27 ม.ค. 2019 เวลา 08:24 • ธุรกิจ
PAUL กับ 6 สิ่งที่คนไทยควรเรียนรู้จากแบรนด์เบเกอรี่ระดับโลก
.
เบื้องหลังกลิ่นหอมฟุ้งของเบเกอรีจากร้าน PAUL มาจากความมุ่งมั่นของชายคนหนึ่งที่พยายามเฟ้นหาเบเกอรีที่ดีที่สุดมาให้คนไทยได้ลิ้มลอง
.
แต่ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ครั้งแรกที่เขายื่น Proposal ไปเสนอ PAUL ที่ฝรั่งเศส เขาต้องโดนปฏิเสธมาไม่รู้กี่สิบครั้ง โดนวิจารณ์ว่าเด็กมหาวิทยาลัยยังทำ Proposal ได้ดีกว่า ต้องแข่งกับบริษัทอื่นที่อยากได้ลิขสิทธิ์มาเปิดอีก 16 เจ้า ใช้เวลาอีก 3 ปีทำแผนธุรกิจจนได้ลิขสิทธิ์มาเปิดในเมืองไทยในที่สุด
.
อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ PAUL Thailand ที่บริหารงานได้ดีจนเป็นแบบอย่างให้กับอีก 750 สาขาทั่วโลก และสำหรับคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาเปิดในไทยนี่คือบทเรียนที่คุณควรรู้
.
ผมคุยกับปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ Chief Brand & Communication Officer and Executive Assistant to President/CEO บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน
.
ร้านเบเกอรีสัญชาติฝรั่งเศส ก่อตั้งมาแล้ว 130 ปี ผ่านการบริหาร 5 รุ่น เปิดในประเทศไทยเข้าสู่ปีที่ 5 โดยการนำเข้าของทรู คอร์ปอเรชั่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขา และกำลังขยายแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ PAUL LE CAFE คาเฟ่แนว Grab and go ที่เน้นให้ลูกค้าได้ลองดื่มกาแฟอาราบิก้า 100% เพื่อทานคู่กับเบเกอรีระดับคุณภาพ
.
PAUL ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ถึงขั้นได้รับความไว้วางใจจากบริษัทแม่ที่ฝรั่งเศส ผันสถานะจากแฟรนไชส์ซีหรือผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ สู่การเป็น Joint Venture ถูกยกให้เป็น PAUL ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวอย่างให้กับร้าน PAUL อีก 750 แห่งทั่วโลก มีโอกาสเข้าไปดูแลธุรกิจในสิงคโปร์ เวียดนาม กลุ่มประเทศ CLMV และกำลังบุกเข้าตลาดจีน
.
เคล็ดลับความสำเร็จของ PAUL Thailand
.
1. เป็นนักเรียนที่ดี
แม้คุณปพนธ์จะเป็นถึงผู้บริหารระดับสูง แต่เขาก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยอยู่เสมอ
.
ครั้งแรกที่เริ่มสนใจธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คุณปพนธ์เดินทางไกลไปถึงประเทศฝรั่งเศส เพื่อหาโมเดลร้านเบเกอรีที่น่าสนใจมาปรับใหม่ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าคนไทย แต่ท้ายสุดเขากลับติดใจรสชาติครัวซองต์ของร้าน PAUL ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนร้านไหน จนอยากได้แบรนด์นี้มาเปิดในเมืองไทยในที่สุด
.
เขาเริ่มเข้าหาแบรนด์ต้นตำรับด้วยการส่งแผนธุรกิจไปนำเสนอ แผนแรกเน้นที่สเกลธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างความหวือหวาด้วยแผนเปิด PAUL ในประเทศไทยถึง 500 สาขา แต่กลับโดนปฏิเสธกลับมาว่า “ยูอย่าทำดีกว่า เพราะว่า PAUL ไม่ได้เป็นอย่างที่ยูคิด Proposal ที่ยูเขียนมา จริงๆ เด็กมหาวิทยาลัยยังทำได้ดีกว่าเลย”
.
แต่คุณปพนธ์ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เขาบินไปรอพบผู้บริหาร PAUL ด้วยตัวเองอีกครั้ง พร้อมขอเรียนรู้วิชาเหมือนว่าตัวเองเป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่กำลังทำธีสิสส่งอาจารย์
.
ผู้บริหาร PAUL จึงเล่าให้คุณปพนธ์เข้าใจถึง 3 หัวใจสำคัญได้แก่
1. Passion of bread มีความหลงใหลในการทำเบเกอรีอย่างลึกซึ้ง
2. Quality at heart ใส่ใจทุกคุณภาพการผลิต
3. French traditional ไม่ลืมรักษาความเป็นฝรั่งเศสดั้งเดิมไว้
.
จากจุดนี้ทำให้เขาเริ่มเข้าใจแบรนด์ PAUL มากขึ้น และตั้งใจวางแผนอย่างละเอียดไปนำเสนออีกครั้ง
.
2. ทำมาสเตอร์แพลนอย่างละเอียด
แผนพิชิตใจ PAUL ฝรั่งเศส คือการสร้างโรดแมปให้เห็นภาพชัดเจนว่าถ้า PAUL ได้มาเปิดในประเทศไทย ภายใน 10 ปีจะเติบโตไปในทิศทางไหน ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการตั้งราคาสินค้า โลเคชัน รวมไปถึงวิธีการจัดการ
.
