18 ม.ค. 2019 เวลา 15:24
1.เล่าเรื่องคลองบางกอกน้อย..บ้านเกิดผมเมื่อ หกสิบกว่าปีก่อนที่ผู้คนยังไม่มาก อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ผู้คนที่ไม่เคร่งเครียด รู้จักกันทั้งคลอง ว่าเป็นกันอย่างไร บ้านผมเกิดอยู่ปากคลองวัดใหม่ภาวนา ที่ออกคลองบางกอกน้อย อีกฝั่งปากคลองเป็นฝั่งวัด ที่เจ้าของผู้สร้างวัดคุณหญิงเผื่อน มีบ้านเรือนตรงข้ามกันกับบ้านที่ผมอยู่เดิม ..........
 
ด้านขวาของสถานีรถไฟบางกอกน้อย จะเป็นคลอง บางกอกน้อย สภาพบ้านเกิดเมือเห็นตอนเด็กๆ จะประมาณนี้ แต่มีเรือข้ามฟาก บ.สุภัทรา แล้ว แต่เรือจ้างก็ยังจอดแบบนี้ ที่รับคนจะไปในคลองบางกอกน้อย หรือที่อื่นๆ รวมทั้งข้ามฟาก เมื่อเรือเลิกเดินเรือ...
สถานีรถไฟบางกอกน้อยในภาพนี้ยังไม่มีเรือข้ามฟากของ.บ.สุภัทราแต่เมื่อผมเกิดปี2493..มีเรือข้ามฟากแล้ว..แต่เรือจ้างก็ยังอยู่แบบนี้ละครับ
...........วันนี้ไม่ใช่สภาพแบบนี้แล้ว ปากคลองป็นประตูกั้นน้ำ ด้านในคลองนี้ที่เดิมกว้างเป็นสิบๆเมตรวันนี้เป็นประตูน้ำกั้นไว้ น้ำในคลองเป็นสีคล้ำเช่นเดียวกับคลองเล็กอื่นๆ ส่วนริมคลองบางกอกน้อย ก็มีเขื่อนซิเมนต์ ตลอดแนวลำคลองสูงมาก และเมื่สองปีก่อนยังมาเพิ่มความสูงที่มีมากไปกว่าเดิม การท่องเที่ยวทางน้ำที่มีฝรั่งเช่าเหมาเรือท่องเที่ยว หายไปหมดแล้ว ......กับเสน่ห์แห่งสายน้ำ วันนี้ เรือท่องเที่ยว และ เรือทั่วไปเหมือนแล่นบนทางระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่มีกลิ่น โชยมาบางครั้ง ตามสภาพของน้ำ หมดไปแล้ว กับคลองที่ผมเคย เล่น อาบน้ำ ดื่มกิน และ จับกุ้งจับปลา มาเป็นอาหาร ........
..........คลองบางกอกน้อยมองมาไม่เห็นเสาเรือนบรรยากาศที่มีเสน่ห์แห่งคลองที่พึงมี หมดไป วันนี้ ช่างไม่เหมือนเดิม
จากคลองคลองบางกอกน้อยสถานีรถไฟ..กับถังเก็บน้ำดำๆที่มีมานานคู่กับสถานีรถไฟ
บ้านกลุ่มนี้เลยบ้านผมมาสักหน่อยในครั้งนั้น...ตอนนี้ยังไม่มีเขื่อนสองข้างคลองบางกอกน้อย..ที่บันทึกภาพนี้..( โดยผู้อื่น)
.........และถ้าตำแหน่งที่อยู่ผมในครั้งนั้น ถ้าหันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย ซ้ายมือจะเป็นวัดสุวรรณคีรี ที่เป็นทางแยก สายน้ำลำคลองสองสาย ตรงหน้าวัดจะเข้าคลองบางระมาด หรือคลองชักพระ ที่วัดไก่เตี้ยตั้งอยู่ และทางแยกคลองด้านหน้าวัดสุวรรณคีรี อีกทาง จะมาบางใหญ่ คลองบางกรวยวัดพิกุลเงิน และ ต่อไปคลองอ้อมนนทบุรี ออกแม่น้ำเจ้าพระยา
...........ส่วนด้านขวาผมจากหน้าบ้าน จะเป็นวัดนายโรงและ วัดชีปะขาวหรือวัดศรีสุดาราม ที่สุนทรภูเคยอาศัยที่วัดนี้และไปวัดสุวรรณาราม และวัดอรุณอัมรินทร์ ที่มีสถานีรถไฟบางกอกน้อยและเยื้องฝั่งตรงข้ามในลำคลองมีอู่เรือเรือพระราชพิธีตั้งอยู่….
