค์กรเอกชนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนอยู่แล้วให้เข้ามาเป็นเครือข่ายเดียวกัน
โดยร่วมกับ Dr. Xu Lin ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ฮั่นปั้นของจีน ทำให้เกิดเป็น สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล เริ่มเปิดแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำงานร่วมกับสภาการศึกษานครเทียนจิน
ถ้าใครสนใจอยากส่งลูกหลานไปเรียนรู้ภาษาจีนและเรื่องราวของจีน ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องครับ เช่น http://www.dpu.ac.th/msrci/index.php
สำหรับผู้ที่ต้องการติดต่อค้าขายหรือทำธุรกิจกับจีน ลองหาโอกาสศึกษาไว้ย่อมดีกว่าเสมอครับ
โฆษณา