20 ม.ค. 2019 เวลา 06:06 • ธุรกิจ
AR มีประโยชน์อะไรกับธุรกิจท่องเที่ยว?
By...LiLi Zhou
AR ย่อมาจาก Augmented Reality เป็นเทคโนโลยีที่รวมเอาวัตถุในโลกเสมือนเข้ากับสภาพแวดล้อมในโลกแห่งความจริง ที่ผ่านมาจัดเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมาก ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะหยิบมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
หลายคนอาจยังนึกไม่ออกว่า วัตถุเสมือนไปรวมกับสภาพแวดล้อมจริงยังไง ให้เริ่มนึกง่ายๆ จากเกมโปเกมอน โก ที่ Niantic สร้างขึ้นมา ใช้เทคโนโลยี AR ทำให้คนเล่นเกมสจับโปเกมอนที่ผุดขึ้นมาตามทำเลต่างๆ ที่มีในแผนที่โลกจริงได้ และที่เด็ดคือเมื่อเปิดโหมดกล้องถ่ายรูปในมือถือ เราจะได้เห็นโปเกมอนโผล่ในสถานที่ตรงหน้าที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า
ด้วยความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่ทำให้เส้นบางๆ ระหว่างโลกหน้าจอกับโลกแห่งความจริงเชื่อมต่อถึงกันได้มากขึ้นนี้เอง ทำให้องค์กรการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ไปเป็นพันธมิตรกับ Niantic ผู้สร้างเกมโปเกมอน โก เมื่อช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อใช้ประสบการณ์บนโลกเสมือนจริงในเกมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยจะรวมเอาเรื่องการท่องเที่ยวกับเทคโนโลยี AR ดึงนักเล่นเกมให้เดินทางไปค้นพบสถานที่ใหม่ๆ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและความสวยงามรอบโลก
ขณะที่ประโยชน์ของ AR ที่ได้รับการกล่าวถึงกันมากในด้านการท่องเที่ยวคือ จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวได้รับจากการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ดีขึ้น เช่น การหยิบไปใช้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อทำให้การเดินทางเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ จืดชืดอีกต่อไป โดยในกรณีนี้มีตัวอย่างของ Guidigo AR ที่พัฒนาเทคโนโลยี AR สำหรับพิพิธภัณฑ์และสถาบันทางวัฒนธรรมมากกว่า 50 แห่งทั่วโลก
Guidigo AR ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของพิพิธภัณฑ์ที่นำ AR ไปใช้ เช่น Science Museum of Trento ที่จัดแสดงโครงสร้างของไดโนเสาร์ไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้วก็นำอุปกรณ์มือถือที่ติดตั้งเทคโนโลยี AR ไว้ให้ผู้เข้าชมหยิบมาส่องไดโนเสาร์ที่จัดแสดงไว้ จากนั้นผู้เข้าชมก็จะได้เห็นโครงสร้างไดโนเสาร์ที่อยู่ตรงหน้าแปลงกายเป็นไดโนเสาร์ที่เคลื่อนไหวได้จริงบนโลกเสมือน เพิ่มความตื่นเต้นและอรรถรสในการเดินพิพิธภัณฑ์ไปได้มาก โดยเฉพาะกับเด็กๆ
ที่มา https://www.guidigo.com/
ส่วนในประเทศไทย ก็ไม่ได้ล้าหลังในการพัฒนา AR ใช้กับการท่องเที่ยว เพราะจริงๆ แล้ว สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า ก็จัดทำแอปพลิเคชัน See Thru Thailand ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยภายในแอปประกอบด้วยข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ตรัง และพังงา
ความสามารถของแอปพลิเคชันนี้คือ ถ้าเดินทางไปยังสถานที่ประวัติศาสตร์ในจังหวัดที่มีข้อมูล ผู้ใช้งานก็จะได้เห็นภาพอดีตของสถานที่นั้น รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในอดีต หรือประเพณี กิจกรรมที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่ เพียงแค่สแกนภาพในสถานที่นั้นตามที่แอปพลิเคชันได้แนะนำไว้ หรืออาจจะไปตามรอยฉากประทับใจในภาพยนตร์เรื่องโปรดในสถานที่จริงก็มีเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีภาพในมุมมองแบบ 360 องศา ภาพสถานที่ท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ๆ ทั้งภาพใต้น้ำและมุมสูงให้ได้เพลิดเพลิน เป็นต้น
ที่มา http://seethruthailand.com/th/about
ทั้งนี้ IDC หรือ Internet Data Center ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการคุ้มครองเก็บรักษาข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แก่ลูกค้า เคยให้ข้อมูลว่า AR และ VR หรือ Virtual Reality ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมจริงไว้ในโลกเสมือนจริง มีศักยภาพมากที่จะนำมาใช้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยประเมินว่า จะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีทั้ง 2 ประเภทนี้มากกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 หรือ พ.ศ. 2565 และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็จะเป็นผู้นำที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาเป็นแรงผลักดันให้สร้างรายได้ได้สูงขึ้น
เห็นแบบนี้แล้ว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยทดลองใช้ AR แต่มองแล้วว่า น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์กับธุรกิจตัวเอง คงต้องลองพิจารณานำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ดู เช่น ผู้ประกอบการที่สร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา อาจจะนำไปใช้เพื่อให้คนเพลิดเพลินกับในแหล่งท่องเที่ยวตัวเองมากขึ้น หรือโรงแรมอาจจะนำไปใช้เพื่อทำให้ภายในห้องพักดูน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น เมื่อผู้เข้าพักสามารถสแกนจุดต่างๆ เป็นต้น
โฆษณา