ตอนที่จะทำเขื่อนโดยตอกเสาเข็มและผนังกั้นน้ำเขื่ิอนใช้เวลานานเป็นสิบกว่าปีจึงจะสำเร็จ..
........... ก่อนออกมาแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านธรรมศาสตร์ มาท่าพระจันทร์ ศิริราช มาขึ้นที่ท่าช้าง มายังโรงเรียนต่างๆที่ผมเเรียน ทั้งวัดกัลยาณ์ ในชั้น ป1- ป.4 และ โรงเรียน สามัญประยูรวงค์ ป.5-ป.7.และกลับมาเรียน โรงเรียนสุวรรณารามใกล้บ้านในชั้น มศ.1 –มศ.3 และ ไปต่อที่เพาะช่างในปี 2511-2516 จนจบการศึกษา และทำงานในที่สุด........
มาดูประวัติคลองบางกอกน้อยครับ......
ฝั่งซ้ายมือเห็นถังเก็บน้ำสถานีรถไฟบางกอกน้อย..และเขื่อนสร้างเพื่อกันน้ำท่วมสูงปิดบังเสาบ้านริมน้ำ..ความมีเสน่ห์ของบ้านเรือนริมคลองได้หายไปหมดแล้ว
คลองบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077 - 2089)ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่
ผังการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา..ในระยะ.1..2..3..ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ากลายเป็นคลองบางกอกน้อยคือแคบลง..
.............ซึ่งกล่าวกันว่าช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน
1
คลองบางกอกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรี ไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และคลองลัดบางกรวย ตรงข้ามวัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร คณะรัฐมนตรีมีมติให้คลองบางกอกน้อยเป็นคลองสำคัญซึ่งจะต้องอนุรักษ์ไว้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2510
แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม
แม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากขุด
ในปัจจุบันช่วง คลองลัดบางกรวย (หมายเลข ๒ ในภาพ) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งคลองบางกอกน้อยไปด้วย รวมถึงคลองอ้อม หรือคลองอ้อมนนท์ ก็เรียกกันทั่วไปว่าคลองบางกอกน้อยเช่นกัน
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาหลังการขุด
ปัจจุบัน คลองบางกอกน้อยใช้ในการคมนาคม สัญจร ทัศนาจร ท่องเที่ยว ใช้ขนส่งสินค้า ใช้เล่นกีฬาทางน้ำ ใช้อาบน้ำ ใช้ล้างภาชนะ ใช้ระบายน้ำ และยังเป็นเส้นทางชักพระของวัดนางชี ซึ่งมีขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยชักแห่ไปทางน้ำ ผ่านคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แล้ววกลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางกอกใหญ่เส้นทางขบวนแห่
ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ เป็นการอัญเชิญเสด็จอ้อมเกาะ โดยเสด็จไปตามคลองต่างๆ ตังแต่ คลองหน้าวัดนางชีเรียกว่าคลองด่าน ไปตามคลองบางหลวง เข้าคลองบางแวก คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางหลวง เลี้ยวซ้ายแยกวัดปากน้ำ เจ้าคลองด่านกลับวัดนางชี เส้นทางขบวนแห่ได้เสด็จผ่านบ้านเรือนประชาชน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการเป็นจำนวนมาก
วัดริมสองฝั่งคลอง จะได้ทราบว่าสองคลอง คือคลองบางหลวง และ คลองบางกอกน้อย เชื่อมต่อกันอย่างไร ......