ตัวอย่างเรื่องโลเคชัน มาสเตอร์แพลนบอกไว้ละเอียดแล้วว่าต้องเปิดร้าน 12 แห่งที่ไหนบ้าง พร้อมอธิบายเหตุผลชัดเจนว่าต้องเปิดในแต่ละที่เพราะอะไร โดยเน้นด้วยว่าทุกที่ต้องเปิดเรียงจาก 1 ไป 2 สู่ 3, 4, 5 จนถึง 12 ห้ามสลับ เนื่องจากเป็นเรื่องการรับรู้ของกลุ่มลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
.
การตั้งราคาก็เป็นอีกเรื่องที่ PAUL ใส่ใจในรายละเอียด ถึงขั้นมีการศึกษาเรื่องราคาถึง 5 ครั้ง เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละชิ้นเหมาะสมในราคาเท่าไร ครัวซองต์ธรรมดาควรราคากี่บาท ครัวซองต์เคลือบช็อกโกแลตต้องตั้งราคาขึ้นมาเท่าไร รวมถึงราคาของการซื้อแซนด์วิชชิ้นเดียวกันกินที่ร้านกับซื้อกลับบ้าน ก็ตั้งราคาต่างกัน เนื่องจากเป็นเรื่องประสบการณ์ที่จะได้รับต่างกันนั่นเอง
.
3. ลดอีโก้ เชื่อมั่นในแบรนด์ดั้งเดิม
“สิ่งแรกที่เราคิดคือ PAUL ที่นี่กับ PAUL ที่ฝรั่งเศสต้องเป็น PAUL เดียวกัน”
.
คุณปพนธ์เชื่อในแบรนด์ดั้งเดิม เพราะพวกเขาทำกันมาถึง 130 ปี ผ่านมือผู้บริหารมาแล้ว 5 รุ่น มีความเป็นธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน ฉะนั้นสินค้าของ PAUL จึงนำเข้า 100% มีเมนู Must have เหมือนที่ฝรั่งเศสทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องการตกแต่ง ที่นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นจากฝรั่งเศส ยกเว้นขวดเกลือและขวดพริกไทยที่ซื้อในประเทศไทยเท่านั้น
.
4. ทำสิ่งเล็กที่สุด เพื่อมองเห็นภาพใหญ่
เวลาทำอะไรผิดพลาดจากกฎที่ตกลงกันไว้ในเอกสารของ PAUL สิ่งที่คุณปพนธ์ต้องทำคือการไปล้างจานที่ร้านด้วยตัวเอง ย้ำว่าผู้บริหารต้องไปล้างจานเอง!
.
หลัง 5 โมงเย็น เขาจะต้องเข้าหลังครัวเตรียมตัวล้างจานที่ลูกค้าเพิ่งกินเสร็จทีละใบ เพื่อศึกษาและตอบคำถามให้ได้ว่า เขาได้อะไรจากการทำสิ่งนี้
.
มันทำให้เขารู้ว่าลูกค้ากินอะไรเหลือ คนเข้าร้านเยอะช่วงกี่โมง พนักงานเหนื่อยไหม อะไรเป็นสินค้าขายดี รวมถึงทำให้ลูกน้องรักและเคารพเขามากขึ้น จากการเห็นเขาลงมือทำด้วยตัวเอง ถือเป็นการลงมาทำสิ่งเล็กที่สุด เพื่อให้เห็นทุกจุดของปัญหาที่อาจคาดไม่ถึง
.
5. Fix it right over night มีปัญหาอะไรต้องแก้ไขทันที
ในโลกของ PAUL สิ่งที่ต้องจำเสมอคือ You have to fix it right over night หรือหากมีปัญหาอะไรต้องแก้ไขให้เสร็จภายในคืนเดียว เพราะลูกค้าคนเดิมจะกลับมาในวันรุ่งขึ้นได้เสมอ ฉะนั้นต้องรวดเร็ว และทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อเตรียมต้อนรับลูกค้า
.
“เราจ้าง General Manager ที่เก่งที่สุดมาดูแลสาขาที่กำลังจะเปิดใหม่ เขาต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 6 เดือน เราส่งเขาไปเทรนทุกสิ่งทุกอย่าง พอคนจากฝรั่งเศสมาดูที่ร้าน เขาบอกให้ไล่คนนี้ออกทันที เพราะคนนี้ไม่รีบทำอะไรด่วนแค่วันเดียว ถ้าไม่รีบไล่ออกในวันนี้ ก็จะเป็นปัญหาของคุณในวันหน้าอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเขาไม่มีแพสชัน ช้าเกินไป ก็ให้ออกเลย ”
.
6. เคารพคน
ท้ายสุดคุณปพนธ์เชื่อในเรื่องของการเคารพคน ถึงแม้พนักงานคนอื่นจะเรียกเขาว่า ‘นาย’ หรือ ‘คุณปพนธ์’ แต่เขาเชื่อเสมอว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมโลก ที่เก่งในทางของตัวเอง ฉะนั้นเขาจึงให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และรักพนักงานที่ทำงานกับตัวเองเสมอ
.
ฟังได้ที่นี่ครับ https://youtu.be/a-jqWthNlck
โฆษณา