เส้นทางขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ตลอดสองฝั่งคลองได้เสด็จผ่านวัดต่างๆ เป็นจำนวนถึง ๓๒ วัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ๕ เขต คือ เขตภาษีเจริญ เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และ เขตตลิ่งชัน ดังนี้ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร วัดวรามาตยภัณฑสารารม วัดปากน้ำ วัดประดู่ฉิมพลี
วัดนวลนรดิศ วัดทองศาลางาม วัดกำแพง วัดคูหาสวรรค์ วัดโบสถ์อินทสรเพ็ชร วัดวิจิตรการนิมิต วัดเชิงเลน วัดเรไร วัดช่างเหล็ก วัดตลิ่งชัน นี่เป็นวัดในคลองชักพระ หรือ คลองบางระมาด วัดสุวรรณคีรี เป็นวัดที่อยู่แยกของคลองบางกรวย คลองชักพระ และ คลองบางกอกน้อย วัดภาวนาภิรตาราม วัดนายโรง วัดศรีสุดาราม วัดใหม่ยายแป้น วัดสุวรรณาราม วัดอัมรินทร์ทราราม นี่วัดในคลองบางกอกน้อย ...กับวัด วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอรุณราชวราราม วัดโมลีโลกยาราม วัดกัลยาณมิตร นี่วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ...และ วัดกัลยาณ์ เป็นวัดที่อยู่ปากคลองบางหลวง และ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ... วัดหงส์รัตนาราม วัดประดิษฐาราม วัดสังข์กระจาย วัดเวฬุราชิณ วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดราชคฤห์ นี่เป็นวัดในคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ และกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม ...ที่คลองด่าน เป็นคลองแยกจากคลองบางหลวง ......
วันนี้น้ำในคลองด่าน หน้าวัดนางชี ดำ คล้ำ เช่นเดียวกับคลองบางกอกน้อยแล้ว
น้ำในคลองวันนี้..เป็นน้ำเน่าเสียแล้ว..กับประเพณีที่มีมานานจากต้นกรุงธนบุรี
การแห่ขบวนเรือชักพระ..จากวัดนางชีในภาพนี้..น้ำในคลองดำคล้ำแบบคลองบางกอกน้อยและคลองบางหลวงกับคลองอื่นก็เป็นแบบนี้เช่นกัน
ขบวนเรือแห่มาตามลำน้ำ ในประเพณีการชักพระ ที่มีมาต้นรัตนโกสินทร์
………..ในสมัยผมยังเด็กการชักพระมาตามลำคลอง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านสองฝั่งคลอง จะมาตั้งตาคอย ร่วมทำบุญ และ ขอพร ครั้งเด็กๆผม การชักพระนี่เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย ก็จะพายเรือร่วมขบวน มีการแห่และการละเล่นเล็กๆน้อยๆ เช่นการเล่นกระตั้วแทงเสือ ฟ้อนรำ ..และ โปรยดอกไม้ ดอกบัว ตามแต่มี ประเพณีนี้สืบมาจากต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มาจนทุกวันนี้ แม้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ประเพณีนี้ก็ยังคงอยู่ไปอีกนาน...
เล่าวัดนางชี ที่อยู่คลองด่าน แยกจากคลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ ที่ผู้สนใจเรื่องคลองบางหลวง จะได้ทราบว่าสองคลองนี้เกี่ยวพันซึ่งกันมานาน จากมีแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นหลัก ที่มีคลองสองคลองนี้ ร่วมกัน แต่คลองบางกอกน้อย กว้างกว่าคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง มากกว่านะครับ ...ชื่อใหญ่ แต่เล็กกว่าครับ แล้วจะมาเล่าเรื่องของผมกับคลองนี้ต่อครับ.....
แค่นี้ก่อนนะครับ ไว้ตอนหน้าจะมาเล่า ประวัติการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา อีกครั้ง จะได้ทราบที่มาได้ อย่างละเอียดยิ่งขึ้น.....ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะครับ.............
โฆษณา